EXECUTIVE SUMMARY
ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างปี 2567 มีแนวโน้มหดตัวจากความล่าช้าของการอนุมัติและเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งฉุดรั้งการลงทุนก่อสร้างทั้ง Megaprojects และโครงการสาธารณูปโภคทั่วไป ขณะที่ภาคก่อสร้างเอกชนยังซบเซาทั้งโครงการที่อยู่อาศัยและโครงการก่อสร้างเชิงพาณิชย์จากผลกระทบของภาวะกำลังซื้อที่รอการฟื้นตัว ท่ามกลางค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยที่ยังสูง ส่งผลให้มูลค่าก่อสร้างโดยรวมมีแนวโน้มหดตัว -2.0% ถึง -3.0% ในปี 2567 ก่อนที่จะทยอยปรับเพิ่มขึ้นในอัตรา 4.5-5.0% และ 5.0-5.5% ในปี 2568 และ 2569 ตามลำดับ ตามการลงทุนก่อสร้างโครงการของภาครัฐที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้น รวมถึงโครงการก่อสร้างเอกชนและความต้องการบูรณะซ่อมแซมที่จะทยอยฟื้นตัวตามทิศทางกำลังซื้อที่เริ่มกระเตื้องขึ้น
แนวโน้มรายได้ของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายวัสดุก่อสร้างจึงน่าจะยังคงซบเซาในปี 2567 ก่อนที่จะขยายตัวในปี 2568-2569 ตามความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างที่ทยอยฟื้นตัว โดยผู้ผลิตรายใหญ่มีแนวโน้มแข่งขันลงทุนด้านเทคโนโลยีเน้นการผลิตที่ลดการปล่อยคาร์บอนตามกระแส ESG มากขึ้น ส่วนผู้ค้าจะเร่งพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านออนไลน์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายวัสดุก่อสร้างจะยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากต้นทุนค่าพลังงานและค่าขนส่งที่ยังสูง รวมถึงแรงกดดันจากสินค้านำเข้าโดยเฉพาะจากจีนและเวียดนามที่ได้เปรียบด้านราคา
มุมมองวิจัยกรุงศรี
ธุรกิจการผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างยังถูกกดดันจากภาวะกำลังซื้อที่ซบเซาและความล่าช้าของโครงการก่อสร้างพื้นฐานในปี 2567 แต่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามภาวะการก่อสร้างที่น่าจะทยอยฟื้นตัวในปี 2568-2569 ปัจจัยหนุนจาก (1) การขยายตัวของการลงทุนในโครงการก่อสร้างภาครัฐ (ทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน) โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ (2) การฟื้นตัวของโครงการอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดจนหัวเมืองภูมิภาค และ (3) อุปสงค์ต่อการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่จะปรับตัวดีขึ้นจากกำลังซื้อที่เริ่มทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ
กลุ่มผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง:
-
ปูนซีเมนต์: รายได้มีแนวโน้มยังคงซบเซาในปี 2567 แต่จะเริ่มเติบโตตามการฟื้นตัวของการลงทุนก่อสร้างโดยรวมในปี 2568-2569 ประกอบกับผู้ผลิตมีแนวโน้มขยายตลาดส่งออกใหม่ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จากเดิมที่พึ่งตลาด CLM เป็นหลัก
-
เหล็กก่อสร้าง (เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ): คาดว่ารายได้ของผู้ผลิตจะหดตัวในปี 2567 แต่จะทยอยฟื้นตัวในปี 2568 ในอัตราที่ไม่สูงมากนักเนื่องจากยังเผชิญภาวะการแข่งขันสูงจากสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีนและเวียดนาม
-
กระเบื้องและสุขภัณฑ์เซรามิก: คาดว่ารายได้จะปรับลดลงในปี 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มทยอยฟื้นตัวตามทิศทางการก่อสร้างภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย แต่อาจเติบโตได้ในอัตราต่ำ จากภาวะสต๊อกคงค้างในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังสูง และความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัยที่เน้นลูกค้ารายได้ระดับปานกลางลงมา รวมถึงแรงกดดันจากการแข่งขันกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีน
กลุ่มผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง:
-
ร้านค้าสมัยใหม่: รายได้มีทิศทางเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ปัจจัยหนุนจาก (1) กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนในภาคก่อสร้างที่จะกระเตื้องขึ้น (2) การเพิ่มขึ้นของจำนวนสาขา และการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายโดยเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์ (3) การผลิตสินค้าแบรนด์ของตนเอง (House brand) มากขึ้น และ (4) พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่นิยมซื้อสินค้าในร้านค้าสมัยใหม่ที่มีสินค้าให้เลือกหลากหลายครบวงจร พร้อมมีบริการเสริมหลังการขาย อาทิ การซ่อมแซม/ต่อเติมบ้าน
-
ร้านค้าดั้งเดิม: ร้านค้าส่ง แม้รายได้จะยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ จากทิศทางธุรกิจก่อสร้างที่จะทยอยฟื้นตัว แต่ยังต้องเผชิญภาวะการแข่งขันสูงจากทั้งกลุ่มร้านค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่และกลุ่มผู้ผลิตที่หันมาจำหน่ายสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยตรง ร้านค้าปลีก รายได้มีแนวโน้มทรงตัว โดยรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากสินค้าวัสดุก่อสร้างกลุ่มซ่อมแซมและต่อเติมที่ยังขยายตัวได้บ้าง
ข้อมูลพื้นฐาน
ธุรกิจวัสดุก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สำคัญของภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากต้นทุนวัสดุก่อสร้างมีสัดส่วนสูงถึง 60% ของมูลค่าการก่อสร้าง (ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต, 2558) ยอดขายวัสดุก่อสร้างจึงผันแปรในทิศทางเดียวกับภาวะการลงทุนภาคก่อสร้าง (ภาพที่ 1) ทั้งนี้ ประเภทของวัสดุก่อสร้างหลัก แบ่งเป็น วัสดุประเภทงานโครงสร้าง (ได้แก่ ปูนซีเมนต์ เหล็กก่อสร้าง) มีมูลค่าจำหน่ายโดยรวมคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 40% ของมูลค่าการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างทั้งหมด และวัสดุประเภทงานตกแต่ง (ได้แก่ กระเบื้องเซรามิก เครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก) สัดส่วน 10% (ภาพที่ 2) โดยวัสดุก่อสร้างประเภทหลัก (ยกเว้นเครื่องสุขภัณฑ์) มีสัดส่วนของปริมาณการจำหน่ายในประเทศมากกว่าการส่งออก (ภาพที่ 3)
โครงสร้างผู้ประกอบการในธุรกิจ
-
กลุ่มผู้ผลิต: ผู้ผลิตรายใหญ่และรายกลางซึ่งมีจำนวนรวมกันประมาณ 801 ราย1/(ข้อมูลปี 2566) ส่วนใหญ่มีความได้เปรียบทั้งด้านขนาดของเงินทุน การบริหารจัดการด้านการผลิต และอำนาจต่อรองกับ Suppliers (เช่น ด้านราคาและการส่งมอบวัตถุดิบ) จึงมีศักยภาพในการผลิตสินค้าได้จำนวนมาก ทำให้มีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่ต่ำ (Economies of Scale) ขณะที่ผู้ผลิตรายเล็กซึ่งมีจำนวนประมาณ 2,153 ราย ส่วนใหญ่มีขนาดของเงินทุนจำกัดจึงยังผลิตปริมาณไม่มากด้วยต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่สูง ทั้งนี้ โครงสร้างธุรกิจวัสดุก่อสร้างประเภทหลัก สามารถสรุปรายละเอียด ดังตารางที่ 1
-
กลุ่มผู้ค้า: ปัจจุบัน (ปี 2566) มีจำนวนประมาณ 7,303 ราย1/ แบ่งเป็น ผู้ประกอบการรายใหญ่ 280 ราย รายกลาง 1,172 ราย และรายเล็ก 5,851 ราย โดยจำแนกตามลักษณะการจำหน่ายและรูปแบบการให้บริการ ดังนี้
-
กลุ่มผู้ค้าสมัยใหม่ (Modern trade) ได้แก่ ร้านค้าวัสดุก่อสร้างที่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบตั้งแต่หน้าร้านจนถึงหลังร้าน จำหน่ายวัสดุก่อสร้างหลากหลายประเภท ตั้งแต่วัสดุก่อสร้างพื้นฐาน วัสดุซ่อมแซม/ตกแต่งบ้าน รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายกลางและรายใหญ่ ซึ่งมีความได้เปรียบจากฐานะการเงินที่แข็งแกร่งและต้นทุนบริหารจัดการที่ดี ผู้ประกอบการมีการขยายสาขาในต่างจังหวัดมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงบริการได้ง่าย โดยเฉพาะบริการหลังการขาย เช่น งานบริการซ่อมแซม งานติดตั้งวัสดุ/อุปกรณ์ทั้งในและนอกตัวอาคาร เป็นต้น ผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น โฮมโปร (ร้านโฮมโปรเน้นขายปลีกและของตกแต่งบ้าน / เมกาโฮมเน้นขายส่งและงานรับเหมาก่อสร้าง) ไทวัสดุ สยามโกลบอลเฮาส์ ดูโฮม และบุญถาวร (ส่วนแบ่งตลาดรวมกัน 31% ของรายได้รวมในกลุ่มร้านค้าวัสดุก่อสร้างทั้งหมด, ปี 2566)
-
กลุ่มผู้ค้าแบบดั้งเดิม (Traditional trade) ได้แก่ ร้านค้าวัสดุก่อสร้างทั่วไป ส่วนใหญ่มีการบริหารจัดการแบบดั้งเดิม จำหน่ายสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างพื้นฐาน อาทิ ปูน ทราย และผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ (เช่น กลอนประตู ตะปู) จนถึงวัสดุซ่อมแซม/ตกแต่งที่อยู่อาศัย โดยเน้นกลุ่มลูกค้าภายในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงร้านค้า ผู้ค้าบางรายมีการบริหารจัดการที่ครบวงจรเพื่อให้สามารถแข่งขันกับร้านค้าสมัยใหม่ อาทิ มีสินค้าหลากหลายประเภท (ซึ่งรวมถึงสินค้าตกแต่งบ้าน) การปรับปรุงหน้าร้าน ระบบการจัดจำหน่าย โดยเฉพาะการเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ ระบบตรวจสต๊อกสินค้าที่ทันสมัย ตลอดจนการให้บริการจัดส่งสินค้าที่เป็นระบบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อเสียเปรียบกลุ่มผู้ค้าสมัยใหม่ในด้านเงินทุน การทำตลาด และความแข็งแกร่งของแบรนด์ผู้ค้า
สถานการณ์ที่ผ่านมา
กลุ่มผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง
ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของวัสดุก่อสร้างหลักเกือบทุกประเภทในปี 2566 หดตัว ตามภาวะก่อสร้างโดยรวมที่ซบเซา ส่วนใหญ่เป็นผลจากโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่ค่อนข้างล่าช้า ตั้งแต่การเบิกจ่ายงบประมาณ (ส่วนหนึ่งจากผลของปัจจัยการเมืองในช่วงรอกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่) จนถึงการลงทุนก่อสร้าง ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในภาคเอกชนโดยรวมขยายตัวได้เพียงเล็กน้อย (ปี 2566 มูลค่าการลงทุนก่อสร้างขยายตัวเพียง 0.4% โดยมูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาครัฐหดตัว -2.2% ขณะที่ภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 3.9%) ด้านปริมาณส่งออกลดลง4/ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญโดยรวมที่ยังชะลอตัวทำให้ผู้นำเข้าสินค้าส่วนใหญ่ยังคงมีสต๊อกวัสดุก่อสร้างเหลืออยู่ปริมาณมาก
-
ปูนซีเมนต์
-
ปริมาณการผลิต (ปูนซีเมนต์พอร์ตแลนด์และปูนซีเมนต์ผสม) อยู่ที่ 33.8 ล้านตัน หดตัว -2.4% ต่อเนื่องจากปี 2565 ที่หดตัว -4.3% ส่วนปริมาณการจำหน่ายในประเทศมีจำนวน 31.1 ล้านตัน ลดลง -2.5% ต่อเนื่องจากปี 2565 ที่หดตัว -4.1% (ภาพที่ 4) จาก (1) ความต้องการใช้ที่ซบเซาตามภาวะหดตัวของการก่อสร้างภาครัฐ และ (2) ต้นทุนพลังงานที่ปรับสูงขึ้นทั้งด้านการผลิตและขนส่ง
-
ปริมาณการส่งออก (ไม่รวมปูนเม็ด) มีจำนวน 1.7 ล้านตัน ลดลง -21.8% คิดเป็นมูลค่า 4.1 พันล้านบาท ลดลง -13.3% ตามการหดตัวของตลาดส่งออกหลัก อาทิ เมียนมา ซึ่งมีสัดส่วน 49% ของปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ทั้งหมดของไทย (ส่วนใหญ่เป็นปูนซีเมนต์พอร์ตแลนด์) (ภาพที่ 5) ลดลง -8.9% ผลจากความไม่สงบทางการเมืองในประเทศที่ยืดเยื้อ ทำให้โครงการก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชนล่าช้า ด้านกัมพูชา (สัดส่วน 17%) หดตัว -43.1% จากความซบเซาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ สปป.ลาว (สัดส่วน 22%) เพิ่มขึ้น 66.1% ตามการขยายการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ทั่วประเทศ แม้จะยังคงเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ อาทิ เงินกีบที่อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 20 ปี วิกฤตหนี้สาธารณะ และภาวะเงินเฟ้อ ที่มีผลต่อกำลังซื้อ
-
ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้นำเทคโนโลยี/นวัตกรรมเข้ามาช่วยพัฒนากระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ ให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) อาทิ การผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Hydraulic cement) ซึ่งใช้วัสดุอื่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly materials) แทนการใช้ปูนเม็ด (Clinker)5/และมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในขั้นตอนการผลิต ทั้งนี้ ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกสามารถนำไปใช้ในงานก่อสร้างโครงสร้างประเภทต่างๆ ได้เช่นเดียวกับปูนซีเมนต์พอร์ตแลนด์ซึ่งยังใช้ปูนเม็ดในสัดส่วนสูง (ภาพที่ 6) โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก (ภาพที่ 7) นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังปรับใช้พืชพลังงานชนิดอื่นมาเป็นเชื้อเพลิงแทนเชื้อเพลิงแบบเดิม (ถ่านหิน) เช่น หญ้าเนเปียร์ เป็นต้น ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงทดลองปลูก (ในโครงการสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์)6/
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง (Construction Materials Price Indexes: CMPI) ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ในปี 2566 ชะลอลงจากปี 2565 ที่เพิ่มขึ้น 5.8% โดยดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (สัดส่วน 29% ของน้ำหนักในการคำนวณดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างทั้งหมด) หดตัว -3.6% (ภาพที่ 16) จากการลงทุนก่อสร้างภาครัฐในส่วนที่ใช้โครงสร้างเหล็กที่ยังล่าช้าตามการเบิกจ่ายงบประมาณ กอปรกับอุปทานส่วนเกินจากปัญหาวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีน ทำให้จีนต้องระบายสินค้าเหล็กส่งออกมากขึ้นโดยเฉพาะไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียน กดดันให้ราคาเหล็กในประเทศ (และตลาดโลก) ลดลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปี 2565 (ภาพที่ 17) ขณะที่ดัชนีราคาผลิตภัณฑ์คอนกรีตและปูนซีเมนต์ (สัดส่วน 17% และ 12% ตามลำดับ) เพิ่มขึ้น (เป็นการเพิ่มขึ้นในส่วนของคอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ และท่อระบายน้ำ) 1.9% และ 1.4% ตามลำดับ ตามต้นทุนด้านวัตถุดิบที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาแร่ยิปซั่ม ที่เพิ่มขึ้น 5.0% ในปี 2566 เป็นต้น
สถานการณ์ครึ่งแรกปี 2567
มูลค่าการลงทุนภาคก่อสร้างโดยรวมในครึ่งแรกปี 2567 หดตัวรุนแรง -11.2% YoY โดยเป็นการหดตัวของการก่อสร้างภาครัฐ -19.3% YoY ปัจจัยสำคัญจากความล่าช้าของการดำเนินการงบประมาณปี 2567 ส่งผลให้โครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หดตัวถึง -23.2% YoY แม้ว่ามูลค่าลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนยังขยายตัวได้ 1.2% YoY จากการก่อสร้างในหมวดที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย (+6.7% YoY) ทำให้ภาพรวมของความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างยังซบเซาต่อเนื่อง
แนวโน้มธุรกิจ
ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างปี 2567 มีแนวโน้มหดตัวจากความล่าช้าของการอนุมัติและเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งฉุดรั้งการลงทุนก่อสร้างทั้ง Megaprojects และโครงการสาธารณูปโภคทั่วไป ขณะที่ภาคก่อสร้างเอกชนยังซบเซาทั้งโครงการที่อยู่อาศัยและโครงการก่อสร้างเชิงพาณิชย์จากผลกระทบของภาวะกำลังซื้อที่รอการฟื้นตัว ท่ามกลางค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยที่ยังสูง ส่งผลให้มูลค่าก่อสร้างโดยรวมมีแนวโน้มหดตัว -2.0% ถึง -3.0% ในปี 2567 ก่อนที่จะทยอยปรับเพิ่มขึ้นในอัตรา 4.5-5.0% และ 5.0-5.5% ในปี 2568 และ 2569 ตามลำดับ ตามการลงทุนก่อสร้างโครงการของภาครัฐที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้น รวมถึงโครงการก่อสร้างเอกชนและความต้องการบูรณะซ่อมแซมที่จะทยอยฟื้นตัวตามทิศทางกำลังซื้อที่เริ่มกระเตื้องขึ้น (ภาพที่ 18) ซึ่งจะช่วยหนุนความต้องการใช้วัสดุก่อสร้าง แม้ผู้ผลิตและผู้ค้าวัสดุก่อสร้างจะยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากต้นทุนค่าพลังงานและค่าขนส่งที่ยังสูง รวมถึงแรงกดดันจากสินค้านำเข้าโดยเฉพาะจากจีนและเวียดนามที่ได้เปรียบด้านราคา
กลุ่มผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง: รายได้โดยรวมมีแนวโน้มหดตัวในปี 2567 ตามภาวะซบเซาของการลงทุนในภาคก่อสร้าง แต่จะทยอยฟื้นตัวในปี 2568-2569 ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญมาจากการเร่งรัดดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC และโครงการอื่นๆ ทั่วประเทศเพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ทันตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ. 2566 - 2570 ของกระทรวงคมนาคม ซึ่งประกอบด้วยโครงการลงทุนทั้งหมด 77 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 337.8 พันล้านบาท รวมถึงโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ในพื้นที่อื่น ซึ่งจะเหนี่ยวนำงานก่อสร้างภาคเอกชนให้ขยายตัวตามในปี 2568 และ 2569 โดยเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าและเส้นทางคมนาคมสายใหม่ๆ ตลอดจนการก่อสร้างโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เกี่ยวเนื่อง
-
ปูนซีเมนต์: ปริมาณการจำหน่ายในประเทศ มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องในปี 2567 ที่ -7.0% ถึง -8.0% (ภาพที่ 19) และจะกลับมาขยายตัว 4.5-5.0% ต่อปี ในปี 2568-2569 อานิสงส์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่คาดว่าจะมีความคืบหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะงานก่อสร้างระยะแรก เช่น งานวางฐานรากของทางยกระดับโครงการรถไฟฟ้า และงานก่อสร้างระบบรางเส้นทางใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ EEC ส่วนปริมาณการส่งออกคาดว่าจะยังซบเซาต่อเนื่องในปี 2567 ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2568-2569 ตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนก่อสร้างในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและโครงการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ GDP ปี 2567-2568 ของประเทศ CLMV และฟิลิปปินส์ (ตลาดส่งออกหลักอันดับ 5 ในสินค้าปูนซีเมนต์ขาว) จะขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการมีแนวโน้มขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดและกระจายความเสี่ยงในตลาดส่งออก
-
เหล็กก่อสร้าง (เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ): คาดว่าปริมาณการจำหน่ายในประเทศปี 2567 จะหดตัว -11.0% ถึง -12.0% และจะทยอยพื้นตัว 4.0-5.0% ต่อปี ในปี 2568-2569 (ภาพที่ 20) อานิสงส์จากการลงทุนต่อเนื่องทั้งด้านโครงการภาครัฐและเอกชนที่อยู่ในช่วงขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น ส่วนปริมาณการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ปัจจัยหนุนจากการเร่งลงทุนก่อสร้างโครงการพื้นฐานในหลายประเทศหลังการคลี่คลายของ COVID-19 โดยเฉพาะอาเซียนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย สอดคล้องกับ Worldsteel ที่คาดว่าความต้องการเหล็กในตลาดอาเซียนจะเติบโต 3.5% ในปี 2567 (ปี 2566 ขยายตัว 1.1%) และ 4.3% ในปี 2568 (Worldsteel, เมษายน 2567) (ภาพที่ 21) ขณะที่ปริมาณการนำเข้ามีแนวโน้มขยายตัวตามการลงทุนและภาคการก่อสร้างที่จะทยอยฟื้นตัวเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม คาดว่าอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กในประเทศยังคงถูกกดดันจากการแข่งขันกับอุปทานสินค้านำเข้าที่ทยอยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินค้าจากประเทศจีน ซึ่งไทยยังเสียเปรียบทั้งด้านต้นทุนการผลิตและแหล่งวัตถุดิบต้นน้ำ ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตตกต่ำต่อเนื่อง โดยครึ่งแรกปี 2567 อยู่ที่ 29.3% เท่านั้น (สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สิงหาคม 2567)
- กระเบื้องและสุขภัณฑ์เซรามิก: คาดว่าปริมาณการจำหน่ายกระเบื้องและสุขภัณฑ์เซรามิกในประเทศปี 2567 จะยังซบเซาต่อเนื่อง โดยหดตัวเฉลี่ยประมาณ -8.0% ถึง -9.0% ก่อนที่จะทยอยฟื้นตัวได้ในอัตราต่ำเฉลี่ยประมาณ 1.0% - 2.0% ในปี 2568-2569 (ภาพที่ 28-29) ตามทิศทางของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ จากภาวะกำลังซื้อที่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นตามกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ และการกลับเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเท่ากับช่วงก่อน COVID-19 ในปี 2568 ช่วยหนุนการลงทุนก่อสร้างอาคารเชิงพาณิชย์ ทั้งโรงแรม สำนักงาน และที่พักประเภทต่างๆ ปริมาณการส่งออกกระเบื้องและสุขภัณฑ์เซรามิกคาดว่าจะหดตัว -11.0% ถึง -12.0% ในปี 2567 และจะเติบโตเฉลี่ย 2.0% - 3.0% ในปี 2568-2569 ตามความต้องการของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะ สปป.ลาว และกัมพูชา โดยปี 2564 (ล่าสุด) ลาวนำเข้ากระเบื้องเซรามิกจากไทยในปริมาณมากที่สุดด้วยสัดส่วน 40% และ 50% ของปริมาณการนำเข้ากระเบื้องและสุขภัณฑ์เซรามิกทั้งหมดของลาว ตามลำดับ และยังมีแนวโน้มนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพื่อใช้ในโครงการที่อยู่อาศัยที่คาดว่าจะทยอยพื้นตัว หลังซบเซาหนักช่วง COVID-19 ส่วนปริมาณการนำเข้ากระเบื้องและสุขภัณฑ์เซรามิกของไทย คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 1.5% ต่อปี และ 1.2% ต่อปี ตามลำดับ ตามการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม โดยจีนและเวียดนามยังคงเป็นแหล่งนำเข้าหลักของไทย
กลุ่มผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง: ในช่วงปี 2567-2569 ร้านค้าสมัยใหม่ยังคงมีศักยภาพในการเติบโตสูงกว่าร้านค้าดั้งเดิม
-
ร้านค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่: รายได้จะทยอยฟื้นตัวตามทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โดยใช้กลยุทธ์ในการขยายช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลาย อาทิ (1) การปรับขนาดร้านค้าให้เล็กลงเพื่อขยายจำนวนสาขาเข้าไปในแหล่งชุมชนมากขึ้น (2) การเปิดร้านค้ารูปแบบใหม่ร่วมกับผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างรายใหญ่เพื่อรองรับความต้องการที่เจาะจงลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น อาทิ บุญถาวรและเอสซีจีร่วมลงทุนเปิดร้านค้าวัสดุก่อสร้างแบรนด์ใหม่ (เอสซีจีโฮมบุญถาวร) กระจายตามภูมิภาค (3) การเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างภายใต้ตราสินค้าของบริษัทตนเองเพื่อควบคุมต้นทุนและเพิ่มมาร์จิ้น (4) การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า อาทิ Online channel และ Mobile application, การจำหน่ายผ่าน Marketplace อื่นๆ อาทิ Lazada และ Shopee และ (5) การลงทุนขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศ (โดยเฉพาะอาเซียน) อย่างต่อเนื่อง
-
ร้านค้าวัสดุก่อสร้างดั้งเดิม: คาดรายได้มีแนวโน้มทรงตัว โดยได้รับแรงหนุนจากผู้บริโภคระดับกลาง-ล่างที่รายได้มีทิศทางกระเตื้องขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจในปี 2568-2569 โดยเฉพาะเศรษฐกิจภูมิภาค จากการเร่งลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนของธุรกิจเอกชน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจจะยังเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากกลุ่มร้านค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ที่ขยายสาขากระจายออกไปยังพื้นที่ในจังหวัดเมืองรองมากขึ้น รวมถึงการแข่งขันกับกลุ่มผู้ผลิตที่หันมาจำหน่ายสินค้าโดยตรงให้กับผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างรายเล็ก
-
ปัจจัยท้าทายธุรกิจวัสดุก่อสร้าง: ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มผลิตสินค้าที่เป็นวัสดุก่อสร้างรักษ์โลกในสัดส่วนมากขึ้นทำให้ผู้ประกอบการต้องลงทุนเทคโนโลยีด้านการผลิตที่ทันสมัยและมีกระบวนการซับซ้อนเพิ่มขึ้น ในช่วงที่ราคาพลังงานยังทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นตาม เช่น Green steel มีราคาสูงกว่าเหล็กทั่วไปประมาณ 20-30% (SSAB, 2561) ขณะที่ผู้จำหน่าย ปรับตัวรับการแข่งขันที่รุนแรงทั้งด้านการดำเนินงานและการตลาด โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงขยายสาขาต่อเนื่อง และมีกลยุทธ์ส่งเสริมการขายที่จะสร้างแรงกดดันต่อธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการ SMEs
-
ในระยะปานกลาง ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มปรับกระบวนการผลิตโดยลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อผลิตสินค้ารุ่นใหม่ที่มีคุณภาพสูง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (ภาพที่ 30) อาทิ Green cement (Hydraulic cement), Green steel และ Eco tile เป็นต้น รองรับทิศทางการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ก่อสร้างอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green building) (ภาพที่ 31) รวมถึงพัฒนาช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้า (อาทิ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่) ทั้งด้านการออกแบบ ระยะเวลาก่อสร้าง ความแข็งแรงทนทาน ขณะเดียวกันผู้ค้าวัสดุก่อสร้างจะปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกยุคดิจิทัล อาทิ บริการครบวงจร (End to End Service) การติดต่อกับลูกค้าได้หลากหลายช่องทางโดยการผสานทั้ง Online และ Offline (Omni channel marketing) และการทำตลาดเฉพาะบุคคล (Personalized marketing platform) โดยนำเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ (Big data analytics) เข้าช่วยมากขึ้น ส่วนในระยะยาวทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มเป็นพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจแบบอย่างยั่งยืน (Sustainable development) ตามแนวทาง ESG Framework (Environment, Social and Governance) ซึ่งเป็น Megatrends ที่สำคัญของโลก
ราคาวัสดุก่อสร้างปี 2567-2569 โดยรวมมีแนวโน้มทรงตัวถึงเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำ (ภาพที่ 32) โดยแรงหนุนของราคามาจาก (1) การฟื้นตัวของอุปสงค์ในภาคก่อสร้าง โดยเฉพาะในปี 2568-2569 ที่คาดว่าการลงทุนก่อสร้างภาครัฐจะเร่งตัวขึ้นหลังซบเซาในปี 2566-2567 รวมถึงการขยายการลงทุนในโครงการพื้นฐานทั่วโลกรองรับการฟื้นตัวของภาคธุรกิจหลัง COVID-19 ทำให้ความต้องการใช้เหล็กก่อสร้างเพิ่มขึ้น แม้ว่าผู้ผลิตรายใหญ่ (โดยเฉพาะจีน) อาจลดปริมาณการผลิตลง จากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ (2) ต้นทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ใช้ในการผลิตเพื่อมุ่งสู่การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และ (3) ต้นทุนพลังงานที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่คาดว่าจะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง กดดันค่าขนส่งให้เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาวัสดุก่อสร้างอาจปรับเพิ่มขึ้นได้ไม่มาก เนื่องจากกำลังซื้อที่ยังรอการฟื้นตัว โดยเฉพาะในตลาดภูมิภาคจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ยังเข้มงวด นอกจากนี้ ต้นทุนวัตถุดิบบางรายการมีทิศทางเริ่มปรับตัวลง อาทิ เศษเหล็ก (Scrap) สินแร่เหล็ก (Iron ore) โดยธนาคารโลกคาดการณ์ราคาสินแร่เหล็กจะลดลง -8.8% และ -4.5% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ (เมษายน, 2567)
1/เฉพาะที่มีงบการเงิน 6 ปีติดต่อกันช่วงปี 2561-2566
2/ ประกอบด้วยปูนซีเมนต์พอร์ตแลนด์และปูนซีเมนต์ผสม
3/ รวมกรณีการย้ายฐานการผลิตของผู้ผลิตชาวไทยไปตั้งโรงงานผลิตในต่างประเทศแล้วนำเข้ากลับมาไทย
4/ ปริมาณส่งออกของวัสดุก่อสร้าง ประกอบด้วย ปูนซีเมนต์ เหล็กก่อสร้าง กระเบื้องเซรามิก และสุขภัณฑ์เซรามิก
5/ วัสดุทดแทนปูนเม็ด เช่น หินปูน (นิยมในประเทศไทย เพราะมีปริมาณมากและคุณภาพดี) ปูนขาว เถ้าลอย ปอซโซลาน (อาทิ ซิลิกาฟูม เถ้าแกลบ และดินขาว) และกากถลุงจากเตาถลุงแบบพ่นลม เป็นต้น
6/ โครงการสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ (เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกในประเทศไทย) ได้ดำเนินการโครงการนำร่องปลูกหญ้าเนเปียร์ (Napier grass or Elephant grass) ในพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในการผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งหญ้าเนเปียร์เป็นพืชพลังงาน สามารถดูดซึมคาร์บอนได้เร็วและยังนำไปเป็นอาหารสัตว์ได้ (สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย, กุมภาพันธ์ 2567)
7/ ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas) ที่สำคัญ อาทิ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเธน (CH4) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) และกลุ่มก๊าซฟลูออริเนต เช่น ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) และไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3) รวมถึงสารซีเอฟซี (CFCs) เป็นต้น