เจาะลึกแบรนด์ “Naraya” กระเป๋าผ้าผงาดตลาดโลก

เจาะลึกแบรนด์ “Naraya” กระเป๋าผ้าผงาดตลาดโลก

By Krungsri Plearn Plearn

เป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ที่แบรนด์กระเป๋าสัญชาติไทย “นารายา” ได้พิสูจน์แล้วว่า “สินค้าดีราคาไม่แพง” นั้นมีอยู่จริง เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคสามารถสัมผัสได้ จากจุดเริ่มต้นธุรกิจเทรดดิ้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จนผันตัวมาสู่ธุรกิจเครื่องทอผลิตกระเป๋าผ้าและของใช้สารพัดประโยชน์ จนถึงวันนี้นารายามีสินค้าส่งออกในหลายประเทศทั่วโลก มีสาขาจัดจำหน่ายทั้งสิ้น 25 สาขาในไทย และอีก 13 สาขาในต่างประเทศ อีกทั้งยังได้รับการขนานนามจากสื่อไต้หวันว่าเป็น 1 ใน 10 แบรนด์ ผู้ทรงอิทธิพลในเอเชียระดับเดียวกับ Uniqlo ในญี่ปุ่น ปัจจุบันนารายามีกลุ่มลูกค้าต่างประเทศถึง 80% แบ่งเป็นญี่ปุ่น เกาหลี จีน และไต้หวัน

เจาะลึกแบรนด์ “Naraya” กระเป๋าผ้าผงาดตลาดโลก

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของกระแสสังคมและเทคโนโลยี นารายายังคงยึดกลยุทธ์การตลาดแบบ 360 องศา ใส่ใจธุรกิจการค้าปลีกที่เน้นสร้างความประทับใจและประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ดังจะเห็นได้จากการเดินหน้าขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศ โดยเน้นย่านทำเลทองที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันก็รุกการตลาดออนไลน์ เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ มุ่งสร้างแบรนด์ให้เติบโตและเป็นผู้นำส่งออกสินค้าไทยไปสู่ตลาดโลก
 
ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานธุรกิจที่นอกจากจะประสบความสำเร็จในด้านยอดขายแล้ว ยังได้รับรางวัลการันตีคุณภาพมามากมาย ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 10 บริษัทของประเทศไทยที่ได้รับรางวัล Superbrands Thai Exporter Award ประจำปี พ.ศ. 2549 และได้รับรางวัลใบโพธิ์ บิสิเนส อวอร์ด ประจำปี 2552 ซึ่งมอบให้กับแบรนด์ที่มีความโดดเด่นในด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ และการมีระบบงานที่มีประสิทธิภาพ
 
เจาะลึกแบรนด์ “Naraya” กระเป๋าผ้าผงาดตลาดโลก

เอกลักษณ์ของงานผ้า

ด้วยความที่ประเทศไทยเป็นแหล่งของผ้าหลายชนิดเป็นที่ยอมรับในงานฝีมือด้านหัตถกรรม นารายาจึงนำจุดเด่นตรงนี้มาพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของตัวเองอย่างต่อเนื่อง ถ้าจะเอ่ยถึงเอกลักษณ์ของนารายานั้น แน่นอนว่าหลายคนมักจะนึกถึงกระเป๋าผ้าที่ประดับด้วยโบว์หรือริบบิ้นสีหวาน มีสีสันและลวดลายให้เลือกมากมาย มีลายฝีเข็มแบบตารางบนเนื้อผ้า มีรอยเย็บที่ประณีต นอกจากนี้ยังมีโลโก้สีน้ำเงินเหลืองที่มองเห็นได้ชัดบนตัวกระเป๋า และในบางครั้งอาจมีการสกรีนชื่อนารายาไว้บนตัวซิป เพื่อสร้างความโดดเด่นแบบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่างไรก็ตามหลายคนยังติดภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่เป็นตัวแทนของผู้หญิงเรียบร้อย อ่อนหวาน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้แบรนด์ดูทันสมัย เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าและยกระดับให้มีความเป็นสากลมากขึ้น จึงได้เปิดตัวแบรนด์ใหม่ 4 แบรนด์ ด้วยกัน
  • NARA แบรนด์กระเป๋าและเครื่องประดับสำหรับผู้ชาย ใช้วัสดุคุณภาพดี โดยราคาจะสูงกว่าแบรนด์นารายา
  • Aphrodite แบรนด์กระเป๋า และเครื่องประดับพรีเมียม ใช้วัสดุที่มีคุณภาพดี แต่ราคายังเอื้อมถึงได้
  • LaLaMa แบรนด์เสื้อผ้าและเครื่องประดับสไตล์โบฮีเมียน เจาะตลาดวัยรุ่น
  • Evangelisa แบรนด์เสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ทำจากผ้าไหม โดยออกแบบให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

ปรัชญาแห่งความสำเร็จ

นารายายึดถือปรัชญาในการทำงาน 4 ประการด้วยกัน ประการแรกคือ
 
1) การผลิตสินค้าที่หลากหลาย ตอบสนองทุกความต้องการ ครบครันทุกประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน ด้วยผลิตภัณฑ์กว่า 2,000 รูปแบบ แบ่งเป็น 7 ประเภทด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าถือ ของตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ในครัวเรือน และสินค้าตามเทศกาล เป็นต้น
 
2) คุณภาพคือหัวใจหลัก การคัดสรรวัสดุที่ดี ด้วยการตัดเย็บอย่างประณีตจากช่างมีฝีมือของไทย เพื่อส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกค้า และยังเป็นการกระจายรายได้ให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก เนื่องจากผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่มาจากแรงงานฝืมือไทยในชนบท
 
3) ราคาสมเหตุสมผล เมื่อเปรียบเทียบกับความคงทนของวัสดุที่ใช้แล้ว เรียกว่าได้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่คุ้มค่า
 
4) ผลิตภัณฑ์อเนกประสงค์ ถูกออกแบบมาอย่างเรียบง่าย ไม่แฟชั่นจนเกินไป เน้นที่ประโยชน์ใช้สอย สามารถสวมใส่ได้หลายโอกาส
 
เจาะลึกแบรนด์ “Naraya” กระเป๋าผ้าผงาดตลาดโลก

ให้ความสำคัญกับการบริการ

นารายายังคงเป็นแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับ Physical Store โดยมีโครงการจะขยายสาขาเพิ่มขึ้น และเน้นสถานที่ใจกลางเมือง ในแต่ละสาขามีการตกแต่งหน้าร้านด้วยโทนสีเหลืองที่สะดุดตา พิถีพิถันในการเลือกจัดวางสินค้าให้ครอบคลุมทุกประเภทการใช้สอย อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการบริการลูกค้า เพื่อให้ได้รับบริการที่ประทับใจ และอยากกลับมาช้อปปิ้งที่นี่อีก นี่คืออีกหนึ่งกลยุทธ์เพื่อสร้าง Brand Loyalty หรือความผูกพันและซื่อสัตย์ ระหว่างลูกค้ากับแบรนด์
 
อีกทั้งนารายายังเล็งเห็นถึงการนำนวัตกรรมใหม่มาปรับใช้ให้เข้ากับยุคสมัย โดยนำเทคโนโลยี Magic Mirror มาใช้ที่สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อเสริมประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการทดลองสินค้า เมื่อลูกค้ายืนอยู่หน้ากระจก สามารถสั่งงานด้วยการสัมผัสหน้าจอ จากนั้นสามารถเลือกสีและแบบได้ตามใจชอบ
 
ล่าสุดนารายาได้เปิดตัว Flagship Store สาขาใหญ่ที่สุดที่ศูนย์การค้าไอคอนสยาม พ่วงด้วย Naraya Tea Room พร้อมเสิร์ฟชาคุณภาพดีและเมนูของหวานสำหรับลูกค้าที่มาช้อปปิ้งโดยเฉพาะ เป็นการบริการรองรับลูกค้าทั้งไทยและต่างชาติ เรียกว่ามาสาขานี้ต้องได้สินค้าติดมือกลับไปสักชิ้น

รุกตลาด E-commerce

เทคโนโลยีมีส่วนทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทำให้แบรนด์ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา นารายาจึงเดินหน้ารุกตลาด 
E-Commerce เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค โดยเลือกเจาะตลาดอาเซียนในประเทศที่ไม่มีตัวแทนจำหน่ายเพื่อไม่ให้กระทบกับยอดขายของสาขา เช่น จีน อินเดีย สิงคโปร์ และฮ่องกง สำหรับในไทยแบรนด์ได้ร่วมมือกับร้านค้าออนไลน์อย่าง Lazada, JD Central และ Shopee นี่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนารายาที่รุกตลาดออนไลน์ ถึงแม้ว่าจะช้ากว่าแบรนด์อื่น อย่างไรก็ดีต้องจับตาดูว่าแบรนด์จะสามารถรักษาสมดุลย์ของการจำหน่ายสินค้าและบริการระหว่างช่องทางออนไลน์กับออฟไลน์ได้อย่างไร
 
และทั้งหมดนี้ก็เป็นแนวคิดในการทำงานและกลยุทธ์ธุรกิจที่ทำให้นารายาก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์ไทยแถวหน้าที่นานาชาติให้การยอมรับ ความภาคภูมิใจในการผลักดันสินค้า Made in Thailand ให้ประสบความสำเร็จ ไม่ได้เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น แต่เกิดจากการบ่มเพาะประสบการณ์ ไม่หยุดที่จะพัฒนาสิ่งใหม่เพื่อปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย สำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือผู้ประกอบการธุรกิจ SME ก็สามารถนำกลยุทธ์ของนารายามาปรับใช้เพื่อต่อยอดธุรกิจของตัวเองได้ ในอนาคตแบรนด์ของคุณอาจจะก้าวไปสู่ระดับโลกแบบนารายาได้เช่นกัน
 
ขอบคุณข้อมูลจาก
naraya.com,
marketeeronline.co,
techsauce.co,
forbesthailand.com,
brandinside.asia,
women.trueid.net,
brandbuffet.in.th
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา