การเริ่มต้นธุรกิจนั้นก็เหมือนเราได้สร้างทางเดินใหม่ที่เป็นของเราเอง ผิดกับการเป็นพนักงานประจำที่แม้จะสบาย แต่ก็ต้องเดินบนทางเดินของคนอื่น อย่างไรก็ตามมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ใครคนหนึ่งจะสร้างธุรกิจส่วนตัวจนประสบความสำเร็จได้เป็นเถ้าแก่สมใจ จากสถิติของผู้ที่ก่อร่างสร้างธุรกิจจะมีส่วนน้อยที่ประสบความสำเร็จ คนส่วนมากมักจะล้มเหลว เจออุปสรรคแล้วท้อแท้ หมดกำลังใจ และเลิกทำไปในที่สุด แต่มีคนส่วนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามสามารถยืนได้ด้วยตนเอง วิธีการประสบความสำเร็จก็มีหลากหลาย สิ่งที่สำคัญของเจ้าของกิจการที่จะประสบความสำเร็จก็คือ “จุดเริ่มต้น” จุดเริ่มต้นนี้คือหนทางเลือกที่เราจะใช้ในการเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวของเรานั่นเองครับ
สำหรับการประกอบกิจการส่วนตัว หลายคนอยากรู้ว่า ที่จุดเริ่มต้นของการก่อร่างสร้างกิจการนั้นเราจะเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเองไปเลย หรือซื้อแฟรนไชส์ดี? บทความนี้เราจะมาแจกแจง ข้อดี-ข้อเสีย ระหว่างการเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง กับการทำธุรกิจผ่านระบบแฟรนไชส์ ติดตามกันได้เลยครับ
1. ความแตกต่างระหว่างการเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง กับการทำธุรกิจผ่านระบบแฟรนไชส์
ก็คือ การเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเองจะต้องสร้างฐานลูกค้าเอง จัดทำระบบงานขาย การบริหารจัดการภายใน การเงิน การบัญชี ข้อดีก็คือ หากจัดทำระบบของเราเองประสบความสำเร็จธุรกิจก็จะไปได้ด้วยดีด้วยตัวเราเอง ในขณะที่หากผู้ประกอบการใช้ระบบแฟรนไชส์ จะมีสิ่งเหล่านี้ติดมากับระบบอยู่แล้ว ทั้งฐานลูกค้า การบริหารจัดการต่างๆ ข้อดีก็คือ ทำธุรกิจได้ทันที
2. ระยะเวลาในการก่อร่างสร้างธุรกิจ
การทำกิจการด้วยตนเองต้องเริ่มต้นนับหนึ่ง แต่หากเป็นระบบแฟรนไชส์นั้นเปรียบเหมือนทางลัดในการทำธุรกิจ ข้อดีของการเริ่มต้นด้วยตนเองก็คือการประหยัดค่าใช้จ่ายลิขสิทธิ์ของระบบแฟรนไชส์ที่เราต้อง “ซื้อ” มาทำธุรกิจ แต่ข้อเสียก็คือ ต้องใช้เวลาในการสร้างฐานลูกค้าใหม่ ส่วนการใช้แฟรนไชส์นั้นสามารถเริ่มต้นได้ทันที เพราะลูกค้าจะรู้จักกับแบรนด์ของสินค้าที่เราซื้อระบบมาอยู่แล้ว
3. อำนาจการต่อรองเพื่อจัดซื้อสินค้า
สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์นั้นมีค่อนข้างสูง ผู้ที่ซื้อระบบสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ในระดับราคาที่เจ้าของแฟรนไชส์กำหนดมาให้ แต่ข้อเสียก็คือ ไม่สามารถควบคุมต้นทุนด้วยตนเอง ในขณะที่การทำกิจการด้วยตัวเอง เจ้าของกิจการสามารถควบคุมต้นทุนด้วยตนเอง เลือกซื้อวัตถุดิบ สินค้าเข้าร้านได้หลายแหล่ง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบแฟรนไชส์แต่อย่างใด
4. การเติบโตของธุรกิจ
สำหรับช่องทางการเติบโตของธุรกิจ เราจะพิจารณาได้ว่าการซื้อระบบแฟรนไชส์มาทันทีนั้นจะทำให้เกิดช่องทางการเติบโตทันทีตามที่ระบบวางเอาไว้ แต่จะมีข้อเสียก็คือ ไม่สามารถหาช่องทางใหม่ๆ หรือคิดแนวทางใหม่ๆ ที่ผิดไปจากระบบเดิมได้ แต่ถ้าหากเราประกอบกิจการด้วยตนเอง เราสามารถต่อยอดไปยังช่องทางต่างๆ ตามที่เราต้องการ แต่ข้อเสียก็คือ ช่องทางที่เราต่อเติมออกไปอาจไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่เราคาดคิดก็เป็นไปได้ครับ
5. การปกป้องตนเองจากคู่แข่ง
สำหรับการทำธุรกิจแน่นอนที่สุดว่าย่อมต้องมี “คู่แข่ง” หากเป็นระบบแฟรนไชส์ที่ผ่านการคิดวิเคราะห์มาอย่างรอบด้าน จะมีแนวทางปกป้องธุรกิจจากคู่แข่งอยู่พอสมควร เพราะระบบแฟรนไชส์ที่ใหญ่พอจะสามารถซื้อวัตถุดิบในราคาที่ถูกกว่าธุรกิจเล็กๆ เนื่องจากซื้อได้ในจำนวนมมากกว่า ทำให้ต้นทุนด้านวัตถุดิบลดลงได้ครับ ในขณะที่การทำธุรกิจด้วยตนเองอาจต้องคิดหาหนทางเอาตัวรอดหากต้องพบเจอกับคู่แข่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่แข็งที่ทุนหนา และสามารถลดราคาสินค้าได้
จากข้อดี-ข้อเสีย ของการเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวระหว่างการเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง กับการทำธุรกิจผ่านระบบแฟรนไชส์ที่ผมได้สรุปมานั้นคุณผู้อ่านจะพบว่าทั้งสองแบบ สองระบบ ต่างก็มีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันไปครับอย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญสำหรับทุกธุรกิจ ก็คือ “ความตั้งใจ” และ “ความมุ่งมั่น” ในการก่อร้างสร้างธุรกิจของแต่ละท่าน ปัจจัยที่จะกำหนดความสำเร็จนอกจากความรู้ความสามารถที่ต้องมีแล้ว “กำลังใจ” ถือเป็นกุญแจสำคัญในยามที่ธุรกิจของเราอาจต้องประสบพบเจอกับอุปสรรค ถ้าเรามีกำลังใจที่ดีไม่ยอมล้มเลิกกลางคันไปอย่างง่ายๆ ผมเชื่อเหลือเกินว่า... เมื่อเราผ่านบททดสอบไปแล้ว “ความสำเร็จ” ย่อมเผยตัวตนออกมาให้เราได้ภาคภูมิใจ และมีความสุขกับกิจการที่เราเป็นเจ้าของด้วยตัวของเราเองครับ!
สิ่งที่สำคัญสำหรับทุกธุรกิจ ก็คือ “ความตั้งใจ” และ “ความมุ่งมั่น”