ดิฉันคิดว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เชี่ยวชาญกับการจัดเก็บสิ่งของให้เป็นหมวดหมู่เหลือเกิน บ้านญี่ปุ่นก็จะกั้นเป็นส่วน ๆ มีที่เก็บของอย่างเพียงพอในพื้นที่ที่จำกัด อาหารญี่ปุ่นก็จะใส่กล่องเบนโตะ กั้นอาหารแต่ละประเภทเป็นช่อง ๆ อย่างเป็นระเบียบ ชานชาลารถไฟ ก็จะมีเส้นขีดให้คนยืนเข้าแถวอย่างเรียบร้อย ไม่ยืนออกนอกเส้นทาง
เมื่อมองธุรกิจเว็บและ Content ดิฉันก็รู้สึกว่า ญี่ปุ่นเชี่ยวชาญในการจัดระบบข้อมูลให้เป็นระเบียบเหลือเกิน มันคงฝังใน DNA คนญี่ปุ่นไปแล้ว แถมมีบางเว็บ ประสบความสำเร็จมากจนสามารถแปลงการจัดระบบตรงนั้น กลายมาเป็นรายได้ มีผู้เข้าชมเป็นล้านคนต่อเดือน โดยไม่ต้องพึ่งค่าโฆษณา
Krungsri Guru ฉบับนี้ ดิฉันจึงขอยก 3 เว็บดังในญี่ปุ่น ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างและจัด Content เผื่อเป็นไอเดียแก่ Startup ในไทยทุกท่านนะคะ
1. CAKES.mu - สละชาเขียว 1 ขวดแลกกับนิตยสารเฉพาะในแบบของคุณ
ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ ทั้งนิตยสารและหนังสือพิมพ์ทั่วโลกกำลังหวาดหวั่นกับยอดขายลดลงเนื่องจากผู้บริโภคหันไปอ่านเนื้อหาฟรีทางออนไลน์แทน มีเว็บญี่ปุ่นเว็บหนึ่งกำลังประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับการสร้าง Digital Content เพื่อจำหน่าย
Cakes.mu เป็น Platform ออนไลน์ที่รวบรวมบทความจากคนในวงการต่าง ๆ อาทิ นักธุรกิจ นักเขียนมืออาชีพ นักจิตวิทยา นักดนตรี ดารา นักร้อง นักกีฬา นักวาดการ์ตูนชื่อดัง มาจำหน่ายบนเว็บ ผู้อ่านต้องเสียค่าสมาชิกสัปดาห์ละ 150 เยน (ประมาณ 50 บาท) โดยสามารถอ่านบทความต่าง ๆ กว่า 10,000 บทความในแต่ละสัปดาห์ และสามารถ Follow นักเขียนหรือบทความที่ตนเองชอบได้ โปรดนึกถึงภาพเว็บเว็บหนึ่งที่มีบทความคุณนิ้วกลม คุณซิโก้ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง คุณแชมป์ ทีปกร คุณวิษณุ เครืองาม อยู่ในเว็บเดียวกัน
ความน่าสนใจของเว็บนี้ คือ ระบบ Algorithm ของเว็บจะคัดกรองบทความที่สมาชิกแต่ละคน “น่าจะชอบ” จากบทความที่สมาชิกอ่านในอดีต เพื่อสร้างประสบการณ์เฉพาะและรื่นรมย์แก่ผู้อ่านมากขึ้น แทนที่ลูกค้าต้องคอยตามซื้อนิตยสารหลาย ๆ ฉบับ เพียงเข้ามาที่เว็บ Cakes ที่เดียว ก็สามารถเลือกอ่านบทความที่ตนเองถูกใจในสไตล์ของตัวเองได้ จัดว่าเป็นการก้าวข้ามข้อจำกัดของนิตยสารไปได้อย่างงดงาม
รายได้ของ Cakes มาจากค่าสมาชิกเป็นหลัก ตลอดจนค่าหนังสือหากบทความนั้นรวมเป็น E-book หรือตีพิมพ์เป็นหนังสือ โดยทางบริษัทจะแบ่งรายได้กับผู้เขียนบทความด้วย หากบทความนั้นรวมตีพิมพ์เป็นหนังสือจำหน่าย ส่วนวิธีการโปรโมท ก็ให้ผู้เขียนแต่ละคนโปรโมทเว็บกับแฟน ๆ ใน Social Media ของตนแทน เป็นการประหยัดค่าการตลาด แต่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มีประสิทธิภาพมากเป็นอย่างยิ่งเลยทีเดียว
2. Cookpad.com - เว็บรวมสูตรอาหารที่ทำกำไรถึงร้อยละ 50
คนญี่ปุ่นนิยมทำอาหารทานเองที่บ้านเนื่องจากราคาถูกกว่าทานอาหารข้างนอกมาก และสามารถปรุงรสไม่จัด ดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นยังมองว่า การทำอาหาร เป็นวิธีการแสดงความรักอย่างหนึ่งด้วย ทว่า มีคนกลุ่มหนึ่งมีปัญหากับการแสดงความรักดังกล่าว ... กลุ่มแม่บ้านญี่ปุ่นนั่นเอง “เย็นนี้ จะทำอาหารอะไรดี” เป็นคำถามที่แม่บ้านญี่ปุ่นต้องปวดหัวทุก ๆ วัน เพราะหากทำซ้ำ ๆ กัน สมาชิกในครอบครัวอาจโอดครวญได้
Cookpad.com เป็นเว็บที่เข้ามาตอบโจทย์ปัญหานี้ ทางเว็บรวบรวมสูตรอาหารต่าง ๆ ใครก็ได้สามารถเข้ามาดูได้ฟรี ปัจจุบันมีผู้เข้าชมเว็บสูงถึง 5.5 ล้านคนต่อเดือน (คำนวณง่าย ๆ คือ ประชากรครึ่งหนึ่งของคนกรุงเทพฯ กำลังใช้เว็บนี้) เสน่ห์ของ Cookpad คือ มีสูตรอาหารต่าง ๆ ประมาณ 2 ล้านกว่าสูตร ดิฉันเคยลองหาสูตรทำต้มยำกุ้ง ก็พบประมาณ 100 กว่าสูตรเลยทีเดียว ทาง Cookpad ไม่ได้เป็นผู้คิดค้นสูตรอาหารกว่า 2 ล้านสูตรนี้ แต่เป็น User ของเว็บ โดยทางเว็บสร้างระบบให้แม่บ้านญี่ปุ่นหรือ User ทั่วไป สามารถอัพโหลดสูตรอาหารของตนได้ง่ายที่สุด เพื่อแบ่งปันและเรียนรู้วิธีทำอาหารใหม่ ๆ จากกันและกัน ขณะเดียวกัน มีปุ่มให้เราเขียนคอมเม้นท์หรือส่งภาพอาหารที่ทำให้เจ้าของสูตร ทำให้เจ้าของสูตรมีกำลังใจในการอัพสูตรอาหารต่อไป
เสน่ห์อีกประการของ Cookpad คือ แทนที่จะเสิร์ชหาวิธีทำเมนูต่าง ๆ เช่น “วิธีทำยำวุ้นเส้น” ผู้ใช้สามารถค้นสูตรโดยพิมพ์คีย์เวิร์ดจากวัตถุดิบที่เหลือในตู้เย็น เช่น “กะหล่ำปลี” “หมูสับ” หรือวัตถุดิบกับวิธีทำอาหารก็ได้ เช่น “กะหล่ำปลี x ต้ม” ระบบของ Cookpad ก็จะกรองสูตรที่มีคีย์เวิร์ดเช่นนั้นมาให้
รายได้ของ Cookpad มาจาก 2 ทางหลัก หนึ่ง คือ ค่าสมาชิก โดยปกติแล้ว User สามารถเข้าชมเว็บได้ฟรี แต่หากใครต้องการดูแค่สูตรที่ได้รับความนิยมหรือสูตรจากเชฟพิเศษเพื่อประหยัดเวลา ก็สามารถสมัครเป็น Premium User ได้โดยเสียค่าสมาชิกเดือนละ 280 เยน หรือประมาณ 90 บาท (ปัจจุบันมีผู้สมัครถึง 1.7 ล้านคน) รายได้อีกทาง มาจากการจัด Event ร่วมกับบริษัทต่าง ๆ เช่น การประกวดสูตรอาหารบนเว็บ
นอกจากนี้ ในช่วงหลัง Cookpad ขยายธุรกิจโดยร่วมกับซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ ให้ User สามารถสั่งซื้อของได้ หรือบริการพิเศษจำหน่ายข้อมูลทางการตลาด เช่น เดือนนี้ลูกค้ากลุ่มใด เสิร์ชคำว่าอะไร ให้ความสนใจเรื่องใด
3. Storys.jp - เพราะทุกคนมีเรื่องราว
คอนเซปท์คล้ายเว็บ
https://storylog.co/ ของไทย กล่าวคือ ให้ User มาแบ่งปันเรื่องราวต่าง ๆ ของตัวเอง จุดเด่น คือ ตัวเว็บที่ให้ User สามารถพิมพ์และอัปโหลดเรื่องราวได้ง่าย หนึ่งในฟังก์ชั่นที่เก๋ คือ ฟังก์ชั่นสร้าง Bubble บทสนทนา โดย User สามารถพิมพ์ชื่อบุคคล และประโยคที่คนนั้นพูดในลักษณะของ Bubble ได้ เช่น
ในทุกเรื่องราว ย่อมมีตัวละครอื่นนอกจากตนเอง ทางเว็บก็ทำฟังก์ชั่นนี้มาให้ เพื่อให้เราเขียน Story ได้ง่ายขึ้น และให้ผู้อ่านอ่านแบบมีอรรถรสมากขึ้น
ส่วนกิมมิคในการกระตุ้นให้ User มีกำลังใจโพสท์ต่อก็เด็ดไม่แพ้กัน ผู้ที่เข้ามาอ่านสามารถคลิก Comment ในทุกย่อหน้าของ Story นั้นได้เลย (ไม่ต้องรอ Comment ท้ายบทความแบบเว็บอื่น ๆ) ถ้าอยากอ่านเรื่องราวจากผู้เขียนต่อ ก็กดปุ่ม “อยากอ่านต่อ” ได้ ผู้เขียนจะได้มีกำลังใจอยากเขียนต่อไป นอกจากนี้ ตัวผู้เขียนเอง สามารถคลิกเข้าไปดูได้ว่า ใครเข้ามาอ่านเรื่องราวของตนเองแล้วบ้าง
นักเขียนที่มีผู้อ่านเยอะมาก ๆ ก็อาจพิมพ์ผลงานตนเองเป็นหนังสือ หรือเป็น E-book หรือบางครั้ง ค่ายหนังค่ายละครญี่ปุ่น ก็จะเข้ามาควานหา Story ที่น่าสนใจไปทำหนังเช่นกัน เนื่องจากสามารถคาดเดาเรทติ้งล่วงหน้าได้ เรื่องที่คนอ่านเยอะในเว็บ หากนำมาทำเป็นหนังหรือละคร ก็ต้องมีผู้สนใจมากเช่นกัน เหมือนเรื่อง Birigal … เรื่องเด็กสาวม.ปลายที่เรียนไม่เก่ง แต่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยเคโอ ซึ่งถูกนำมาสร้างเป็นหนัง ละคร และตีพิมพ์เป็นหนังสือ Best Seller
Storys.jp สร้างรายได้จากการทำงานร่วมกับบริษัทโทรทัศน์หรือช่วยเป็นตัวกลางระหว่างสำนักพิมพ์กับนักเขียน ตลอดจนช่วยทำ E-book นั่นเอง
สรุป ทั้ง 3 ตัวอย่างเว็บดังในญี่ปุ่นข้างต้น ไม่ว่าจะเป็น Cakes.mu เว็บรวมบทความจากนักเขียนชื่อดัง Cookpad.com เว็บรวมสูตรอาหาร หรือ Storys.jp เว็บที่เชื่อว่าทุกคนมีเรื่องราวพิเศษของตัวเอง ได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า .....
1. เว็บไม่จำเป็นต้องหารายได้จากโฆษณาเป็นหลัก
เว็บสามารถหารายได้จากค่าสมาชิกหรือค่าประสานงานต่าง ๆ หากจำนวน User มีมากพอ ก็นำข้อมูลมาวิเคราะห์และจำหน่ายได้ ทั้งนี้ ต้องมั่นใจว่า คุณค่าที่เว็บมอบให้ลูกค้า มีสูงกว่า Content ฟรีหรือแหล่งข้อมูลแหล่งอื่นจริง ๆ
2. เว็บไม่จำเป็นต้องทำ Content ทุกอย่างเอง
แทนที่เว็บจะคิดและเขียนทุกอย่างด้วยตนเอง เราอาจใช้ User-Generated Content ได้ กล่าวคือ เปิดเป็น Platform แล้วให้ User เข้ามาเขียน ข้อดี คือ ได้ Content ที่หลากหลาย ปริมาณมากในช่วงเวลาอันสั้น
นอกจากนี้ User แต่ละคน จะเป็นคนช่วยทำการตลาดให้เรา เนื่องจากเขาจะช่วยเผยแพร่ Content ของเขาให้แก่เพื่อน ๆ ใน SNS ทำให้เว็บเป็นที่รู้จักมากขึ้น
สิ่งสำคัญ คือ ทำอย่างไรให้ User สร้าง Content ได้ง่าย และสามารถรักษาให้ User เขียน content ได้อย่างสม่ำเสมอ ดังฟังก์ชั่นส่งภาพอาหารขอบคุณเจ้าของสูตรในเว็บ Cookpad หรือปุ่ม “อยากอ่านต่อ” ในเว็บ Storys.jp เป็นต้น
3. เว็บเป็นแหล่งข้อมูลที่มีค่า
ข้อมูลผู้ใช้และระบบอัลกอริธึ่มจัดเป็นอาวุธสำคัญของทั้ง 3 เว็บ หากเว็บสามารถรวบรวมจำนวน User ได้มากพอ ทางเว็บก็สามารถนำข้อมูล User ไปวิเคราะห์เชิงการตลาด ไม่ว่าจะเป็นความชอบ ความสนใจ หรือความถี่ในการใช้บริการได้
ใครสนใจการตลาดแบบญี่ปุ่น สามารถอ่านบทความเก่า
วิเคราะห์สินค้าญี่ปุ่นที่สามารถปรับใช้ได้กับตลาดไทยกันนะคะ