ความเหงาเป็นภาวะทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้กับทุก ๆ คน ส่งผลต่อสุขภาพจิต และอาจทำลายสุขภาพในระยะยาวได้ ความเหงามีหลายระดับ ไม่จำเป็นว่าเหงาแล้วจะอยากปลีกตัวออกจากสังคม เพราะแม้แต่ในสังคมเมือง บางคนก็ยังรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนชายขอบที่ถูกละเลย อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสังคมไม่เก่ง หรือการอยู่ห่างไกลจากคนในครอบครัวและเพื่อนฝูง ทว่าในทางธุรกิจกระแสความเหงากลับสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจได้เช่นกัน
เหตุเกิดจากความเหงา
งานวิจัยเรื่อง
การตลาด Lonely in the Deep – เจาะลึกตลาดคนเหงา ของวิทยาลัยการจัดการ สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยมหิดล เผยข้อมูลตัวเลขตลาดคนเหงาในประเทศไทย พบว่ามีจำนวนสูงถึงกว่า 26.57 ล้านคน จากจำนวนประชากรรวมของไทย 66.4 ล้านคน คิดเป็น 40.4% โดยกลุ่มผู้มีภาวะความเหงาสูงสุดได้แก่ วัยทำงาน 49.3% วัยรุ่นวัยเรียน 41.8% วัยผู้ใหญ่ 33.6% และผู้สูงอายุ 24.5% ซึ่งกลุ่มวัยทำงาน อายุระหว่าง 23 – 40 ปี ครองอันดับสูงสุดในกลุ่มคนเหงาในไทย จึงสรุปได้ว่าวัยเรียนและวัยทำงานเป็นช่วงวัยที่เหงามากที่สุด
นอกจากนี้งานวิจัยยังชี้ให้เห็นว่าคนที่มีรายได้มากสามารถจัดการกับความเหงาได้ดีกว่าคนรายได้น้อย เพราะสามารถใช้จ่ายในการคลายเหงาได้ ส่วนคนรายได้น้อยมีภาระทางการเงินมาก จะยิ่งเหงามาก เพราะเงินเป็นปัจจัยหลักทำให้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการบางอย่างได้ เช่น ท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ก่อให้เกิดความเหงาทั้งสิ้น ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ คนมีแฟนต่างก็เหงาเช่นกัน สาเหตุคือแฟนของตนเองไม่มีเวลาให้ เมื่อเห็นคู่รักอื่นทำกิจกรรมร่วมกัน ยิ่งตอกย้ำความเหงาขึ้นไปอีก
กลยุทธ์เจาะตลาดคนเหงา
วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยกลยุทธ์ C M M U ที่จะปลดล็อกธุรกิจตอบโจทย์ตลาดคนเหงา สร้างความน่าสนใจ เพิ่มเอกลักษณ์ และสร้างความแตกต่างของธุรกิจได้สำเร็จ ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
- บรรยากาศรอบตัว (C: Circumstance) สร้างบรรยากาศไม่ให้รู้สึกว่าผู้บริโภคกำลังโดดเดี่ยว ทำให้เกิดธุรกิจคาเฟ่ Co-Working Space ร้านค้า ร้านอาหาร ต้องรู้จักการใช้ความได้เปรียบของพื้นที่สร้างกลยุทธ์มัดใจคนเหงา
- สื่อสารเหมือนเพื่อน (M: coMpanion) ทำการตลาดโดยเลือกสื่อสารกิจกรรมที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มคนเหงาผ่านโซเชียลมีเดีย ปรับรูปแบบการสื่อสารให้เป็นเหมือนเพื่อนคนหนึ่งที่คอยให้คำปรึกษา ตอบข้อสงสัยของบริการหรือผลิตภัณฑ์ได้
- ไม่ลืมกลุ่มคนเหงา (M: forget Me not) ส่งเสริมการตลาดพิเศษเพื่อเจาะกลุ่มคนเหงาโดยเฉพาะ ด้วยการออกโปรโมชั่น เช่น โปรตั๋วเครื่องบินเที่ยวคนเดียว หรือโปรโมชั่นต้อนรับช่วงเทศกาล
- ส่งเสริมกิจกรรมร่วม (U: commUnity) สร้างคอนเทนต์ ผลิตภัณฑ์ หรือกิจกรรมการตลาดที่แตกต่าง เพื่อเน้นให้กลุ่มเป้าหมายเกิดปฏิสัมพันธ์จนเกิดเป็นชุมชนพิเศษที่รวมตัวกันอย่างสม่ำเสมอ เช่น การจัดเวิร์กช็อป หรือสมาคมต่างๆ
ธุรกิจเพื่อคนเหงา
จาก 4 กลยุทธ์ดังกล่าว ส่งผลให้เกิดธุรกิจใหม่เพื่อรองรับตลาดคนเหงามากขึ้น ซึ่งธุรกิจที่จะได้ประโยชน์จากกลุ่มเหล่านี้
ประกอบไปด้วย
1. ธุรกิจคอมมูนิตี้ เช่น ร้านอาหาร คาเฟ่ บอร์ดเกม หรือการจัดอีเวนต์เฉพาะกิจเพื่อให้ออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน รวมไปถึงการจัดเวิร์กช็อปการเรียนรู้ในสาขาต่าง ๆ คนที่เข้าร่วมก็จะได้เจอเพื่อนใหม่ที่อยู่ในเครือข่ายอาชีพเหมือนกัน และมีความสนใจที่ใกล้เคียงกัน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ อย่างประเทศเกาหลี ที่อ้าแขนรับเทรนด์กินข้าวคนเดียว ร้านราเมนแห่งหนึ่งจึงผุดไอเดียจัดโต๊ะเป็นเคาน์เตอร์ยาว มีที่กั้นเปิดปิดเมื่อต้องการความเป็นส่วนตัวในระหว่างทานราเมน ในขณะที่ร้านเนื้อย่างบางแห่ง จัดร้านสำหรับนั่งคนเดียวโดยเฉพาะ แต่ละโต๊ะจะมีที่กั้น มีเตาแก๊ส และยังมีทีวีให้ดูเพลิน ๆ ที่โต๊ะของตัวเองอีกด้วย รับรองว่าถึงจะมาทานคนเดียว ก็ไม่รู้สึกเคาะเขินแน่นอน
2. ธุรกิจอสังหาฯ และ Co Working Space หรือเรียกว่าพื้นที่สาธารณะที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้มาทำงาน จะเป็นกลุ่ม หรือคนเดียวก็ได้ โดยพื้นที่แห่งนี้มีอุปกรณ์สำหรับทำงาน โต๊ะ เก้าอี้ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มีห้องประชุม โต๊ะกินข้าว ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากออฟฟิศที่อื่น ๆ แต่ที่พิเศษกว่านั้นคือบรรยากาศและการตกแต่งที่สร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน บางแห่งอาจมีร้านกาแฟเล็ก ๆ หรือมุมหนังสือรวมอยู่ด้วย Co-Working Space จึงเหมือนชุมชนย่อม ๆ ที่ทำให้พบปะคนทำงานจากหลายสาขาอาชีพ ส่วนใหญ่แล้วคนที่มาใช้บริการมักเป็นกลุ่มอาชีพอิสระ หรือบริษัทสตาร์ทอัพที่ไม่มีออฟฟิศเป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้น Co-Working Space จึงเหมาะกับคนที่มีความหยืดหยุ่นในการทำงาน
3. ธุรกิจสื่อสารแบบ
ดิจิทัล ผ่านช่องทางออนไลน์ที่เรารู้จักกันดีอย่าง Facebook, Twitter, Instragam หรือ LinkedIn โดยใช้แพล็ตฟอร์มเหล่านี้หาเพื่อนใหม่หรือรวมกลุ่มทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ ในสหรัฐอเมริกามีแอปพลิเคชั่น People Walk เพื่อหาเพื่อนออกกำลังกายด้วยกัน หรือเว็บไซต์ MeetUp ในประเทศไทยเอง ที่จะทำให้เราได้พบปะเพื่อนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน มีการจัดอีเวนต์ กิจกรรม ช่วยให้คนที่มีความสนใจเหมือน ๆ กัน มาพบปะและรวมกลุ่ม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ร่วมกันได้ ธุรกิจดิจิทัลจึงเหมาะสำหรับคนที่ใช้โซเชียลเป็นประจำ และดูจะเป็นการคลายเหงาที่ลงทุนน้อยที่สุด ใช้งานง่ายได้ทุกที่ทุกเวลา
4. ธุรกิจสัตว์เลี้ยง จากสถิติตลาดสัตว์เลี้ยงในประเทศไทย ปี 2561 พบว่ามีมูลค่า 32,230 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง 45% ธุรกิจการให้บริการสัตว์เลี้ยง เช่น โรงพยาบาล คลินิก สถานบริการรับฝากเลี้ยง โรงแรมที่พัก สปา 32% นอกจากนี้ที่มาแรงไม่แพ้กันก็คือบริการเช่าสุนัข ซึ่งในไทยก็เริ่มมีธุรกิจประเภทนี้แล้ว เหมาะสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน แต่ไม่มีเวลามากพอที่จะดูแลเอาใจใส่ ซึ่งการใช้บริการเช่าสุนัขก็เหมือนเป็นการทดลองว่าถ้าคุณซื้อไปแล้วมีความพร้อมที่จะดูแลสุนัขมากแค่ไหน
5. ธุรกิจท่องเที่ยว รูปแบบทัวร์อาสา หรือจัดกิจกรรมเพื่อสังคม สำหรับในต่างประเทศมีเว็บไซต์ Couchsurfing ที่เอาไว้ค้นหาที่พักฟรีและเพื่อนใหม่ โดยในเว็บไซต์ก็จะมีทั้งคนที่ต้องการหาที่นอนฟรี (Surf) และเจ้าบ้าน (Host) ที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวมาพักในบ้านของเขาได้ ซึ่งบริการของเว็บไซต์นี้ก็ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวคนรุ่นใหม่จำนวนมาก เหมาะสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับสถานที่นั้นมาก่อน แต่อยากจะเรียนรู้วัฒนธรรมแบบคนท้องถิ่นอย่างถึงพริกถึงขิงนั่นเอง
เห็นมั้ยครับว่าความเหงาเป็นภาวะที่ทุกคนต้องพบเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากแต่ในมุมกลับกันหากเรานำ Insight ของปัญหานี้มาตีโจทย์ทางธุรกิจ โดยใช้
ความคิดสร้างสรรค์เป็นแนวทางคลายความเหงาให้กับผู้คน ย่อมสร้างโอกาสในการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ ๆ ได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างสรรค์สังคม พัฒนาสุขภาพจิตของผู้ใช้บริการอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก
bltbangkok.com,
techsauce.co,
khaosod.co.th