ภายใต้ความเจิดจรัสของโลกทุนนิยมที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ ‘นวัตกรรม’ (Innovation) เข้ามามีบทบาทสูงในทุกวงการธุรกิจ เพื่อใช้เป็นกลยุทธ์สำคัญขับเคลื่อนความก้าวหน้าขององค์กร
ในทางตรงกันข้าม บางองค์กรยังคงบริหารธุรกิจด้วยรูปแบบเดิม ๆ ไม่ยอมรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ วันนี้ Krungsri Plearn เพลิน By Krungsri Guru ได้รับเกียรติมาพูดคุยกับ ดร. วรัญญู สุจิวรพันธ์พงศ์ กูรูมากประสบการณ์ด้านไอทีที่จะมาไขปัญหาคาใจ...ทำไมเราถึงต้องให้ความสำคัญกับนวัตกรรม (Innovation) พร้อมแนะนำ 5 หนังสือนวัตกรรมที่ไม่ควรพลาดในปี 2018 เพื่อก้าวทันนวัตกรรมโลก
ดร.วรัญญู สุจิวรพันธ์พงศ์
ปัจจุบันคุณทำหน้าที่และดำรงตำแหน่งอะไรบ้าง
ดร.วรัญญู: ผมเป็นเจ้าของกิจการ บริษัท ดีมีเตอร์ ไอซีที จำกัด (Demeter ICT) ซึ่งเป็นบริษัทที่ขายคลาวด์เซอร์วิส (Cloud Service) ให้กับ Google ถัดมาเป็น Product Partner ของ Multichannel Customer Service ในอดีตเวลาลูกค้าต้องการติดต่อบริษัทจะมีช่องทางเดียว คือโทรศัพท์ ภายหลังถูกพัฒนาจนมีซอฟต์แวร์ (Software) ตัวหนึ่งชื่อว่า Zendesk ที่สามารถรับความต้องการ ของลูกค้าได้จากหลายช่องทาง เช่น ไลน์ (Line), อีเมล (Email), เฟซบุ๊ก (Facebook) หรือ เมสเซนเจอร์ (Messenger) ให้เข้ามาช่องทางเดียว และสามารถควบคุม (Handle) ลูกค้าให้อยู่ในช่องทางเดียวได้เช่นกัน
นอกจากนี้ เรามีทำโมบาย แอพพลิเคชั่น (Mobile Application) เช่น หากลูกค้าอยากมีโมบาย แอพพลิเคชั่น (Mobile Application) ของตัวเอง เราก็ให้บริการแบบแพลตฟอร์ม (Platform) ลูกค้าจึงสามารถมีแอพพลิเคชั่น (Application) ของตัวเองได้ แค่เปลี่ยนโลโก้ เปลี่ยนรูปภาพ และอีกหนึ่งธุรกิจสุดท้ายที่ผมทำ คือ Cross-border E-commerce เป็นแอพพลิเคชั่น (Application) ที่เชื่อมต่อกับ WeChat เหมือนกับ Site E-commerce ที่ขายสินค้าในประเทศจีน และจ่ายเงินผ่านทาง WeChat Pay
จากกระแสนวัตกรรม (Innovation) หรือดิจิทัล (Digital) ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คุณคิดว่าทำไมเราควรให้ความสำคัญต่อนวัตกรรม (Innovation) ใหม่ ๆ เสมอ
ดร.วรัญญู: จริง ๆ โลกก็อยู่ของมันเฉย ๆ แม้ไม่ใช่ดิจิทัล (Digital) ก็ไม่มีผลกระทบใด ๆ แต่ในแง่การทำธุรกิจ ถ้าคู่แข่งเราเขาใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital) เขาก็ได้เปรียบแล้ว และถ้าเราอยู่เฉย ๆ ไม่ใช้มันเลย เราจะเสียเปรียบการทำธุรกิจหรือการใช้ชีวิตในสังคม
“เพราะการมีดิจิทัล ทำให้เราเข้าถึงข้อมูลได้เร็วขึ้น ทุกวันนี้ข่าวสารก็มีเยอะมาก ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้เองที่ทำให้เราเข้าถึงข้อมูลได้ไวขึ้น ทำให้ชีวิตเราเป็นต่อ”
ในมุมมองของคุณ มองว่านวัตกรรม (Innovation) ของประเทศไทยอยู่ในระดับใดเมื่อเปรียบเทียบกับ
เวทีโลก
ดร.วรัญญู: คนไทยเรามีความคิดสร้างสรรค์ (Creative) ดีนะครับ สังเกตจากโฆษณาบ้านเราทำออกมาได้ดี แต่ในแง่ของเทคโนโลยี เรามีข้อจำกัดเรื่องความรู้พื้นฐาน เช่น คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ไม่แข็ง เราจึงไม่สามารถประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ ไปตอบโจทย์เหมือนอย่างที่อเมริกากับจีนทำ
โดยส่วนใหญ่คนไทยอยู่ในฐานะของผู้ใช้เทคโนโลยีมากกว่า ประเทศเรามีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กกับไลน์ติดอันดับโลก แต่เราไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีพวกนี้ นวัตกรรม (Innovation) ของเราจะออกไปในแนวสร้าง Content มากกว่าเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกได้ เนื่องจากเทคโนโลยีนั้นสร้างยาก รวมถึงประเทศไทยมีข้อจำกัดหลายองค์ประกอบ หนึ่งคือการศึกษาในด้านเทคโนโลยี อันที่สองคือสภาพแวดล้อมของบ้านเราไม่เอื้ออำนวยให้กับคนสร้างเทคโนโลยี ถ้าดูจากต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ทางรัฐเขามีวิธีการสร้างกำแพงให้กับเจ้าของเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เช่น ทุกวันนี้เฟซบุ๊กใช้งานในจีนไม่ได้ ถ้าเฟซบุ๊กใช้งานได้ ทุกวันนี้คงไม่มี WeChat หรือ Baidu ซึ่งเป็น Search Engine ของจีน เพื่อใช้ที่จีนโดยเฉพาะ ประเทศอื่นใช้ Google หมด นับว่าภาครัฐมีส่วนช่วยให้การสร้างนวัตกรรม (Innovation) ในประเทศให้ประสบผลสำเร็จสูงมาก
สำหรับประเทศไทย หากมีการซื้อของหรือการใช้เทคโนโลยีที่เน้นว่าเป็นของคนไทยเมื่อไหร่ ประเทศจะมีคนสร้างนวัตกรรม (Innovation) ขึ้นมามากขึ้น เพราะภาครัฐเป็นผู้ลงทุนสูงสุดในไทยอยู่แล้ว และอีกอย่างเราต้องสร้างระบบ Eco System ที่มันเอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม (Innovation) เน้นผู้ซื้อของภาครัฐ สร้างแรงจูงใจ มีส่วนลดต่อภาษี เป็นต้น เนื่องจากนวัตกรรม (Innovation) คือการลองผิดลองถูกครับ ถ้าเราไม่มีโอกาสได้ลองโอกาสเกิดคงยาก
อยากให้แนะนำ 5 หนังสือนวัตกรรม (Innovation) ที่ไม่ควรพลาดในปี 2018
Cr.: http://www.marketingjournal.org
ดร.วรัญญู: เล่มแรกชื่อว่า
“Competing Against Luck” เป็นหนังสือที่หลายคนบอกว่า หลายองค์กรชอบมองว่าการสร้างนวัตกรรม (Innovation) เป็นเรื่องของการเสี่ยงโชค ถ้าโชคดีคือสร้างแล้วเวิร์คก็ดีไป แต่ถ้าโชคไม่ดีสร้างแล้วไม่เวิร์คก็เสียเงินฟรี ซึ่งทฤษฎีอันหนึ่งพูดไว้ดีมาก ชื่อว่า Job Theory พูดว่าบริษัททั่วไปเวลา Launch สินค้าบริการต่าง ๆ มักมองในแง่ของ Product เราทำอะไรได้บ้าง มีฟังก์ชั่นอะไรบ้าง เช่น บริษัทขายไขควงจะขายว่าไขควงแข็งแรง ทนทาน แต่ในเชิงการออกแบบนวัตกรรม (Innovation) เราต้องเข้าใจลูกค้าว่าเขาต้องการอะไร ลูกค้าไม่ได้อยากซื้อไขควงนะครับ ลูกค้าอยากได้รูบนกำแพง เขาเอาไปเจาะหรือทำอะไรสักอย่าง เช่น ตอกตะปู แขวนรูปภาพ เป็นต้น
หลายบริษัทออกแบบนวัตกรรม (Innovation) ชอบมองแง่ของเทคโนโลยีเป็นหลัก ไม่ได้มองมุมของลูกค้าก่อน อย่างบริษัทแอปเปิล ที่เป็นเจ้าของ MacBook และ iPhone เขาไม่ได้คิดเรื่องของคอมพิวเตอร์ก่อนว่ามีฟังก์ชั่นอะไรบ้าง แต่กลับคิดย้อนหลังจากมุมมองลูกค้าก่อนว่าทุกวันนี้มีปัญหาอะไรบ้าง จุดนี้คือขั้นตอนในการสร้างนวัตกรรม (Innovation) ที่มองกลับหัวกลับหางกับวิธีสร้างเทคโนโลยีทั่วไปที่คิดถึงฟังก์ชั่นการใช้งานก่อน หรือบางเว็บไซต์คนเขียนโปรแกรมเก่ง ๆ จะชอบใส่ลูกเล่นแปลก ๆ เช่น แต่งสีวูบวาบ แต่ในมุมมองผู้ชมอาจคิดว่ามันรก ซึ่งหนังสือเล่มนี้ เขาก็จะบอกว่า ถ้าคุณจะสร้างนวัตกรรม (Innovation) ให้คุณเริ่มมองจากมุมของลูกค้าว่าลูกค้ามีปัญหาอะไร
Cr.: https://www.goodreads.com
เล่มที่สองชื่อว่า
“The Inevitable” เป็นหนังสือที่พูดถึงการยอมรับเทคโนโลยีของมนุษย์ว่าเกิดมาจากอะไรบ้าง เขาบอกว่า มันต้องมีแรงผลักดันทางด้านเทคโนโลยี พอมีอินเทอร์เน็ต มี 4G เราสามารถเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ได้มากขึ้น หรือพูดง่าย ๆ หนังสือเล่มนี้กำลังบอกว่าอีก 20-30 ปีข้างหน้า ความสามารถของ AI (Artificial Intelligence) ทำอะไรได้มากกว่ามนุษย์แน่นอน ไม่ว่าจะเรื่องการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งทำให้เราเสียเวลาน้อยลง เรื่องของวงการแพทย์ที่อีกหน่อยหมออาจจะตกงานก็ได้ เนื่องจาก AI (Artificial Intelligence) สามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำกว่า เพราะนำความรู้ของหมอทุกคนมารวมกัน และสามารถคัดกรองข้อมูลที่ถูกต้องได้มากกว่า
ดังนั้น เล่มที่สองจะพูดถึงนวัตกรรม (Innovation) ในอนาคตข้างหน้าจริง ๆ แล้วเทคโนโลยีพวกนี้ จะทำให้การเข้าถึงข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น เมื่อก่อน ไม่ว่าจะซื้อของหรือทำงาน ต่างคนต่างทำ เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคคล แต่ปัจจุบันแค่ออนไลน์ Google ก็รู้แล้วว่าเราไปไหนบ้าง
Cr.: https://www.amazon.com
เล่มที่สาม เล่มนี้ผมว่าดี ชื่อว่า
“Machine Platform Crowd” เป็นเรื่องธุรกิจที่เกี่ยวกับนวัตกรรม (Innovation) การเปลี่ยนแปลงธุรกิจในยุคดิจิทัล (Digital) ที่เปลี่ยนการทำงานจากคนมาเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์มากขึ้น อย่างที่ผมยกตัวอย่าง วงการแพทย์ ที่ความฉลาดของคนจะถูกนำมารวมอยู่ใน AI (Artificial Intelligence) หลายสิ่งที่คนเคยทำได้ก็ไม่ต้องทำแล้ว ส่วนการทำงานที่ ซ้ำ ๆ ก็ทำให้วิธีการออกแบบ Product เปลี่ยนไป เช่น พนักงานตอบรับทางโทรศัพท์ เดี๋ยวนี้ไม่ต้องมีแล้ว มันมีบอท (Bot) ที่ช่วยแก้ปัญหาซ้ำ ๆ ของมนุษย์ได้ ซึ่งเป็นเทรนด์แรกที่เปลี่ยนไป
เทรนด์ที่สองที่เปลี่ยนไป คือเทรนด์ของ Product ที่กลายเป็นแบบแพลตฟอร์ม (Platform) เช่น Uber หรือพวก Sharing Economy แต่ก่อนแท็กซี่และโรงแรมแยกกันชัดเจน แต่ยุคนี้ทุกอย่างเป็นแพลตฟอร์ม (Platform) เราจะนำเอาสินทรัพย์ส่วนที่ไม่ได้ใช้หรือส่วนที่มีเหลืออยู่มาใช้งานร่วมกันมากขึ้น เพราะทำให้ช่วยลดต้นทุนต่อหน่วย เช่น ผมทำโมบาย แอพพลิเคชั่น (Mobile Application) คนอื่นก็ทำโมบาย แอพพลิเคชั่น (Mobile Application) เราก็มาทำเป็นแพลตฟอร์ม (Platform) กลาง แล้วต่างคนต่างเปลี่ยนสี เปลี่ยนรูป ก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการสร้างแอพพลิเคชั่น (Application) นี่คือ Concept ของ Sharing Economy ธุรกิจที่สร้าง แพลตฟอร์ม (Platform) ออกมาให้ลูกค้าใช้ได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่าแน่นอน
เทรนด์ที่สามนั้นน่าสนใจ เรียกว่า Core (แกนหลัก) มีแนวโน้มกลายเป็น Crowd (คนหมู่มาก) การออกแบบสินค้าและบริการในอนาคต ลูกค้าคาดหวังที่จะมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ Service มากขึ้น อย่างสมัยก่อนเราไม่ได้คิดอะไรมาก เราทำออกมาให้ลูกค้าขาย แต่สมัยนี้เทคโนโลยีมันเปิด ลูกค้าอยากมีส่วนร่วมบ้างเพื่อให้ตรงกับความต้องการของเขาจริง ๆ ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ ก็ทำให้เราเข้าใจวิธีการแก้ปัญหา การร่วมมือในการทำงาน ไปจนถึงการตัดสินใจบางอย่าง
Cr.: medium.com
ต่อมาเป็นเล่มที่สี่ ผมว่าดีเหมือนกัน ชื่อว่า
“Hooked” มีหลายคนบอกว่าทำสินค้าและบริการออกมาเท่าไหร่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ มีตัวอย่างหนึ่งบอกว่าถ้าอยากให้คนใช้เลื่อย ต้องทำให้คนใช้เป็นนิสัย เช่นเดียวกับการหาวิธีทำให้คนใช้แอพพลิเคชั่น (Application) หรือใช้งานสื่อจนเป็นนิสัย มันก็ต้องมีแรงกระตุ้น ยกตัวอย่างกรณีของเฟซบุ๊ก (Facebook) ทำไมคนเราอยู่บ้านแล้วถึงเล่นเฟซบุ๊ก (Facebook) เพราะมีความเบื่อเป็นแรงกระตุ้น เราจึงใช้เฟซบุ๊ก (Facebook) เพื่อรับรู้ข่าวสารชาวบ้าน เรื่องราวบันเทิงต่าง ๆ พอใช้ก็เริ่มติด พอติดก็เริ่มรู้สึกว่าการใช้มันสามารถแก้ปัญหาความเบื่อเราได้แล้วก็กลับมาใช้ซ้ำเรื่อย ๆ
สรุปง่าย ๆ ว่าหนังสือเล่มนี้พูดถึง
การออกแบบสินค้าและบริการที่ไม่ควรคิดเฉพาะใช้ครั้งเดียวจบ ต้องคิดหาวิธีการให้ลูกค้ากลับมาใช้ซ้ำเป็นนิสัย สังเกตว่าทำไมบางแอพพลิเคชั่น (Application) ถึงต้องมีปุ่ม Notification เตือนว่ามี Comment และ Like เพราะแค่มาดูตรงนี้ก็สนุกแล้วจนกลายเป็นนิสัย บางคนก็มีความสุขมากที่คนมากด Like เยอะ ทั้งหมดนี้ล้วนมีแรงจูงใจในการเข้าไปใช้ จนทำให้เราสร้างเป็นนิสัย
Cr.: https://www.bookdepository.com
มาถึงเล่มสุดท้าย ชื่อว่า
Upstarts เป็นเรื่องราวของ Uber และ Airbnb พูดถึงแนวคิดคล้าย ๆ ที่ผมบอกก่อนหน้านี้ว่าสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้งานให้เอามาใช้งานซะ เพราะหลาย ๆ อย่าง เราสามารถใช้ได้ เช่น ปัจจุบันมีอาชีพแม่บ้านรับทำความสะอาด แทนที่จะบ้านใครบ้านมันจ้าง ก็เอามาแชร์กัน รวมไปถึงการเช่าออฟฟิศในตึกก็เป็น Concept ของ Sharing Economy เนื่องจากเรามีเทคโนโลยีที่ทำให้การแบ่งปันมันง่ายขึ้น แล้วต้นทุนถูกลง
อยากให้อธิบายเพิ่มเติมถึง Concept ของ Application Sharing ที่คุณผลิตเอง
ดร.วรัญญู: สมมติว่ามีร้านค้าร้านหนึ่งอยากทำโมบาย แอพพลิเคชั่น (Mobile Application) ของตัวเอง เพื่อแจกแต้ม แลกแต้ม พร้อมจัดโปรโมชั่นต่าง ๆ ให้ลูกค้า เราจะทำเป็นแพลตฟอร์ม (Platform) ให้เรียบร้อย เพียงแค่คุณเปลี่ยนรูป เปลี่ยนสี หรือง่าย ๆ ก็คือทุกคนถูกบีบเข้ามาว่าห้ามเลือกอะไรพิสดาร อาจเป็น Concept คล้าย ๆ กับ Uber คือทุกคนอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน และแม้ Uber ไม่มีรถของตัวเอง แต่เขาก็พยายามบอกว่ามีแพลตฟอร์ม (Platform) กลางสำหรับคนที่มีเวลาว่างมาขับรถได้ แต่ต้องทำตามกติกาและลงทะเบียนตามที่บอก
ทั้งนี้ เรายังสังเกตได้อีกว่า Uber ไม่มีการใช้โทรศัพท์เลย เราไม่สามารถโทรไปหาได้ เราต้องติดต่อผ่านอีเมล เพราะต้นทุนถูกกว่า ฉะนั้นการเป็นแพลตฟอร์ม (Platform) ทุกคนจะอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน และต้องยอมรับได้ว่า คนที่มาใช้งานก็ให้บริการได้แบบนี้ เป็นต้น
ตอนนี้มีนวัตกรรม (Innovation) ประเภทไหนที่คุณสนใจเป็นพิเศษไหม
ดร.วรัญญู: มีหลายอันที่น่าสนใจ และแน่นอนอย่างเรื่องของ AI (Artificial Intelligence) ก็เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราได้เปรียบคนอื่น แต่สิ่งที่ ผมจะพูดถึงน่าสนใจมาก นั่นคือรถยนต์ไฟฟ้าครับ แรงขับเคลื่อนไฟฟ้ามันเปลี่ยนการเรียนการสอนในสาขาวิศวกรรมยานยนต์ และวิศวกรรมเครื่องกลในบ้านเราเลย บางวิชาจะหายไป รวมถึงในอนาคตจะใช้การชาร์จแบตเตอรี่แทนเครื่องยนต์ ซึ่งจะส่งผลต่อธุรกิจอะไหล่รถยนต์ที่อาจปิดตัวได้ เพราะรถยนต์ไม่ได้ใช้อะไหล่ จะใช้ระบบไฟฟ้า แค่เสียบปลั๊กเอา
อีกทั้ง เรื่องเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ายังมีผลต่อการสร้างเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้า เรื่องแบตเตอรี่ สมัยก่อนถ้าชาร์จโน้ตบุ๊คหรือมือถือ เราใช้เวลาน้อย แต่ถ้าเป็นแบบรถ EV (รถยนต์ไฟฟ้า) ต้องชาร์จไฟครั้งละ 6-7 ชั่วโมง มันเลยเป็นไปไม่ได้ในการใช้งานจริง เพราะใช้เวลานาน แต่ในแง่ของเทคโนโลยี ทุกคนก็พยายามสร้างแบตเตอรี่ที่สามารถชาร์จไฟได้เร็วขึ้นเยอะ
ใครเป็นไอดอลด้านนวัตกรรม (Innovation) ของคุณ
ดร.วรัญญู: หลายคนเลยครับ แต่คนที่กล้าเปลี่ยนโลกมากที่สุดน่าจะเป็น Elon Musk ผมว่าเขาเป็นคนกล้าเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่มนุษย์ไม่กล้าทำ เช่น พลังงาน Solar รถไฟฟ้า ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของนักประดิษฐ์ที่กล้าเปลี่ยนแปลงโลก หรือแม้กระทั่ง Jack Ma ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เรียกว่าสู้ไม่ถอย เขาบอกว่าความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติ เขาเป็นคนกล้าคิดอะไรใหม่ ๆ ในยุคที่คนไม่กล้าคิด
ล่าสุดมีประเด็นถกเถียงระหว่าง Elon Musk กับ Mark Zuckerburg เกี่ยวกับข้อดีข้อเสียของ AI แล้วคุณมีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร
ดร.วรัญญู: ผมว่า AI (Artificial Intelligence) เป็นสิ่งที่ดีแต่ต้องมีขีดจำกัดในการใช้งาน มันเป็นดาบสองคม มนุษย์เรามีความผิดพลาดอยู่บ้าง มันก็คือสีสัน ซึ่งการตัดสินใจอะไรบางอย่างก็เป็นสีสันของชีวิต
อย่างไรก็ตาม ในงานบางอย่างที่ทำซ้ำ ๆ เราต้องการความแม่นยำสูง AI (Artificial Intelligence) จึงเป็นสิ่งที่เราควรดึงมาใช้ เช่น การแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือเวลาที่ต้องการความถูกต้องก็ถือว่าโอเค แต่เหตุผลที่ว่าทำไม AI (Artificial Intelligence) ต้องมีขีดจำกัด เพราะมันอาจล้ำสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไป ดังเช่น ทุกวันนี้เราเข้าเว็บไซต์ อยู่ดี ๆ มันก็ตามมาที่เว็บเรา ซึ่งผมว่ามันล้วงข้อมูลเรามากเกินไป หรือแม้แต่บอกว่าเราควรทำนู่นทำนี่อะไรแบบนี้ การที่ AI บอกให้เราทำ มันเป็นข้อมูลของเราทุกอย่างในอดีต แล้วก็ถูกวิเคราะห์ ผมจึงคิดว่าต้องระวังเรื่องการใช้งานนิดหนึ่ง
สุดท้ายนี้ Krungsri Plearn เพลิน ขอเตือนสติเพื่อน ๆ ก่อนออกสตาร์ทในปี 2018 ว่าทุกสิ่งบนโลกนี้ ย่อมมีสองด้านเสมอ ดังนั้นควรพิจารณาให้รอบคอบ ก่อนจะเก็บเกี่ยวมันเข้ามาเติมแต่งชีวิตและองค์กร