เคยไหมครับ ที่วันหนึ่งตื่นขึ้นมาพร้อมกับความคิดว่า:
“ทำไม หันไปทางไหนก็มีแต่เพื่อน ๆ หรือคนรุ่นเดียวกันประสบความสำเร็จ ยกเว้นเรา”
“อายุวัยนี้แล้ว แต่ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันกับเขาเลย งานก็งั้น ๆ ชีวิตคู่ก็ไปไม่ถึงไหน”
“ที่ผ่านมา...เรามัวแต่ทำอะไรอยู่”
“เรากำลังมีความสุขอยู่จริง ๆ หรือเปล่า”
หลังจากอายุเลยวัย 30 เป็นต้นไป ช่วงนี้เป็นช่วงที่ใครหลาย ๆ คนเริ่มเจอกับวิกฤติวัยกลางคน (Mid-life crisis) ที่อาจเข้ามารบเร้าเร็วกว่าที่คิด อาจเป็นเพราะคนในยุคนี้ถูกเลี้ยงมาด้วยความคาดหวังจากพ่อแม่ ถูกปลูกฝังมาแต่เยาว์วัยในคอนเซ็ปต์
“โตขึ้น ลูกจะเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น...หากพยายามมากพอ”
กลายเป็น “กับดักแห่งความเฟล” ในชีวิตที่อาจเกิดขึ้นกับคนวัยนี้ เมื่อรู้สึกว่าตนเองยังไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างที่ตอนวัยรุ่นเคยวาดฝันไว้ด้วยไฟที่ลุกโชน
ยิ่งในปัจจุบันเราอยู่ในสังคมโซเชียลมีเดียที่หลายคนต่างอวดความสุขของชีวิตออกมาให้คนอื่นได้เห็น เพื่อนคนนั้นมีชีวิตที่ดี เพื่อนคนนี้ได้เลื่อนขั้น เพื่อนอีกคนกลายเป็นเจ้าของกิจการ จนเกิดการเปรียบเทียบขึ้นมาในใจแบบที่เราเองก็อาจไม่ทันตั้งตัว จนบางคนรู้สึกไม่มีความสุขกับชีวิต เริ่มไม่เชื่อมั่นในตัวเอง หนักไปก็กลายเป็นโรคซึมเศร้าเข้าจริง ๆ
หากสังเกตว่าตนเองเริ่มมีอาการแบบนี้ เรามี 5 แนวคิดดี ๆ มาฝากเพื่อให้ทุกคนสามารถผ่านวิกฤติวัยกลางคนไปได้ และกลับมามีความสุข มีพลังที่จะใช้ชีวิตต่อไปครับ
1. วิกฤติวัยกลางคนไม่ใช่วิกฤติ
แท้จริงแล้ววิกฤติวัยกลางคนไม่ใช่ “วิกฤติ” อะไรหรอกครับ แต่เป็นช่วงอายุที่โดน
ความคาดหวังจากสังคมเร่งรัด ทำให้เรามีสติหันมา
พิจารณาชีวิตตัวเองมากขึ้น เหมือนเป็นการถอยมาตั้งหลัก ทำให้เราได้ตระหนักทบทวนถึงชีวิตที่ผ่านมา
การจะเปลี่ยนแปลงหรือทำอะไรใหม่ไม่มีคำว่าสายเกินไป และอย่ากลัวในความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหากคิดจะเริ่มใหม่ในวัยนี้
2. พลิกวิกฤติ (วัยกลางคน) ให้เป็นโอกาส
ดีเสียอีก...อายุวัยสามสิบกว่า ๆ ถือว่าได้สั่งสมประสบการณ์ในชีวิตมามากพอตัว เราก็งัดเอาประสบการณ์เหล่านั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์เสียเลย เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาน่าจะทำให้เรารู้แล้วล่ะว่า เราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร งานไหนคือ
Passion สำหรับเรา งานไหนไม่ใช่ แค่ทำไปเพื่อเงินเดือน จึงเป็นโอกาสให้เราได้ “โฟกัส” กับการเลือกทางเดินในชีวิตมากขึ้น
“It is now or never.” ย้ำเตือนตนเองว่า ถ้าไม่เริ่มเปลี่ยนแปลงอะไรในวัยนี้ ก็อาจจะไม่มีโอกาสอีกเลยก็เป็นได้
3. อนุญาตให้ตัวเองมีความสุข
การที่เราไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างที่เคยหวังก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตนี้จะมีความสุขไม่ได้ อย่าลืมหาเวลาว่างให้กับตัวเองในการทำสิ่งที่ชอบ งานอดิเรกที่รัก ดื่มด่ำความสุขไปกับสิ่งเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ไม่เว้นแม้แต่งานง่าย ๆ อย่างเช่น ลุกขึ้นมาทำอาหารให้คนในครอบครัวทาน จัดเก็บโต๊ะ หรือล้างจาน งานเล็ก ๆ ที่เรามักจะผัดวันประกันพรุ่งเหล่านี้ สามารถเพิ่มพูนความสุขและช่วยให้เราโฟกัสกับชีวิตได้ดี
อย่าลืมพาตัวเองไปพบผู้คนใหม่ ๆ สถานที่ใหม่ ๆ ออกเดินทาง
ท่องเที่ยวบ้าง ผ่อนคลายสมองและจิตใจก็อาจช่วยให้เราได้แรงบันดาลใจใหม่ ๆ กลับมาครับ
4. อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ลู่วิ่งเราไม่เหมือนกัน
เพราะแต่ละคนเกิดมามีประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป ต้นทุนในชีวิตก็ต่างกัน พอถึงวัยทำงานจังหวะชีวิตของแต่ละคนยิ่งไม่เหมือนกัน และนิยามความสำเร็จของแต่ละคนก็แตกต่างกัน
หากเรากำลัง “วิ่งอยู่บนลู่ของผู้อื่น” เราจะไม่มีทางมองเห็นเส้นชัยของตัวเอง
เราต้องรู้ให้ได้ว่า นิยามความสำเร็จของเราตั้งเป้าไว้ที่ตรงไหน ความสำเร็จในแบบของเราเป็นอย่างไร วัดที่ความรวยหรือความสุข และเมื่อเจอแล้วก็วิ่งให้สุดแรงเลยครับ
5. สุขภาพที่ดีสำคัญที่สุด
ร่างกายคือสิ่งที่เราใช้อาศัยอยู่ชั่วคราว ไม่มีอะไหล่ เสียแล้วซ่อมยาก ฉะนั้นต้องรักษาเขาไว้ให้ดีครับ เพราะสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย หากเราไม่
รักษาสุขภาพ
ให้มุ่งมั่น
ออกกำลังกาย แล้วมองดูความมหัศจรรย์ของมัน จงท้าทายและก้าวข้ามขีดจำกัดไปเรื่อย ๆ แล้วเราจะเห็นว่าร่างกายของคนเราถูกออกแบบมาให้ทำอะไรได้อีกตั้งเยอะ ร่างกายจะกลายเป็น “ภาระ” หรือ “ตัวช่วย” ของเราในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรม
การรักษาสุขภาพของเราในวันนี้ครับ
วิกฤติวัยกลางคนเป็นเรื่องที่เกิดได้กับทุกคน แต่อย่าลืมว่าวิกฤติวัยกลางคนไม่ใช่ “วิกฤติ” แต่เป็นโอกาสให้เราได้ตั้งหลักทบทวนชีวิตของตัวเอง ลองนำ 5 แนวคิดนี้ไปทบทวนกันดูนะครับ การเตรียมพร้อมกับสภาวะนี้จะทำให้เราก้าวผ่านช่วงวิกฤติวัยกลางคนไปได้อย่างง่ายดาย