เดี๋ยวนี้มีคนออกมาทำ Startup หรือธุรกิจ SME แบบที่ใส่ใจสังคมดูแลโลก และทำกำไรทางธุรกิจได้ หรือเรียกว่า “กิจการเพื่อสังคม” Startup เหล่านี้ มีวิธีการทำกำไรและดูแลสังคมคู่กันได้อย่างไรนะ สำหรับคนที่มีแนวคิดอยากเริ่มต้นธุรกิจแบบ Social Enterprise ต้องทำอย่างไร มาติดตามกันเลยครับ...
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจแนวคิดของคำว่า Social Enterprise กันก่อนครับ สำหรับการทำธุรกิจแนวนี้ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าทำธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม หมายความว่า ธุรกิจที่เราทำต้องไม่ทำลายสังคม ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้นแนวคิดการทำธุรกิจแบบ Social Enterprise จึงไม่ใช่ธุรกิจประเภทผิดกฎหมาย ก่อให้เกิดปัญหาในสังคม หรือธุรกิจผิดศีลธรรมอันดี และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการทำให้สิ่งแวดล้อมเกิดมลพิษ สำหรับเคล็ดลับในการทำธุรกิจตามแนวคิด Social Enterprise มีอะไรบ้างเรามาดูกันครับ
เคล็ดลับที่ 1 “มองหาธุรกิจที่ช่วยส่งเสริมสังคม”
หากเรามองไปรอบ ๆ ตัวเราจะเห็นปัญหาสังคมมากมาย ดังนั้น ถ้าเรามีแนวคิดการทำธุรกิจแบบ Social Enterprise ที่ช่วยลดปัญหาสังคม รับรองได้เลยครับว่าจะมีกลุ่มลูกค้าที่สนใจจำนวนหนึ่ง (ที่มากพอสมควรเลยนะครับ) อยากส่งเสริมให้ธุรกิจประเภทนี้เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เราอยากให้สังคมลดการสูบบุหรี่ เราสามารถตั้งเพจ หรือเว็บไซต์ หรือแม้แต่แอปพลิเคชันที่ช่วยให้คนอยากเลิกบุหรี่ เลิกได้อย่างสนิทใจ... หากเรามีไอเดียดี ๆ เราสามารถนำไอเดียไปเสนอขอแหล่งทุนทำธุรกิจ อาจเป็นหน่วยงานรัฐฯ เช่น สสส. ที่ส่งเสริมด้านการลดสูบบุหรี่อยู่แล้วเป็นแหล่งทุน หรือแม้แต่รับบริจาคตามเว็บไซต์ก็ทำได้เช่นกันครับ
เคล็ดลับที่ 2 “มองหาธุรกิจที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม”
เคล็ดลับนี้ก็คล้าย ๆ กับเคล็ดลับแรก หากเรามองเห็นว่ากิจกรรมบางอย่างก่อให้เกิดมลพิษ ยกตัวอย่างเช่น มลพิษในอากาศเกิดจากควันเสียจากรถยนต์ ภาวะเรือนกระจกนั้นเกิดจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ที่ถูกปล่อยออกมาจากท่อไอเสียรถยนต์ทำให้เกิดกำแพงกั้นชั้นบรรยากาศโลก และเก็บความร้อนเอาไว้บนพื้นโลก ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกเริ่มละลาย ทำให้น้ำท่วม และปัญหาต่อเนื่องตามมามากมาย หากเราเป็นนักประดิษฐ์ หรือมีไอเดียดี ๆ ที่จะสร้างอุปกรณ์บางอย่างที่ติดบริเวณท่อไอเสีย และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ได้ รับรองได้เลยว่าจะมีนายทุนสนใจ และอยากให้เงินทุนสำหรับ Startup ลักษณะนี้อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นแนวคิดการทำธุรกิจแบบ Social Enterprise ที่น่าสนใจเลยทีเดียว
เคล็ดลับที่ 3 “มองหาไอเดียธุรกิจจากหน่วยงานอิสระ”
หน่วยงานอิสระที่คอยจับตาดูแลสิ่งแวดล้อมนั้นมีมากมาย ที่มีแนวคิดการทำธุรกิจแบบ Social Enterprise ยกตัวอย่างเช่น NGO ย่อมาจาก Non-government Organizations หมายถึง องค์กรพัฒนาเอกชน ชื่อนี้เป็นชื่อที่รู้จักกันทั่วไปและเป็นชื่อที่นิยมเรียกกันในประเทศไทยครับ โดยองค์กรเหล่านี้จะรวบรวมปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งปัญหาที่ส่งผลกระทบกับสังคม หากเรารวบรวมปัญหาเหล่านี้และนำมาต่อยอดหาคำตอบ จนกลายเป็นกิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ได้จริง = เราได้เริ่มต้นธุรกิจ Social Enterprise จากปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และไอเดียเหล่านี้สามารถนำมาต่อยอดได้ไม่รู้จบครับ
เคล็ดลับที่ 4 “มีจิตอาสา”
เคล็ดลับข้อนี้ถือว่ามีความสำคัญสูงสุด เพราะหากเรามีแนวคิดการทำธุรกิจแบบ Social Enterprise แต่เราไม่มีจิตอาสา เราจะทำได้ไม่สุดทาง เพราะกิจการประเภทนี้เราต้องทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ และบางครั้งต้องทำธุรกิจโดยไม่หวังผลกำไร หรือหวังผลกำไรไม่มากนัก แต่เนื้อแท้แล้วแนวคิดการทำธุรกิจแบบ Social Enterprise นั้นต้องการให้สังคมดีขึ้น ต้องการให้สิ่งแวดล้อมน่าอยู่ขึ้น ซึ่งเป็น “หัวใจหลัก” ของการประกอบกิจการประเภทนี้ หากเราไม่มีใจรักที่จะทำมันจริง ๆ ผลของการกระทำจะส่งออกมาจากส่วนลึกของจิตใจครับ ดังนั้นการมีจิตอาสาถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับแนวคิดการทำธุรกิจแบบ Social Enterprise นั่นเอง