[อยากรวยห้ามพลาด] บริหารต้นทุนแบบมือโปร

[อยากรวยห้ามพลาด] บริหารต้นทุนแบบมือโปร

By Krungsri Guru

ต้นทุน คือ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพื่อก่อให้เกิดสินค้าและบริการ ดังนั้น การมีความรู้ในด้านการจัดการต้นทุนจึงนับเป็นหนึ่งในความรู้พื้นฐานที่ผู้ประกอบธุรกิจควรจะมี เพื่อที่จะควบคุม และบริหารต้นทุนให้ต่ำที่สุด โดยที่ยังคงสามารถนำเสนอสินค้า และบริการที่ดีตามมาตรฐานของแบรนด์ได้โดยต้นทุนรวมประกอบด้วยต้นทุนคงที่และต้นทุนแปรผัน ซึ่งต้นทุนทั้งสองประเภทมีความแตกต่างกันดังนี้ครับ

ต้นทุนคงที่ คือ ต้นทุนที่ไม่ขึ้นกับปริมาณการผลิต เป็นต้นทุนที่จะต้องเกิดขึ้นไม่ว่าจะมีการผลิตหรือไม่ก็ตาม โดยส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร ตัวอย่างเช่น เงินเดือนพนักงานประจำ ค่าเช่าหน้าร้าน ค่าเช่าโรงงาน ค่าเช่าออฟฟิศ ค่าเช่าเครื่องจักร ดอกเบี้ยในกรณีที่มีการกู้เงินมาลงทุน รายจ่ายในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดา ค่าที่ปรึกษาด้านบัญชี กฎหมาย ค่าประกันต่าง ๆ ค่าโทรศัพท์ การจัดจ้าง การฝึกอบรมพนักงาน ค่าบริการอินเทอร์เน็ต ค่าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ถึงแม้จะมีชื่อว่า ต้นทุนคงที่ แต่ต้นทุนประเภทนี้สามารถมีค่าเปลี่ยนแปลงตามเวลาได้ครับ เช่น ค่าเช่าออฟฟิศอาจจะมีราคาสูงขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีอัตราต่ำลง ต้นทุนคงที่จึงคงที่ในแง่ที่ว่า เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่แปรผันตามจำนวนการผลิตในช่วงระยะเวลานั้น ๆ ครับ
จากต้นทุนคงที่ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในธุรกิจ เราสามารถหาต้นทุนคงที่ต่อหน่วยได้ด้วยสูตร
 
ต้นทุนคงที่ต่อหน่วย = ต้นทุนคงที่รวม / จำนวนการผลิตทั้งหมด
ดังนั้น ค่าต้นทุนต่อหน่วยนี้ คือ ต้นทุนคงที่ที่ใช้สำหรับการผลิตสินค้า หรือบริการ 1 หน่วยนั่นเอง
แน่นอนว่า การลดต้นทุนย่อมสร้างผลกำไรที่สูงขึ้น โดยการลดต้นทุนคงที่ต่อหน่วยนี้ อาจทำได้ด้วยการเพิ่มจำนวนการผลิต ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจผลิตเสื้อ มีต้นทุนคงที่ 100,000 บาท สำหรับการผลิต 1,000 ชิ้น ดังนั้น ต้นทุนคงที่ต่อหน่วย มีค่าเท่ากับ 100 บาท แต่หากทำการผลิต 2,000 ชิ้น จะทำให้ต้นทุนคงที่ต่อหน่วยเหลือเพียง 50 บาทเท่านั้น ซึ่งหลักการนี้เป็นวิธีการที่เรียกว่า mass production คือ ยิ่งผลิตมาก ต้นทุนยิ่งถูก อย่างไรก็ตาม การเพิ่มปริมาณการผลิตมาก ๆ ก็อาจก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายคงที่ที่เพิ่มขึ้นได้ เช่น การผลิตเกินขีดความสามารถของเครื่องจักรอาจทำให้มีค่าซ่อมบำรุงเครื่องที่สูงขึ้นได้
นอกจากการเพิ่มจำนวนการผลิตแล้ว การลดต้นทุนคงที่ต่อหน่วยยังสามารถทำได้ด้วยการลดต้นทุนคงที่ในรายการที่ไม่จำเป็นออก เช่น เช่าออฟฟิศแทนที่การซื้อ โดยข้อดี คือ การเช่าทำให้ไม่ต้องห่วงเรื่องการเสื่อมราคาของสินทรัพย์ ทั้งยังไม่มีค่าใช้จ่ายในการดูแลซ่อมแซมอาคาร หรือการจ้างที่ปรึกษาเป็นครั้งคราวไป แทนที่จะจ้างพนักงานประจำสำหรับในบางตำแหน่งงานที่ไม่ได้มีงานตลอดเวลา รวมทั้งการหา promotion ราคาถูกสำหรับการใช้บริการโทรศัพท์และ Internet เป็นต้น
มาต่อกันที่ต้นทุนแปรผันครับ
ต้นทุนแปรผัน คือ ต้นทุนที่มีค่าเพิ่มขึ้นตามจำนวนสินค้าและบริการที่ผลิต ซึ่งค่าใช้จ่ายประเภทนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการผลิตเท่านั้น เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าแรงงานการผลิต ค่าขนส่ง ค่าบรรจุภัณฑ์ ซึ่งต้นทุนประเภทนี้นอกจากจะแปรผันตามจำนวนการผลิตแล้ว ยังมีราคาขึ้นลงตามสภาวการณ์ในตลาดด้วย เช่น ค่าวัตถุดิบในตลาด ค่าขนส่งมีราคาสูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น
เช่นเดียวกับต้นทุนคงที่ต่อหน่วย สูตรการคำนวณค่าใช้จ่ายแปรผันต่อหน่วย คือ
 
ต้นทุนแปรผันต่อหน่วย = ต้นทุนแปรผันทั้งหมด / จำนวนการผลิต
การควบคุมต้นทุนแปรผันนั้น ควรได้รับการดูแลจากแผนกงานที่เกี่ยวข้องกับต้นทุน ซึ่งนอกจากการพิจารณาตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่มีความจำเป็นออกแล้ว ในส่วนราคาวัตถุดิบ อย่าลืมที่จะตรวจสอบราคากลางในตลาดอยู่เสมอ โดยธุรกิจสามารถตรวจเช็คราคาจากหลาย ๆ ซับพลายเออร์เพื่อหาข้อเสนอที่คุ้มค่าที่สุด รวมทั้งอาจมีการต่อรองขอลดราคา เมื่อซื้อในปริมาณมาก
จากต้นทุนคงที่ต่อหน่วย และต้นทุนแปรผันต่อหน่วยที่คำนวณได้ ทำให้เรารู้ต้นทุนรวมต่อหน่วย โดย
 
ต้นทุนรวมต่อหน่วย = ต้นทุนคงที่ต่อหน่วย + ต้นทุนแปรผันต่อหน่วย
เราสามารถนำต้นทุนรวมต่อหน่วยไปใช้ในการวางแผนธุรกิจในส่วนอื่น ๆ ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการตั้งราคา การคาดการณ์กำไร การคำนวณจุดคุ้มทุน รวมทั้งวางแผนการตลาดครับ
ถึงแม้ว่า การลดต้นทุนจะเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำเนินอยู่ของธุรกิจ แต่อย่าลืมว่า คุณภาพของสินค้าและบริการที่ธุรกิจนำเสนอก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดนะครับ ลองอ่านเคล็ดลับดี ๆ ด้านการลงทุนได้ที่เว็บไซต์ Plearn เพลิน by Krungsri GURU กันนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow