รู้ให้ลึก...ก่อนคิดลาออกไปเปิดธุรกิจเอง

รู้ให้ลึก...ก่อนคิดลาออกไปเปิดธุรกิจเอง

By Krungsri Plearn Plearn

มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ ที่นั่งอยู่ในออฟฟิศ บางครั้งก็คิดอยากที่จะมีธุรกิจเล็ก ๆ เป็นของตัวเองบ้างเหมือนกันใช่มั้ยครับ? ถ้าคุณสำรวจตัวเองจนแน่ใจแล้วว่า ถึงเวลาลุกขึ้นมาเป็นเจ้านายตัวเองแล้วจริง ๆ นี่เป็นโอกาสที่คุณจะได้ออกไปลองทำในสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบและใฝ่ฝันมานาน แต่ก่อนที่จะตัดสินใจยื่นใบลาออก คุณควรตั้งสติคิดให้รอบคอบ และเตรียมความพร้อมก่อน แต่หากใครจับต้นชนปลายไม่ถูก คิดไม่ออกว่าควรเริ่มอย่างไรดี เรามี Check list ง่าย ๆ แนะนำว่าคุณต้องรู้อะไรบ้าง ก่อนเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง

1. การเงินส่วนตัวต้องพร้อม

สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนคือ คุณจะขาดรายได้หลัก รายเดือนก้อนใหญ่ไปเลย สิ่งที่ต้องรีบทำอันดับแรกคือ เช็กก่อนว่าคุณมีเงินเก็บอยู่เท่าไหร่ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินต่าง ๆ อย่างเช่น ค่าผ่อนคอนโด ค่าผ่อนรถ ค่าบัตรเครดิต แต่ละเดือนเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ นำมาคิดคำนวณรวมกัน เพื่อวางแผนว่าเงินเก็บฉุกเฉินที่คุณมีนั้นพอสำหรับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนหรือไม่ แล้วพยายามจ่ายหนี้สินก้อนที่สามารถเคลียร์ได้ก่อนที่คุณจะออกจากงาน เพื่อให้สามารถลดค่าใช้จ่ายไปได้บางส่วน และเป็นการคำนวณได้ว่าคุณต้องหาเงินได้เท่าไหร่ต่อเดือนจากธุรกิจส่วนตัว คุณอาจจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนการใช้จ่ายของคุณเพื่อให้สามารถใช้เงินเก็บที่มีได้เพียงพอ ตอนที่ธุรกิจของคุณยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น

2. เราชอบทำอะไร มีความสามารถแค่ไหนในสิ่งนั้น

การเริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัวจากสิ่งที่เรารัก จะทำให้เราอยู่กับมันได้นาน และพร้อมฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อความสำเร็จ โดยไม่รู้สึกท้อแท้หรือฝืนใจ หรือถ้าคุณมีความสามารถด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ คุณก็สามารถหยิบจับสิ่งนั้นมาทำธุรกิจได้ เช่น ถ้าคุณเป็นคนชอบทำขนมเค้ก หรือคุ้กกี้ ชอบตระเวนชิมเค้กอร่อย ๆ แล้วมาฝึกลองทำเองที่บ้าน อาจจะเลือกทำขนมเค้กขายทางออนไลน์ก่อน หรือส่งตามร้านกาแฟใกล้บ้าน แล้วจึงค่อยพัฒนามาเป็นการเปิดร้านก็ได้

3. สำรวจเทรนด์ธุรกิจ

เทรนด์ตลาดเป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียว หากสินค้าคุณมีความ Unique อยู่แล้วสิ่งนี้อาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่หากคุณไม่รู้จะเริ่มต้นธุรกิจจากอะไรดี ให้สำรวจเทรนด์ตลาด ว่าตอนนี้กระแสอะไรกำลังมา เช่น กระแสยำกำลังอิน แล้วคุณเป็นคนชอบกินยำอยู่แล้ว การทำธุรกิจร้านยำอาจเป็นสิ่งที่เหมาะกับคุณ แต่ก็ต้องระวังด้วยหากหมดกระแสความนิยม คุณต้องมีแผนการตลาดเตรียมไว้รองรับกรณีนั้นด้วย นอกจากนี้ต้องรู้จักสำรวจธุรกิจอื่น ๆ ในตลาด เพื่อหาจุดเด่นของตัวเองและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งให้ได้

4. กลุ่มเป้าหมายเราคือใคร

ลูกค้าคือปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะนำคุณไปสู่ความสำเร็จ คุณต้องรู้จักว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณคือใคร พวกเขามีความชอบความสนใจอะไรบ้าง มีพฤติกรรมและกำลังในการซื้อยังไงบ้าง ยกตัวอย่างเช่น คุณเปิดร้านเครป กลุ่มเป้าหมายของคุณคือคนที่ชอบทานขนมหรือของหวาน มักอยู่ในกลุ่มวัยรุ่น-วัยเรียน วัยทำงานตอนต้น ทำเลที่ควรเปิดที่ดีที่สุดคือควรใกล้แหล่งสถานศึกษา หรือย่านสำนักงาน และไม่ควรมีราคาที่สูงจนเกินไป

5. บริหารจัดการเป็นไหม

สำหรับคนที่ไม่เคยเป็นหัวหน้าคนมาก่อนเลย เมื่อคุณต้องออกมาทำธุรกิจของตัวเอง ต้องมีการจ้างลูกจ้าง คุณต้องเรียนรู้การบริหารงานลูกน้องใต้บังคับบัญชา ควบคู่ไปกับการบริหารธุรกิจ ถามตัวเองก่อนว่าเราทำสิ่งนี้ได้ไหม ถ้าเราถนัดแต่งานที่รับแต่คำสั่งเสมอมา ก็ต้องหัดวางแผน ประเมินสถานการณ์ และมองในมุมของผู้บริหาร ทั้งการจัดการพนักงาน การเงิน และแนวทางธุรกิจ คุณอาจต้องเรียนรู้ที่จะหาพันธมิตรคู่ค้า, supplier, หรือเครื่องมือทุ่นแรงต่างๆ ที่จะช่วยให้คุณบริหารจัดการ และประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

6. ต้องเขียนแผนธุรกิจของตัวเองได้

การตั้งต้นธุรกิจสิ่งที่ต้องมีคือ แผนธุรกิจ เดือนแรกตั้งเป้าหมายว่ากำไรเท่าไหร่ สิ้นปีต้องได้กำไรเท่าไหร่ กี่เดือนจะถึงจุดคุ้มทุน บริษัทจะดำเนินการไปในทิศทางใด ต้องขยายบริษัท เพิ่มจำนวนพนักงานเมื่อใด กำไรต่อเดือนอยู่ที่เท่าไหร่ แบบนี้เป็นต้น พร้อมกันนี้คุณควรต้องมีแผนสำรองกรณีฉุกเฉินไว้เสมอ ซึ่งสามารถหาความรู้เบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง เข้าคอร์สเรียนเพื่อหาคำแนะนำเพิ่มเติม หรือศึกษา Case Study ของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเป็นแนวทางในการทำแผนธุรกิจของคุณ

7. ต้องมีเงินลงทุนเพียงพอ

ช่วงต้นที่คุณเริ่มตั้งต้นธุรกิจแน่นอนคุณมีเงินตั้งต้นลงทุนอยู่ก้อนหนึ่ง แต่หากในอนาคตต้องมีการขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น คุณอาจต้องมีเงินสำรองเผื่อไว้เช่นกัน หรือคุณอาจต้องหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมอย่างการขอสินเชื่อ กรุงศรี SME ที่ให้กู้ได้สูงถึง 3 เท่า เพื่อขยายธุรกิจของคุณเติบโตได้อย่างรวดเร็วทันกับคู่แข่งและความต้องการของตลาด ตัวอย่างเช่น คุณเปิดร้านที่ตั้งต้นด้วยการจ้างลูกจ้างเพียงหนึ่งคน แต่ภายใน 3 เดือนร้านขายดีมาก มีความจำเป็นต้องจ้างลูกจ้างเพิ่ม เป็นต้น ไม่ว่าคุณจะอยากทำธุรกิจอะไรก็ตาม ควรลองค่อย ๆ เริ่มจากการลงทุนตั้งแต่ยังมีงานประจำอยู่ เพื่อค่อยๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำธุรกิจ และสำรวจว่าแท้ที่จริงแล้วเราเหมาะกับอะไรกันแน่ ระหว่างงานประจำหรือธุรกิจส่วนตัว ก่อนตัดสินใจลาออกจากงาน จะได้ไม่เสียโอกาสโดยไม่จำเป็น และท่องไว้ว่า Life must go on!!

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.siamarcheep.com,
https://www.mol.go.th,
https://money.kapook.com,
https://www.thaismescenter.com
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow