การวางแผนการเงินก่อนที่จะเกษียณ
เพื่อยามเกษียณ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

การวางแผนการเงินก่อนที่จะเกษียณ

icon-access-time Posted On 07 ตุลาคม 2557
By Krungsri the COACH
คนทำงานทุกวันนี้ เริ่มทำงานตอนอายุ 20 นิด ๆ แต่เผลอแป๊บเดียวเงยหน้ามาอีกทีก็อายุ 40 จนต้องวางแผนเกษียณเสียแล้ว และจะเริ่มต้นอย่างไรหากยังไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้มาก่อน ยิ่งถ้าใครปล่อยเวลาไปอีก เผลอแป๊ปเดียว อ้าว มารู้ตัวอีกทีอีก 5 ปี ก็จะเกษียณแล้ว คงไม่ดีแน่ ถ้าเมื่อถึงวันนั้น คุณเปิดสมุดบัญชีดูยอดเงินฝากแล้ว กลับไม่แน่ใจว่าเงินที่มีจะเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในช่วงบั้นปลายของชีวิตหรือเปล่า สาเหตุเป็นเพราะเราอาจยังไม่รู้ว่าจะวางแผนเกษียณเริ่มอย่างไร ยิ่งอายุ 40 แล้วแต่ยังไม่ได้วางแผนเกษียณเลยจะเริ่มตอนนี้ยังจะทันหรือไม่? ดังนั้นอย่าปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปจนทำให้เรื่องเกษียณเป็นเรื่องที่น่ากลัว ด้วยการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณกันตั้งแต่วันนี้เลยครับ

ขั้นแรก วางเป้าหมายการเกษียณ

โดยเป้าหมายที่ควรคำนึงถึงได้แก่
  • อายุที่จะเกษียณ หากยังคิดไม่ออกว่าวางแผนเกษียณเริ่มอย่างไร ลองมาเริ่มที่อายุที่เราตั้งใจจะเกษียณหรือหยุดทำงานก่อน ปัจจุบันนี้หน่วยงานส่วนมากในประเทศไทย กำหนดอายุเกษียณที่ 60 ปี หากแต่หลาย ๆ คนอาจมีเป้าหมายที่จะ early retired ใช่แล้วครับ เราสามารถกำหนดอายุเกษียณของเราเองได้ เป้าหมายอายุที่จะเกษียณคือเมื่อไรก็ตามที่เรามีทรัพย์สินเพียงพอที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ มีกินมีใช้ โดยไม่ต้องทำงาน หากเราอายุ 40 แล้วเพิ่งเริ่มวางแผนเกษียณอาจจะช้าไปสักนิด แต่ก็ดีกว่ายังไม่เริ่มทำอะไรเลย
  • จำนวนปีหลังเกษียณ ช่วงชีวิตโดยเฉลี่ยของผู้ชายคือ 72 ปี และของผู้หญิงคือ 75 ปี ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ นอกจากนี้ เราอาจจะพิจารณาจากสุขภาพของเรา หรืออายุเฉลี่ยของคนในครอบครัวประกอบครับ
  • รายจ่ายในวัยเกษียณ หากว่าเรายังไม่รู้ว่าวางแผนเกษียณเริ่มอย่างไร ลองประเมินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก่อน ได้แก่
    1. ค่าใช้จ่ายต่อเดือน โดยเทียบจากค่าใช้จ่ายในปัจจุบันนี้ หลังเกษียณเราอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่ลดลงนิดหน่อย เพราะน่าจะใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ส่วนบุคคล
    2. ค่ารักษาพยาบาลต่อเดือน
    3. งบอื่น ๆ เช่น งบท่องเที่ยว งานอดิเรกต่าง ๆ
  • รายได้หลังจากเกษียณจากระบบสวัสดิการ (ถ้ามี) เช่น ข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุนจะมีเงินบำนาญจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือสวัสดิการจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ลูกจ้างและนายจ้างสมัครใจร่วมกันสมทบเข้ากองทุน หรือสวัสดิการจากกองทุนประกันสังคมประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ

ขั้นที่สอง ตั้งคำถาม

จากเป้าหมายที่เราวางแผนไว้ในข้อแรก เราจะนำมาใช้ในการตั้งคำถามดังต่อไปนี้ครับ
  • ถ้าเราอายุ 40 จะวางแผนเกษียณ ตอนนี้เราเหลือเวลาทำงานอีกกี่ปี
  • ตลอดชีวิตหลังเกษียณ เรามีส่วนต่างของรายรับจากสวัสดิการ และรายจ่ายเป็นเท่าไหร่
  • เพื่อที่เติมเต็มเงินส่วนต่าง เราต้องออมเงินเดือนละเท่าไร และผลตอบแทนจากการออมควรจะเป็นเท่าไร
ทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางที่บอกเราได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าการวางแผนเกษียณเริ่มอย่างไรจึงจะดีที่สุด
เราสามารถหาโปรแกรมคำนวณการวางแผนเกษียณได้จาก กรุงศรี Plan Your Money โดยเราสามารถกำหนดค่าใช้จ่ายในอนาคต รวมถึงเงินออมที่มีอยู่และเงินออมที่เราจะเก็บในแต่ละเดือน โดยโปรแกรมจะช่วยคำนวณผลตอบแทนเป้าหมายให้ด้วย ถ้าเราคิดว่าเราอายุ 40 แล้วจะวางแผนเกษียณตอนนี้จะสายไปไหม แต่อยากบอกว่า ต่อให้อายุ 50 แต่หากมุ่งมั่นตั้งใจแล้ว เราก็สามารถมีเงินใช้หลังเกษียณได้สบาย ๆ หากเรารู้จักการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพ

ขั้นที่สาม เลือกเครื่องมือในการลงทุน

จากผลการตอบแทนเป้าหมายที่เราได้มาจากคำนวณในขั้นที่สอง เราก็มาเลือกหาเครื่องมือที่น่าจะให้ผลตอบแทนในอัตราที่เราต้องการครับ ตัวอย่างเช่น
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ “RMF” เป็นอีกหนึ่งช่องทางการลงทุนอย่างมีวินัยสำหรับผู้ที่มีสวัสดิการ และผู้ที่ไม่มีสวัสดิการหลังเกษียณ กองทุน RMF มีให้เลือกได้หลายรูปแบบ หลายนโยบาย แต่โดยทั่วไปแล้วจะไม่มีเงินปันผล โดยการลงทุนใน RMF จะต้องซื้อหน่วยลงทุนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และห้ามเว้นระยะการลงทุนมากกว่า 1 ปีติดต่อกัน (หรือยกเว้นการลงทุนได้ถ้าไม่มีเงินได้ในปีภาษีนั้น ๆ) เงินที่ซื้อกองทุนในแต่ละปีสามารถนำมาลดหย่อนภาษีในปีนั้น ๆ ส่วนการไถ่ถอนหน่วยลงทุนจะทำได้เมื่อมีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี และเงินไถ่ถอนไม่ต้องเสียภาษี ผลตอบแทนของกองทุน RMF ส่วนมากจะสูงกว่าเงินฝากธนาคาร โดยเราสามารถตรวจสอบผลการดำเนินงานย้อนหลังได้จาก Website ของแต่ละกองทุนครับ
  • การซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต ผลตอบแทนจากการทำกรมธรรม์ประกันชีวิตอาจจะไม่แตกต่างมากเมื่อเทียบกับเงินฝากธนาคาร โดยประโยชน์หลักของการทำประกันคือ การออมเงินแบบมีวินัยเพราะเราต้องจ่ายเบี้ยประกันอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี นอกจากนั้นแล้ว เรายังได้ความคุ้มครองในกรณีต่าง ๆ แล้วแต่ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ เช่น เราอาจเลือกกรมธรรม์คุ้มครองสุขภาพและอุบัติเหตุเพื่อช่วยในเรื่องค่าใช้จ่ายทางสุขภาพหลังวัยเกษียณ
การลงทุนในกองทุนรวม พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นสามัญ เงินฝากธนาคาร ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงในระดับที่แตกต่างกัน การลงทุนที่ได้ผลตอบแทนมากมักจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงกว่า

ขั้นที่สี่ เริ่มออมได้

เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจน และเลือกเครื่องมือการลงทุนได้แล้ว เราก็เริ่มดำเนินการออมเงินได้ทันทีเลยครับ ไม่ว่าเราจะอายุ 40 หรือเท่าไหร่ก็ทำตามที่เราวางแผนเกษียณได้เลย อย่างไรก็ตาม ก่อนการลงทุนทุกครั้งเราควรศึกษารายละเอียดก่อนการตัดสินใจทุกครั้งนะครับ
ชีวิตหลังเกษียณเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การเริ่มเตรียมตัววางแผนการเงินตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้เรารับมือการเกษียณได้อย่างมั่นใจ หากใครยังไม่แน่ใจว่าวางแผนเกษียณเริ่มอย่างไร และเริ่มเมื่อไหร่ เรามาเริ่มวางแผนกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อชีวิตหลังเกษียณที่มีคุณภาพครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา