คนทำธุรกิจล้วนต้องการประสบความสำเร็จด้วยกันทั้งนั้น แต่หนทางไปสู่เส้นชัยของแต่ละคนแตกต่างกันไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว อย่างคนที่ทำผิดพลาดมากก็ใช่ว่าจะสำเร็จน้อยกว่าคนที่ทำผิดพลาดน้อย เพียงแค่เขาเรียนรู้ที่จะไม่ทำผิดอีกและแปรวิกฤตให้เป็นโอกาสได้สำเร็จ คนที่เรียนมาน้อยก็ใช่ว่าจะสำเร็จน้อยกว่าคนที่จบการศึกษาสูง เพียงแค่ไม่หยุดที่จะเรียนรู้และมุ่งมั่นทุ่มเททำตามความฝัน คนที่ฐานะทางบ้านไม่ดีก็ใช่ว่าจะสำเร็จน้อยกว่าคนที่ฐานะร่ำรวย เพียงแค่เห็นโอกาสที่คนอื่นมองไม่เห็นแล้วคว้ามาเป็นของเราได้ จงจำไว้ว่า
ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะทำสำเร็จได้เท่า ๆ กัน ขึ้นอยู่กับว่า คุณให้ความสำคัญแค่ไหน
ใช้เวลาและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าเพียงใด
เรื่องการทำธุรกิจจากสิ่งที่ถนัดก็เช่นเดียวกัน ไม่สามารถยืนยันความสำเร็จได้ หากขาดความรักในงานที่ทำ ขาดความคิดการวางแผนที่ดี หรือทำในสิ่งที่ตลาดไม่ต้องการ ผมมองว่าความถนัดเกิดจากการฝึกฝน เป็นสิ่งที่สร้างได้จากความตั้งใจมากพอ ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิด ทุกสิ่งต้องผ่านการเรียนรู้แล้วลงมือทำจนเกิดความชำนาญ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเลือกธุรกิจจากสิ่งที่เราถนัด เพราะจะทำให้เสียโอกาสเลือกทำธุรกิจที่ดีไปหลายอย่างในชีวิตเลยครับ
ขอยกตัวอย่างประสบการณ์ของผมเองเพื่อให้เห็นภาพ ผมเก่งคำนวณแต่อ่อนภาษา ทำงานประจำอยู่ในแวดวงการเงินมา 10 กว่าปี โดยไม่ใช้ข้อจำกัดด้านภาษาเลือกทำงานเฉพาะกับบริษัทไทย ในทางกลับกัน ผมเลือกทำงานกับบริษัทข้ามชาติมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มต้นทำงานมาถึงปัจจุบัน ทั้งบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น อเมริกา และอังกฤษ ทำให้มีมุมมองในการทำงานระดับสากลและโอกาสก้าวหน้าในอาชีพที่ดี ส่วนงานไม่ประจำมี 2 ด้าน ด้านที่หนึ่งเป็นนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ (Investor) เริ่มต้นเมื่อ 5 ปีก่อนเพราะเห็นโอกาสทำเงินและสนใจเรียนรู้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย โดยที่ไม่ได้คำนึงว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถนัด ผลลัพธ์ก็คือ ได้รับผลตอบแทนที่ดีในทุกแห่งที่ลงทุนไป ด้านที่สองเป็นนักเขียนบทความ (Blogger) เริ่มต้นเมื่อ 2 ปีก่อน โดยนำความรู้ความชำนาญมาถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือแล้วได้รับกระแสตอบรับที่ดี จนมีคนแนะนำให้ลองเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจก็ลองทำดูทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นไม่ได้รู้เรื่องโซเชียลมีเดียเลย ปรากฏว่าทำไปทำมาตอนนี้มีคนติดตามเกือบหนึ่งแสนคนแล้วครับ ดังนั้น เรื่องความถนัดไม่ใช่เหตุผลแรกในการทำธุรกิจ เพราะเป็นการปิดกั้นตัวเองจนเกินไป
ทุกคนมีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งในตัวเอง สิ่งที่เราไม่ถนัด คือ จุดอ่อน สิ่งที่เราถนัด คือ จุดแข็ง และสิ่งที่เรายังไม่รู้ คือ จุดตรงกลาง ด้วยเวลาที่จำกัดแค่ 24 ชั่วโมงต่อวัน ผมขอแนะนำว่า อย่าเสียเวลาพัฒนาจุดอ่อน ถ้าไม่ได้จำเป็นกับชีวิตมากนัก เพราะต้องใช้เวลานานและไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ ควรเอาเวลาไปพัฒนาจุดแข็งให้เก่งขึ้นไปอีกจนเหนือคนทั่วไป และหยิบยกจุดตรงกลางที่น่าสนใจบางอันมาเป็นจุดแข็งใหม่ ซึ่งเป็นวิธีการขยายขีดความสามารถหรือที่เรียกว่า ขยาย Comfort Zone นั่นเอง จงจำไว้ว่า คนเราควรเก่งหลายด้านแต่ไม่จำเป็นต้องเก่งทุกด้าน การทำธุรกิจต้องเจออุปสรรค เจอสิ่งที่ยังไม่รู้ นั่นละครับทำให้คุณเก่งขึ้นโดยไม่รู้ตัว
การทำธุรกิจควรเริ่มจากสิ่งที่เราสนใจใช้เวลาด้วยทั้งวันอย่างมีความสุข และสิ่งที่เราสนใจนั้นต้องเป็นสิ่งที่คนอื่นต้องการด้วย ยิ่งคลำหาเจอจุดที่เป็นปัญหาที่สำคัญของธุรกิจนั้น ๆ (Pain point) แล้วนำมาพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น ก็เป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายแล้วครับ เช่น ปัญหาการเรียกแท็กซี่ยากมากในช่วงเวลาเร่งด่วน หลายครั้งเจอแท็กซี่ว่างก็ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร ทำให้เกิดบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันบนมือถืออย่าง
Uber และ
Grab มาช่วยแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันไปทั่วโลก อีกตัวอย่างปัญหาความไม่สะดวกที่จะซื้อสินค้าด้วยตนเอง อยากให้มาส่งที่บ้านเพราะเหตุผลต่าง ๆ นานา เช่น ลูกยังเล็ก สินค้าหนัก ไม่รู้ไปซื้อที่ไหน หรืออยู่ไกลบ้านเกินไป ทำให้เกิดบริการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ทั้งบนเว็บไซต์และแอปฯในมือถืออย่าง
Amazon,
Ebay,
Alibaba และ
Lazada มาช่วยแก้ไขปัญหานี้
แนวโน้มธุรกิจออนไลน์จะเข้ามากินส่วนแบ่งตลาดจากธุรกิจออฟไลน์แบบเดิมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอัตราก้าวกระโดด จนมีศัพท์ไว้เรียกธุรกิจที่เติบโตเร็วติดจรวดขนาดนี้ว่า สตาร์ทอัพ (Startup) เราคงจะได้เห็นธุรกิจออฟไลน์บางประเภทต้องสูญหายไปถ้าไม่รู้จักปรับตัว อยากให้คุณคำนึงถึงเรื่องนี้ในการวางแผนธุรกิจด้วย ลองพิจารณาดูว่าหากคุณทำธุรกิจออฟไลน์สามารถเพิ่มช่องทางขายผ่านออนไลน์ได้หรือไม่ หรือหากเจอธุรกิจออนไลน์มาขายแข่งจะรับมืออย่างไร สุดท้ายนี้ขออวยพรให้คนที่ทำธุรกิจอยู่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน เฮง เฮง กันนะครับ