ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวิกฤต Covid-19 สร้างผลกระทบให้กับทุกคนในวงกว้างจริง ๆ โดยเฉพาะในแวดวงการเงินการลงทุน นักลงทุนทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ต่างต้องเผชิญกับปัญหานี้ไปพร้อม ๆ กัน หลายคนแทบจะต้องรื้อพอร์ตกันใหม่ ซึ่งในวันนี้เราจะมาอัปเดตความรู้เรื่องการลงทุนในกองทุนกัน ว่ามีสินทรัพย์อะไรบ้างที่น่าลงทุน และในสภาวะวิกฤตเช่นนี้เราควรเตรียมตัวอย่างไรกันบ้าง ถ้ายังอยากอยู่รอดในยุค New Normal วันนี้เรามีคำตอบมาให้ทุกคนได้นำไปปรับใช้กันครับ
ย้อนอดีตเพื่อศึกษาวิกฤต หาวิธีคิดเพื่อปรับใช้ในการลงทุน
วิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องใหม่ซะทีเดียว ในสภาพเศรษฐกิจโลกต่างเคยมีปัญหามาแล้วหลายครั้งด้วยกัน เช่น วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) ในประเทศสหรัฐอเมริกา วิกฤตหนี้สาธารณะในประเทศกรีซ หรือจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นในบ้านเราเมื่อปี พ.ศ. 2540 แม้จะเกิดขึ้นต่างวาระต่างสาเหตุ แต่ก็ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ เกิดภาวะตลาดขาลงหรือ “Bear Market” มาโดยตลอด แล้วปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิด Bear Market จากการวิเคราะห์ของ JPMorgan บริษัทให้บริการทางการเงินและการลงทุนชื่อดัง ได้แยกปัจจัยการเกิดภาวะตลาดเช่นนี้ไว้ 4 ข้อ ได้แก่
- Recession หรือเศรษฐกิจภาพรวมตกต่ำ เป็นภาวะที่คนหารายได้ได้ลดลง มีกำลังซื้อต่ำ
- Commodity Spike ราคาทรัพย์สินโภคภัณฑ์วิ่งขึ้นอย่างเร็ว ก็ทำให้เกิดวิกฤตได้
- Aggressive Fed การปรับลดดอกเบี้ยจนขาดสภาพคล่อง จาก FED หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ
- Extreme Valuation สินค้าบางอย่างมีมูลค่าเฟ้อเกินไป ทำให้ตลาดมีความแปรปรวน
แต่สำหรับวิกฤต Covid-19 แตกต่างจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต เพราะครั้งนี้เป็นวิกฤตโรคระบาดระดับ Pandemic ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่ Spanish Flu ในปี ค.ศ.1918 และในตอนนั้นเศรษฐกิจโลกไม่ได้อยู่ในระดับโลกาภิวัตน์แบบในปัจจุบัน ทำให้บทเรียนในครั้งนี้แตกต่างจากอดีตที่เคยผ่านมา แต่สำหรับสถานการณ์นี้ก่อให้เกิด Recession หรือเศรษฐกิจภาพตกต่ำก่อนเลยเป็นอันดับแรก และส่งผลต่อทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก การปรับขึ้นลงของราคาหุ้นก็จะผูกเข้ากับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาคธุรกิจไหนที่ฟื้นตัวได้เร็วก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อเราอยู่ในภาวะวิกฤต เป็นเรื่องธรรมดามากที่ตลาดจะมีการผันผวนอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเจอวิกฤตอย่าเพิ่งตกใจ
“การบริหารการเงิน” เป็นรากฐานสำคัญในการลงทุน ทุกคนควรใส่ใจ
ก่อนคิดลงทุนในช่วงนี้ ควรกลับไปที่
การบริหารการเงินขั้นพื้นฐานกันก่อนเลย ขั้นแรกอยากให้ประเมินตัวเองก่อนว่า
“รายรับรายจ่ายที่เราต้องมีในแต่ละเดือน” เพียงพอแล้วหรือยัง มีเงินเหลือจริง ๆ หรือเปล่า และเงินมีเหลือไว้ใช้ลงทุนหรือไม่ ถ้าเงินในส่วนนี้ยังไม่เพียงพอก็ควรพิจารณากันตั้งแต่ต้น
ขั้นต่อไปอยากให้คุณทำรายรับ รายจ่ายแบบไปข้างหน้า เพื่อเป็นการวางแผนในระยะยาวและทำให้เราตรวจสอบได้ว่า ในอนาคตจะมีเงินเหลือประมาณเท่าไหร่ และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือเงินสำรองฉุกเฉิน 3-6 เท่าของรายจ่ายในแต่ละเดือน เช่น รายจ่ายมี 20,000 บาท ก็ต้องมีอย่างน้อย 60,000 ถึง 120,000 บาท เพราะในอนาคตเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่า สถานภาพทางการเงินเราจะเป็นอย่างไร เพราะในช่วงวิกฤตชีวิตการทำงานของเราอาจสั่นคลอนได้ วันพรุ่งนี้เราอาจจะกลายเป็นคนว่างงาน เมื่อถึงเวลานั้นหากเรามีเงินสำรองไว้ใช้และวางแผนการเงินแบบชัดเจน ก็จะมีเงินเหลือไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันรวมถึงใช้ในการลงทุน และอีกข้อที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือ “หยุดสร้างหนี้”ข้อนี้สำคัญมาก ๆ แม้ไม่ใช่คนที่คิดจะลงทุนในกองทุน หากมีหนี้ พยายามรวบหนี้ให้เป็นก้อนเดียวกันเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ
เมื่อรากฐานทางการเงินมั่นคงถึงค่อยเดินหน้าลงทุนกันต่อ โดยเฉพาะภาวะวิกฤตมีความเสี่ยงสูง ยิ่งต้องให้ความสำคัญ หากฐานยังไม่แข็งแรง ก็มีโอกาสล้มพังทลายได้ในพริบตา ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่าครับ
ทำความเข้าใจเรื่อง “ระดับความเสี่ยงของกองทุน” กันก่อน
ช่วงวิกฤตแบบนี้เราอาจได้ยินใครหลายคนพูดกันว่า ลงทุนในกองทุนสิ มีความเสี่ยงน้อยกว่าการเล่นหุ้นรายตัวนะ แล้วมันจริงอย่างที่ใครหลายคนพูดกันหรือเปล่า ต้องบอกเลยว่า “กองทุน” เองก็มีความเสี่ยงหลายระดับ แต่ข้อดีของการลงทุนในกองทุนนั้นมักใช้เงินน้อยกว่า มีผู้เชี่ยวชาญดูแลการลงทุนให้ ซื้อขายสะดวก มีการกระจายความเสี่ยงและมีผลตอบแทนที่ค่อนข้างคุ้มค่า การเล่นกองทุนจึงเป็นตัวเลือกที่ดีเมื่ออยากเข้าสู่สนามการลงทุนในระยะเริ่มต้น แล้วกองทุนมีความเสี่ยงแบบใดบ้าง อธิบายคร่าว ๆ ได้ดังนี้ครับ
ตารางแสดงระดับความเสี่ยงของแต่ละกองทุนและผลตอบแทนโดยประมาณ
ประเภทกองทุน |
ความเสี่ยง |
ผลตอบแทน
คาดหวังโดยประมาณ
(% ต่อปี) |
ระยะเวลาการลงทุน
ที่เหมาะสม (ปี) |
กองทุนรวมตลาดเงินในประเทศ |
ระดับ 1 |
1.50-2.00% ต่อไป |
< 1 ปี |
กองทุนรวมตลาดเงิน |
ระดับ 2 |
1.50-2.00% ต่อปี |
< 1 ปี |
การทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล |
ระดับ 3 |
2.00-3.00% ต่อปี |
> 1-2 ปี |
กองทุนรวมตราสารหนี้ |
ระดับ 4 |
2.00-4.00% ต่อปี |
> 1-2 ปี |
กองทุนรวมผสม |
ระดับ 5 |
> 5-12% ต่อปี |
> 3-5 ปี |
กองทุนรวมหุ้น |
ระดับ 6 |
> 12% ต่อปี |
> 5-7 ปี |
กองทุนรวมกลุ่มอุตสาหกรรม |
ระดับ 7 |
> 12% ต่อไป |
> 7- 10 ปี |
กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือก |
ระดับ 8 |
ขึ้นกับสินทรัพย์ที่ไปลงทุน |
ขึ้นกับสินทรัพย์ที่ไปลงทุน |
กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ |
ขึ้นกับสินทรัพย์ที่ไปลงทุน |
ขึ้นกับสินทรัพย์ที่ไปลงทุน |
ขึ้นกับสินทรัพย์ที่ไปลงทุน |
ที่มา: ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
สายลงทุนต้องรู้...ควรเลือกกองทุนยังไงในยุค Covid-19
คำถามนี้เป็นคำถามที่ทุกคนคงกำลังรอคอยอยู่ เรามาดูไปพร้อม ๆ กันเลยครับ สำหรับสถานการณ์ในช่วง Covid-19 สิ่งที่ต้องดูเลยก็คือ “เทรนด์โลก” อุตสาหกรรมไหนที่กำลังรุ่งหรือร่วงในช่วงนี้ ส่งผลต่อการขึ้นลงของราคาอย่างชัดเจน การกระจายความเสี่ยงบนเทรนด์ของโลกมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีและปลอดภัยกว่า โดยประเภทของกองทุนที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้สูงสุด มีดังต่อไปนี้
- กองทุนกลุ่ม Technology – อุตสาหกรรมเทคโนโลยีมีการเติบโตขึ้นทุกวัน ยิ่งทุกวันนี้เทคโนโลยีแบบ Virtual Conference และเทคโนโลยีอื่น ๆ เข้ามามีบทบาทในช่วงวิกฤต Covid-19 ทำให้กองทุนในกลุ่มนี้มีแนวโน้มพัฒนาสูงขึ้นตามลำดับ
- กองทุนกลุ่ม Technology Healthcare – กลุ่มนี้กำลังเป็น Mega Trend สำคัญที่กำลังพูดถึงในขณะนี้ เนื่องจากในอนาคตเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อุตสาหกรรมนี้จะเติบโตและยังมีอุตสาหกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น Biotech, Pharma, Service และ Equipment แม้แนวโน้มดี แต่ก็ยังมีความเสี่ยงสูงอยู่ เราสามารถลดความเสี่ยงด้วยการ “ทยอยลงทุน” นั่นเอง
- กองทุนกลุ่ม Property – อสังหาริมทรัพย์ยังคงเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าลงทุนต่อไป เพราะมีรายได้สม่ำเสมอ ความเสี่ยงไม่สูงเกินไป และในระยะยาวคนก็ยังต้องใช้อสังหาริมทรัพย์ หรือโครงสร้างพื้นฐานอยู่ดี
- กองทุนหุ้นจีน – จากวิกฤต Covid-19 จีนสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ความเชื่อมั่นต่อในการลงทุนมีมากขึ้นตามลำดับ อีกทั้งการเติบโตในด้านการผลิตและบริการที่มากขึ้นทุกวัน อุตสาหกรรมจีนจึงมีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ น่าลงทุนในระยะกลางและระยะยาว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงทางด้านระบบการเงินที่มีความผันผวน กองทุนจีนที่น่าสนใจคือ กองทุนหุ้นธีม New China, กองทุนหุ้น Active Fund และกองทุนหุ้น A-Share
- กองทุนที่เน้นหุ้น Defensive ไม่ว่าสถานการณ์จะดีจะร้าย หุ้นเชิงรับก็ยังทนทานต่อสภาวะตลาดในทุกสภาพ แต่กำไรเติบโตจะไม่หวือหวาเพราะเน้นความมั่นคง ยังไงเราก็ควรมีกองทุนรูปแบบนี้อยู่ในมือเพื่อกันพลาด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการสร้างพอร์ตที่ดีก็ควรมีกองทุนทางเลือกอื่น ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตของคุณเอง
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับคำแนะนำดี ๆ จากหมอนัทคลินิกกองทุน เราก็ได้รับวัคซีนชั้นดี เพื่อปรับใช้ในวิถีการลงทุนของคุณกัน และถ้าคุณอยากเลือกลงทุนในกองทุนดี ๆ สักตัว ก็สามารถเลือกกองทุนจากกรุงศรีได้ มีผลิตภัณฑ์กองทุนหลากหลาย บลจ. พร้อมทำรายการกองทุนและตรวจสอบความเคลื่อนไหวผ่านแอปพลิเคชันได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปปรึกษาหรือตรวจสอบที่ธนาคาร ใครสนใจเข้าไปดูกองทุนดี ๆ ของธนาคารกรุงศรีได้ที่นี่เลยครับ