เปลี่ยนเจ้านายเป็นหัวหน้าโดยวิธีละมุนละม่อม

เปลี่ยนเจ้านายเป็นหัวหน้าโดยวิธีละมุนละม่อม

By Krungsri Academy

เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเปิด Social Media มาทางไหน ก็จะมีดราม่าเรื่องราวระหว่างเจ้านาย-ลูกน้องให้ติดตามอ่านกันมากมาย จะตลกโปกฮาหรือดราม่าหน้าเครียด ก็ล้วนมีเรื่องราวมาจากออฟฟิศทั้งนั้น ว่ากันว่า มีเจ้านายดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะชาวออฟฟิศส่วนใหญ่โหวตเป็นเสียงเดียวกันว่า งานหนักไม่กลัว กลัวได้นายไม่ดี แต่ด้วยความที่เจ้านายหรือหัวหน้า (ที่ทำตัวเป็นนาย) ก็เป็นมนุษย์ปุถุชนเหมือนเรา ๆ ปัญหาอาจจะอยู่ที่ภาระหน้าที่ที่เขาแบกรับอยู่ รวมทั้งอาจจะมีปัญหาอะไรอยู่ในใจ จนทำให้หัวหน้ากลายร่างเป็นยักษ์กับลูกน้องได้ แล้วจะมีวิธีไหนที่เปลี่ยน “เจ้านาย” ให้เป็น “หัวหน้า” บ้าง

การที่จะเข้าถึง เข้าใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม Boss ในตัวหัวหน้า ก็คงต้องใช้เวลาพอดู เนื่องจากพฤติกรรมและนิสัยความเป็นนายอาจมีหลากหลายรูปแบบ แถมการเข้าไปทำดีกับหัวหน้าจนเกินพอดี ก็ถูกมองว่า ประจบประแจงหวังผลได้ ทางที่ดี คือ ทำงานทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด และสร้างมนุษยสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงาน ส่วนการเข้าหาและปรับเปลี่ยนเจ้านายให้เป็นหัวหน้า(ที่แสนดี)อย่างละมุนละม่อมนั้น ต้องว่ากันที่ “คาแรคเตอร์”
1. เจ้านายนักบู๊
ไม่รู้ว่าเจ้านายสไตล์นี้เกิดมาเพื่อแสดงตนเป็นตัวร้ายสายบู๊หรือไม่ เพราะเขาพร้อมมีเรื่อง พูดจาไม่ลงรอย คิดแย้งตลอด แล้วยังแสดงออกด้วยสีหน้าท่าทางด้วย เรียกว่า โดนวีน โดนเหวี่ยงหมดทุกคน ไม่ว่าจะในแผนก นอกแผนก จนอาจเกิดปัญหาบรรยากาศหวาดระแวงในการทำงาน เพราะไม่รู้ว่าจะโดนดุจากการทำผิดเมื่อไหร่ ทั้งนี้ เจ้านายแบบนี้ เกิดมาจากความไม่มั่นใจในอำนาจและตำแหน่งของตนเอง จนแสดงออกมาอย่างมากเกินพอดี เรียกว่า พยายามพิสูจน์ตัวเอง ด้วยการข่มลูกน้องนั่นเอง
วิธีการรับมือเจ้านายสไตล์นี้ก็ต้อง “นิ่ง” เข้าไว้ ไม่ตอบโต้ ไม่เถียง ใช้ความสงบสยบความคุกรุ่น เมื่อถึงเวลาที่คลื่นลมสงบลงแล้ว (อาจต้องใช้เวลารอสักหน่อย) มองหาโอกาสอันเหมาะสม เช่น พักรับประทานอาหารกลางวัน หรือปาร์ตี้แฮงเอาท์หลังเลิกงาน ก็เข้าประกบเจ้านายท่านนี้ เมื่อบรรยากาศเป็นใจ ก็หยิบยกเหตุการณ์นี้ขึ้นมา แล้วค่อยแย้งด้วยเหตุผลอย่างนิ่มนวลที่สุด อาจเจือมุขตลกเข้าไปด้วยก็ได้ พร้อมทั้งเน้นว่า เราไม่ได้โกรธเคือง แต่เหตุและผลเป็นแบบนี้ ๆ ต่างหาก อย่างไรก็ตาม เจ้านายสายบู๊ก็ยังเป็นสายบู๊วันยังค่ำ ด้วยวิธีที่กล่าวมา ลูกน้องอย่างเราอาจไม่รอดพ้นพายุได้ตลอด แต่อย่างน้อย เจ้านายก็จะเห็นเราเป็นคนที่มีเหตุผล
2. เจ้านายขี้โบ้ย
เจ้านายประเภทนี้จะไม่ค่อยมั่นใจ ไม่ชัดเจน ให้ลูกน้องเป็นผู้ตัดสินใจ เมื่อผิดแล้วก็โบ้ยความผิดนั้นมาที่ลูกน้อง เจ้านายขี้มึนขี้โบ้ยแบบนี้ ลูกน้องอย่างเราต้องใช้วิธี “สนับสนุน” ความคิดและสร้างความมั่นใจให้ อาจช่วยเสนอแนะข้อคิดเห็น ทางเลือก พร้อมกับเหตุผลข้อเท็จจริง แต่ก็ต้องใช้ถ้อยคำที่ชัดเจนไม่รุนแรง เมื่อผลงานออกมาเป็นที่น่าพอใจแล้ว ก็ไม่ควรไปแสดงตนข่มว่า เป็นฝีมือเรา แต่ควรจะพูดตะล่อมว่า ทั้งหมดก็เพราะหัวหน้าใช้วิจารณญาณเลือกทางออกที่ดีที่สุดเพื่อบริษัทนั่นเอง
3. เจ้านายบ้างานผิดที่ผิดเวลา
การมีเจ้านายที่ต้องพุ่งสู่เป้าหมายโดนลืมไปว่า เลยเวลาเลิกงาน หรือเป็นวันหยุดแล้ว ก็ยังขยันทำงานติดต่อลูกน้องทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นอีเมล โปรแกรมแชทต่าง ๆ ส่งข้อความ และที่แย่ที่สุด คือ โทรหาแบบย้ำ ๆ ถึงแม้จะดูเป็นเจ้านายที่ดูมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อ มีแรงขับเคลื่อนและส่งแรงผลักดันให้ลูกน้องอย่างมาก แต่ทำงานก็ต้องมีพักบ้าง ถ้าเจ้านายบ้างานขนาดนี้ อาจทำให้ลูกน้องเหนื่อยและเบื่องานได้
เจ้านายจอมขยันแบบนี้ น่าทำงานด้วยและช่วยพาลูกน้องไปสู่การพัฒนาตนเอง และองค์กร อาจจะเงินเดือนขึ้น เลื่อนขั้นไว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ต้องมีกลยุทธ์รับมือด้วย “ความขยัน” ที่มาพร้อมกับ “การจัดการ” เจ้านายแบบนี้มักคาดหวังลูกน้องที่ขยันขันแข็ง ทำงานทุ่มเทกายใจเช่นกัน เราก็ควรแสดงให้เห็นว่า เราทำงานขยันขันแข็ง ทำงานอย่างมีคุณภาพ และบวกเทคนิคการจัดการเข้าไป เช่น เตรียมตารางงานประจำสัปดาห์ รายละเอียด และข้อมูลที่คาดการณ์ว่าเจ้านายต้องการในช่วงวันหยุด เพื่อให้เจ้านายเห็นว่า ภายในแต่ละสัปดาห์คุณมีงานอะไรบ้าง ต้องประชุม และต้องการความเห็นในการตัดสิน หรืออนุมัติเมื่อไหร่ เจ้านายสไตล์นี้ เมื่อเห็นถึงความเป๊ะ ก็จะมั่นใจในการทำงานของลูกน้อง จนกลายร่างเป็นหัวหน้าที่ไม่โทรจิกในวันหยุด แต่อาจจะแชร์ที่กินที่เที่ยวสำหรับวันหยุดมาแทน
4. เจ้านายสาย Perfectionism
การทำงานออกมาให้ครบถ้วน ถูกต้องแม่นยำที่สุดคาดหวังผลงานที่ไร้ที่ติ จนบางครั้งทำให้ลูกน้องทำงานอย่างขาดความมั่นใจ ยิ่งถ้ามีเวลากระชั้นชิดแล้วล่ะก็ งานของลูกน้องอาจจะมีลักษณะลน ๆ และเสียความเป็นตัวเอง ซึ่งบางครั้งการที่ลูกน้องทำงานขาดตกบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ยังถูกดุ ถูกเตือน บ่อยครั้งเข้าก็ไม่มีลูกน้องคนไหนแบกรับมาตรฐานสูงขนาดนี้ได้ ส่วนการปรับตัวและเปลี่ยนเจ้านายลักษณะนี้ ก็ต้องเริ่มจากที่ตัวเรา ด้วยการทำและรับผิดชอบงานที่มีขนาดเล็กก่อน เมื่อทำได้ดีแล้ว ก็ค่อย ๆ ทำงานที่ใหญ่ขึ้น และเพิ่มปริมาณมากขึ้น สิ่งสำคัญก็คือ “อย่าลืมปรึกษา” เจ้านาย เพราะนอกจากจะเป็นการได้รับคำปรึกษา ตอบปัญหาต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นการได้เรียนรู้ถึงการทำงานแบบไร้ที่ติ รวมทั้งเจ้านายก็จะรับรู้ถึงความก้าวหน้าภายใต้ความรับผิดชอบของลูกน้อง สามารถสร้างโอกาสให้เจ้านายเข้าอกเข้าใจปัญหาในการดำเนินงาน และแปลงกลายเป็นหัวหน้าที่คอยประกบช่วยเหลืองานลูกน้องก็เป็นได้
ถึงแม้เราจะเรียนรู้วิธีการเปลี่ยน Boss ให้เป็นหัวหน้างานแล้ว ไม่ว่าเราจะเก่งในการปรับตัว มีไหวพริบ พลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้มากเท่าไหร่ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการใช้ชีวิตในการทำงาน คือ การทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย หรืองานของเราให้ดีที่สุด เพราะเนื้องานก็คือเนื้อแท้ที่จะเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถและประสิทธิภาพของเรานั่นเอง (อ่านบทความรับมือในที่ทำงานเพิ่มเติมได้ที่นี่)
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow