คุณผู้อ่านเคยดูสินค้าบนเว็บแล้วรู้สึก “อยากได้!” ภายใน 3 วินาทีไหมคะ
อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้คุณผู้อ่านรู้สึกเช่นนั้น แน่นอน ภาพสินค้าสวยงามสามารถดึงความสนใจของลูกค้าได้ แต่สิ่งที่ส่งผลให้คนรู้สึกอยากซื้อก็คือ สโลแกนและคำอธิบายคุณสมบัติสินค้าค่ะ
ร้านออนไลน์ในไทยส่วนใหญ่จะพรรณนาคุณสมบัติสินค้าในร้านตรง ๆ เช่น “กล่องใส่นาฬิกา 10 ช่อง” “ขวดโหลแก้วใสเอนกประสงค์” แต่นี่คือตัวอย่างของสินค้าหมวดเดียวกันในเว็บญี่ปุ่นค่ะ
“เซ็ตกล่องพลาสติก 7 ชิ้น ที่ช่วยทำให้ตู้เย็นคุณดูเป็นระเบียบขึ้น”
“กล่องใส่นาฬิกาเรือนสำคัญของคุณ ช่วยปกป้องจากฝุ่นและความชื้น”
แค่อ่านก็เคลิ้มแล้วนะคะ
หรือเมื่อแบรนด์ไทยที่ไปอยู่ในมือนักการตลาดญี่ปุ่น คอนเซ็ปต์สินค้าก็ยิ่งถูกปรับให้อ่านดูน่าซื้ออีก เช่น
“กระเป๋าเครื่องสำอาง handmade สุดเก๋ พร้อมกระจกจิ๋วด้านใน (แบรนด์ Naraya)”
“สัมผัสประสบการณ์สปาสุดหรูที่บ้านของท่านเอง (แบรนด์ Harnn)”
นักการตลาดญี่ปุ่นทำอย่างไรถึงได้ประโยคเก๋ ๆ เช่นนี้ได้ บทความนี้มีสองเทคนิคใหญ่ที่นักการตลาดญี่ปุ่นใช้ในการตั้งชื่อหรือสโลแกนสินค้ามาฝากค่ะ
1. ยืมคำพูดจาก (ปาก) ลูกค้า
วิธีนี้เหมาะสำหรับนักการตลาดหรือผู้ประกอบการที่ยังไม่แน่ใจว่าจะนำเสนอจุดขายของตัวเองอย่างไรดี การยืมคำพูดจากลูกค้าปัจจุบันว่า ลูกค้าพูดถึงแบรนด์เราว่าอย่างไร โดยเราสามารถถามลูกค้าด้วย 3 คำถามง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
- ก่อนซื้อสินค้าตัวนี้ คุณเคยมีปัญหาอะไรบ้าง
คำถามข้อนี้จะทำให้นักการตลาดเห็นกลุ่มเป้าหมายสินค้าชัดขึ้น ลูกค้าที่เคยมีปัญหาเป็นคนกลุ่มใด โดยเราจะเห็นภาพลูกค้าที่ละเอียดขึ้น เช่น “ผู้หญิงทำงานวัย 30 ปี” หรือ “มนุษย์เงินเดือนที่ชีวิตรีบเร่ง แทบไม่มีเวลาดูแลสุขภาพ”
- พอเห็นสินค้าตัวนี้แล้วซื้อเลยหรือเปล่า ถ้ายังไม่ซื้อทันที เป็นเพราะอะไร
ข้อนี้ทำให้นักการตลาดเห็นสิ่งที่ควรปรับปรุง หรือสิ่งที่ควรนำเสนอ เช่น “ตอนแรก ยังไม่กล้าซื้อพิซซ่าแช่แข็งทานค่ะ เพราะดูไม่ดีต่อสุขภาพ” ทางบริษัทก็สามารถเขียนใน content ว่า “พิซซ่าที่ใช้เทคโนโลยี frozen แบบพิเศษ ไม่เสียคุณค่าทางอาหาร”
- อะไรที่ทำให้ตัดสินใจซื้อสินค้าตัวนี้
ข้อนี้ จะทำให้เห็นข้อดีหรือจุดเด่นสินค้าที่เหนือกว่าสินค้าคู่แข่งที่อาจคล้าย ๆ กัน
เมื่อถามคำถาม 3 ข้อเสร็จ ท่านอาจได้ไอเดียเขียนโปรโมทสินค้าแบบนี้ เช่น “พิซซ่าแช่แข็งสุดอร่อย ไม่ใส่สารกันบูด อบง่าย เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ทำงานหนักจนไม่มีเวลาเตรียมอาหารให้ลูก ๆ”
“พิซซ่าหน้าอัดแน่นไปด้วยซีฟู้ดสุดอร่อย
ใคร ๆ ทานแล้วก็ต้องอิ่มอกอิ่มใจ”
“ใส่เครื่องกว่า 11 อย่าง ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ใคร ๆ ก็รัก”
2. สามสไตล์คำพูดที่โดนใจลูกค้า
ในวงการทำ content เรียกวิธีนี้ว่า QPC Analysis กล่าวคือ นักการตลาดญี่ปุ่นแบ่งคีย์เวิร์ดที่โดนใจลูกค้าเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ด้าน Quality (คุณภาพ) ด้าน Price (ราคา) และด้าน Convenience (ความสะดวกสบาย) ผู้ประกอบการสามารถดูได้ว่า ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายน่าจะสนใจด้านไหน สินค้าของตนมีจุดเด่นด้านไหน แล้วหยิบคีย์เวิร์ดเหล่านั้นเข้ามาใส่ในสโลแกนสินค้า
ตัวอย่างคำศัพท์ใน QPC ที่สินค้าญี่ปุ่นมักใช้
- ทำจากธรรมชาติ/ออร์แกนิค/ส่วนผสมจากธรรมชาติ
- ภูมิปัญญาสมัยก่อน/แบรนด์เก่าแก่กว่า...ปี/คนโบราณมักใช้
- ยอดฮิต/ขายดีอันดับ 1
- ดาราฮอลลีวู้ดใช้/แบรนด์ดัง/หมอแนะนำ
- คลายเครียด/รางวัลให้ตัวเอง
- สด ใหม่/ทำเสร็จร้อน ๆ
- ง่าย/สำหรับมือใหม่/ใคร ๆ ก็ทำได้
- น้ำหนักเบา พกพาสะดวก
- ไม่เสียค่าจัดส่ง
- สามารถโทรสอบถามได้ตลอดเวลา
ยกตัวอย่างเช่น หากจำหน่ายเสื้อผ้าเด็ก ถ้าคุณแม่ (ผู้ซื้อ) ห่วงด้าน Quality เช่น คุณแม่ที่มีลูกผิวบอบบาง บริษัทอาจนำเสนอจุดเด่นที่ว่า “เสื้อผ้าฝ้ายออร์แกนิคที่ปกป้องดูแลลูกน้อยคนสำคัญของคุณ” หากคุณแม่ห่วงด้าน Price อาจนำเสนอว่า “เสื้อผ้าฝ้ายคุณภาพเกรดเอจากโรงงาน ราคาย่อมเยา” แต่ถ้าเป็นคุณแม่ที่คิดถึง Convenience ความสะดวก อาจเป็น “เสื้อผ้าที่ใส่ได้นาน ซักง่าย ไม่ย้วย” หรือ “สั่งแค่ตัวเดียวก็พร้อมส่ง”
คุณผู้อ่านลองเดานะคะว่า Content เสื้อผ้าเด็กด้านล่าง เน้นด้านไหนของ QPC บ้าง ใบ้ว่ามีสองด้านค่ะ
- แขนเสื้อหลวม ๆ ไม่เสียดสีเวลาเด็กขยับตัว
- เย็บตะเข็บนอก เพื่อไม่ให้ตะเข็บบาดผิวลูกรักของท่าน
- ป้ายฉลากเย็บด้านนอก เพื่อไม่ให้โดนผิวเด็ก
- เชือกเย็บด้านใน ทำให้ชุดไม่หลุดง่าย
- ใส่ง่าย ถอดง่าย
- ใส่แล้วพุงไม่ป่อง
- กระดุมติดขากางเกง ไม่ให้ชุดหลุดง่าย
- สวมใส่ให้เด็กง่าย ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ หรือคุณแม่มือใหม่
อ่านรายละเอียดด้านบนแล้วอยากซื้อไปฝากลูก ๆ หลาน ๆ กันเลยทีเดียว
ส่วนข้อสุดท้ายที่ดิฉันอยากฝากไว้ คือ ความซื่อสัตย์จริงใจ คุณสมบัติหรือจุดขายทุกอย่างที่บอกผู้บริโภคต้องเป็นสิ่งที่สินค้าเรามีจริง ทำได้จริง มิเช่นนั้นจะกลายเป็นการสร้างความคาดหวังให้กับผู้บริโภคมากเกินไปค่ะ
ลองนำสองเทคนิคข้างต้นไปใช้ในการเขียนสโลแกนสินค้าหรือทำ content นำเสนอผู้บริโภคนะคะ เครื่องมือทั้งสองอย่างจะช่วยให้ผู้ประกอบการเห็นเสน่ห์หรือจุดแข็งของสินค้าตน ขณะเดียวกัน ได้คำนึงถึงลูกค้าว่าคือใคร ได้อย่างดีเลยค่ะ