จากกระแสของน้ำมันแพงในบ้านเรา ยิ่งผลักดันให้เกิดเทรนด์ของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเร็วขึ้น เชื่อได้เลยว่าเป้าหมายต่อไปของคนอยากมีรถยนต์วันนี้เราไม่ได้มองรถยนต์พลังงานน้ำมันอีกต่อไป แต่ต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น นอกจากความคุ้มค่าที่ชาร์จเต็ม 100% สามารถวิ่งได้ไกลหลายร้อยกิโลเมตร รถยนต์ไฟฟ้ายังขึ้นชื่อเรื่องความประหยัดกว่าการเติมน้ำมันหลายเท่าตัว และค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาก็ถูกกว่าเพราะไม่ต้องถ่ายน้ำมันเครื่อง หรือตรวจเช็กสภาพเครื่องยนต์ เข้าศูนย์บริการหมดเงินเป็นหมื่น ๆ บาทเหมือนรถยนต์น้ำมัน
ถ้าวันนี้เราพร้อมแล้วที่จะถอยรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานในครอบครัว เราจะต้องเตรียมตัวอย่างไร วันนี้เรามีเช็กลิสต์ให้คุณได้เตรียมพร้อม จะมีเรื่องไหนที่คนเล็งจะ
ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าควรรู้ เราจะมาบอก ไปดูพร้อม ๆ กับเราได้เลย
1. เลือกรถยนต์ไฟฟ้าที่เหมาะกับเรา
เริ่มที่ข้อแรกเราควรมารู้จักประเภทของรถยนต์ไฟฟ้ากันสักหน่อย โดยรถยนต์ไฟฟ้าที่มีวางขายในปัจจุบันจะมีด้วยกัน ดังนี้
- รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (PHEV) คือ รถยนต์ที่มีระบบการทำงานคล้ายกับรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด แต่ต่างกันที่รถยนต์แบบนี้สามารถเสียบชาร์จเพิ่มเติมไฟฟ้า เพื่อสลับใช้ให้วิ่งด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าอย่างเดียวได้ แต่จะมีระยะทางสั้น ๆ ทำให้หลายคนนิยมในช่วงที่รถยนต์ไฟฟ้า 100% ยังอยู่ในช่วงตั้งไข่
- รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) คือ รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนโดยพลังงานจะได้มาจากแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว พูดได้ว่าเป็นพลังงานสะอาดแบบ 100% โดยสามารถเติมพลังงานผ่านการชาร์จไฟเข้ากับตัวรถเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ปัจจุบันทั่วโลก และบ้านเรากำลังได้รับความนิยมอย่างมากเพราะชาร์จไฟเต็มที่สามารถวิ่งได้ไกลหลายร้อยกิโลเมตรเลยทีเดียว
- รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) คือรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนเหมือนกับรถยนต์ไฟฟ้า BEV แต่แตกต่างที่พลังงานจะไม่ได้มาจากไฟฟ้าโดยตรง แต่ใช้พลังงานทางเลือกอย่างก๊าซไฮโดรเจน เพื่อผลิตกระแสให้รถยนต์ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบนี้ปัจจุบันยังไม่มีจำหน่ายในบ้านเรา และยังมีน้อยรุ่น แต่ในต่างประเทศใกล้จะมีการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้
จากประเภทรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 3 ชนิดในบ้านเราจะมีด้วยกัน 2 แบบที่ได้รับความนิยมคือแบบ PHEV และ BEV ที่สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง เมื่อเราเลือกได้แล้วว่าต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบบไหน อีกสิ่งหนึ่งที่ควรเลือกคือออพชันภายในของรถอย่างเช่น เรื่องระบบความปลอดภัย ระบบการช่วยขับขี่ หรือระบบความบันเทิงภายในรถยนต์ อย่างน้อย ๆ รถยนต์ไฟฟ้าที่เราจะซื้อควรต้องรองรับระบบ Apple CarPlay หรือ Android Auto เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ขับขี่สามารถเปิดใช้แผนที่นำทาง หรือใช้แอปฯ ที่อยู่บนสมาร์ทโฟนระหว่างขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งในรถยนต์ไฟฟ้า แต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่นออพชันตรงนี้จะแตกต่างกัน ให้เราเลือกจากความต้องการได้เลย
2. เตรียมขอมิเตอร์ไฟฟ้าใหม่
เมื่อเลือกรถยนต์ไฟฟ้าจากความต้องการได้แล้ว การที่จะนำรถยนต์ไฟฟ้ามาเสียบชาร์จที่ไฟบ้านโดยตรงเหมือนกับที่เราชาร์จมือถือ หรือใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ เพราะเราจะต้องเตรียมพร้อมขอมิเตอร์ไฟฟ้าที่บ้านใหม่เอาไว้ด้วย โดยปกติมิเตอร์ไฟตามบ้านทั่ว ๆ ไปโดยส่วนใหญ่จะเป็น ไฟ 1-Phase 15(45) แต่ถ้าเป็นบ้านโครงการใหญ่ ๆ ตอนนี้หลายที่ก็มีการใช้มิเตอร์ไฟแบบ 3-Phase 30(100) เอาไว้ให้พร้อมเหลือแค่นำ Wall Charger มาติดตั้ง แต่..บ้านของใครหลายคนใครที่ยังใช้ไฟแบบ 1-Phase 15(45) ก็สามารถไปยื่นขอมิเตอร์ไฟฟ้าได้ใหม่โดยเลือกให้เหมาะกับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าที่แบบ 1-Phase 300(100)
บ้านที่อยู่ในการดูแลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ต้องใช้เอกสารดังนี้
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้านที่จะขอติดตั้ง
- เอกสารหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้า ถ้าเราไม่ใช้เจ้าของบ้านต้องมีหนังสือยินยอมด้วยนะ
- บิลค่าไฟ อาจเตรียมไว้ 3-4 เดือนย้อนหลัง
- ข้อมูลของรถยนต์ไฟฟ้าที่เราได้จองซื้อไว้
- สำเนาเอกสารการเปลี่ยน (ถ้าไม่มีการเปลี่ยนชื่อมาก่อน ข้ามไปข้อต่อไปได้เลย)
- ใบมอบอำนาจและสำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบในกรณีที่เจ้าของบ้านไม่ได้ดำเนินเรื่องด้วยตนเอง
เมื่อเตรียมเอกสารทั้งหมดแล้วสามารถไปยื่นเรื่องที่สำนักงานการไฟฟ้า แถวบ้านเราได้เลย แต่เช็กให้ดีนะบ้านเราอยู่ในเขตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือนครหลวง เพราะสองที่นี้มีค่าใช้จ่าย และรายละเอียดแตกต่างกัน ต่อมาแล้วเราจะยื่นขอมิเตอร์ไฟฟ้าเท่าไหร่ถึงจะเหมาะกับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าของเรา
ข้อนี้เราต้องกลับมาดูรายละเอียดสเปกรถยนต์ไฟฟ้าของเราก่อน ว่าระบบ Onboard Charger ของรถยนต์สามารถรองรับไฟได้เท่าไหร่? สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายในบ้านเราจะมีด้วยกัน 3 แบบหลัก ๆ คือ
- รุ่นที่ Onboard Charger รองรับกำลังไฟ 6kW เช่น MG ZS EV, Ora Good Cat เป็นต้น
- รุ่นที่ Onboard Charger รองรับกำลังไฟ 11kW เช่น Volvo XC40, C40, BMW iX3 และ Tesla 3, Y เป็นต้น
- รุ่นที่ Onboard Charger รองรับกำลังไฟ 22kW ตอนนี้จะมีรถยนต์ไฟฟ้าเพียงรุ่นเดียวที่รองรับคือ Porsche Taycan
จากสเปกของรถยนต์ไฟฟ้าที่กล่าวมา ทำให้เราเลือกได้ง่ายแล้วว่าติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าเท่าไหร่ถึงจะเหมาะ ถ้ารถยนต์ไฟฟ้าของเรารองรับกำลังไฟ 6kW มิเตอร์ไฟ 1-Phase 30(100) ก็เพียงพอ เพราะถึงเปลี่ยนไปใช้ Wall Charger ที่กำลังจ่ายไฟมากกว่านี้รถยนต์ของเราก็รองรับได้เพียง 6kW แต่ถ้ารถยนต์ไฟฟ้าของเรารองรับกระแสไฟที่ 11kW ขึ้นไป เราจำเป็นต้องขอมิเตอร์ไฟ 3-Phase 30(100) ถึงจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้เร็วตามสเปกบอกได้เลย แต่ถ้าไม่อยากเปลี่ยนจะใช้มิเตอร์ไฟ 1-Phase 30(100) ก็ทำได้แต่ Wall Charger สำหรับมิเตอร์ไฟแบบนี้จะจ่ายไฟได้สูงสุดไม่เกิน 7kW
แล้วมิเตอร์ไฟแบบ TOU ขอไปด้วยเลยดีไหม?
สำหรับมิเตอร์ไฟแบบ TOU คือมิเตอร์ที่มีการคิดค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาที่เราใช้ ต่างจากมิเตอร์ไฟแบบปกติที่จะเป็นการคิดราคาแบบเหมาจ่าย ทุกช่วงเวลาค่าไฟเท่ากันหมด การขอมิเตอร์ไฟแบบ TOU จะเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า เสียค่าไฟน้อยลงไปอีก ในช่วงเวลา Off peak ตั้งแต่ 22.00-09.00 น. และนิสัยของคนใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ จะชาร์จทิ้งไว้ช่วงกลางคืนระหว่างพักผ่อน เมื่อตื่นเช้าแบตเตอรี่จะเต็มเพียงพอกับการขับขี่พอดี หากจะเปลี่ยนมิเตอร์ไฟทั้งที เลือกแบบ TOU ไปเลยน่าจะคุ้มกว่า เสียเงินเพิ่มอีกนิดหน่อย แต่ได้ค่าไฟถูกลงคุ้มยิ่งกว่าเดิม สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเราสามารถสอบได้ถามได้จากทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง ใกล้บ้านเราได้เลย
3. เตรียมระบบไฟในบ้านให้พร้อม
หลังจากที่ยื่นขอมิเตอร์ไฟฟ้าใหม่เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วยคือการรองรับระบบสายไฟภายในบ้าน นั่นเพราะว่ามิเตอร์ไฟลูกใหม่ต้องใช้กำลังไฟที่เยอะขึ้นเพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้น แต่สายไฟในบ้านยังเป็นแบบเดิม หากใช้งานไปเรื่อย ๆ อาจทำให้สายไฟร้อนเกิดละลาย ลามไปถึง
ไฟฟ้าลัดวงจรได้เลย สิ่งที่เราต้องเปลี่ยนเลยคือสายเมนภายในบ้านอันนี้แนะนำให้ใช้เบอร์ 35 ไปเลย เพื่อรองรับกำลังไฟสูง ๆ สิ่งที่ต้องเปลี่ยนอีกคือตัว Main Breaker เราจะต้องเปลี่ยนให้เป็นขนาด 100A ด้วย แนะนำให้เปลี่ยนตู้ Main Breaker และเดินไฟในจุดนั้นใหม่เลยก็ได้ โดยเราสามารถขอคำปรึกษาได้ที่การไฟฟ้าที่เราไปยื่นเรื่องขอเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้า หรือโชว์รูมรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการเราอยู่แล้ว แต่ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เราต้องเป็นผู้ออกเองนะ อาจเตรียมเงินไว้สัก 2 – 3 หมื่นบาท ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าดี ๆ ไปเลย รับรองจบไม่ต้องมาปวดหัวกับระบบไฟฟ้าในบ้านภายหลัง
4. เตรียมเงินไว้สำหรับใช้จ่ายซ่อมบำรุง
เช็กลิสต์สุดท้ายที่เราควรเตรียมให้พร้อมคือการเตรียมเงินเผื่อไว้สำหรับใช้ซ่อมบำรุง สำหรับการเข้าศูนย์เพื่อเปลี่ยนแบตเตอรี่รถยนต์ หรือใช้สำหรับ
ซื้อประกันรถยนต์ไฟฟ้า ถึงการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะประหยัดในเรื่องของการใช้พลังงาน แต่สองสิ่งที่เราได้กล่าวไปทั้งแบตเตอรี่ ที่เป็นหัวใจสำคัญของเราปัจจุบันยังมีราคาที่สูงอยู่ หากหมดระยะประกัน หรือเกิดแบตเสื่อมขึ้นมา ค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่อาจมีราคาหลายแสนบาท และอีกหนึ่งค่าใช้จ่ายเมื่อซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคือเรื่องของประกันรถยนต์ ที่วันนี้รถยนต์ไฟฟ้ายังเป็นของใหม่ ค่าเบี้ยประกันเลยมีราคาสูงตั้งแต่หลักหมื่น จนถึงหลักแสนบาทในบางรุ่น แต่ก็มีบางรุ่นที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และมีประกันรถยนต์เป็นของแถมมาให้ แต่วันใดเราต้องเป็นผู้จ่ายเอง นอกจากเตรียมเงินไว้ผ่อนค่างวดทุกเดือน อย่าลืมที่จะเก็บออมแบ่งเป็นค่าประกันรถยนต์ไฟฟ้าอีกก้อนด้วยนะ เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุ โดยที่ไม่มีประกันรับรอง จ่ายเงินซื้อใหม่บางครั้งยังคุ้มกว่าซ่อมอีก
เป็นอย่างไรกันบ้างกับเช็กลิสต์สิ่งที่เราต้องเตรียมก่อนจะมีรถยนต์ไฟฟ้าไว้ใช้สักคัน หากถามว่าตอนนี้เหมาะหรือยังถ้าจะซื้อ ตอบได้เลยว่าช่วงนี้กำลังเหมาะสม เพราะด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐที่มอบเงินอุดหนุนสำหรับค่ายรถยนต์ที่มีการประกอบ และผลิตในประเทศเป็นจำนวนเงินสูงสุดถึง 150,000 บาท และนี่ยังไม่รวมกับสิทธิประโยชน์จากกรมสรรพสามิต ที่จะช่วยเหลืออีก 50,000 บาท จนถึงปี 2568 ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าเรามีสิทธิ์ซื้อได้ถูกลงอีก และตลาดของรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่หมดเพียงเท่านี้ยังมีอีกหลายค่าย หลายยี่ห้อจ่อเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า ให้เราได้จับต้องกันอีกเพียบ ยิ่งมีการแข่งขันในตลาดมากแค่ไหน ประโยชน์ทั้งหมดจะตกอยู่กับพวกเรานี่ล่ะ ที่จะได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างทั่วถึงในราคาที่จับต้องได้