สำหรับธุรกิจในยุคนี้ การมีหน้าร้านเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอกับในสภาวะการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงอีกต่อไป แต่ควรสร้างร้านค้าออนไลน์ ควบคู่กันไปด้วย เพื่อสร้างบริการที่ทั่วถึงให้กับผู้บริโภคในยุคสมัยใหม่
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการซื้อของออนไลน์กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางยอดนิยมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่ต้องการความรวดเร็ว สะดวกสบาย ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปยังร้านค้า ซึ่งแน่นอนว่า การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ในยุคนี้ไม่ได้ยากลำบากแต่อย่างใด เพราะมีแพลตฟอร์มสำหรับให้ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ สามารถนำสินค้าที่ตนเองมีอยู่เข้าไปวางจำหน่ายได้ ไม่ว่าจะเป็นการขายของใน Shopee และ Lazada ที่ผู้คนส่วนใหญ่ต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม การที่จะนำสินค้าเข้ามาขายผ่านแพลตฟอร์มที่กล่าวไป ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวเป็นอย่างดีเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในบทความนี้เรามี 5 เทคนิคสร้างร้านค้าออนไลน์ ขายของใน Lazada และ Shopee อย่างไรให้มีความน่าสนใจและดึงดูดลูกค้าได้อย่างตรงจุดมาแนะนำกัน
1. ตั้งชื่อร้านให้รู้ว่าเป็นแบรนด์ของคุณ
ชื่อร้าน หากเปรียบให้เห็นภาพก็เปรียบเหมือนกับชื่อที่เราใช้เรียกคนที่รู้จัก หากตั้งชื่อร้านน่าฟัง คุ้นหู ก็ย่อมเป็นที่รับรู้ สร้างการจดจำให้ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และเป็นแบรนด์แรกที่จะนึกถึงเวลาจะซื้อสินค้า แต่หากชื่อเรียกยากก็ย่อมไม่อยู่ในสายตาของลูกค้าเช่นกัน
สำหรับเทคนิคสร้างร้านค้าออนไลน์โดยการตั้งชื่อร้านค้าให้ดึงดูดมีหลากหลายวิธี แต่เรื่องพื้นฐานที่ผู้ประกอบการควรรู้ คือ ชื่อร้านต้องเป็นคำสั้น ๆ ประมาณ 2-5 พยางค์ ซึ่งอาจจะใส่ไอเดียสร้างคำที่สื่อถึงสินค้าที่ขาย เช่น หากขายเสื้อผ้าอาจจะตั้งชื่อร้านว่า SHIRTORIA ที่แสดงให้เห็นถึงชื่อแบรนด์ และสินค้าที่ขายว่าคืออะไร หรืออาจจะใช้ชื่อภาษาไทยเพื่อสื่อความหมายโดยตรงอย่างเช่น เชิ้ตชาย ก็ได้
2. ตกแต่งหน้าร้านให้น่าดึงดูด
การเปิดร้านออนไลน์ใน Shopee และ Lazada มีข้อดีอยู่ตรงที่ผู้ประกอบการสามารถออกแบบหน้าร้านได้ตามไอเดียของตัวเอง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็ไม่ควรปล่อยหน้าร้านให้ดูว่างเปล่า แต่ควรดีไซน์ให้ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาด้วยการทำ Banner ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการโฆษณาด้วยวิธีนำรูปภาพ หรือวิดีโอมาโปรโมตโปรโมชันหรือแคมเปญบนหน้าร้านค้าของผู้ประกอบการ รวมถึงการสร้าง Landing Page ซึ่งเป็นหน้าที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของการขายสินค้า และจะไปปรากฏตามหน้าต่าง ๆ บนแพลตฟอร์ม โดยเมื่อมีคนคลิกก็จะเข้ามาที่หน้าร้านออนไลน์ของคุณทันที นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการไดคัต หรือการตกแต่งรูปด้วยการตัดขอบตามรูปทรง ซึ่งจะทำให้สินค้ามีความโดดเด่น สร้างความสวยงามให้กับผู้พบเห็น โดยในปัจจุบันมีโปรแกรมแต่งรูปมากมายให้ผู้ประกอบการได้เลือกใช้ อีกทั้งการดีไซน์หน้าร้านนั้นก็ควรคุมโทนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างความดึงดูดให้กับลูกค้าเวลาเข้ามาเลือกซื้อสินค้าด้วย
การตกแต่งหน้าร้านก็เปรียบกับหน้าต่างบานแรกที่ลูกค้าจะเปิดเข้ามา หากผู้ประกอบการสร้างร้านออนไลน์ให้มีรูปแบบที่สื่อถึงแบรนด์สินค้ามากเท่าไหร่ ผู้ซื้อก็จะเข้าใจความแตกต่างในร้านของคุณมากเท่านั้น อาจจะกล่าวได้ว่า ร้านค้าที่ดึงดูดความสนใจย่อมมียอดคลิก และอัตราการซื้อมากกว่าร้านค้าทั่ว ๆ ไปที่ไม่มีการตกแต่งอะไรเลย
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการหลายคนอาจมีความกังวลว่ากลัวจะออกแบบหน้าร้านมาไม่สวย เรื่องนี้ทางแพลตฟอร์มที่ให้บริการได้มีฟีเจอร์การตกแต่งหน้าร้านออนไลน์คอยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ขายเข้าไปใช้งานอยู่แล้ว เช่น หากใครขายสินค้าใน Shopee จะมีฟีเจอร์ที่เรียกว่า Shop Decoration ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้ร้านค้าสามารถออกแบบและตกแต่งหน้าร้านค้าด้วยตัวเองแบบไม่เหมือนใครได้ใน Seller Centre สามารถเข้าไปที่
https://seller.shopee.co.th/edu/article/876 ได้เลย
นอกจากนี้ เทคนิคสร้างร้านค้าออนไลน์อีกอย่างหนึ่งก็คือการจัดสินค้าให้เป็นหมวดหมู่ เช่น หากขายสินค้าแฟชั่น ก็แยกสินค้าออกเป็น เสื้อผ้า กางเกง กระโปรง เครื่องประดับ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าเมื่อเข้ามาเลือกดูสินค้าแต่ละชิ้น แสดงถึงความเป็นมืออาชีพ และช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น
3. บอกรายละเอียดสินค้าให้ชัดเจน
เรื่องที่ควรตระหนักเป็นอย่างมากหากใครจะสร้างร้านค้าออนไลน์ใน Lazada และ Shopee คือลูกค้าจะไม่สามารถเห็นสินค้าจริง ดังนั้นผู้ประกอบการควรระบุข้อมูลรายละเอียดของสินค้าชิ้นนั้นให้ครบถ้วน เช่น หากขายเสื้อผ้าควรบอก ขนาดไซส์ รอบอก ความกว้าง ความยาว หากขายสินค้าบริโภค ก็ควรบอกสรรพคุณ ข้อควรระวัง รวมถึงวันและเวลาหมดอายุให้ชัดเจน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก่ลูกค้า
สุดท้าย การรีวิวจากลูกค้าที่เคยซื้อสินค้าไปแล้วก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้รู้ว่าสินค้าของผู้ประกอบการได้รับความชื่นชอบมากแค่ไหน ซึ่งหากได้รับคำชมย่อมเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยให้ลูกค้าคนอื่น ๆ สามารถตัดสินใจได้ว่าจะเลือกซื้อสินค้านี้ดีหรือไม่
4. ไม่พลาดที่จะจัดโปรโมชั่น
อีกเทคนิคการสร้างร้านค้าออนไลน์ก็คือการจัดโปรโมชั่นให้กับสินค้า ซึ่งจะช่วยกระตุ้นยอดขายให้กับร้านเป็นอย่างดี โดยผู้ประกอบอาจจะใช้การแจกคูปองส่วนลดมอบให้กับลูกค้า หรืออาจเข้าร่วมแคมเปญกับแพลตฟอร์มที่ปัจจุบันเห็นกันอย่างแพร่หลาย อย่างใครที่ขายของใน Shopee และ Lazada จะมีเทศกาลลดราคาสินค้า ที่กำหนดเวลาเป็นวันใดวันหนึ่งของเดือนนั้น เช่น เทศกาลลดราคาสินค้า 9 เดือน 9 หรือเทศกาล Payday หั่นราคาวันเงินเดือนออก เป็นต้น
5. Active ตลอดเวลา
ถึงจะเป็นร้านค้าออนไลน์แต่ก็ต้องคอยมอนิเตอร์ร้านค้าอยู่เสมอ ลูกค้าถามปุ๊บตอบปั๊บ เพราะการขายของใน Lazada และ Shopee มีคู่แข่งจำนวนมาก ดังนั้นสิ่งที่จะมาตัดสินในเรื่องนี้ได้ นั่นก็คือการ Active กับลูกค้าอยู่ตลอดเวลา เช่น เมื่อมีลูกค้าเข้ามาสอบถาม หรือสั่งซื้อสินค้า ผู้ประกอบการควรจะตอบกลับในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ควรปล่อยไว้นาน เพราะจะเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีกับลูกค้าที่ว่าตนเองเป็นฝ่ายมาซื้อสินค้า แต่ทำไมต้องปล่อยให้รอนาน อีกทั้งการตอบกลับอย่างรวดเร็วจะช่วยให้ผู้ซื้อสามารถปิดดีลได้เร็วขึ้น หากเปิดร้านออนไลน์แล้วต้องการให้ลูกค้าประทับใจ ผู้ประกอบการต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้า และสามารถตอบคำถามได้อย่างกระจ่าง ตรงกับความคาดหวังของผู้ซื้อ
ข้อดีของการ Active ตลอดเวลา จะแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจที่มีต่อลูกค้า และสร้างความมั่นใจว่าแม้จะอยู่ในโลกออนไลน์ก็มีตัวตนอยู่จริง ๆ
เทคนิคการสร้างร้านค้าออนไลน์ เพื่อขายของใน Shopee และ Lazada ให้ปังไม่ได้จำกัดอยู่แค่บน
มาร์เก็ตเพลส เท่านั้น แต่ผู้ประกอบการสามารถนำเคล็ดลับเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับการขายสินค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์หรือสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้สามารถสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายของสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับตอนต่อไปเตรียมติดตามวิธีโปรโมตร้านค้าและสินค้าของคุณให้ติดตลาดกัน