5 สิ่งที่สุดยอดนายญี่ปุ่นสอนพนักงานใหม่

5 สิ่งที่สุดยอดนายญี่ปุ่นสอนพนักงานใหม่

By เกตุวดี Marumura

“อาจารย์ครับ จบแล้วทำงานอะไรดี”  
“หนูไม่รู้เลยค่ะว่า หนูอยากทำงานอะไร”  
สองคำถามนี้เป็นคำถามยอดฮิตที่ลูกศิษย์มักเข้ามาปรึกษาดิฉัน

ส่วนลูกศิษย์บางคน เริ่มทำงานแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้ว่า นี่คือ “งานที่ใช่” หรือเปล่า ทุกคนมองไม่เห็นความฝัน ไม่รู้จะตั้งเป้าหมายในชีวิตได้อย่างไร จะว่าไปนี่อาจไม่ได้เป็นปัญหาแค่ในไทย เพราะวัยรุ่นญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ประสบปัญหาหลงทางชีวิตเช่นเดียวกัน (อ่านวิชาอะไรที่สำคัญและควรตั้งใจเรียนที่สุด?)
ข้อคิด 5 ประการต่อไปนี้ เป็นเคล็ดลับสู่ความสำเร็จที่ดิฉันมักจะได้ยินจากเซ็นเซ (อาจารย์) หลายท่าน ตลอดจนผู้บริหารญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จกล่าวถึง
 
1.

อย่ากลัวที่จะ “ไม่รู้”

เมื่อพนักงานใหม่เริ่มทำงานในบริษัท พวกเขามักจะตื่นตระหนกและเครียดว่า “นั่นก็ไม่รู้ นี่ก็ทำไม่ได้เท่ารุ่นพี่” อันที่จริงแล้ว ความรู้และทักษะต่าง ๆ ล้วนเป็นสิ่งที่เรียนรู้เพิ่มเติมเองได้ เพียงแค่ซื้อหนังสือมาอ่าน ให้รุ่นพี่สอนจนเป็นงาน หรืออบรมคอร์สต่าง ๆ เพิ่มเติม ก็สามารถเติมเต็มความรู้ตลอดจนทักษะนั้น ๆ ได้แล้ว
สิ่งสำคัญจริง ๆ คือ การเรียนรู้ “กระบวนการคิด และวิธีการทำงาน” ต่างหาก การเพิ่มพูนความรู้เปรียบเสมือนการลับดาบให้คมขึ้นเรื่อย ๆ แต่หากเราไม่รู้วิธีการใช้ดาบ ต่อให้ดาบคมแค่ไหน ก็ฟันสิ่งของหรือศัตรูไม่ขาด
เพราะฉะนั้น อย่านั่งทุกข์ว่าตนเองไม่รู้เรื่องอะไร จงยอมรับและมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ ขณะเดียวกัน หมั่นสังเกตว่า รุ่นพี่หรือหัวหน้าคิดอย่างไร หรือมีวิธีการทำงานแบบไหนถึงได้ผลงานแบบที่เห็น
 
2.

ทุ่มเททำงานภายใน 3 ปีแรก

ช่วง 3 ปีแรกของการทำงาน เป็นช่วงที่พนักงานใหม่ต้องเรียนรู้และฝึกฝนทักษะทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับบริษัท เพราะฉะนั้น จงยินดีที่จะรับงานต่าง ๆ และตั้งใจทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด อย่ามองว่าเป็นงานที่ไม่เกี่ยวกับตน หรืออย่าเห็นชีวิตส่วนตัวมาก่อนการทำงาน อย่าเพิ่งคิดถึง Work-Life-Balance มากเกินไป จงลองทุกอย่าง ทุ่มเทให้ถึงที่สุด และอย่ากลัวที่จะล้มเหลว
การลองทำงานหลายอย่าง จะทำให้พนักงานเข้าใจระบบองค์กร ตลอดจนงานรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนเป็นโอกาสที่ได้ทำความเข้าใจกับตนเองว่า ตนถนัดอะไร มีทักษะด้านไหนเป็นพิเศษ นอกจากนี้ การรับงานทุกอย่าง ไม่ว่างานนั้นจะสำคัญมากหรือน้อย และทำให้สุดฝีมือนั้น หากประสบความสำเร็จ พนักงานจะเกิด “ความมั่นใจในตนเอง” ขึ้นมา รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า กลายเป็นพลังที่ทำให้มุ่งมั่นทำงานและสร้างผลงานมากขึ้น
 
3.

ค้นหาความสามารถพิเศษหรือจุดเด่นของตนเอง

หากเราเต็มที่กับงานทุกประเภท เราจะพบว่า มีงานบางอย่างที่ทำได้ดีมาก แต่มีงานบางประเภทที่ไม่ว่าพยายามเท่าใด ก็ทำได้ในระดับเฉลี่ย หรือไม่ได้โดดเด่นอะไร ยิ่งลอง ยิ่งรู้ ยิ่งค้นพบ ยิ่งกำหนดเป้าหมายและทางเดินชีวิตในอนาคตได้
ความสามารถพิเศษนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมี อาจเป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับงานหรือไม่ก็ได้ เช่น “ทักษะการเจรจาพูดคุยกับผู้คน”, “ทักษะในการสืบค้นข้อมูลและวิเคราะห์”, “ทักษะการร้องเพลง”, “ทักษะการสอน”, “ทักษะการวางแผน” หรือ “ทักษะการวิเคราะห์” ผู้ที่มีทักษะการสอนดี ในอนาคตอาจมีบทบาทสำคัญในการอบรมพนักงานรุ่นน้อง หรือเป็นผู้ประสานงาน คอยประสานงานระหว่างแผนกก็เป็นได้
วิธีค้นพบความสามารถพิเศษ คือ ถามตนเองเสมอว่า “เรารู้สึกเพลิดเพลินในการทำงานด้านนั้นหรือไม่ เมื่อพบทักษะดังกล่าวแล้ว ก็ค่อย ๆ รับงานหรือของานที่เกี่ยวข้องกับทักษะนั้น เพื่อฝึกฝนขัดเกลาทักษะดังกล่าวให้โดดเด่นยิ่งขึ้นจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นในที่สุด
 
4.

เรียนรู้จาก No.1

No.1 ในที่นี้ หมายถึง สิ่งของหรือบุคคลสุดยอดในวงการนั้น ๆ เช่น ภาพวาดระดับโลก อาคารสถาปัตยกรรมคลาสสิคที่มีชื่อเสียง นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมนั้น ๆ
วิธีการเรียนรู้ สามารถทำได้หลายรูปแบบ อาทิ การฟังการบรรยาย การเข้าร่วมสัมมนา การพบปะส่วนตัว การไปเยือนหรือชมงานศิลปะนั้น ๆ ตามพิพิธภัณฑ์ การออกท่องเที่ยวเดินทาง
การได้พบเห็น พูดคุยหรือเรียนรู้จาก No.1 จะสร้างความรู้สึกตื่นเต้น แรงบันดาลใจ ตลอดจนพลังในการมุ่งมั่นทำงาน เราอาจจะอยากเป็นให้ได้แบบคนคนนั้น หรือมุ่งมั่นสร้างผลงานให้ได้เช่นนั้น ตลอดจนเกิดไอเดียความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานยิ่งขึ้น

ตัวอย่าง Success story

คุณ Tadao Ando จบเพียงแค่มัธยมปลายและศึกษาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ด้วยตนเอง เขากลายมาเป็นสถาปนิกชื่อดังระดับโลกที่แม้แต่มหาวิทยาลัย Yale หรือ Harvard เชิญไปสอน ตอน Ando อายุได้ 22 ปี เขาเดินทางทั่วญี่ปุ่นเพื่อศึกษาโครงสร้างของวัดโบราณต่าง ๆ และกลับมาค้นคว้าตำราต่อ ตอนอายุ 24 ปี เขานำเงินเก็บจากการทำงานมาใช้ออกเดินทางไปต่างประเทศทั่วโลก (เช่น ฟินแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ กรีซ อิตาลี สเปน แอฟริกาใต้ มาดากาสการ์ มุมไบ ฮ่องกง ไต้หวัน) เพื่อศึกษาสถาปัตยกรรมรูปแบบต่าง ๆ ระดับโลก
การได้สังเกตรูปแบบสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ระดับโลกตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้ Ando ได้แรงบันดาลใจและพัฒนาวิธีการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองจนได้รับการยอมรับทั่วโลกในที่สุด
 
5.

ตกหลุมรักใครสักคนอย่างหัวปักหัวปำ

การตกหลุมรักใครสักคน ทำให้เราเกิด Passion เกิดพลังที่พร้อมจะทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อคนที่เรารัก ขณะเดียวกันก็ต้องแบกรับความเสี่ยง ความผิดหวังจากการถูกบอกเลิกหรือถูกปฏิเสธ ได้เรียนรู้ความรู้สึกสุข เศร้า เหงา โกรธ
คนญี่ปุ่นมองว่า ความรัก ทำให้คนคนหนึ่งกลายเป็นคนที่มีพลัง สามารถเข้าใจจิตใจผู้อื่น รู้จักความผิดหวัง ตลอดจนการเผชิญหน้ากับความเสี่ยง สิ่งสำคัญคือ รู้จักเสียสละความสุขตนเพื่อผู้อื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานที่ดีในการทำงาน ทั้งกับลูกค้าและเพื่อนร่วมงาน
หากจะเทียบกับคนวัย 30 หรือ 40 ปี คนในช่วงวัย 20-29 ปี เป็นช่วงที่มีเวลาให้ตัวเองมากที่สุด เป็นวัยที่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ได้ ไม่ชินกับสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ เหมือนคนในวัยอื่น ในด้านกายภาพ คนวัยนี้เป็นวัยที่มีพลังมากที่สุด (อ่านบัณฑิตจบใหม่ ทำงานประจำ หรือเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองดี?)
แนวคิด 5 ประการข้างต้นจึงเป็นแนวทางชี้ให้วัยรุ่นทั้งหลายใช้พลังมหาศาลของตนให้เป็นประโยชน์...
ขอให้น้อง ๆ ที่กำลังอยู่ในวัยเรียน และกำลังเริ่มเข้าสู่วงการทำงานประจำ ได้มุ่งมั่นเรียนรู้ มุ่งมั่นทำงาน และมุ่งมั่นรักคนอื่นให้เป็น...สู่ความสำเร็จในอนาคตกันนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow