ทันทีที่เฟซบุ๊กประกาศเปิดตัว Libra สกุลเงินดิจิทัล ที่จะเริ่มต้นใช้อย่างเป็นทางการในปี 2020 ก็สร้างแรงกระเพื่อมไปทั้งวงการเทคโนโลยี สถาบันการเงิน รวมไปถึงผู้ใช้งาน
เฟซบุ๊กเองก็ให้ความสนใจว่า Libra จะเขย่าแวดวงการเงินได้อย่างที่ Bitcoin เคยทำหรือไม่?
“Bitcoin, Bitcoin Cash, Ethereum, Ethereum Classic, Litecoin, Ripple, Stellar”
คุณเคยได้ยินชื่อเหล่านี้บ้างมั้ยครับ? นี่คือตัวอย่างสกุลเงินดิจิทัล (
Crypto Currency) ซึ่งที่โด่งดังและได้ยินบ่อยที่สุดก็คงหนีไม่พ้น Bitcoin อย่างไรก็ตามข้อจำกัดของเงินคริปโตคือมีมูลค่าที่ผันผวนมาก ราคาเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา ครั้งหนึ่งเคยมีมูลค่าสูงถึง 20,000 เหรียญฯ แต่กลับตกลงมาเหลือเพียง 3,000 เหรียญฯ ภายในเวลา 2 ปีเท่านั้น เงินดิจิทัลเหล่านี้จึงทำหน้าที่ของเงินได้ไม่ครบ เพราะยังไม่เป็นสื่อกลางในการชำระเงินและไม่ถูกใช้เป็นหน่วยกำหนดราคาสิ่งของ เพราะมูลค่าที่แท้จริงไม่คงที่ จึงกลายเป็นที่ดึงดูดและสนใจของนักเก็งกำไรที่เข้าไปเทรดบิทคอยน์ หรือเก็บไว้เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลมากกว่าซื้อของ การกำเนิดขึ้นของ Libra จึงเป็นการปลดล็อกปัญหาดังกล่าวของเงินคริปโต
สกุลเงินที่ใช้ร่วมกันทั่วโลก
Global Currency หรือสกุลเงินที่ใช้ร่วมกันทั่วโลก คือหนึ่งในจุดประสงค์หลักของ Libra คือการทำ
ธุรกรรมการเงินควรเป็นเรื่องง่ายที่ทุกคนเข้าถึงได้ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน โดยที่ไม่จำเป็นต้องพกเงินสด ลดความยุ่งยากของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน และเสริมศักยภาพให้กับคนทั้งโลกได้เข้าถึงบริการ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ในประเทศที่กำลังพัฒนา มีประชากรส่วนหนึ่งที่ไม่มีบัญชีธนาคาร หรือในบางวัฒนธรรมที่มีข้อกำหนดการใช้งานธนาคารของพลเมืองเพศหญิง แต่พวกเธอเหล่านี้ยังมีสมาร์ทโฟนและมีอินเทอร์เน็ตให้ใช้งาน ก็สามารถใช้ Libra ได้
นอกจากนี้สกุลเงินที่เราใช้จะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจระดับประเทศ และง่ายต่อการจัดการงบปริมาณควบคุมเงิน แต่ Libra ทำหน้าที่เป็นสกุลเงินกลางที่ไม่ว่าคุณจะอยู่ประเทศไหนก็ใช้ร่วมกันได้ ยังไม่นับว่าการทำธุรกรรมการเงิน โอนเงินไปต่างประเทศ ต้องเสียค่าธรรมเนียมทั้งผู้โอนและผู้รับ
มูลค่าคงที่
จุดแข็งของ Libra คือการเป็นเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่ (Stable Coin) โดยทุก ๆ เหรียญที่ใช้ จะยึดโยงกับสินทรัพย์ที่หนุนหลัง คือ Libra จะมีค่าก็ต่อเมื่อมีสินทรัพย์มาค้ำประกัน แล้วค่อยผลิตเงินออกไปตามมูลค่านั้น เพราะฉะนั้นสินทรัพย์ของ Libra จะต้องมีความมั่นคง ผันผวนต่ำ และมีสภาพคล่องสูง เช่น เงินฝากในธนาคารและพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นของรัฐบาลในแต่ละประเทศ ซึ่งนี่เป็นข้อแตกต่างจากเหรียญคริปโตประเภทอื่น Libra เป็นเหมือนตะกร้าของสินทรัพย์ในสกุลเงินต่าง ๆ เพื่อประกันความเสี่ยงจากการผันผวนของสกุลเงิน
นอกจากนี้กระบวนการส่งรับเงิน Libra ทำงานอยู่บน Libra Blockchain ซึ่งเป็นระบบกระจายศูนย์ (Decentralized) ข้อมูลทุกอย่างจะถูกเก็บและแชร์บนระบบทั้งหมด และมี Smart Contract ที่เขียนโค้ดด้วยภาษา Move ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันความปลอดภัยสูง รองรับการให้บริการในระดับ 1 พันล้านคนต่อวัน

“Calibra” กระเป๋าเงินดิจิทัล
หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วเราจะเก็บเงิน Libra ไว้ที่ไหน? คำตอบก็คือ เก็บไว้ที่กระเป๋าเก็บเงินดิจิทัล “Calibra” หน่วยงานใหม่จากเฟซบุ๊ก ที่ให้บริการแอปพลิเคชั่นในชื่อเดียวกัน หน้าที่หลักคือการเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลสำหรับรับส่งเงินสกุล Libra โดยที่แอป จะแยกออกมาต่างหากจากบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ซึ่งจะไม่มีการแชร์ข้อมูลส่วนตัวและการเงินหากไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ใช้งาน จึงไม่ต้องกังวลว่าถ้าบัญชีถูกระงับหรือโดนโจรกรรมข้อมูลแล้วเงินจะถูกขโมย อีกทั้งยังมีระบบการยืนยันตัวตนก่อนจะใช้เหรียญได้ ทั้งนี้เฟซบุ๊กคาดหวังว่า Calibra จะเป็นเครื่องมือหลักในการทำธุรกรรมการเงิน อีกทั้งค่าธรรมเนียมที่ต่ำไปจนถึงไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้การส่งเงินเป็นเรื่องง่าย ไม่ซับซ้อน เหมือนการส่งข้อความหากัน แม้ว่า Calibra จะเป็นแอปที่แยกตัวออกมา แต่ก็สามารถใช้งานร่วมกับ Messenger และ WhatsApp ได้เช่นกัน

Libra Association
แม้ว่าเฟซบุ๊กจะเป็นผู้คิดค้นและพัฒนา Libra แต่เพื่อความโปร่งใสและการกระจายอำนาจบริหาร จึงมีการจัดตั้งสมาคม Libra Association โดยมีสำนักงานใหญ่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งสมาคมนี้ทำหน้าที่เป็นธนาคารกลาง บริหารจัดการสินทรัพย์ เพื่อรักษามูลค่าของ Libra และยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนอื่น ๆ มาพัฒนาร่วมกันได้ โดยในระยะแรกเฟซบุ๊กจะมีบทบาทหลักร่วมกับผู้ก่อตั้งอีก 27 องค์กร จากสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และองค์กรไม่แสวงหากำไร อันประกอบไปด้วย Mastercard, Paypal, VISA, eBay, Spotify และ Blockchain Community เป็นต้น แต่หลังจากปีหน้าเฟซบุ๊กจะลดบทบาทของตัวเองเป็นเพียงสมาชิกรายหนึ่ง ที่มีสิทธ์เท่ากับองค์กรอื่น ๆ ที่ร่วมก่อตั้ง และยังคาดว่าจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นประมาณ 100 องค์กร ภายในครึ่งแรกของปี 2020 การก่อตั้ง Libra Association และมอบอำนาจในการบริหารให้องค์กรอิสระ ยังเป็นการกอบกู้ชื่อเสียงของ เฟซบุ๊ก หลังจากที่ถูกโจมตีเรื่องการป้องกันข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานอีกด้วย
นักวิเคราะห์ทางการเงินคาดว่ารายได้หลักของ Libra และ Calibra จะมาจากการเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ใช้งานและผู้ประกอบการที่ร่วมลงทุนด้วย ในอนาคต Libra อาจจะถูกนำไปใช้กับบริการอื่น ๆ ของเฟซบุ๊ก เช่น การซื้อโฆษณา การ Boots Post ก็เป็นได้
การคิดค้น Libra นับว่าเป็นก้าวใหญ่สำคัญของเฟซบุ๊ก แน่นอนว่าย่อมมีผู้ได้เปรียบและเสียเปรียบจากนวัตกรรมนี้ ที่เห็นได้ชัดคือเฟซบุ๊กได้ขยายเครือข่ายจากการเป็นแพล็ตฟอร์มโซเชียล สู่ธุรกิจการเงินออนไลน์ระดับโลก โดยมีข้อได้เปรียบจากการมีผู้ใช้งานหลายล้านคน อันนำไปสู่โอกาสการใช้บริการของ Libra ได้นั่นเอง