“โซเชียลมีเดีย” นำพาธุรกิจรุ่ง

“โซเชียลมีเดีย” นำพาธุรกิจรุ่ง

By Krungsri GURU SME

ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็กหรือใหญ่ต่างหันมาใช้โซเชียลมีเดีย (Social Media) หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ในการทำการตลาดเกือบทั้งหมด เพราะตระหนักดีว่าเป็นช่องทางหนึ่งในการโฆษณาสินค้าและขายสินค้าได้เป็นอย่างดี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือมีก็ไม่มากหากเทียบกับการทำตลาดในรูปแบบอื่น ๆ ที่สำคัญมีประสิทธิภาพเยี่ยม และเห็นผลในระยะเวลาอันรวดเร็ว เรียกว่ายุคนี้ผู้ประกอบการรายใดไม่ใช้โซเชียลมีเดียเท่ากับว่าตกเทรนด์ไปแล้ว

พูดถึงโซเชียลมีเดียก็มีหลากหลายประเภท สำหรับตัวหลัก ๆ ที่มีผู้นิยมใช้อันดับต้น ๆ อาทิ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูป อินสตราแกรม ไลน์ บล็อก Whatsapp, Google+, Hi5 และ Tagged ฯลฯ ซึ่งแต่ละแบบก็มีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามกูรูด้านมาร์เก็ตติ้งออนไลน์ล้วนเห็นตรงกันว่าเฟซบุ๊กได้ผลมากที่สุด เนื่องจากในบ้านเรามีจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กมากเป็นอันดับ 9 ของโลก หรือเกือบ 30 ล้านคน แต่ไม่ว่าจะใช้โซเชียลมีเดียรูปแบบไหนหากจะให้ขายสินค้าหรือบริการได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็ต้องมีการวางแผนการตลาดก่อน
โมเดลการทำธุรกิจดังกล่าวเรียกว่า “โซเชียล บิสสิเนส” บ้างก็เรียกว่า โซเชียล เน็ตเวิร์ค มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งนับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากปัจจุบันและในอนาคตผู้คนใช้สมาร์ทโฟนกันเพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้อินเทอร์เน็ต ส่งผลให้การขายผ่านออนไลน์มียอดเติบโตสูงขึ้นทุก ๆ ปี เพราะพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปจากเดิมที่จะต้องไปซื้อของในร้านหรือห้าง และได้เห็นตัวสินค้าแล้วเท่านั้น
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายรายที่แต่ก่อนเคยออกบูธขายตามสำนักงานและตามงานอีเวนท์ต่าง ๆ ถึงกับเลิกขายแบบเดิมเพราะเสียทั้งเวลาและเสียค่าใช้จ่าย แถมเหนื่อยกายอีกต่างหาก หันมาใช้ช่องทางขายผ่านโซเชียลมีเดียอย่างเดียว เพราะในขณะที่มีรายได้ใกล้เคียงกันแต่สบายกว่ากันเยอะ ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก
ทั้งนี้การใช้โซเชียลมีเดียกับธุรกิจให้ได้ผลสัมฤทธิ์สูงสุดนั้นก็ต้องมีเทคนิคมีวิธีการเหมือนกัน ต้องรู้อะไรควรอะไรไม่ควร ต้องรู้จักกลุ่มคนที่ใช้ และต้องรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย เช่น วัยรุ่น คนทำงาน และผู้สูงอายุ มักนิยมเล่นเฟซบุ๊ก และผู้หญิงมักจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์กันมากกว่าหากเทียบกับผู้ชาย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในเฟซบุ๊กมักเต็มไปด้วยสินค้าของสุภาพสตรีเสียเยอะ
อันที่จริงการทำตลาดในโซเชียลมีเดียก็ไม่ได้แตกต่างจากการทำตลาดทั่วไปนัก อาจจะมีบางเรื่องบางประเด็นเท่านั้น อย่างเช่น ช่องทางการชำระเงิน และบริการจัดส่งสินค้า
สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้การทำธุรกิจในโซเชียลมีเดียให้ได้ผล ก่อนอื่นจะต้องสร้างกลุ่มลูกค้า หรือกลุ่มผู้ติดตามให้ตรงกับเป้าหมายของสินค้าและบริการนั้น ๆ ซึ่งในการเริ่มต้นไม่จำเป็นจะต้องเร่งรีบประชาสัมพันธ์อย่างโจ่งแจ้ง อย่ามุ่งการขายเป็นหลัก อย่าให้คนอ่านรู้สึกว่ากำลังถูกยัดเยียด ควรเน้นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีก่อน โดยอาจจะพูดคุยเรื่องทั่วไป ถามสารทุกข์สุกดิบกันเหมือนเพื่อน เหมือนพี่ เหมือนน้อง เหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นกันเอง
ขณะเดียวกันข้อมูลข้อความต่าง ๆ ที่สื่อสารจะต้องมีประโยชน์มีสาระดี เป็นเรื่องใกล้ตัว สัมผัสได้ อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน เป็นเรื่องที่อยู่ในกระแส และไม่ยาวเยิ่นเย้อจนเกินไป มีรูปแบบที่น่าสนใจ หากมีภาพหรือคลิปวิดีโอประกอบยิ่งดีใหญ่ พร้อมกันนั้นต้องมีการอัปเดทอยู่บ่อย ๆ และทำอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้จะต้องมีการติดตามวัดผลและประเมินผลด้วย
กรณีในเฟซบุ๊กผู้ประกอบการบางรายถึงกับลงทุนซื้อไลค์ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านออนไลน์มาร์เก็ตติ้งบางคนแนะนำว่าไม่ควรเสียเงินไปซื้อเพราะจำนวนที่กดไลค์ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นหลักประกันว่าเป็นผู้ซื้อสินค้าหรือทำให้สินค้าบริการนั้นมียอดขายที่ดีขึ้น ทั้งนี้ในการโพสต์สินค้าในเฟซบุ๊กไม่ควรมีความยาวเกิน 5 บรรทัด และในเนื้อความจะต้องมีรายละเอียดของสินค้า อาทิ รหัสสินค้า ราคา และเบอร์โทรศัพท์หรือช่องทางที่สามารถติดต่อผู้ขายได้สะดวก
ทั้งหมดนี้คงทำให้ได้เห็นกันแล้วว่าโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการทำธุรกิจในปัจจุบัน-อนาคต ดังนั้น
 
ผู้ประกอบการควรจะใช้ในทุก ๆ รูปแบบ เพราะแต่ละช่องทางก็มีผู้ใช้บริการแตกต่างกันไป เพื่อจะทำให้ได้ลูกค้าในปริมาณมากขึ้นและมีความหลากหลาย
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow