วางแผนเกษียณอย่างไร? ให้มีเงินพอใช้ในวัยเกษียณ
เพื่อยามเกษียณ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

วางแผนเกษียณอย่างไร? ให้มีเงินพอใช้ในวัยเกษียณ

icon-access-time Posted On 15 ตุลาคม 2567
By ปริตา ธิติปรีชาพล
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า คนไทยเพียง 20% ที่สามารถวางแผนออมเพื่อการเกษียณได้1 หลายคนคงสงสัยว่าการเก็บเงินให้เพียงพอสำหรับวัยเกษียณ ต้องเริ่มเมื่อไร? ต้องออมเงินเป็นจำนวนเท่าไร? ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยากลำบากในปัจจุบัน มาดูเทคนิคเกษียณสำหรับมนุษย์เงินเดือน ที่อาจมีคำถามว่าเราควรเริ่มออมเงินสำหรับวัยเกษียณวันไหนดีที่สุด? ต้องบอกว่ามี 2 วัน เริ่มตั้งแต่ทำงานวันแรก กับเริ่มตั้งแต่วันนี้

ทำไม? คนไทยวางแผนเกษียณช้า

สังคมไทยในปัจจุบันเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ แล้วประเทศไทยพร้อมแค่ไหน? กับการก้าวสู่สังคมสูงวัย เราอาจจะเคยได้ยินวลีแทงใจ คำที่ว่า “แก่ก่อนรวย” สะท้อนถึงการเตรียมพร้อมสำหรับเข้าสู่วัยเกษียณที่ยังไม่ดีพอ แล้วทำไม? คนไทยถึงวางแผนเกษียณช้า

ปัจจัยที่ทำให้คนไทยวางแผนเกษียณช้า มี 2 สาเหตุด้วยกัน

  • ปัจจัยแรก มาจากภาระในการสร้างทรัพย์สิน พอเราเข้าสู่วัยเริ่มทำงาน มีภาระในการสร้างทรัพย์สิน เช่น มีบ้าน ถ้าใช้วิธีกู้ ก็ต้องผ่อนอย่างน้อย 30 ปี มีรถ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 – 7 ปี พอผ่อนหมดแล้ว บางคนก็อยากมีรถคันใหม่ แนวทางแก้ปัญหา ถ้าดูแล้วว่ารถคันเดิมยังใช้ได้ ก็ใช้ต่อไป ส่วนบ้าน ควรพิจารณาซื้อบ้านในราคาที่เหมาะสมกับรายได้และค่าใช้จ่าย ถ้าไม่แพงเกินไป ก็สามารถผ่อนหมดได้ในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่เป็นภาระหลังเกษียณ
  • ปัจจัยที่สอง มาจากภาระการดูแลครอบครัว โดยเฉพาะ Sandwich Generation มักใช้เรียกคนที่อยู่ตรงกลางที่ต้องรับผิดชอบ ทั้งพ่อแม่ผู้สูงอายุ และลูก มีภาระค่าใช้จ่ายสูงทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ค่าเทอม ค่าขนม ค่าเรียนพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ในประเทศไทย ครอบครัวที่มีลักษณะเป็น Sandwich Generation มีจำนวนถึง 3.4 ล้านครัวเรือน

แนวทางการแก้ปัญหาเพื่อลดภาระที่จะเกิดขึ้นกับครัวเรือนไทย
  1. เริ่มออมเงินให้เร็วที่สุด ซึ่งเมื่อหลาย ๆ คนพอได้ยินคำว่า เกษียณ ก็มองว่าเป็นเรื่องไกลตัวจึงไม่ให้ความสำคัญสักเท่าไร แต่รู้ไหมว่าการวางแผนการเงินเร็ว จะช่วยให้เห็นภาพตอนเกษียณที่ชัดขึ้น เห็นระยะเวลาการเก็บเงินที่ชัดเจน
  2. ผู้สูงอายุมีงานทำ สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการทำงาน อาทิ การส่งเสริมการฝึกอบรมทักษะแรงงานผู้สูงอายุร่วมกับการจับคู่งานเชิงรุก การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการประกอบอาชีพ
  3. การใช้บริการผู้ช่วยดูแล (Care Assistant) และใช้เทคโนโลยีในการดูแลสมาชิกในครัวเรือน เพื่อช่วยสร้างสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัวและการทำงาน
  4. การสนับสนุนศูนย์ดูแลเด็กและผู้สูงอายุ

แล้วอย่างนี้ต้องออมเงินอย่างไร? ถึงจะมีเงินพอใช้หลังเกษียณ อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเริ่มออมเงินตั้งแต่วันนี้ดีที่สุด บางคนอาจจะเริ่มตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน ส่วนจะออมเท่าไร อยากให้พิจารณาจากรายได้ และค่าใช้จ่ายของแต่ละครอบครัว เช่น ถ้ามีลูก ต้องเลือกโรงเรียนที่มีค่าเทอมเหมาะกับรายได้

ถ้าจะเริ่มออมเงิน อายุ 50 ปี จะทันไหม? ดีที่สุด คือเริ่มเร็วดีกว่า แต่ถ้าเริ่มออมเงินตอนอายุมาก ก็ต้องเก็บต่อเดือนสูงขึ้น หลักการง่าย ๆ ในการพิจารณาออมเงินเพื่อให้มีใช้ยามเกษียณต้องดูว่า เหลือระยะเวลาทำงานกี่ปี ระยะเวลาใช้ชีวิตหลังเกษียณกี่ปี และที่สำคัญต้องประเมินค่าใช้จ่ายต่อเดือน ซึ่งต้องรวมค่าใช้จ่ายประจำวัน ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และคิดถึงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทุกปี จากนั้นจึงมาคำนวณเป็นยอดเงินทั้งหมด ดังนั้นควรตั้งเป้าหมายไว้ และเริ่มเก็บออมได้เลย

แชร์เทคนิค 2 เพิ่ม 1 ลด เพิ่มเงินหลังเกษียณ

เทคนิค 2 เพิ่ม 1 ลด เพิ่มเงินหลังเกษียณ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเก็บเงินหลังเกษียณได้มากขึ้น แนะนำเทคนิค 2 เพิ่ม 1 ลด เพื่อเพิ่มการเก็บเงินเกษียณต่อเดือนให้มากขึ้น
 

เทคนิคที่ 1

เพิ่มลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund หรือ RMF) เป็นทางเลือกเงินออมเพื่อเกษียณสำหรับมนุษย์เงินเดือน

ข้อดี คือ ทำให้การเก็บเงินหลังเกษียณเป็นระบบ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย แนะนำให้เพิ่มเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นสัดส่วน 10 - 15% ของเงินออม

อีกทางเลือกหนึ่ง คือการใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์ที่ต้องการผ่านกรุงศรีประกันบำนาญ แฮปปี้ รีไทร์ สามารถเลือกชำระเบี้ยครั้งเดียว หรือ 5 ปี, 10 ปี หรือชำระถึงอายุ 60 ปี และสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 300,000 บาทต่อปี พอเกษียณตอนอายุ 60 ปุ๊บก็จะมีเงินใช้ทุกปี พร้อมรับเงินบำนาญเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ถึงอายุ 85 ปี ทั้งนี้ เงินบำนาญสามารถเลือกรับได้ทั้งแบบรายเดือน หรือรายปี
 

เทคนิคที่ 2

เพิ่มสัดส่วนลงทุนในหุ้น สร้างความสมดุลตามช่วงอายุ
  • วัยเริ่มทำงาน มีระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนาน สามารถรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาตลาดได้เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาว เน้นการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง
  • วัยกลางคน จะมีการปรับลดการลงทุนจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงลง และเพิ่มน้ำหนักในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยมากขึ้น
  • วัยก่อนใกล้เกษียณ เน้นคงเงินต้น เลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เน้นความเสี่ยงต่ำ และจ่ายผลตอบแทนแบบสม่ำเสมอ
 

1 ลด

ลดการก่อหนี้ใหม่ที่ไม่จำเป็น เช่น การซื้อโทรศัพท์ใหม่ทุกรุ่นที่ออก หรือซื้อกระเป๋าใหม่ทุกเดือน หากมีหนี้ ควรจ่ายหนี้ที่ดอกเบี้ยมากก่อน หากไม่จ่ายหนี้ก้อนนี้ และระยะเวลานานเกินไป ดอกเบี้ยก็ยิ่งเพิ่มขึ้นอีก

การเกษียณเร็วจะไม่เป็นเรื่องยากเกินไปหากมีการวางแผนมาตั้งแต่เนิ่น ๆ แต่ก็ไม่ช้าเกินไปหากจะเริ่มตั้งแต่วันนี้ เมื่อวางแผนเกษียณแล้วอย่าลืมทบทวนแผนอยู่เสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ หากใครมีแพลนหรือมองหาผู้ช่วยแนะนำวางแผนเกษียณ เรามีทีมที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำ สามารถติดต่อเพื่อรับคำปรึกษาได้ผ่านช่องทางโทรศัพท์ 02-296-5959 วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 10.00 – 17.00 น. หรือฝากข้อมูลให้ผู้ช่วย วางแผนเกษียณ ติดต่อกลับ

บทความโดย
ปริตา ธิติปรีชาพล
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา


อ้างอิง
1bangkokbiznews.com
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา