เพราะการลาออกจากงานประจำ มาทำธุรกิจส่วนตัว ไม่ใช่แค่การเขียนใบลาออก แล้วทุกอย่างจะสำเร็จง่ายดั่งใจหวัง แต่ต้องอาศัยการเตรียมความพร้อมและศึกษาให้ดีเสียก่อน มิเช่นนั้นอาจเกิดผลเสียตามมาได้
ก่อนจะไปถึงขั้นตอนของการเตรียมตัว ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า “การทำงานประจำ” กับ “การทำ
ธุรกิจส่วนตัว” ล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แน่นอนว่าได้อย่างก็ต้องเสียอย่างเป็นเรื่องธรรมดา เอาเป็นว่าลองประเมินกันก่อน ว่ารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน
ข้อดีของการทำงานประจำ
- มีรายรับอย่างสม่ำเสมอ
- ไม่ต้องรับความเสี่ยงของธุรกิจ
- ทำงานเป็นเวลา
- ทำงานเฉพาะส่วนที่ได้รับมอบหมาย
- มีวันหยุดประจำสัปดาห์
- มีสวัสดิการ เช่น เงินโบนัส, ประกันสังคม, ประกันสุขภาพ, สิทธิ์การลาพักร้อน ฯลฯ
ข้อเสียของการทำงานประจำ
- โอกาสที่การเงินจะเติบโตแบบก้าวกระโดดมีน้อย
- ต้องอยู่ในกฎระเบียบของบริษัท
- ไม่มีอำนาจมากนักในการกำหนดทิศทางของธุรกิจ
ข้อดีของการทำธุรกิจส่วนตัว
- มีโอกาสที่การเงินจะเติบโตได้แบบก้าวกระโดด
- มีอิสระทางเวลาที่สามารถกำหนดเองได้
- มีอำนาจสูงสุดในการกำหนดทิศทางของธุรกิจ
- ได้อยู่ในกฎระเบียบของตัวเอง
ข้อเสียของการทำธุรกิจส่วนตัว
- อาจมีรายรับไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับผลประกอบการของธุรกิจ
- ต้องรับความเสี่ยงของธุรกิจด้วยตัวเอง
- ต้องทำงานทุกส่วนของธุรกิจด้วยตัวเอง
- ไม่มีสวัสดิการให้ฟรี เหมือนมนุษย์เงินเดือน
- ไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ที่แน่นอน
เมื่อเข้าใจและพร้อมรับกับความเสี่ยงของการออกจากงานประจำเพื่อมาทำธุรกิจส่วนตัวแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนของการเตรียมความพร้อมทางการเงิน โดยหลัก ๆ จะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ รายจ่าย, รายรับ, เงินออม และเงินทุน
รายจ่าย
เป็นส่วนที่ต้องเตรียมพร้อมเป็นลำดับแรก เพราะเมื่อตัดสินใจจะ
ลาออกจากการเป็น “มนุษย์เงินเดือน” ก็ต้องมาดูว่ามีค่าใช้จ่ายส่วนใดบ้างที่ต้องใช้จ่ายอยู่เป็นประจำ เช่น ค่าผ่อนบ้าน, ค่าไฟ, ค่าน้ำ, ค่าโทรศัพท์, ค่าเดินทาง และอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้นค่าใช้จ่ายไหนสำคัญให้ลิสต์ออกมาให้หมดเลย ทั้งนี้อย่าลืมเผื่อค่าใช้จ่ายฉุกเฉินในแต่ละเดือนอีก 10 – 30% ของรายจ่ายทั้งหมดเข้าไปด้วย จะได้ลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด
รายรับ
แน่นอนว่าสมัยยังเป็นมนุษย์เงินเดือน มีรายรับจากเงินเดือนเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องกังวลเรื่องรายรับมากนัก แต่เมื่อตัดสินใจออกมาทำธุรกิจส่วนตัว ก็ต้องประเมินและจัดการให้ดีว่ารายรับที่จะได้จากธุรกิจส่วนตัว เพียงพอกับรายจ่ายข้างต้นหรือไม่ สรุปง่าย ๆ คือ ถ้าสามารถหารายได้จากธุรกิจส่วนตัวได้มากกว่ารายจ่าย หรืองานประจำที่เคยทำอยู่ ก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการตัดสินใจลาออกจากงานประจำ
เงินออม
เพราะโลกใบนี้ไม่มีความแน่นอน การออกมาทำธุรกิจส่วนตัวล้วนมีความเสี่ยงที่มาจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้รายรับขาดมือได้ แน่นอนว่าหากไม่มีเงินออมไว้ใช้ในยามฉุกเฉินต้องลำบากอย่างแน่นอน ดังนั้นก่อนจะลาออกจากงานประจำควรเตรียมเงินออมฉุกเฉินไว้อย่างน้อย 6 เท่าของรายได้จากงานประจำ หรือรายจ่ายที่สำคัญ เช่น ถ้ามีรายได้ 20,000 บาท ก็ควรมีเงินออมฉุกเฉินไว้อย่างน้อย 120,000 บาท หรือถ้ามีรายจ่ายที่สำคัญเดือนละ 15,000 บาท ก็ควรมีเงินออมฉุกเฉินไว้อย่างน้อย 90,000 บาท เพื่อให้อย่างน้อยหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ในช่วงที่กำลังหาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าว ก็ยังมีเงินไว้ใช้จ่ายกับรายจ่ายสำคัญนั่นเอง ดังนั้นถ้ายังไม่มีเงินออมฉุกเฉินสำรอง ก็อย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินใจลาออกจากงานประจำเด็ดขาด ลองเริ่มจากการฝากประจำเพื่อสะสมเงินออมไปก่อนก็ได้
เงินทุน
เมื่อคิดที่จะทำธุรกิจ ก็ต้องมีเงินทุน หากไม่มีเงินทุนธุรกิจที่หลายคนฝันไว้อย่างธุรกิจร้านกาแฟ, ธุรกิจร้านอาหาร, ธุรกิจร้านเสื้อผ้า ฯลฯ คงเริ่มต้นได้ยากมาก ซึ่งก่อนจะลงทุนทำอะไรก็ควรศึกษาธุรกิจดังกล่าวให้ดีเสียก่อน แน่นอนว่าบางธุรกิจมีความจำเป็นต้องใช้ตัวช่วยอย่าง
สินเชื่อ แต่เพื่อลดความเสี่ยงก็ควรเก็บเงินทุนส่วนตัวให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจใช้เงินทุนส่วนตัว 60% และสินเชื่อ 40% ก็ได้ เผื่อธุรกิจดันไปได้ไม่ดีอย่างที่คาดคิดไว้ จะได้ส่งผลกระทบกับการเงินส่วนอื่นของเราน้อยที่สุดนั่นเอง สำหรับใครที่กำลังมองหา
สินเชื่อส่วนบุคคล ทางธนาคารกรุงศรีฯ ก็มีสินเชื่อรูปแบบดังกล่าวไว้ให้บริการเช่นกัน
เห็นไหมว่าการออกจากงานประจำ เพื่อมาทำ
ธุรกิจส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนที่กล่าวไปตอนต้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่สำหรับใครที่ไม่สามารถออกจากงานประจำได้จริง ๆ แต่อยากมีธุรกิจส่วนตัวเป็นของตัวเอง อาจจะลองเริ่มจากการทำธุรกิจเล็ก ๆ เป็นงานอดิเรกยามว่างก่อนก็ได้ แล้วถ้าเริ่มไปได้ดี ค่อยกลับมาประเมินกันอีกทีว่า “งานประจำ” กับ “ธุรกิจส่วนตัว” แบบไหนให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากัน