หลายคนสงสัยว่า ทำไมลงทุนในกองทุนรวมแล้วต้องแบกรับความเสี่ยงอีก วันนี้เรามาทำความเข้าใจกันครับว่า ความเสี่ยงกองทุนรวมมีอะไรบ้าง แล้วเรามีวิธีบริหารความเสี่ยงกองทุนรวมอย่างไร
ความเสี่ยงจากการลงทุนในกองทุนรวม
ในการลงทุนมีความเสี่ยงไม่มากก็น้อย กองทุนรวมก็เช่นกัน ความเสี่ยงกองทุนรวม เป็นความเสี่ยงจากสินทรัพย์ที่กองทุนนั้นลงทุน เช่น
- กองทุนรวมตราสารหนี้มีความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินผันผวน ความเสี่ยงที่เกิดจากการผิดชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร
- กองทุนรวมหุ้นมีความเสี่ยงที่เกิดจากการบริหารงานบริษัทที่กองทุนถือหุ้น ผลการดำเนินงาน หรือมีการเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหาร การเปลี่ยนแปลงของตลาดทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น
นนอกจากความเสี่ยงจากสินทรัพย์ในกองทุนรวมข้างต้น ความเสี่ยงกองทุนรวมยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่มีผลต่อตลาดโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา หรือผลกระทบทางการเมือง เป็นต้น
ความเสี่ยงกองทุนรวมจะมีการประเมินและระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนครับ ระดับความเสี่ยงโดยรวมของกองทุนจะแสดงไว้ในรูปของ Risk Spectrum จากระดับ 1 ถึง 8 โดยความเสี่ยงระดับ 1 หมายถึง กองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด/ความซับซ้อนต่ำที่สุด เช่น กองทุนรวมตลาดเงินที่ลงทุนในประเทศ โดยจะลงทุนเฉพาะพันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง หรือตราสารทางการเงินในประเทศที่มีอายุสั้นไม่เกิน 1 ปี ในขณะที่ความเสี่ยงระดับ 8 หมายถึง กองทุนที่มีความเสี่ยงมากที่สุด/ความซับซ้อนมากที่สุด เช่น กองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นทองคำ หรือน้ำมัน เป็นต้น
วิธีบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับกองทุนรวม
ความเสี่ยงกองทุนรวมสามารถบริหารได้ โดยการกระจายลงทุนในกองทุนให้เหมาะสมกับนโยบายการลงทุนของตัวเรา และความเสี่ยงที่รับได้ ในขั้นต้นเราสามารถทำแบบประเมินความเสี่ยงที่จัดทำโดยสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) แบบประเมินนี้สามารถหาได้ตามเว็บไซต์ของบริษัทหลักทรัพย์ โดยแบบทดสอบจะประเมินคำตอบเป็นคะแนนเพื่อวิเคราะห์ว่า เราสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน เช่น เป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ ควรลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินที่ลงทุนในประเทศ หรือหากลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมทองคำ ก็ไม่ควรเกิน 5% ของเงินลงทุนรวมทั้งหมด
วิธีกระจายความเสี่ยง
1
กระจายความเสี่ยงกองทุนรวมจากการดำเนินงานของกองทุน โดยลงทุนมากกว่า 1 กองทุน ถึงแม้กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นเหมือนกัน แต่อาจมีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกัน เช่น กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นปันผล และกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นเติบโตย่อมมีความผันผวนของราคาหุ้นในกองทุนที่แตกต่างกัน รวมถึงผลการดำเนินงานที่แตกต่างกันจากความสามารถในการบริหารของผู้จัดการกองทุน อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหลายกองทุนอาจสร้างภาระในการติดตามผลดำเนินงาน
2
กระจายความเสี่ยงกองทุนรวมจากสินทรัพย์ โดยลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายแตกต่างกัน เช่น นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อยอาจเน้นลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ แต่แบ่งเงินลงทุนบางส่วนไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้นเพื่อเพิ่มโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น หรือนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง อาจแบ่งเงินส่วนมากไปลงทุนทั้งในกองทุนรวมน้ำมัน กองทุนรวมหุ้น และบางส่วนในกองทุนรวมตราสารหนี้ โดยปรับเปลี่ยนสัดส่วนตามความเหมาะสมของช่วงชีวิต และช่วงเวลาตามเศรษฐกิจ
3
กระจายความเสี่ยงกองทุนรวมอันเนื่องมาจากความผันผวนของราคาสินทรัพย์ในกองทุน โดยลงทุนแบบ Dollar Cost Averaging (DCA) สินทรัพย์ เช่น หุ้น น้ำมัน ทอง ย่อมมีราคาขึ้นลงตลอดเวลา หากเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถคาดการณ์แนวโน้มของราคาสินค้า เราอาจใช้วิธีซื้อเฉลี่ย Dollar Cost Average (DCA) เช่น แบ่งเงินซื้อกองทุนหุ้นทุกเดือน เดือนละ 2,000 บาท วิธีนี้เป็นการเฉลี่ยราคาต้นทุน โดยเราสามารถซื้อหน่วยลงทุนมากขึ้นในเวลาที่มูลค่าหน่วยลงทุนต่ำ และได้จำนวนหน่วยลงทุนที่น้อยลง หากมูลค่าหน่วยลงทุนสูงขึ้น การลงทุนในกองทุนรวมแบบ DCA ทำให้เรามีวินัยในการออมทุกเดือน แถมไม่ต้องติดตามภาวะตลาดมากนัก
ขึ้นชื่อว่าการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง หากเราเข้าใจความเสี่ยงกองทุนรวม และรู้ว่าตัวเองสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน เราก็จะสามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม