ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 กรมสรรพากรออกประกาศกำหนดให้รายได้จากต่างประเทศ ที่เกิดจากการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ หรือตราสารหนี้ต่างประเทศ เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากส่วนต่างราคา เงินปันผล รายได้จากดอกเบี้ย จะถูกนำมาคำนวณภาษีเงินได้ในแต่ละปี
การปรับปรุงการจัดเก็บภาษีการลงทุนจากต่างประเทศของกรมสรรพากรในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ครอบคลุมทั้ง
- กำไรจากการขายทรัพย์สิน เช่น หุ้นต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ
- รายได้จากการทำงานในต่างประเทศ หรือเป็นพนักงานบริษัทในต่างประเทศ
ก่อนหน้านี้ ทั้ง 2 กลุ่ม จะเสียภาษีเมื่อมีการโอนเงินกลับประเทศ ภายในปีที่เกิดเงินได้ โดยกรมสรรพากรมีการยกเว้นภาษีสำหรับรายได้ที่ไม่ได้โอนกลับมาในปีนั้น ๆ ทำให้นักลงทุนหุ้นต่างประเทศส่วนใหญ่หากมีกำไรจะถือไว้ข้ามปี จึงค่อยโอนเงินกลับมา เพื่อจะไม่โดนเรียกเก็บภาษี
แต่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นมา กรมสรรพากรออกประกาศว่าไม่ว่าเงินได้จะถูกโอนมาในประเทศปีใดก็ตาม จะต้องนำเงินได้นั้นไปคำนวณภาษีด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้มีรายได้จากต่างประเทศสามารถเช็กรายละเอียดอนุสัญญาภาษีซ้อนในประเทศที่ไปลงทุนได้ และนำภาษีที่ได้ชำระไปแล้ว ใช้เป็นเครดิตภาษียื่นต่อกรมสรรพากรได้
เงินได้อะไรบ้างที่ต้องนำมาเสียภาษี?
มาดูกันว่ารายได้ที่เกิดจากการลงทุนหุ้นต่างประเทศมีอะไรบ้าง และส่วนไหนที่ต้องนำมาเสียภาษี
1. รายได้ที่เกิดจาก “อัตราแลกเปลี่ยน” (Foreign Exchange)
กำไรส่วนต่างจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่ต้องเสียภาษี เช่น หากคุณแลกเงิน 1,000 USD ที่อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อ 1 USD (เป็นเงิน 35,000 บาท) ต่อมาได้แลกเงินกลับจำนวน 1,000 USD เท่าเดิม แต่อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าเป็น 36 บาทต่อ 1 USD คิดเป็นเงินไทยเท่ากับ 36,000 บาท ส่วนต่าง 1,000 บาท เกิดจากการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน จึงไม่ต้องนำไปเสียภาษี
2. รายได้ที่เกิดจาก “เงินปันผล” (Dividend)
รายได้ที่เกิดจากเงินปันผลต้องเสียภาษี เช่น การลงทุนหุ้นในสหรัฐอเมริกา จะเสียภาษี 15% ของเงินปันผล เมื่อนำเงินปันผลกลับไทย จึงไม่ต้องเสียภาษีอีก เนื่องจากไทยทำอนุสัญญาภาษีซ้อนกับสหรัฐอเมริกา ผู้เสียภาษีสามารถนำจำนวนภาษีที่ได้จ่ายไปแล้วในประเทศที่เกิดรายได้มาเป็นเครดิตภาษีที่ใช้หักกับภาษีที่ต้องจ่ายในประเทศไทย เป็นต้น
3. รายได้ที่เกิดจาก “กำไรจากการขายหลักทรัพย์” (Capital Gain)
ยกตัวอย่างกรณีการลงทุนในสหรัฐอเมริกา “กำไรจากการขายหลักทรัพย์” ไม่ถูกเก็บภาษี แต่หากนำเงินได้กลับไทยในปีไหน จะต้องนำกำไรที่เกิดขึ้นมารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามอัตราก้าวหน้า สูงสุดไม่เกิน 35% เป็นต้น เริ่มจากเงินได้ที่เกิดขึ้นในปี 2567 เป็นต้นไป
ข้อมูลการซื้อขายที่ควรจัดเก็บไว้เพื่อสำแดงแก่สรรพากร ได้แก่
- วันที่ซื้อ ราคาซื้อ จำนวนซื้อ
- วันที่ขาย ราคาขาย จำนวนขาย
- ค่านายหน้าและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องในแต่ละรายการ
- อัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการแปลงค่าเงินกลับเป็นเงินบาท
- หากนำเงินปันผลไปลงทุนต่อก็ควรบันทึกรายการเหล่านี้ไว้ด้วย เช่น วันที่ จำนวนเงิน สกุลเงิน อัตราแลกเปลี่ยน ราคาซื้อ เพื่อคำนวณเป็นราคาต้นทุนของหุ้นที่ซื้อ
สรุปการลงทุนหุ้นต่างประเทศ ต้องเสียภาษีหรือไม่?
การลงทุนหุ้นต่างประเทศ จะต้องเสียภาษีหรือไม่ แบ่งเป็น 3 กรณี คือ
- ซื้อหุ้นโดยตรงต้องเสียภาษี
- ซื้อกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศโดยตรงต้องเสียภาษี
- ซื้อกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศที่จดทะเบียนจัดตั้งโดย บลจ. ในไทย ไม่ต้องเสียภาษี
- ซื้อ DR หรือ DRx ไม่ต้องเสียภาษี
การลงทุนหุ้นต่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และไม่ยากอย่างที่คิด! การศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีของหุ้นต่างประเทศที่ควรรู้ก่อนลงทุนให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ จะช่วยให้สามารถวางแผนการลงทุนในระยะยาวได้
สำหรับผู้สนใจลงทุนหุ้นในต่างประเทศ แต่ไม่มีเวลาติดตามตลาดหุ้นต่างประเทศ ก็สามารถลงทุนผ่าน กองทุนเปิดกรุงศรี Global Unconstrained Equity-สะสมมูลค่า หรือ
KFGLOBAL กองทุนที่เข้าถึงโอกาสการลงทุนในหุ้นที่ดีที่สุดทั่วโลก โดยสไตล์การลงทุนที่ไม่ยึดติดกับดัชนีชี้วัด และไม่มีข้อจำกัดประเภทหุ้น ประเทศ ภูมิภาค หรืออุตสาหกรรม เน้นลงทุนในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก โดยกองทุนหลักจะวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเป็นรายบริษัท เพื่อให้ได้หุ้นที่มีศักยภาพเติบโตที่น่าสนใจในระยะยาว
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
- ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
- KFGLOBAL อาจทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินในหลักทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศที่กองทุนถืออยู่ โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทจัดการซึ่งอาจมีต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมฯ โดยทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และในกรณีที่ไม่ได้ทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงิน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
บทความโดย
ปริตา ธิติปรีชาพล
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา