ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายคนคงได้ยินข่าวการหลอกลวงทางออนไลน์ ทำให้คนสูญเสียเงินทองกันมากมายแทบหมดเนื้อหมดตัว ซึ่งมีสาเหตุหลัก ๆ มาจาก Malware และ Scammer ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า Malware คืออะไร เหมือนหรือแตกต่างจาก Scammer ไหม? ที่สำคัญเราจะมีวิธีการป้องกันตัวจากทั้ง 2 สิ่งนี้ได้อย่างไร? วันนี้น้องเพลินเพลิน จะพาเพื่อน ๆ ไปเปิดโลกเพื่อที่จะได้รู้เท่าทันและระวังตัวกัน
ดูสถิติการถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ทั่วโลกกันหน่อย
จากข้อมูล The Global State of Scam Report 2564 ระบุว่าในปี 2564 มีการหลอกลวงคนทั่วโลกผ่านช่องทางออนไลน์มากถึง 293 ล้านครั้ง ความเสียหายสูงถึง 55,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หากเราคิดเป็นเงินบาทที่อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ความเสียหายจะอยู่ที่ 1.935 ล้านล้านบาท ซึ่งน้องเพลินเพลิน มองว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากเลยทีเดียว นอกจากนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้มีการรวบรวมภัยการเงินออนไลน์ทั่วโลก พบว่าคนไทยถูกหลอกลวงติดอันดับ 6 ของโลกในปี 2565 อีกด้วย
รู้จัก 2 ประเภทการหลอกลวงทางออนไลน์
หลัก ๆ แล้วเราสามารถจัดประเภทการหลอกลวงทางออนไลน์ได้ 2 รูปแบบ ได้แก่
Malware คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เป็นอันตราย ถูกสร้างขึ้นมาจากผู้ไม่หวังดีแล้วส่งเข้าไปโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นเป้าหมาย และนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้คอมพิวเตอร์รายนั้น ๆ ไปใช้ประโยชน์ ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้ไม่หวังดีเจาะเข้าไปในระบบของเราได้ จะทำการค้นหาข้อมูลไฟล์ต่าง ๆ ที่เราบันทึกไว้ ไม่ว่าจะเป็น ภาพถ่ายสำเนาบัตรประชาชน ข้อมูล พาสเวิร์ด ในระบบงานต่าง ๆ
นอกจากนี้การหลอกลวงอาจจะมาในรูปแบบของแอปพลิเคชัน โดยการส่งลิงก์โฆษณาเกินความเป็นจริงให้เราหลงเชื่อและสนใจดาวน์โหลดเข้ามาติดตั้งในเครื่องเพื่อสอดแนมหาข้อมูลของเรา เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็จะทำการโอนเงินจากบัญชีของเราไปยังบัญชีที่เตรียมไว้ ทำให้หลาย ๆ คนหมดเนื้อหมดตัวได้ เราเลยเรียกแอปพลิเคชันพวกนี้ว่า
แอปดูดเงิน
Scammer คือ การหลอกลวงโดยมิจฉาชีพที่จะติดต่อเราผ่านช่องทางออนไลน์ โทรศัพท์ หรือ SMS เพื่อทำให้เราหลงเชื่อแล้วทำการโอนเงินให้หรือให้ข้อมูลส่วนตัวที่ทำให้มิจฉาชีพนำไปสร้างความเสียหายได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วง 2-3 ปีนี้ แก๊งคอลเซนเตอร์ ที่กลุ่มมิจฉาชีพได้ร่วมมือกันเป็นขบวนการ โดยมีระบบอัตโนมัติโทรแจ้งว่าเราได้ทำผิดกฎหมาย และเมื่อเราหวาดกลัว มิจฉาชีพก็จะพูดคุยกับเราเพื่อให้เสียค่าปรับด้วยการโอนเงินให้
นอกจากนี้เหล่า
สแกมเมอร์ อาจจะเข้ามาหลอกลวงเราโดยสร้างสถานการณ์อื่น ๆ ทั้งทางโทรศัพท์ Link SMS และ LINE ไม่ว่าจะเป็นการมาคุยเพื่อหลอกให้รัก การชักชวนลงทุน การร่วมธุรกิจ แต่ทั้งหมดนั้นมีเป้าหมายให้เราบอกข้อมูลส่วนตัวหรือโอนเงินให้ทั้งสิ้น
เราจะป้องกันตัวเองอย่างไรจาก Malware และ Scammer?
แม้การหลอกลวงในสมัยนี้จะมีอยู่มากมาย แต่น้องเพลินเพลิน ก็มีเทคนิคที่จะทำให้เรารอดพ้นจากอันตรายเหล่านี้ได้ มาดูวิธีการป้องกันตัวเองจากอันตรายเหล่านี้กัน
วิธีป้องกันตัวเองจาก Malware
- เมื่อได้รับ E-Mail ที่ต้องมีการกด Link แต่ไม่แน่ใจว่ามาจากผู้ส่งตัวจริงหรือไม่ ให้เช็กที่ E-Mail Address ให้ดีสอบถามผู้ส่งตัวจริงก่อน
- ไม่ควรกรอกข้อมูลส่วนตัวทางออนไลน์ โดยเฉพาะในเว็บไซต์ที่เราไม่รู้จัก รวมถึงเว็บไซต์ที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ
- ในการใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะ ไม่ควรใช้เว็บไซต์ที่ต้อง Login โดยใช้ข้อมูลส่วนตัว เช่น การ Login เข้า Social Network หรือเว็บไซต์ของธนาคารเพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน
- อย่าลืมติดตั้งระบบแจ้งเตือนกับบัญชีธนาคารและบัตรเครดิต เพื่อให้ได้ทราบว่าไม่มีการทำธุรกรรมที่ไม่ได้มาจากเรา
- อย่าเข้าเว็บไซต์หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแปลก หรือถูกแนะนำจากคนที่ไม่รู้จัก
วิธีป้องกันตัวเองจาก Scammer
- เมื่อรับสายเบอร์โทรศัพท์ที่ไม่รู้จัก แม้จะถูกอ้างว่ามาจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ก็ไม่ควรคุยต่อ แต่หากไม่สบายใจให้โทรกลับไปยังเบอร์โทรที่เป็นทางการของหน่วยงานนั้น ๆ ด้วยตัวเอง
- ไม่โพสต์ข้อมูลส่วนตัวใด ๆ ลงในช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นพาสเวิร์ดต่าง ๆ หรือข้อมูลในบัตรประชาชนของเรา เพราะจะทำให้มิจฉาชีพได้ข้อมูลไปทำธุรกรรมได้
หากได้พูดคุยกับคนแปลกหน้าทางออนไลน์ไประยะหนึ่งและได้มีการชักชวน ขอร้อง ให้มีการโอนเงิน โดยแลกกับผลตอบแทนที่มากกว่าในอนาคต ให้สงสัยว่าเป็นมิจฉาชีพไว้ก่อน
จะทำอย่างไรเมื่อพลาดโดน Malware หรือ Scammer?
ในกรณีที่เราถูก Malware หรือ Scammer หลอกลวงข้อมูลไปนั้น น้องเพลินเพลิน แนะนำว่า สิ่งแรกที่เพื่อน ๆ ต้องทำเลย คือ มีสติและอย่าเพิ่งตกใจ โดยให้รีบแจ้งไปยังหน่วยงาน ดังนี้
- กรณีลูกค้าของธนาคารกรุงศรีฯ สามารถติดต่อสายด่วนของธนาคารกรุงศรีฯ โทร. 1572 กด 5 ตลอด 24 ชั่วโมง
- สายด่วนศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ สอท. 1441
- ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (PCT) 081-866-3000 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ https://www.thaipoliceonline.go.th/ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่สำคัญอย่าลืมรวบรวมข้อมูลหลักฐานการถูกหลอกลวง ไม่ว่าจะเป็นชื่อแอปพลิเคชัน บัญชีที่เราโอนเงินไป แล้วนำไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อแจ้งลงบันทึกประจำวันแล้วนำไปให้ทางธนาคารตรวจสอบเส้นทางการเงินเพื่อนำไปสู่การจับกุมมิจฉาชีพในลำดับถัดไป
EasyTips by น้องเพลินเพลิน
8 เคล็ดลับใช้ KMA krungsri app ของกรุงศรีให้ปลอดภัยกันแบบสุด ๆ
เคล็ดลับ 8 ข้อนี้ทำตามได้ไม่ยากเลย โดยน้องเพลินเพลินขอสรุปจากรายการ Krungsri The COACH EP.73 ในตอนที่มีชื่อว่า “ใช้ Mobile App ในมุมลูกค้ายังไงให้ปลอดภัย” ให้เพื่อน ๆ ที่เป็นลูกค้าของธนาคารกรุงศรีฯได้ทำตามกันง่าย ๆ เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน
KMA krungsri app ดังนี้
- ไม่เก็บข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ทางโทรศัพท์ เพราะหากโทรศัพท์หายหรือตกไปอยู่ในมือมิจฉาขีพ ข้อมูลของเราอาจจะถูกนำไปใช้ได้
- ไม่ใช้รหัสล็อกหน้าจอโทรศัพท์เดียวกับรหัสเข้า Mobile Banking App เพื่อให้มิจฉาชีพเข้าถึงข้อมูลได้ยากหากขึ้น
- จำกัดวงเงินในการใช้งาน Mobile Banking App เพื่อป้องกันความเสียหายให้น้อยลงหากถูกโอนเงินออกจากบัญชี
- เมื่อทำธุรกรรมเสร็จอย่าลืมลงชื่อออกจากบัญชีหรือปิดแอปพลิเคชัน เพื่อป้องกันการเข้าถึงจากคนอื่น
- เปิดรับการแจ้งเตือนผ่าน SMS และ E-Mail เสมอ
- คอยตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมเป็นประจำว่าเป็นของเราหรือไม่
- หมั่นตรวจสอบข้อมูลการใช้สิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลแอปพลิเคชันต่าง ๆ ในมือถือ ไม่ให้เกินขอบเขตการใช้งาน
- หากใช้ Android ให้เลือกปิดแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่มาจากภายนอก
ก่อนจากกัน น้องเพลินเพลินก็อยากฝากเพื่อน ๆ ทุกคนไว้ว่าการหลอกลวงทางออนไลน์นั้นอยู่ใกล้ตัวเรามาก เราจะต้องป้องกันตัวเองอยู่เสมอ ๆ โดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโปรแกรมต่าง ๆ ที่ไม่น่าเชื่อถือ หลีกเลี่ยงการพูดคุยและให้ข้อมูลกับคนแปลกหน้าไม่ว่าจะเป็นทางออนไลน์และทางโทรศัพท์ ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างมีสติ ไม่ให้ข้อมูลกับใครง่าย ๆ แค่นี้! เพื่อน ๆ ก็ปลอดภัยจาก Malware และ Scammer แน่นอน