ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ อินโดนีเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังเนื้อหอมจากนักลงทุนทั่วโลก ใคร ๆ ก็เห็นโอกาสใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาทำธุรกิจที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทด้านอุตสาหกรรมยานยนตร์ชื่อดัง อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และยังมีอีกหลาย ๆ บริษัทที่เตรียมพร้อมลงทุนอีกนับไม่ถ้วน ทำให้ประเทศอินโดนีเซียได้รับการขนานนามว่าเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่แห่งอาเซียน ความน่าสนใจของประเทศนี้มีอยู่มากและเราก็ต้องไม่พลาดที่จะมองหาโอกาสในการลงทุนกับประเทศนี้ ว่าแต่อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจของอินโดนีเซียมีความน่าสนใจ และเราควรจะเข้ามาลงทุนกันหรือไม่ Krungsri The COACH จะพาทุกคนไปหาคำตอบด้วยกัน
6 ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้อินโดนีเซียเป็นประเทศน่าลงทุน
มาดูกันว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจอินโดนีเซียมีความเนื้อหอม ใคร ๆ ก็อยากจะเข้ามาลงทุน Krungsri The COACH ได้สรุปมาเป็น 6 ข้อ ดังนี้
1. เศรษฐกิจอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน
มาดูข้อมูลกันสักนิด จากข้อมูลของทางศูนย์วิจัยกรุงศรี พบว่าปัจจุบันอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และมีแนวโน้มอัตราการเติบโตของ GDP อยู่ที่ร้อยละ 5 ต่อปีโดยเฉลี่ย
จากการเติบโตของ GDP ทำให้เห็นว่า
เศรษฐกิจของอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่และมีโอกาสเติบโตมากขึ้นอีกด้วย เมื่อเศรษฐกิจดีก็จะทำให้คนมีเงินมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าและบริการใหม่ ๆ ที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ดีขึ้น ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ที่ลงทุนในอินโดนีเซียสามารถขยายกิจการให้เติบโตต่อได้ ส่งผลต่อนักลงทุนอย่างพวกเราที่จะสร้างความมั่งคั่งได้มากขึ้นเช่นกัน
มีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นทุกปี
รู้ไหมว่า ปัจจุบันอินโดนีเซียมีจำนวนประชากรใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก โดยมีประชากรประมาณ 279 ล้านคน มีการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปีละ 2.73 ล้านคนต่อปี ในระหว่างปี 2020 - 2060
แน่นอนว่าเมื่อประเทศอินโดนีเซียจะมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เกิดความต้องการในการซื้อสินค้าและบริการมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะสินค้าพื้นฐาน เช่น สินค้าที่เป็นปัจจัย 4 และสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ส่งผลให้บริษัทเติบโตขึ้นได้จากความต้องการที่มากขึ้นอีกด้วย
ที่มา : worldpopulationreview.com ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2567
การผ่อนคลายกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุนของนักลงทุน
หนึ่งใน Mega Project ของรัฐบาลอินโดนีเซีย คือ การสร้างเมืองหลวงใหม่ที่ชื่อว่า นูซันตารา ซึ่งเป็นแผนลดความแออัดของกรุงจาการ์ตา จากข้อมูลของ ThaiPublica (23 October 2022) ทางรัฐบาลอินโดนีเซียจะมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับนักลงทุนและธุรกิจต่าง ๆ ที่จะเข้ามาช่วยกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองแห่งนี้ ได้แก่
- สิทธิประโยชน์ทางภาษี 30 ปี สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะที่มูลค่ามากกว่า 645,000 ดอลลาร์สหรัฐ
- สิทธิประโยชน์ทางภาษี 20 ปี สำหรับการลงทุนห้างสรรพสินค้า สถานที่ท่องเที่ยว และสิ่งอำนวยความสะดวก
- ประโยชน์จูงใจอื่น ๆ เช่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมต่าง ๆ
การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้จะทำให้นักลงทุนเห็นว่าการลงทุนในอินโดนีเซียสามารถประหยัดต้นทุนทางการเงินและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างมาก หากมาลงทุนในระยะยาวและรัฐบาลสามารถผลักดันโครงการนี้ให้เป็นไปตามแผนได้ก็ย่อมทำให้ธุรกิจที่เข้ามาร่วมโครงการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน
อินโดนีเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดี Joko Widodo ได้มีแผนการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งแผนนี้เรียกว่า National Strategic Project ที่รับผิดชอบโดย Committee for Acceleration of Priority Infrastructure (KPPIP) แน่นอนว่าโครงการนี้เป็นอีกหนึ่ง Mega Project ที่มีความสำคัญต่ออินโดนีเซียเป็นอย่างมาก
โครงการนี้มีการแบ่งการพัฒนาเป็น 15 กลุ่ม เช่น การพัฒนาถนน ยกระดับการคมนาคม สร้างไฟฟ้าและพลังงาน โทรคมนาคม เขื่อน รถไฟ เทคโนโลยี เป็นต้น รวมถึงการพัฒนา 2 โปรแกรมในโครงการไฟฟ้าและอุตสาหกรรมอากาศยานไปตามพื้นที่เกาะต่าง ๆ ของประเทศอินโดนีเซีย โครงการเหล่านี้เป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้เศรษฐกิจอินโดนีเซียพัฒนาขึ้นในระยะยาวอีกด้วย
ที่มา : kppip.go.id ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2560
การสนับสนุนสตาร์ตอัป
รัฐบาลอินโดนีเซียได้ให้ความสำคัญในการสร้างธุรกิจสตาร์ตอัป เพราะเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ช่วยในการขับเคลื่อนในการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย และช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียก็เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาก โดยได้ตั้งหน่วยงานดูแลสตาร์ตอัป 3 แห่ง ได้แก่
- Ministry of Cooperatives and SMEs เป็นกระทรวงที่ดูแลธุรกิจสตาร์ตอัปและ SMEs โดยเฉพาะ
- Creative Economy Agency หรือหน่วยงานพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่สร้าง Ecosystem ในการพัฒนาสตาร์ตอัป ที่รวมผู้สนับสนุนทุกภาคส่วน
- Indonesia Investment Coordinating Board เป็นหน่วยงานที่คอยเชื่อมโยงระหว่างสตาร์ตอัปและนักลงทุน
จะเห็นได้ว่าความสำเร็จของสตาร์ตอัปสัญชาติอินโดนีเซียมีให้เห็นอยู่มากมาย โดยเฉพาะแอปท่องเที่ยวอย่าง Traveloka ก็เป็นแอปที่คนไทยนิยมและคุ้นเคยเป็นอย่างดี และยังมีสตาร์ตอัปอีกมากมายที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น Super App, E-Commerce, บริการชำระเงิน และบริการทางการเงิน ซึ่งช่วยในการผลักดันเศรษฐกิจอินโดนีเซียให้เติบโตมากยิ่งขึ้น
ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติมากมาย อย่างเช่น นิกเกิล เป็นแร่ที่มีความสำคัญต่อ
เศรษฐกิจอินโดนีเซีย Nasdaq พบว่าประเทศอินโดนีเซียสามารถผลิตแร่นิกเกิลได้เป็นอันดับ 1 ของโลกในปี 2022 ด้วยปริมาณ 1.8 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็น 51% ของการผลิตทั่วโลกเลยทีเดียว
อย่างที่ทุกคนทราบดีว่า แร่นิกเกิลก็เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถ EV ที่กำลังอยู่ในเทรนด์การพัฒนา เพราะทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เมื่อคนหันมาใช้รถ EV มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะทำให้ความต้องการของแร่นิกเกิลเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน และอินโดนีเซียก็จะได้รับประโยชน์ในเรื่องนี้ในระยะยาว
ก่อนลงทุน มารู้จักความเสี่ยงในประเทศอินโดนีเซียกันสักนิด
อย่างไรก็ตามการลงทุนในอินโดนีเซียนั้นก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย โดยจะต้องพิจารณาและลงทุนอย่างระมัดระวัง ดังนี้
ภัยธรรมชาติ
เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียเป็นเกาะและยังมีภูเขาไฟอยู่มาก ทำให้ยังต้องระมัดระวังความเสี่ยงของภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นไฟป่า น้ำท่วม ตลอดจนภูเขาไฟระเบิด
ความเชื่อและวัฒนธรรม
เนื่องจากอินโดนีเซียมีภูมิประเทศเป็นเกาะและมีชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันอยู่มากมาย การเดินทางหรือไปทำธุรกิจในต่างถิ่นนั้นจึงมีความแตกต่างด้านความเชื่อ ศาสนา และเชื้อชาติ ที่จะต้องระมัดระวัง
อยากลงทุนให้เติบโตไปกับเศรษฐกิจอินโดนีเซียต้องทำอย่างไร
อย่าลืมว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียนั้นกำลังเป็นที่น่าจับตาและพลาดไม่ได้ในการลงทุน ซึ่งในปัจจุบันเราสามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมที่เน้นกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนหุ้นในกลุ่มประเทศเอเชีย และตลาด Emerging Market ได้ดังนี้
กองทุนรวม KFHASIA (ข้อมูลจากหนังสือชี้ชวน 28 มิถุนายน 2567)
- จุดเด่น : เป็นกองทุนที่เน้นกระจายลงทุนในตราสารทุนในกลุ่มประเทศเอเชีย ยกเว้น ญี่ปุ่น
- นโยบายการลงทุน : เป็นกองทุนประเภท Feeder Fund ลงทุนในหน่วยลงทุนของ Baillie Gifford Pacific Fund (Class B Acc) โดยกองทุนมุ่งหวังให้ได้รับประโยชน์จากการเคลื่อนไหวสูงกว่าดัชนีชี้วัด
- สัดส่วนการลงทุน : ลงทุนในจีน 35.20% อินเดีย 21.20% เกาหลีใต้ 15.30% ไตัหวัน 13.90% เวียดนาม 7.4%
- ความเสี่ยง : เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง (ระดับ 6)
- เหมาะกับ : นักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับสูง
กองทุนรวม KKP EMXCN-H (ข้อมูลจากหนังสือชี้ชวน 28 มิถุนายน 2567)
- จุดเด่น : เป็นกองทุนที่เน้นกระจายลงทุนในตราสารทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ยกเว้น จีน
- นโยบายการลงทุน : เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในกองทุนต่างประเทศ คือ iShares MSCI Emerging Markets ex China ETF (กองทุนหลัก) โดยมุ่งหวังให้ผลประกอบการเคลื่อนไหวตามกองทุนหลัก (Passive Fund)
- สัดส่วนการลงทุน : Taiwan Semiconductor Manufacturing 12.97% Samsung Electronics Ltd 5% Reliance Industries Ltd 2.02%
- ความเสี่ยง : เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง (ระดับ 6)
- เหมาะกับ : นักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับสูง
แม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจอินโดนีเซียมีความน่าสนใจต่อนักลงทุนและนักธุรกิจทั่วโลก แต่ Krungsri The COACH มองว่า สำหรับนักลงทุนรายย่อยอย่างเรา ๆ ควรศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนให้ถี่ถ้วน เพราะการลงทุนมีความเสี่ยงและเราจะต้องระมัดระวังอยู่เสมอ และที่สำคัญเราควรวางแผนแบบองค์รวม เน้นกระจายการลงทุน ไม่ลงธีมใดธีมหนึ่งหรือลงทุนแค่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง เพื่อลดโอกาสในการขาดทุน และเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนที่มากขึ้น
Disclaimer : *ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
ผลการดำเนินงานในอดีตของมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
อ้างอิง