หากประมวลสิ่งที่เกิดขึ้นในปีก่อนก็มีเรื่องน่าสนใจอยู่หลายเรื่อง
“Facebook ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น Meta พร้อมเปิดวิสัยทัศน์ว่ากำลังจะผลักดันผู้คนเข้าสู่โลก
Metaverse (เมตาเวิร์ส) โลกเสมือนจริงที่เราทุกคนสามารถเข้าไปใช้ชีวิตข้างในได้ผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ”
“ญี่ปุ่นตัดสินใจจัดโอลิมปิก TOKYO 2020 ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19”
“นายกญี่ปุ่นคนใหม่ประกาศลาออกก่อนหมดวาระ ขอมุ่งรับมือโควิด-19 เพียงอย่างเดียว”
นี่เป็นเหตุการณ์ใหญ่ ๆ เศษเสี้ยวเดียวเท่านั้นที่เกิดขึ้นในปี 2021 จะเห็นได้ว่าปี 2021 เป็นปีที่เกิดเหตุการณ์มากมายในญี่ปุ่น และเหตุการณ์เหล่านั้นมีผลต่อชีวิต เศรษฐกิจ และการขับเคลื่อนประเทศญี่ปุ่นไม่มากก็น้อย
ในปี 2022 เองก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ประเทศญี่ปุ่นเริ่มต้นใช้มาตรการรณรงค์ให้ประชาชนปรับตัวอยู่กับโควิด ไปพร้อม ๆ กับการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยใช้เทคโนโลยี (สิ่งที่ญี่ปุ่นถนัด) ช่วยในการขับเคลื่อน น่าสนใจมากว่าในปี 2022 มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในญี่ปุ่น รายการโทรทัศน์ นิตยสารหลายฉบับในญี่ปุ่นให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้มาก ผมจึงอยากสรุปเอาประเด็นที่คนญี่ปุ่นกำลังให้ความสนใจมาเล่าเอาไว้ในบทความนี้เพื่อให้ผู้อ่านเอามาปรับใช้กับชีวิต และธุรกิจที่ทำอยู่
1. ผู้คนจะเข้าใกล้โลก Metaverse (เมตาเวิร์ส) หรือโลกเสมือนจริงมากขึ้น
ผมเชื่อว่าทั่วโลกรู้จักคำว่า Metaverse มากขึ้นหลังจากที่บริษัท Facebook ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta และเปิดวิสัยทัศน์ว่ากำลังพัฒนา Metaverse หรือโลกเสมือนจริงอยู่ แต่จริง ๆ แล้วบริษัทยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นหลายแห่งมองเห็นเทรนด์ Metaverse ก่อนหน้านี้แล้ว จึงมีการพัฒนาที่ค่อนข้างหลากหลายทั้งด้าน Hardware และ Software โปรเจกต์ที่โดดเด่นมาก ๆ ในช่วงกลางปี 2020 คือโปรเจกต์ของบริษัท KDDI Corporation ผู้ให้บริการโทรคมนาคมในญี่ปุ่นที่สร้าง Virtual Shibuya (โลกเสมือนโดยมีย่านชิบูย่า ย่านการค้าในกรุงโตเกียวเป็นต้นแบบ) ขึ้นมา เพื่อเอาไว้จัดอีเว้นท์ต่าง ๆ ในโลกเสมือน ยิ่งในญี่ปุ่นที่มีการพัฒนาของเครือข่าย 5G เป็นเทคโนโลยี 6G ที่มีความเร็วสูงมาก และวางแผนไว้ว่าจะนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ภายในปี 2030 ยิ่งสอดรับต่อการพัฒนา Metaverse ในปัจจุบันให้เป็นจริงได้มากขึ้น ข่าวที่น่าสนใจและอยากให้ติดตามคือ
บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติญี่ปุ่นก็รุกเข้ามาในธุรกิจนี้มากขึ้น บริษัท พานาโซนิค เพิ่งประกาศตัวในงานมหกรรมจัดแสดงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์นานาชาติ
(CES2022) ไปแล้วว่า ตัวเองกำลังเข้าสู่ธุรกิจ Metaverse อย่างเต็มรูปแบบ บริษัท โซนี่ ก็ร่วมมือกับสโมสรฟุตบอลในการสร้างสนามฟุตบอลจำลองใน Metaverse เพื่อให้แฟนบอลสามารถมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในโลก Metavere ด้วย ช่างเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก ๆ ครับ คอยตามข่าวเรื่อง Metaverse จากบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นให้ดีนะครับ
2. คนญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับธุรกิจ FemTech (นวัตกรรมที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อสุขภาพผู้หญิง) มากขึ้น
ช่วงท้ายปีของทุก ๆ ปีที่ญี่ปุ่นจะมีการคัดเลือกคำศัพท์ใหม่ยอดฮิตที่ดึงดูดสายตาอยู่ในเทรนด์ของคนญี่ปุ่นในปีนั้น ๆ และคำว่า FemTech เป็นหนึ่งในจำนวน 30 คำศัพท์ที่ถูกนำเสนอเข้ารับการคัดเลือกในปี 2021 คำว่า FemTech สร้างมาจากคำศัพท์ 2 คำได้แก่ Female (ผู้หญิง) และ Technology (เทคโนโลยี) ให้ความหมายรวม ๆ ว่านวัตกรรมที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพของผู้หญิง ใครใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่นจะสังเกตได้ว่ามีผลิตภัณฑ์และบริการที่ออกแบบมาเพื่อสุขภาพผู้หญิงมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น LunaLuna แอปพลิเคชันญี่ปุ่นที่ช่วยคาดการณ์วันที่มีประจำเดือน ซึ่งตอนนี้มียอดดาวน์โหลดรวมกันสูงถึง 17 ล้านคนในปี 2021, Fermata Store ร้านค้าออนไลน์ที่มุ่งเน้นขายของในธุรกิจ FemTech, KOREDAKE โปรตีนที่ออกแบบเพื่อผู้หญิง เป็นต้น
3. คนส่งของขวัญให้กันมากขึ้น ทดแทนที่ไม่ได้เจอหน้ากัน
เพราะเราเองไม่รู้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันจะจบลงเมื่อไหร่ โอกาสในการเจอครอบครัว และเพื่อนฝูงก็มีน้อยลงกว่าเดิม ผู้คนรู้สึกว่าอยากพบปะ อยากเชื่อมต่อ (เหมือนเช่นเคย) ซึ่งสิ่งที่ทำได้ง่าย และทำได้ทันที คือการซื้อของจากช่องทางออนไลน์ส่งให้กันแทนความปรารถนาดี และความห่วงใยผ่านสิ่งของ ที่บ้านผมก็เช่นกัน ปกติคุณป้าจะแวะมาหาที่บ้านบ่อย ๆ พอโควิด-19 ระบาดสักพัก แล้วไม่รู้ว่าโควิดจะจบลงเมื่อไหร่ คุณป้าก็จะใช้วิธีการสั่งของกิน สั่งผลไม้กล่องใหญ่ส่งมาให้ที่บ้านทานเป็นประจำ
4. หุ่นยนต์จะถูกเอามาใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น และกำลังพัฒนาหุ่นยนต์เข้าถึงหัวใจมนุษย์
ในปี 2021 จะเห็นว่าที่ญี่ปุ่นเริ่มมีการใช้หุ่นยนต์ในเชิงพาณิชย์บ้างแล้ว เช่น หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารในร้านอาหาร Skylark ฯลฯ ที่ประเทศไทยก็เริ่มเห็นในร้านอาหารที่มีสาขาเยอะ ๆ นำหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารมาใช้เหมือนกัน ที่ญี่ปุ่นก็มีการคาดการณ์ว่า จะมีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในเชิงอุตสาหกรรม และเชิงพาณิชย์มากขึ้นเพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดหายไป โดยสิ่งที่ญี่ปุ่นกำลังโฟกัสมากขึ้น คือ หุ่นยนต์ที่เข้าถึงหัวใจมนุษย์ผ่านเทคโนโลยี HAI (Human Agent Interaction) มีการใช้
เทคโนโลยี AI ในการพัฒนาหุ่นยนต์ คนออกแบบหุ่นยนต์จะพยายามออกแบบหุ่นยนต์ให้สามารถรู้สึกถึงความนึกคิด และหัวใจของมนุษย์ พยายามหาวิธีอยู่ร่วมกันอย่างลงตัวระหว่างหุ่นยนต์ และมนุษย์
5. การซื้อของแบบอัตโนมัติ ร้านสะดวกซื้อไร้พนักงานจะมีมากขึ้น
จริง ๆ แล้วเทรนด์การซื้อของจากตู้กดอัตโนมัติ หรือร้านสะดวกซื้อขายของอัตโนมัติไม่ต้องใช้พนักงาน เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นมาหลายปีแล้วในญี่ปุ่น จนหลายประเทศสนใจและพยายามเอาเทคโนโลยีตรงนี้มาใช้กับประเทศตนเองบ้าง โดยเฉพาะในปี 2020 และปี 2021 ที่มีการระบาดของโควิด-19 ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เทรนด์การ
ซื้อของแบบอัตโนมัตินี้ได้รับความนิยมมากขึ้น หลีกเลี่ยงการสัมผัส ป้องกันการติดเชื้อ โดยธุรกิจที่โดดเด่นขึ้นมาในปี 2021 คือธุรกิจชื่อว่า Store600 เป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่เห็นว่าผู้คนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ต้องใช้เวลาอยู่ที่บ้านนานขึ้น จึงออกแบบผลิตภัณฑ์มาเป็นตู้ขายของอัตโนมัติที่เตรียมสินค้าไว้ให้เหมาะกับสถานที่ตั้งของมัน ยกตัวอย่างเช่น ตู้ขายของเล่นเด็กที่วางเอาไว้ใน Kids Room ของคอนโด ตู้ขายอุปกรณ์สำนักงานที่วางเอาไว้ในตึกสำนักงาน ตู้ขายขนมปังและเครื่องดื่มที่วางเอาไว้ใน Working Space เป็นต้น
ทั้ง 5 ประเด็นที่ยกตัวอย่างมานี้ คือเทรนด์ที่คนญี่ปุ่นกำลังให้ความสนใจ และคิดว่าจะมีการขับเคลื่อนมากขึ้นในปี 2022 ใครที่กำลัง
หาไอเดียธุรกิจ หรือต้องการต่อยอดธุรกิจ การประเมินเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นเรื่องสำคัญมาก ส่วนตัวผมเองนอกจากการตามอ่านนิตยสารญี่ปุ่นที่ประเมินเทรนด์ปีต่อปี ผมจะพยายามอ่านสื่อต่าง ๆ จากต่างประเทศให้มากที่สุด เพื่อให้เรารู้ล่วงหน้าว่าสิ่งต่าง ๆ จะกระทบกับไลฟ์สไตล์ของเราอย่างไร ควรเตรียมตัวอย่างไร ควรปรับอะไรเพื่อจะได้คว้าโอกาสต่าง ๆ ได้ก่อนใคร และช่วงชิงความได้เปรียบในการทำธุรกิจ ในบรรดา 5 เทรนด์ที่ผมเล่าไปเป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของเทรนด์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ฝากผู้อ่านติดตามข่าวดูนะครับว่า ในอนาคตจะมีเทรนด์อะไรเกิดขึ้นบ้าง และเราจะมีส่วนในเทรนด์นั้น ๆ ได้อย่างไร ฝากไว้เป็นการบ้านครับ
Reference :
1.ธุรกิจ Metaverse ในประเทศญี่ปุ่น
https://www.itmedia.co.jp/
2. LunaLuna แอปพลิเคชันญี่ปุ่นที่ช่วยคาดการณ์วันที่มีประจำเดือน
https://sp.lnln.jp/
3. มูลค่าตลาด FemTech ในประเทศญี่ปุ่น
https://sumoviva.jp/
4. Store600 ตู้ขายของอัตโนมัติปรับสินค้าตามสถานที่
5. หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารของร้านอาหาร Skylark