ปี 2562 ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างในประเทศ[3] หดตัว 2.4% (จากที่ขยายตัว 3.9% ในปี 2561) สอดคล้องกับการลงทุนในภาคก่อสร้างที่เติบโตชะลอลงอยู่ที่ 2.7% (จาก 3.8% ในปีก่อนหน้า) แบ่งเป็น (1) การก่อสร้างภาครัฐเติบโต 3.1% ใกล้เคียงกับปี 2561 (+3.2%) ผลจากความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณทำให้แผนลงทุนหลายโครงการต้องเลื่อนออกไป (2) การก่อสร้างภาคเอกชน (ที่อยู่อาศัย) ขยายตัว 2.1% ชะลอจาก 6.6% ในปี 2561 ผลจากกำลังซื้อชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ (GDP ปี 2562 เติบโต 2.4% จาก 4.2% ในปี 2561) รวมถึงมาตรการคุมเข้มด้านสินเชื่อ (Loan-to-Value ratio: LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งลดทอนความสามารถในการผ่อนชำระของลูกค้าบางกลุ่ม ปริมาณการส่งออกวัสดุก่อสร้าง[4] หดตัว 2.8% จากปี 2561 ตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ CLM
กลุ่มผู้ผลิต: ปี 2562 ภาวะการผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างโดยรวมเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำตามการชะลอตัวของภาคก่อสร้าง
- ภาพรวมการผลิต ความต้องการใช้ และการส่งออกในปี 2562
- ปูนซีเมนต์: ปริมาณการผลิตเติบโต 2.1% (เร่งตัวขึ้นจาก 0.1% ในปี 2561) ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศขยายตัวเพียง 0.2% (ชะลอตัวจาก 1.8% ในปี 2561) อยู่ที่ 33.5 ล้านตัน (ภาพที่ 3) ผลจากการชะลอตัวของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในภาคเอกชน ปริมาณการส่งออกเติบโต 12.2% (จากที่หดตัว 12.2% ในปี 2561) อยู่ที่ 5.2 ล้านตัน อานิสงส์จากการขยายตัวของการก่อสร้างโครงการภาครัฐในตลาดส่งออกหลัก โดยเฉพาะกัมพูชา (+15.1% อยู่ที่ 2.6 ล้านตัน) และเมียนมา (+13.2% อยู่ที่ 1.2 ล้านตัน) ขณะที่สปป.ลาวและเวียดนามนำเข้าจากไทยลดลง เนื่องจากโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ในทั้งสองประเทศมีการเร่งผลิตมากขึ้น (ภาพที่ 4)
- คอนกรีตผสมเสร็จ: เป็นสินค้าที่ผลิตตามความต้องการใช้ จึงไม่มีการสต๊อกสินค้า และไม่มีการส่งออก ปริมาณการผลิตและความต้องการใช้ในประเทศหดตัว 2.4% อยู่ที่ 16.2 ล้าน ลบ.ม. (จากที่ขยายตัว 7.4% ในปี 2561) ตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจและการก่อสร้างในประเทศ (ภาพที่ 5)
- กระเบื้องปูพื้น/ผนังเซรามิก: ปริมาณการผลิตขยายตัว 2.3% (จากที่หดตัว 2.9% ในปี 2561) โดยปริมาณความต้องการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น 1.4% (ชะลอจาก 4.5% ในปี 2561) อยู่ที่ 167 ล้าน ตร.ม. (ภาพที่ 6) ผลจากภาวะซบเซาของการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย ขณะที่ปริมาณการส่งออกหดตัว 1.9% จากการที่ประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ สปป.ลาว และกัมพูชา (ตลาดส่งออกอันดับ 2 และ 3 ในผลิตภัณฑ์กระเบื้องของไทย) หันไปนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีน รวมถึงการชะลอตัวของการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ของทั้งสองประเทศ
กลุ่มผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง
รายได้ของกลุ่มผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง (บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 11 รายในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง) หดตัว 3.9% อยู่ที่ 3.34 แสนล้านบาท (จาก 3.47 แสนล้านบาท ในปี 2561) (ภาพที่ 11) จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า และภาวะซบเซาของภาคอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มผู้ผลิตเหล็กมีรายได้ลดลงมากที่สุดเฉลี่ย 37.2% ผลจากราคาเหล็กในตลาดโลกปรับลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรสุทธิโดยรวมในปี 2562 อยู่ที่ 3.2% ทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2561 (3.1%) ผลจากต้นทุนพลังงานปรับตัวลง (ราคาน้ำมันดิบ Dubai ปี 2562 ปรับลดลง 8.8% เฉลี่ยอยู่ที่ 63.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จาก 69.3 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ในปี 2561 ราคาก๊าซธรรมชาติปรับลง 17.7% จากปี 2561 มาอยู่ที่ 2.53 ดอลลาร์สหรัฐฯ/MMBtu) ทั้งนี้ ต้นทุนพลังงานเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนหลักในการผลิตวัสดุก่อสร้าง คิดเป็น 20-25% ของต้นทุนทั้งหมด (รองจากต้นทุนวัตถุดิบ) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ มีต้นทุนพลังงานในสัดส่วนสูงถึง 40% (ตารางที่ 1)
กลุ่มผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง
ปี 2562 รายได้ของกลุ่มผู้ค้าวัสดุก่อสร้างโมเดิร์นเทรด (บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 2 ราย ได้แก่ โฮมโปรและโกลบอลเฮ้าส์) ปรับเพิ่มขึ้น 4.7% จากปี 2561 (ภาพที่ 12) หนุนโดย (1) การขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง (ภาพที่ 13) (2) ความต้องการสินค้าประเภทซ่อมแซมและตกแต่งที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี (3) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมซื้อสินค้าจากร้านค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่มากขึ้น และ (4) การจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์และบริการครบวงจร อย่างไรก็ตาม รายได้เติบโตชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงปี 2559-2561 (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.1% ต่อปี) จากการเข้ามาแข่งขันในตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ทั้งรายใหญ่และรายย่อย ขณะที่อัตรากำไรสุทธิยังอยู่ระดับสูงที่ 7-9% ทรงตัวใกล้เคียงกับในช่วง 3 ปีก่อนหน้า
สถานการณ์ไตรมาส 1/2563
ปริมาณการผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างโดยรวมปรับลดลง (ตารางที่ 3) ตามภาวะการลงทุนด้านการก่อสร้างที่หดตัว 10.1% YoY โดยเป็นการหดตัวทั้งภาครัฐ (-13.9% YoY) และเอกชน (-4.9% YoY) สาเหตุหลักมาจากความล่าช้าในการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 รวมถึงภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่น
ปริมาณการส่งออกวัสดุก่อสร้างโดยรวมหดตัว ผลจากเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ประกอบกับอุปสรรคด้านการขนส่งจากการปิดเมืองในหลายประเทศ
ผลประกอบการของกลุ่มผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างโดยรวมปรับตัวลดลงทั้งรายได้ (-8.8% YoY) และกำไรสุทธิ (-6.4% YoY) จากปริมาณการจำหน่ายที่ลดลงตามการหดตัวของภาคก่อสร้าง โดยรายได้ของกลุ่มผู้ผลิตเหล็กปรับลดลงมากที่สุด (-22.0%) รองลงมาได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตกระเบื้องเซรามิก (-9.5%) ปูนซีเมนต์ (-5.9%) กลุ่มผู้ค้าวัสดุก่อสร้างรายได้หดตัว 5.6% YoY ผลจากภาวะธุรกิจก่อสร้างที่ซบเซาตามทิศทางเศรษฐกิจ
แนวโน้มอุตสาหกรรม
ปี 2563 ธุรกิจผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากปี 2562 ตามภาวะซบเซาของการลงทุนก่อสร้างในประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 รวมถึงความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบลงทุนรวมของภาครัฐ (งบประมาณรายจ่ายเพื่อการลงทุนปีงบประมาณ 2563 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 – 15 พฤษภาคม 2563 มีการเบิกจ่ายไปแล้วเพียง 49.2% ของงบลงทุนทั้งหมด) ส่งผลให้แผนลงทุนก่อสร้างของภาครัฐหลายโครงการต้องเลื่อนออกไปจากกำหนดการเดิม อย่างไรก็ตาม โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ดำเนินการต่อเนื่องได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัด ส่งผลให้การลงทุนก่อสร้างภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ 1.0-2.0% (จาก 3.1% ในปี 2562) (ภาพที่ 14) ขณะที่การลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัว 2.5-3.5% (จากที่เติบโต 2.1% ในปี 2562) สอดคล้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มหดตัวรุนแรง ผลจาก (1) กำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศซบเซาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ซึ่งได้รับผลกระทบจาก COVID-19 (2) มาตรการ LTV ที่ยังคงเข้มงวดในสัญญาที่สองขึ้นไป และ (3) อุปทานคงค้างสะสมที่ยังอยู่ในระดับสูง จากปัจจัยข้างต้น ทำให้คาดว่าปี 2563 ธุรกิจผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มหดตัว อย่างไรก็ตาม ในปี 2564-2565 คาดว่าความต้องการวัสดุก่อสร้างจะทยอยฟื้นตัวตามภาวะลงทุนภาคก่อสร้างที่มีทิศทางกระเตื้องขึ้นทั้งโครงการภาครัฐและภาคเอกชน (ภาพที่ 14)
กลุ่มผู้ผลิต: แนวโน้มธุรกิจวัสดุก่อสร้างรายผลิตภัณฑ์มีดังนี้
- ปูนซีเมนต์: คาดความต้องการใช้ในประเทศปี 2563 จะหดตัว 0.8% ตามทิศทางเศรษฐกิจ ส่วนปี 2564-2565 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัว 5-6% ต่อปี (ภาพที่ 15) ตามการเร่งตัวขึ้นของภาคการก่อสร้าง แบ่งเป็น (1) ภาครัฐ (ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์คิดเป็นสัดส่วน 40% ของความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ทั้งหมด, ภาพที่ 16) ได้รับแรงขับเคลื่อนจากการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) (2) ภาคเอกชน (มีสัดส่วนการใช้ปูนซีเมนต์ 45% ของความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ทั้งหมด) มีแนวโน้มขยายตัวตามธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล (ภาพที่ 17) รวมถึงพื้นที่ EEC มูลค่าการส่งออกปี 2563 มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง เนื่องจากภาวะการก่อสร้างใน CLM ชะลอตัว รวมทั้งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น เช่น สปป. ลาว (ตลาดหลักอันดับ 5 สัดส่วน 7% ของมูลค่าส่งออกปูนซีเมนต์ทั้งหมด) รัฐบาลอนุมัติให้จัดตั้งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง ในแขวงอุดมไซ คำม่วน หลวงพระบาง และสะหวันนะเขต กำลังการผลิตรวม 3.7 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตปูนซีเมนต์ทั้งหมดใน สปป.ลาว อยู่ที่ประมาณ 12 ล้านตันต่อปี[5] สำหรับปี 2564-2565 คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะเติบโตต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนก่อสร้างของ CLM โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ GDP ปี 2564 (ณ เมษายน 2563) ของกัมพูชาจะขยายตัว 6.1% สปป. ลาว 5.6% และเมียนมา 7.5% เร่งตัวขึ้นจาก -1.6% 0.7% 1.8% ในปี 2563 ตามลำดับ ปัจจัยท้าท้าย ได้แก่ ภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมยังคงรุนแรงจากลักษณะสินค้าที่ไม่มีความแตกต่าง
- คอนกรีตผสมเสร็จ: ปี 2563 ความต้องการใช้ในประเทศมีแนวโน้มหดตัว 0.3% แต่จะกลับมาขยายตัว 4-5% ต่อปี ในปี 2564-2565 อยู่ที่ปริมาณ 16 ล้าน ลบ./ปี (ภาพที่ 18) ปัจจัยหนุนจากการลงทุนก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น
- กระเบื้องและสุขภัณฑ์เซรามิก: ปริมาณการจำหน่ายในประเทศและการส่งออกปี 2563 มีแนวโน้มหดตัว ผลจากภาวะซบเซาของภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ และภาวะเศรษฐกิจโลกหดตัวรุนแรง แต่สำหรับปี 2564-2565 คาดว่าปริมาณการจำหน่ายในประเทศจะทยอยฟื้นตัว อานิสงส์จากการเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐซึ่งจะช่วยเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยทั้งแนวสูง (ซึ่งมักจะสั่งซื้อสินค้าล็อตใหญ่) โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย รวมถึงโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบบริเวณพื้นที่รอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านการส่งออกปี 2564-2565 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำ เนื่องจากคาดว่าภาวะอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเพื่อนบ้านจะยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ การส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ ระงับการให้สิทธิ GSP แก่สินค้าส่งออกจากไทย (มีผลเมื่อ 25 เมษายน 2563) จำนวนทั้งสิ้น 573 รายการ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์กระเบื้องและเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก (ผลิตภัณฑ์จากเซรามิก)
- กระเบื้องเซรามิก: ความต้องการใช้ในประเทศปี 2563 มีแนวโน้มหดตัว 4-5% อยู่ที่ 159-160 ล้าน ตร.ม. ส่วนในปี 2564-2565 คาดทยอยเติบโต 4-5% ต่อปี คิดเป็นปริมาณ 167-176 ล้าน ตร.ม. ปริมาณการส่งออกคาดว่าจะหดตัว 10% ในปี 2563 ก่อนที่จะกลับมาขยายตัว 3-6% ต่อปี ในปี 2564-2565 (ภาพที่ 19) ตามความต้องการของประเทศคู่ค้าหลัก เช่น เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา เป็นต้น
-
- สุขภัณฑ์เซรามิก: คาดปี 2563 ความต้องการใช้ในประเทศจะหดตัว 10-11% อยู่ที่ 3.0-3.3 ล้านชิ้น แต่ในปี 2564-2565 จะทยอยปรับขึ้น 4-7% ต่อปี คิดเป็นปริมาณ 3.5-3.7 ล้านชิ้น สำหรับปริมาณการส่งออกปี 2563 คาดว่าจะหดตัว 12.0% แต่จะกระเตื้องขึ้นในปี 2564-2565 ที่ขยายตัว 5-8% ต่อปี (ภาพที่ 20) ตามความต้องการของประเทศกัมพูชาและเมียนมาเป็นสำคัญ
- เหล็กก่อสร้าง (เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ): คาดว่าปริมาณความต้องการใช้ในประเทศปี 2563 จะหดตัว 13% อยู่ที่ประมาณ 3.8 ล้านตัน แต่จะกลับมาขยายตัว 2-3% ในปี 2564-2565 หนุนโดยการเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างในระบบคมนาคมขนส่งทางถนนและทางราง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเติบโตถูกจำกัดด้วยภาวะอุปทานคงค้างส่วนเกินในภาคอสังหาริมทรัพย์ สำหรับปริมาณการส่งออกคาดว่าในปี 2563 จะหดตัว 15.0% (ภาพที่ 21) ส่วนในปี 2564-2565 มีแนวโน้มทรงตัวถึงขยายตัวได้เล็กน้อย เนื่องจากสต๊อกของสินค้าในหลายประเทศยังอยู่ในระดับสูงจากอุปสงค์ที่ยังฟื้นตัวช้า ทั้งนี้ ผู้ผลิตไทยเผชิญภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นจาก (1) สินค้าไทยถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดโดยสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งเร่งระบายสต๊อกส่วนเกินทำให้เหล็กจากจีนมีราคาถูก และ (2) ผู้ประกอบการจีนเข้ามาตั้งโรงงานผลิตหรือซื้อกิจการในไทยเพิ่มขึ้น
กลุ่มผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง: ในช่วงปี 2563-2565 ร้านค้าสมัยใหม่ยังคงมีศักยภาพในการเติบโตสูงกว่าร้านค้าดั้งเดิม กล่าวคือ
- ร้านค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่: คาดรายได้ปี 2563 มีแนวโน้มทรงตัวถึงหดตัวเล็กน้อย ตามภาวะการก่อสร้างที่ซบเซาโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่รายได้จากการจำหน่ายวัสดุเพื่อตกแต่งยังมีแนวโน้มขยายตัวได้บ้าง สำหรับปี 2564-2565 คาดว่ารายได้จะทยอยฟื้นตัวตามทิศทางภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยร้านค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่มีข้อได้เปรียบร้านค้าดั้งเดิมในแง่โอกาสในการขยายฐานรายได้ของธุรกิจ ปัจจัยหนุนจาก (1) การปรับขนาดร้านค้าให้เล็กลงเพื่อขยายจำนวนสาขาเข้าไปในแหล่งชุมชนมากขึ้น (2) การเปิดร้านค้ารูปแบบใหม่ร่วมกับผู้ผลิตรายใหญ่เพื่อรองรับความต้องการที่เจาะจงลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น อาทิ บุญถาวรและเอสซีจีร่วมลงทุนเปิดร้านค้าวัสดุก่อสร้างแบรนด์ใหม่ (เอสซีจีโฮมบุญถาวร) กระจายตามภูมิภาค (3) การเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างภายใต้ตราสินค้าของบริษัทมากขึ้น เพื่อควบคุมต้นทุนและเพิ่มมาร์จิ้น และ (4) ลงทุนขยายสาขาในตลาดอาเซียนอย่างต่อเนื่อง
- ร้านค้าวัสดุก่อสร้างดั้งเดิม: รายได้ปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวรุนแรง ตามกำลังซื้อที่ซบเซาจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ สำหรับปี 2564-2565 คาดว่ารายได้มีแนวโน้มทรงตัวถึงขยายตัวได้เล็กน้อย เนื่องจากต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากกลุ่มร้านค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่และกลุ่มผู้ผลิตที่หันมาจำหน่ายสินค้าโดยตรงให้กับผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง
ราคาวัสดุก่อสร้างปี 2563-2565 โดยรวมมีแนวโน้มปรับลงเล็กน้อย ตามทิศทางต้นทุนเชื้อเพลิงเป็นหลัก โดยเฉพาะเหล็กซึ่งราคายังอยู่ในช่วงขาลงต่อเนื่องตามทิศทางราคาโลกจากปัญหาอุปทานส่วนเกินที่อยู่ในระดับสูง ทั้งยังส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กในไทยต้องปรับลดราคาตามราคาสินค้านำเข้าเพื่อรักษาฐานลูกค้า
ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อธุรกิจวัสดุก่อสร้างในระยะปานกลาง-ระยะยาว ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการก่อสร้าง ที่จะเน้นระบบการก่อสร้างแบบ Modular Building System โดยจะยกโครงสร้างอาคารเป็นส่วนๆ จากโรงงานมาประกอบเป็นอาคารสำเร็จรูปบนพื้นที่หน้างาน รูปแบบการก่อสร้างดังกล่าวจะใช้เทคโนโลยี 3D Printing ร่วมกับการจัดการข้อมูลภายใต้ระบบ Building Information Management (BIM) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้า (อาทิ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์) ทั้งด้านการออกแบบ ระยะเวลาก่อสร้าง และความแข็งแรงทนทาน ทำให้ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ต้องปรับกระบวนการผลิตโดยลงทุนด้านเทคโนโลยีสูงขึ้น ทั้งนี้ การพัฒนาวัสดุก่อสร้างในอนาคตสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ สินค้าสำเร็จรูป สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสินค้าที่เป็นอุปกรณ์อัจฉริยะตามสังคมที่เข้าสู่ยุคดิจิตอลในระยะข้างหน้า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ อาทิ ซีเมนต์เรืองแสง (Illuminating Cement)ไม้โปร่งแสง (Translucent Wood) และเส้นใยเหล็กเสริมคอนกรีต (Steel Fiber) เป็นต้น
มุมมองวิจัยกรุงศรี:
ปี 2563 ธุรกิจวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากปี 2562 ตามภาวะซบเซาของการลงทุนภาคก่อสร้าง ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะโครงการใหม่ และวิกฤต COVID-19 สำหรับปี 2564-2565 แนวโน้มธุรกิจคาดว่าจะปรับดีขึ้นตามภาวะการก่อสร้างที่น่าจะทยอยฟื้นตัว ปัจจัยหนุนจาก 1) ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังวิกฤต COVID-19 คลี่คลาย 2) ภาครัฐเร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ และ 3) การเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ในหัวเมืองภูมิภาค
กลุ่มผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง:
- ปูนซีเมนต์: รายได้ของมีแนวโน้มเติบโตในปี 2564-2565 ตามการฟื้นตัวของการลงทุนก่อสร้างในประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ ผู้ผลิตมีแนวโน้มขยายตลาดส่งออกใหม่ เช่น ออสเตรเลีย จากเดิมที่พึ่งตลาด CLM เป็นหลัก
- คอนกรีตผสมเสร็จ: รายได้ของผู้ผลิตซบเซาในปี 2563 ก่อนจะเติบโตดีในปี 2564-25265 ตามการขยายตัวของงานก่อสร้างภาครัฐและภาคเอกชน โดยผู้ประกอบการรายใหญ่มีศักยภาพในการหารายได้เพิ่มขึ้นตามการขยายการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังเดินหน้าแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
- กระเบื้องและสุขภัณฑ์เซรามิก: คาดว่ารายได้ของผู้ผลิตในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะยังซบเซาตามภาคอสังหาริมทรัพย์และกำลังซื้อของผู้บริโภค และธุรกิจยังเผชิญแรงกดดันจากการแข่งขันกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีน
- เหล็กก่อสร้าง (เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ): คาดรายได้ของผู้ผลิตจะขยายตัวต่ำ แม้จะได้อานิสงส์จากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟทางคู่และรถไฟฟ้า แต่เผชิญภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นจากสินค้าราคาถูกจากจีน ผลจาก (1) การทุ่มตลาดเหล็กในไทยเพื่อระบายอุปทานส่วนเกิน และ (2) การเข้ามาตั้งโรงงานใหม่/ซื้อโรงงานเดิมในไทย
กลุ่มผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง:
- ร้านค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่: รายได้ฟื้นตัวในปี 2564-2565 ตามภาวะเศรษฐกิจ การเพิ่มขึ้นของจำนวนสาขา การขยายช่องทางการจัดจำหน่าย การผลิตสินค้าแบรนด์ของตนเองมากขึ้น รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่นิยมซื้อในร้านค้าที่มีสินค้าให้เลือกหลากหลายครบวงจรและยังมีบริการเสริมหลังการขาย อาทิ การซ่อมแซม/ต่อเติมบ้าน
- ร้านค้าวัสดุก่อสร้างดั้งเดิม: ร้านค้าส่ง รายได้คาดว่าจะยังทรงตัว แม้ทิศทางธุรกิจก่อสร้างจะทยอยฟื้นตัว แต่ยังต้องเผชิญภาวะการแข่งขันที่สูงจากทั้งกลุ่มร้านค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่และกลุ่มผู้ผลิตที่หันมาจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง ร้านค้าปลีก รายได้มีแนวโน้มทรงตัวถึงหดตัวตามการแข่งขันที่รุนแรง แต่ยังพอมีปัจจัยหนุนจากรายได้จากสินค้าวัสดุก่อสร้างกลุ่มซ่อมแซมและต่อเติมที่ยังขยายตัวได้บ้าง
[1] Data from the Office of Industrial Economics on production capacity utilization and domestic consumption and production have been adjusted from 2016 onwards.
[2] The move by Thai producers to establish production facilities overseas and then to reimport from there to Thailand has led to a large jump in the import figures.
[3] ปริมาณการจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้างหลัก ประกอบด้วย ปูนซีเมนต์ คอนกรีตผสมเสร็จ กระเบื้อง สุขภัณฑ์ และเหล็กก่อสร้าง (สัดส่วนรวมกันคิดเป็น 60% ของตลาดวัสดุก่อสร้างในประเทศ)
[4] ปริมาณส่งออกของวัสดุก่อสร้าง ประกอบด้วย ปูนซีเมนต์ กระเบื้อง สุขภัณฑ์ และเหล็ก
[5] ที่มา ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในลาว, laotradeportal.gov.la, 4 ตุลาคม 2562