เริ่มแล้ว “Zero Waste” ชีวิตยุคใหม่ เปลี่ยนขยะให้เป็นศูนย์

เริ่มแล้ว “Zero Waste” ชีวิตยุคใหม่ เปลี่ยนขยะให้เป็นศูนย์

By Krungsri Plearn Plearn

เมื่อพฤติกรรมการบริโภค การขยายตัวทางเศรษฐกิจ การเพิ่มจำนวนประชากร ต่างส่งผลต่อปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในทุก ๆ ปี แบบที่เราแทบไม่รู้ตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของแนวคิด Waste หรือการทำให้ขยะเหลือศูนย์ ด้วยการเลือกใช้วัตถุที่สามารถนำกลับมาแปรรูปใช้ได้ใหม่ ลดปริมาณของเสียที่จะทิ้งให้เหลือน้อยที่สุด นอกจากนี้ยังครอบคลุมไปจนถึงการบริโภคให้พอดี ใช้เงินอย่างคุ้มค่า ซึ่งคุณเองก็ทำได้นะ

ขยะมากมายรอการทำลาย

ภาพไม่ชวนตา เช่น กองขยะที่ล้นปรี่ออกมาจากถัง ขวดน้ำพลาสติกที่ไม่ได้แยกขยะ การใช้ถุงพลาสติกอย่างพร่ำเพรื่อ ภาพเหล่านี้มักพบเห็นตามเมืองใหญ่ ๆ ไม่เว้นแม้แต่ กรุงเทพมหานคร จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษในปี 2561 พบว่ากทม. มีปริมาณขยะมูลฝอยเฉลี่ยกว่า 10,678 ตันต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับรถยนต์ขนาด 1,500 ซีซี จำนวน 8,988 คัน และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2552-2561) มีการกำจัดขยะที่ถูกต้องเฉลี่ยเพียง 7.9 ล้านตันเท่านั้น จากปริมาณขยะมูลฝอยเฉลี่ยทั้งสิ้น 26.05 ล้านตัน การแก้ปัญหาขยะจึงไม่ได้สิ้นสุดแค่การนำไปทิ้ง แต่ต้องคำนึงถึงการทิ้งขยะอย่างถูกประเภทควบคู่ไปด้วย

Zero Waste ขยะเหลือศูนย์

ส่วนหนึ่งของปัญหาขยะเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่บริโภคสินค้าแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติก หลอดพลาสติก โฟม ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม เมื่อขยะคือภาระของทุกคน จึงเป็นที่มาของการใช้ชีวิตแบบ Zero Waste คือการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะไม่สร้างขยะใหม่ ๆ โดยพยายามไม่ให้มีอะไรหลงเหลือจนเป็นขยะได้ โดยยึดหลักปฏิบัติง่าย ๆ 1A3R ประกอบด้วย Avoid หลีกเลี่ยงใช้สิ่งที่ก่อให้เกิดขยะเพิ่ม Reduce ใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดขยะให้น้อยลง Reuse การนำกลับมาใช้ใหม่ และ Recycle การหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเราสามารถนำแนวทางนี้มาปรับใช้กับชีวิตประจำวันของแต่ละคนได้ ด้วยการปฏิบัติตามภารกิจดังต่อไปนี้

1. ยิ่งนับยิ่งลด
เริ่มต้น Challenge ตัวเองด้วยการนับจำนวนขยะที่เราสามารถลดได้จากการปฏิบัติภารกิจในแต่ละวัน จะให้สนุกขึ้นอีกก็ต้องชวนเพื่อนมาร่วมอุดมการณ์ด้วย พร้อมกำหนดระยะเวลาในการแข่งขัน แล้วมาดูกันว่าใครสามารถลดจำนวนขยะได้มากกว่ากัน นอกจากจะสนุกแล้วยังสร้างแรงบันดาลใจให้เราทำสิ่งดี ๆ ต่อไปอีกด้วย
2. พกถุงผ้าคู่ใจ
ปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติกเมื่อไม่จำเป็น ด้วยการพกถุงผ้าใบโปรด ลายเก๋ ๆ ทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน คงไม่มีใครอยากหิ้วถุงก๊อบแก๊บครั้งละสามสี่ถุง กรีนแล้วยังเก๋อีกด้วย เพราะเราคงไม่อยากให้คนอื่นรู้ว่าวันหนึ่ง ๆ เวลาเราไปช้อปเราซื้อของอะไรมาบ้าง อีกทั้งภาคเอกชนก็ให้ความร่วมมือเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสรรพสินค้าเซ็นทรัลและกลุ่มธุรกิจในเครือได้ให้สิทธิประโยชน์กับลูกค้าที่ปฏิเสธการรับถุงพลาสติก โดยลูกค้าที่นำถุงผ้ามาเอง จะได้รับคะแนนจากเดอะวันคาร์ด และทุกวันที่ 5 ของเดือนจะงดให้บริการถุงพลาสติกให้กับลูกค้า
3. ไม่รับช้อน ส้อม ตะเกียบพลาสติก
ช้อนส้อมพลาสติกอาจจะสะดวกในการใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่กลับใช้เวลาย่อยสลายหลายร้อยปี มิหนำซ้ำตะเกียบใช้แล้วทิ้งบางยี่ห้อจะใส่สารฟอกขาวเกินมาตรฐาน และอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ แถมยังแพ็คมาในถุงพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง เพิ่มจำนวนขยะไปอีก จะดีกว่าไหมถ้าเราพกอุปกรณ์มาเอง ใช้สะดวกและแข็งแรงกว่าพลาสติกเยอะเลย คุ้มค่ากว่าเห็น ๆ ในต่างประเทศพัฒนาไปไกลถึงขั้นคิดค้นช้อนกินได้ที่ผลิตมาจากข้าวฟ่าง เพื่อเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่สังคมไร้พลาสติกในอนาคต
4. อุดหนุนร้านค้าแบบเติม
ในต่างประเทศมีร้านค้าแบบเติมหรือที่เรียกว่า Bulk Store ผุดขึ้นมามากมาย แต่ในไทยอาจจะยังไม่คุ้นชินนัก ซึ่งร้านแบบเติมแห่งแรกของไทยมีชื่อว่า “Refill Station ปั๊มน้ำยา” ที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ Eco-friendly ที่สามารถใช้ซ้ำหรือย่อยสลายได้ โดยจะแบ่งขายสินค้าน้ำยาต่าง ๆ เป็นปริมาณตามต้องการ ซึ่งลูกค้าจะต้องนำภาชนะมาเอง โดยจะแบ่งขายตามน้ำหนักเพื่อลดปริมาณขยะที่มาจากบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้ง
5. ขวดเดียวแก้วเดิม เพิ่มเติมคือใช้ซ้ำ
วันหนึ่งเราดื่มน้ำคนละกี่แก้ว ยังไม่นับรวมชา กาแฟ น้ำหวานอื่น ๆ นับรวมกันแล้วเป็นขยะหลายชิ้นทีเดียว พกขวดน้ำประจำตัวดีกว่า ใช้แล้วล้างก็สะอาด ดีกว่าการใช้ขวดพลาสติก ที่เสี่ยงต่ออันตรายเมื่อใช้ซ้ำ อีกทั้งกระบวนการผลิตและการทำลายขวดพลาสติกก่อให้เกิดก๊าซพิษ ที่กระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อม เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อนนั่นเอง ปัจจุบันเป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้ประกอบการหลายแห่งตระหนักถึงปัญหานี้ และสนับสนุนให้ลูกค้านำแก้วมาเอง พร้อมมอบส่วนลดราคาเครื่องดื่มให้
6. ลด-เลิกการใช้หลอดพลาสติก
ปัญหาขยะพลาสติกล้นท้องทะเล ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน้ำ หลอดพลาสติกเป็นหนึ่งในขยะพลาสติกที่พบบ่อยที่สุดเมื่อมีการทำความสะอาดชายหาด มากพอ ๆ กับขวดน้ำ ถุงพลาสติกและแก้วพลาสติก ด้วยความที่หลอดมีน้ำหนักเบา ทำให้ขยะเหล่านี้พัดปลิวลงทะเล กระทบต่อสัตวน้ำในทะเลมีแนวโน้มเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อย เนื่องจากกินพลาสติกเข้าไปนั่นเอง การใช้หลอดใช้ซ้ำอย่างเช่น แบบสเตนเลส ซิลิโคน แบบไม้ไผ่ หรือหลอดแก้วใส จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ และอย่าลืมพกแปรงจิ๋วเพื่อทำความสะอาดให้ถูกสุขอนามัยด้วย
7. แยกขยะก่อนทิ้ง
วิธีที่เบสิคสุด ๆ แต่เป็นสิ่งที่หลายคนละเลย การแยกขยะให้มีประสิทธิภาพ ควรเริ่มจากต้นทางที่บ้านของคุณเอง โดยแยกขยะเป็น 4 ประเภท คือ 1. ขยะย่อยสลายได้ เช่น เศษอาหาร สามารถนำไปผลิตเป็นปุ๋ยหมักได้ 2. ขยะรีไซเคิล สามารถนำมาแปรรูปได้อีกครั้ง เช่น กระดาษ แก้ว หรือโลหะ เป็นต้น 3. ขยะที่มีองค์ประกอบของสารอันตราย ต้องนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้ปนเปื้อน รั่วซึมกับแหล่งน้ำและพื้นดิน 4. ขยะทั่วไป เช่น ถุงขนม กล่องโฟม ถุงพลาสติก ใช้เวลาย่อยสลายนาน ไม่เหมาะที่จะนำกลับมาใช้ใหม่

หันหน้าเข้าหากัน ร่วมด้วยช่วยกรีน

สำหรับในประเทศไทยเองก็มีหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนนำแนวคิด Zero Waste มารณรงค์และปรับใช้กับโครงการของตัวเอง เช่น กระทรวงสาธารณสุข ได้รณรงค์ให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ยกเลิกการใช้ถุงหิ้วพลาสติกใส่ยาให้ผู้ป่วย โดยเชิญชวนผู้รับบริการนำถุงผ้า กระเป๋า หรือตะกร้า มาใช้แทน ช่วยลดปริมาณการสั่งซื้อถุงหิ้วพลาสติกได้ถึงร้อยละ 87 หรือ 344,043.2 กิโลกรัม ในส่วนองค์กรการศึกษา อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ชูโครงการ Chula Zero Waste เพื่อพัฒนาระบบการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็นต้นแบบการจัดการขยะในพื้นที่เมือง รวมถึงการสร้างค่านิยม Zero Waste ให้เห็นความสำคัญในการลด คัดแยกขยะ ด้วยการรณรงค์ให้ร้านค้าในโรงอาหารของจุฬาใช้ Zero-Waste Cup หรือแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ ที่ใช้ล้างซ้ำและสามารถย่อยสลายได้ 100% โดยมีถังขยะสำหรับทิ้งแก้วชนิดนี้โดยเฉพาะ ซึ่งกระบวนการย่อยสลายสามารถนำไปประกอบเป็นปุ๋ยได้ และยังสามารถนำมาใช้ซ้ำแทนถุงเพาะชำต้นไม้ได้ด้วย หรือธุรกิจการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่น หรือ Food Delivery บางรายได้เพิ่มตัวเลือกในการสั่งซื้ออาหาร โดยลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะรับพลาสติกอะไรบ้าง ช่วยลดขยะพลาสติกจากต้นทางได้ส่วนหนึ่ง

ส่วนในต่างประเทศอย่าง ไอร์แลนด์ ถือเป็นประเทศแรกในโลกที่จัดเก็บภาษีถุงพลาสติก นโยบายดังกล่าวทำให้ปริมาณขยะถุงพลาสติกลดลงกว่าร้อยละ 90 ส่วนประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเมียนมาร์ ได้เก็บค่าธรรมเนียม รณรงค์ลดการใช้พลาสติก รวมไปถึงการสร้างพื้นที่ปลอดถุงพลาสติกอีกด้วย
เห็นมั้ยครับว่าการใช้ชีวิตแบบ Zero Wase ไม่ได้ยากเกินกำลังเลย เริ่มเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราเองก่อน แล้วส่งเสริมคนรอบข้างมาร่วมอุดมการณ์ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ สร้างเครือข่ายและสังคมที่น่าอยู่ร่วมกัน มอบสิ่งดี ๆ ให้กับคนรุ่นหลังต่อไป
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow