ภาษีเพื่อสุขภาพ...ลดหวาน ลดเค็ม

ภาษีเพื่อสุขภาพ...ลดหวาน ลดเค็ม

By Krungsri Plearn Plearn
แค่เราเป็นคนมีสีสัน ชอบรสชาติจัดจ้าน หวาน เค็ม ก็ต้องเสียภาษีเพื่อสุขภาพ ด้วยเหรอ?

ช่วงนี้พอได้ยินคำว่า “ภาษี” หลายคนก็จะเริ่มหวั่น ๆ นี่ฉันต้องเตรียมเสียภาษีค่าอะไรอีกหรือเปล่า ใจเย็น ๆ ก่อนครับ ภาษีความเค็ม และภาษีความหวาน หรืออาจเรียกรวมได้ว่า “ภาษีเพื่อสุขภาพ” เกิดขึ้นด้วยความมุ่งหวังที่ดีที่มีต่อสุขภาพของคนไทย ที่ติดหวานและชอบกินเค็ม ทำให้กรมสรรพสามิตต้องเรียกเก็บภาษีเพื่อสุขภาพนี้จากผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเหล่านั้นออกมา ตัวอย่างที่เราอาจจะคุ้นชินกับภาษีประเภทนี้ ก็คือ การเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ นั่นเองครับ

ทีนี้เพื่อให้เข้าใจว่าทำไมถึงต้องมีการกำหนดภาษีนี้ขึ้นมา เราอาจต้องเริ่มต้นด้วยการที่รู้ก่อนว่า ร่างกายของเราต้องการปริมาณโซเดียมและน้ำตาลมากน้อยแค่ไหน และเท่าไหร่ถึงเรียกว่ามาก ภาษีนี้จะมีผลกับชีวิตเราอย่างไร แล้วควรปรับตัวรับมืออย่างไรดี ถึงกับต้องงดกินหวานกินเค็มกันเลยไหม ที่นี่มีคำตอบครับ

ร่างกายเราควรรับน้ำตาล และโซเดียมเท่าไหร่

คนไทยเราเป็นชนชาติที่ขึ้นชื่อเรื่องอาหารที่มีรสชาติจัดจ้านอยู่แล้ว ทั้งเผ็ด เปรี้ยว หวาน เค็ม แต่จากนี้เราควรตระหนักว่ามันส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว จึงควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป จนโรคภัยต้องถามหา แล้วแบบไหนล่ะที่เรียกว่าพอดี

ความหวาน
แม้ว่ากระแสรักสุขภาพกำลังมาแรง คนไทยเริ่มให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายและการทานอาหารที่มีประโยชน์ แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ประสบกับปัญหาโรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและโรคหลอดเลือด ด้วยเหตุนี้ องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำว่า เราไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 50 กรัม หรือ 12 ช้อนชาต่อวัน แต่คุณทราบไหมว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลโดยเฉลี่ย 100 กรัม/คน/วัน เกินไปถึงสองเท่า!!!
ความเค็ม
แทบไม่มีมื้อไหนที่คุณไม่เรียกหา “พริกน้ำปลา” ใช่ไหม นี่ละคือหนึ่งในนิสัยติดเค็มของคนไทย ทราบไหมครับว่าข้อมูลจาก สสส. บอกไว้ว่า คนไทยเราบริโภคโซเดียมสูงเกินกว่าค่ากำหนดขององค์การอนามัยโลกถึง 2 เท่า หรือประมาณ 4,350 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งที่ร่างกายเราต้องการโซเดียมเพียง 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือป่นเพียง 5 กรัมเท่านั้น ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ อาหารจานเดียวก็มีโซเดียมเกินกว่า 1,500 มิลลิกรัมแล้ว เช่น แกงที่ไม่ใช่แกงน้ำใส ปริมาณโซเดียมอยู่ที่ราว 1,200-1,300 มิลลิกรัม ส่วนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซองก็มีโซเดียมสูงถึง 70-80% แล้วถ้าคุณยังทานขนมกรุบกรอบเข้าไปอีก ก็แน่ใจได้เลยว่า วันนั้นคุณทานโซเดียมเกินค่ามาตรฐานที่ร่างกายต้องการแน่ ๆ

ภัยร้ายจากการทานหวานและเค็มมากเกินไป

หลายคนเข้าใจว่า โรคอ้วนจะถามหาเมื่อทานของหวานเยอะ ถูกต้องแล้วครับ แต่ก็ยังมีโรคอื่น ๆ อีก เพราะร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลที่ได้รับเข้าไปมากเกินไปเป็นไขมัน ทำให้เกิดโรคเบาหวาน และโรคหัวใจ ผลข้างเคียงที่ตามมาก็คือ ระดับพลังงานจะแปรปรวน ทำให้เราเหนื่อยง่าย เพลียง่าย ยิ่งถ้าทานน้ำตาลปริมาณมากสะสมนาน ๆ ก็จะทำให้เซลล์ในร่างกายเสื่อมสภาพก่อนเวลา นอกจากนี้อาจทำให้ระดับสารสื่อประสาทในสมองผิดปกติ จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต โดยผลการวิจัยพบว่าผู้ชายที่บริโภคน้ำตาล 67 กรัม/วันหรือมากกว่านั้น มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า มากกว่าผู้ชายที่บริโภคน้ำตาลน้อยกว่า 40 กรัม/วัน ถึง 23 เปอร์เซ็นต์

แต่ที่หลายคนมองข้าม คือการทานเค็มต่อเนื่อง ก็ไม่เป็นผลดีเช่นกัน ทำให้เกิดโรคความดันโลหิต โรคไต โรคหัวใจ และอัมพาตได้ ดูจากสถิติของ สสส. แล้วน่าตกใจมาก เพราะพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมากถึง 39,400 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2560) นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังคาดว่า การลดปริมาณโซเดียมให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน จะช่วยลดการเสียชีวิตจากโรคร้ายแรงข้างต้น ได้ถึง 1.7 ล้านคนต่อปีทั่วโลก

รู้จักภาษีเพื่อสุขภาพ อะไรที่เข้าข่ายบ้าง

ด้วยเหตุนี้เอง รัฐจึงหาแนวทางในการควบคุมการรับประทานหวาน และเค็ม ให้อยู่ในปริมาณที่ดีต่อสุขภาพของคนไทย นี่เองคือที่มาของภาษีเพื่อสุขภาพที่ชื่อว่า “ภาษีความหวาน” และ ภาษีความเค็ม” ที่เรียกเก็บภาษีจากผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงความสำคัญของสุขภาพผู้บริโภคในการผลิตสินค้านั่นเองครับ

ภาษีความหวาน
จริง ๆ แล้วรัฐบาลโดยกรมสรรพสามิตได้เริ่มจัดเก็บภาษีความหวานในเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลแล้วตั้งแต่ ปี 2559 ในอัตราที่เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดทุก ๆ 2 ปี โดยช่วงที่ 2 จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2562 ถึง 30 ก.ย. 2564 จะเพิ่มอัตราการเก็บภาษีต่อเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร โดยเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไม่เกิน 10 กรัม ยังใช้อัตราเดิม แต่เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัม ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 4 เท่าตัว แล้วต้องหวานแค่ไหนล่ะถึงต้องเสียภาษีส่วนนี้?
  • ความหวาน ที่ 6 กรัม/100 มล. ไม่เสียภาษี
  • ความหวานเกิน 6-8 กรัม/100 มล. เสียภาษี 0.30 บาท/ลิตร
  • ความหวานเกิน 10-14 กรัม/100 มล. เสียภาษี 1 บาท/ลิตร
  • ความหวานเกิน 14-18 กรัม/100 มล. เสียภาษี 3 บาท
  • ความหวานเกิน 18 กรัม/100 มล. เสียภาษี 5 บาท
เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในไทยนั้น มีค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำตาลผสมอยู่ค่อนข้างสูง อยู่ที่ระหว่าง 9-14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ซึ่งส่วนมากคือเครื่องดื่มประเภท น้ำอัดลม ชาเขียว กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง น้ำผลไม้ นั่นเองครับ
ภาษีความเค็ม
ในส่วนของแนวทางการจัดเก็บภาษีความเค็ม ตอนนี้ยังไม่มีการกำหนดอัตราออกมาอย่างชัดเจน แต่กรมสรรพสามิตจะเริ่มจัดเก็บภาษีจากเครื่องดื่ม อาหาร ขนมขบเคี้ยวที่มีความเค็มสูงกว่าที่ร่างกายต้องการ 2-3 เท่า เช่น พวกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊ก ซุปก้อน ขนมกรุบกรอบ ปลาเส้น สาหร่าย ที่มีโซเดียมแฝงอยู่เยอะจนน่าตกใจเลยล่ะครับ

ปรับตัวอย่างไรดี เมื่อต้องควบคุมความหวานและความเค็ม

แม้จะยังไม่แน่ชัดว่าผู้ประกอบการจะปรับขึ้นราคาสินค้าหรือไม่ แต่เราสามารถเริ่มต้นปรับเปลี่ยนที่ตัวเราเองก่อนได้เลย หันมาปรับเปลี่ยนนิสัยการกิน ช่วยเซฟได้ทั้งร่างกายและเงินในกระเป๋า

ถ้ารู้สึกว่ากดดันตัวเองเกินไป หากต้องตัดความหวานออกจากชีวิต ลองเริ่มจากค่อย ๆ ลดปริมาณก่อนก็ได้ครับ หากคุณเป็นคนติดน้ำอัดลมมาก ต้องดื่มทุกวัน วันละกระป๋อง คุณควรค่อย ๆ ลดลงเป็นวันละครึ่งกระป๋อง ไปจนเหลือสัปดาห์ละกระป๋อง เดือนละกระป๋องและงดดื่มไปในที่สุด หรือลองเอาเทคนิคลดหวานต่อไปนี้ไปปรับใช้นะครับ
  • ดื่มน้ำเปล่า หรือโซดา แทนน้ำอัดลม น้ำหวาน หรือน้ำผลไม้
  • ทานผลไม้สดแทนการดื่มน้ำผลไม้ หรือน้ำผลไม้ปั่นที่เติมน้ำตาล
  • ดื่มกาแฟดำ หรือใช้สารทดแทนความหวานแทนน้ำตาล หรือใส่หญ้าหวานแทน
  • งดขนมหวาน ขนมกรุบกรอบ แล้วหันมาทานของว่างที่ดีต่อสุขภาพแทน เช่น ถั่วอบไม่เติมน้ำตาลหรือเกลือ
  • อ่านฉลากทุกครั้งก่อนซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิด เพื่อตรวจสอบปริมาณน้ำตาลและปริมาณโซเดียม
  • นอกจากนี้การทานของหวานควบคู่กับธัญพืชที่มีเส้นใยอาหารสูง เช่น กินไอศกรีมกับลูกเดือย ถั่วแดง ถั่วเขียว ข้าวโพด เป็นต้น เพราะเส้นใยอาหารอาจช่วยชะลอการดูดซึมนํ้าตาลเข้าสู่ร่างกาย ทำให้อิ่มท้อง
ส่วนการลดเค็ม ควรตั้งต้นจากการลดเครื่องปรุงหรือซอสจิ้มเวลาไปทานข้าวนอกบ้าน และถ้าคุณทำอาหารเองอาจเลือกเป็นใส่เกลือหิมาลายัน หรือเกลือสีชมพู แทน เพราะมีปริมาณโซเดียมน้อย แล้วยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีแร่ธาตุและสารอาหารรองมากถึง 84 ชนิด มีปริมาณโปแตสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม และเหล็กมากกว่าเกลือทั่วไป นอกจากนั้นคุณก็ควรงดทานขนมกรุบกรอบที่มีปริมาณโซเดียมมาก แต่ถ้าตัดได้ยาก ก็ค่อย ๆ ลดปริมาณลงก็ได้ แล้วรับประทานเป็นอัลมอนด์อบธรรมดาไม่ใส่เกลือดูนะครับ
สุดท้ายแล้วผู้บริโภคอย่างเรา ๆ อาจต้องรองรับผลกระทบของการเก็บภาษีความหวานความเค็มที่ผู้ประกอบการต้องจ่าย แต่หากราคาของสินค้าที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยให้ดีต่อสุขภาพ น่าจะเป็นผลดีต่อทั้งตัวเราเอง และคนรอบข้างในระยะยาวนะครับ เพราะสุดท้ายแล้ว การไม่มีโรคก็เป็นลาภที่ประเสริฐที่สุดนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก
sanook.com,
prachachat.net,
bbc.com,
thaihealth.or.th,
rajavithi.go.th,
who.int
ขอบคุณข้อมูลจาก: sanook.com ,prachachat.net ,bbc.com ,thaihealth.or.th ,rajavithi.go.th ,who.int
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow