ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเตรียมตัวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) โดยมีระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) เป็นตัวนำร่อง ระบบนี้จะเข้ามามีบทบาทกับคนไทยและสังคมไทยอย่างไร ในบทความนี้ ดร. รัฐศาสตร์ กรสูต ผอ.อาวุโส สำนักส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ และมุมมองต่อแวดวงการเงินว่า
สำหรับประเทศไทยนั้นมีแนวโน้มของการเป็น
Cashless Society อย่างเห็นได้ชัด โดยไทยมีกฎหมายธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์เป็นประเทศแรก ๆ ในแถบอาเซียน โดยมีการนำแม่บทกฎหมาย e-Commerce Law ของสหประชาชาติมาปรับใช้และร่างเป็นกฎหมายของประเทศไทยชื่อว่า พรบ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประกาศใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2544 โดยเป็นกฎหมายที่รองรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีผลทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการประกอบธุรกรรมใด ๆ ทางออนไลน์ ตลอดจนข้อความยืนยันการซื้อขายทางอีเมล ไลน์ หรือข้อความอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ นั้น ให้สามารถใช้เป็นหลักฐานได้ทางกฎหมายได้
หากย้อนไปเมื่อ 10-20 ปีที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทยยังถือว่ามีการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ค่อนข้างน้อย ด้วยอินเทอร์เน็ตที่เริ่มเข้ามาในช่วง พ.ศ. 2538 ในช่วงเวลานั้นความเร็วของระบบยังรองรับการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอินเทอร์เน็ตได้ไม่มากนัก รวมถึงเรื่องของความปลอดภัยยังน้อยอยู่ การใช้อินเทอร์เน็ตในสมัยนั้นจึงเป็นเรื่องของ Lifestyle เป็นส่วนใหญ่ เมื่อเทียบกับในปัจจุบันที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพิ่มขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ 2 หลักต่อปี เนื่องมาจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Internet) ซึ่งกลายมาเป็นปัจจัยพื้นฐานของบ้านเรา และพฤติกรรมการใช้โซเซียลมีเดีย (Social Media) ของคนไทยมีผลต่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในหมู่วัยรุ่นอีกต่อไป แต่ยังขยายไปถึงกลุ่มผู้ใหญ่ (Baby Boomer) ที่เข้ามาใช้งานในโลกโซเซียลมากขึ้นด้วย และนั่นย่อมหมายถึงการทำธุรกรรมออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
อีกส่วนหนึ่ง คือ ในเรื่องของมูลค่าการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างทวีคูณ จากปี พ.ศ. 2556 ที่มีประมาณ 7.68 แสนล้านบาท เป็น 2 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ. 2557 เติบโตขึ้นมากถึง 165 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าซึ่งมีการเติบโตเฉลี่ยของการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพียงแค่ 1 ดิจิตเท่านั้น ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ประการแรก คือ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการใช้งานที่เพิ่มขึ้น และสองคือ การขยายตัวทางการลงทุนในธุรกิจ e-Commerce ในประเทศไทย จากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งพบว่าคนไทยในช่วง Gen X จะมีการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์สูงสุด โดยมีการซื้อขายสินค้าออนไลน์ และการทำธุรกิจและธุรกรรมออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่กลุ่ม Baby Boomer นั้นพบว่ามีการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการซื้อตั๋วเครื่องบิน โรงแรมที่พักต่าง ๆ สำหรับการเดินทางและท่องเที่ยว
การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ Cashless Society
จากการเปลี่ยนแปลงจากกระแสดิจิทัล (Wave of Digital Disruptive) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากการผลิตสื่อในรูปแบบเทปและซีดี เริ่มเปลี่ยนไปเป็นดิจิทัล การเพิ่มจำนวนขึ้นของสื่อออนไลน์ต่าง ๆ จากสิ่งพิมพ์ไปสู่ดิจิทัลในช่วง พ.ศ. 2548 หรือแม้กระทั่งการค่อย ๆ ประกาศปิดตัวของสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างสิ้นเชิง ส่งผลไปถึงวงการการเงินที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากในรูปแบบการใช้เงินกระดาษไปสู่เงินอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นซึ่งเห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน และคาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ยุค Cashless Society หรือยุคสังคมไร้เงินสด ในช่วงหลังปี พ.ศ. 2563 ในที่สุด และสำหรับประเทศที่มีนโยบาย Cashless Society อย่างเต็มตัว เช่น ประเทศสวีเดน ที่เป็นประเทศแรกในสหภาพยุโรปที่ได้ประกาศเลิกใช้เงินสดทั้งประเทศ และหันไปใช้ระบบการเงินแบบดิจิทัลเข้ามาทดแทนเป็น Cashless Society อย่างเต็มตัว ก็ถือเป็นตัวอย่างของ Cashless Society ได้เป็นอย่างดี
การปรับตัวของสถาบันการเงินและ e-Commerce
เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยน ผู้ให้บริการจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ในยุคไร้พรมแดนที่ผู้บริโภคสามารถซื้อ-ขายสินค้าได้ทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการ ปัจจุบันสถาบันการเงินต่าง ๆ รวมไปถึงผู้ให้บริการ เริ่มเข้ามาในตลาดออนไลน์มากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในรูปแบบของ Internet banking, การโอนเงินผ่านระบบบาทเนต (สำหรับการโอนเงินครั้งละมาก ๆ), การใช้บัตรแทนเงินสด ตลอดจนการให้บริการในรูปแบบของ e-Money โดยเฉพาะ e-Money นี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับธุรกรรมออนไลน์และ e-Commerce เลยก็ว่าได้ โดยเราพบว่า e-Money มีการเติบโตรวดเร็วมาก โดยเติบโตเฉลี่ย 2 ดิจิตต่อปีต่อเนื่องมาตลอด และมีอัตราการเติบโตสะสม (CAGR) จากช่วงปี 53-58 สูงสุดถึง 31เปอร์เซ็นต์ และในปีล่าสุด (2558) เติบโตสูงถึง 21 เปอร์เซ็นต์ สูงที่สุดเมื่อเทียบกับรูปแบบของการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบอื่น
พร้อมเพย์ และความพร้อมของประเทศไทยในการเป็น Cashless Society
สำหรับประเทศไทย ในหลายภาคส่วนมีความพยายามส่งเสริมและสนับสนุนการเป็น Cashless Society มาเป็นระยะเวลานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็น e-Payment จากค่ายโทรศัพท์มือถือ หรือ e-Payment ที่มาในรูปแบบของบัตรโดยสาร และสิ่งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ล่าสุดอีกสิ่งหนึ่งก็คือ การพัฒนาระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการดำเนินการภายในระยะเวลาอันสั้น และยังเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่จะมารองรับการเป็น Cashless Society ของประเทศไทยในอนาคต
โครงการพร้อมเพย์ (PromptPay) เป็นหนึ่งในแผนแม่บท National e-Payment ของชาติ เพื่อผลักดันประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลไร้เงินสด (Cashless Society) โดยระบบพร้อมเพย์ เริ่มเปิดใช้งานแล้วในปัจจุบัน หลังจากที่มีการเปิดรับลงทะเบียนข้อมูลไปในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา “พร้อมเพย์” นี้จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนค่าธรรมเนียมการโอนให้ถูกลง พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะสามารถรองรับการเติบโตของ e-Commerce ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้แผนแม่บท National e-Payment ของภาครัฐนั้น ยังมีในเรื่องของการขยายเครื่องรับชำระบัตร การพัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีและใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการจ่ายเงินของภาครัฐให้เป็นรูปแบบ e-Payment ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดประสิทธิภาพในอนาคตต่อไป
สำหรับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (Electronic Transactions Development Agency (Public Organization)) หรือ ETDA นั้น เป็นสำนักงานพัฒนาและส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ทั้งในด้านการวางมาตรฐานข้อมูลและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ผลักดันให้เกิดความมั่นคงปลอดภัย เพื่อรองรับและสนับสนุนกฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ในประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจในการใช้ e-Commerce มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญสำหรับประเทศไทยในการปรับตัวเข้าสู่ยุค Cashless Society ในอนาคตนั่นเอง
ความปลอดภัยในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์
คงต้องบอกว่าในโลกนี้ไม่มีความปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เราสามารถลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุดได้ สำหรับในปัจจุบันนั้นการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ถือว่ามีความปลอดภัยมากกว่าออฟไลน์ เนื่องจากการถือเงินสดนั้นมีความเสี่ยงค่อนข้างมากด้านความปลอดภัย ในขณะที่การทำธุรกรรมออนไลน์จะมี protocol รองรับมากมาย เพื่อยืนยันการทำธุรกรรมนั้น ๆ ซึ่งมีการใช้กันมานานและพัฒนาระบบเพื่อลดช่องว่างและเพิ่มความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
อีกส่วนหนึ่งเชื่อว่า ผู้ใช้มีความเข้าใจในการใช้งานเพิ่มมากขึ้น เช่น การตั้งรหัสควรตั้งให้มีความยากในการคาดเดาเพื่อป้องกันการโจรกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่มีนโยบายลดการใช้รหัสผ่าน โดยจะใช้รูปแบบการยืนยันตัวตนอย่างอื่นแทน เช่น การใช้ลายนิ้วมือ ตา เสียง เฉพาะของบุคคล หรือการใช้ OTP (One Time Password) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้
การเตรียมพร้อมของ e-Commerce สู่ Cashless Society
หลายคนอาจมองว่าเรื่อง Cashless Society นั้นเป็นเรื่องของกระแส แต่ในความเป็นจริงแล้วตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงและเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายควรให้ความสนใจและทำความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้น ที่แม้แต่หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและ EU ต่างก็เร่งผลักดันให้หลายประเทศทั่วโลกนำระบบ Cashless Society เข้ามาใช้ เพื่อปรับลดปัญหาการฟอกเงินและการทำธุรกรรมที่น่าสงสัยต่าง ๆ
อีกประเด็นสำคัญ คือ ประเด็นของการเสียโอกาสทางธุรกิจหากเราไม่ปรับตัว เนื่องจากอัตราการแข่งขันทางธุรกิจในโลกออนไลน์มีเพิ่มมากขึ้น และไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศเท่านั้น การทำธุรกรรมออนไลน์จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ให้บริการ e-Commerce ควรปรับตัวให้ทันและมีการรองรับให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มและป้องกันการเสียโอกาสทางธุรกิจอีกด้วย มากไปกว่านั้นในเรื่องของการใช้ทรัพยากรนั้น Cashless Society จะสามารถช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างมาก เช่น ต้นทุนการผลิตธนบัตร เงินเหรียญต่าง ๆ ตลอดจนต้นทุนกระดาษเอกสารต่าง ๆ และยังเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในอนาคตต่อไป
Cashless Society จึงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนควรให้ความสนใจ และปรับตัวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ติดตามข้อมูลเพิ่มเติม และรายละเอียดข่าวสาร สาระน่ารู้ด้านการเงินและอีคอมเมิร์ซ เพิ่มเติมได้ที่
Plearn เพลิน by Krungsri Guru