“ความเร็ว” หนึ่งในกุญแจสำคัญของการทำงานภายใต้ยุคดิจิทัล และ
โลกแห่งการทำงานในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความท้าทายใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมผู้คนที่เปลี่ยนไป หรือเทรนด์ใหม่ ๆ ที่ออกมาจนแทบตามไม่ทัน ทำให้ทั้งคนทำงานและองค์กรจำเป็นต้องเรียนรู้ และปรับตัวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านชีวิต และการทำงาน
ยิ่งในตอนนี้ เทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อชีวิตในแทบทุกมิติ ตั้งแต่ลืมตาตื่นยันเข้านอนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งทำให้น่าคิดว่าในอีกหลายสิบปีข้างหน้าทุกอย่างจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน ดังนั้น การมีทักษะพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อปรับตัวสู่ Digital Transformation และรองรับความหลากหลายของเทคโนโลยีหรือเครื่องมือต่าง ๆ ที่ช่วยให้ใช้ชีวิตและทำงานได้อย่างราบรื่นย่อมดีกว่าเป็นไหน ๆ ซึ่งทักษะพื้นฐานที่ว่านี้ก็คือ “การรู้ดิจิทัล” หรือที่เรียกว่า “Digital Literacy”
แล้วทักษะ “Digital Literacy” คืออะไร?
Digital Literacy คือ ความสามารถในการเข้าใจ เข้าถึง และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญที่ทุกคนควรมี เพราะทักษะนี้เป็นตัวช่วยในการต่อยอดไปสู่ทักษะอื่น ๆ ที่เฉพาะเจาะจงกับสายอาชีพมากขึ้น
พูดง่าย ๆ ก็คือ การเข้าใจเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานที่ต้องใช้ในองค์กร และทำงานร่วมกับผู้อื่น เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ การใช้โปรแกรมนำเสนองาน การใช้ Zoom เพื่อทำงาน หรือ
ประชุมออนไลน์ รวมถึงการใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อความปลอดภัยของข้อมูล เพราะเมื่อองค์กรปรับการทำงาน และนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อใด แต่พนักงานไม่เรียนรู้ และปรับตัวก็จะทำให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้ยาก
หรือถ้าเป็นสายงานที่ต้องการทักษะเฉพาะทางขึ้นไปอีก เช่น Digital Marketing ก็ควรรู้ Tools พื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำงาน เช่น การเก็บข้อมูลผู้เข้าชมเว็บไซต์ผ่าน Google Analytics การทำ SEM (Search Engine Marketing) ผ่าน Google Ads หรือมีความรู้ความเข้าใจในความแตกต่างของแต่ละแพลตฟอร์ม เพื่อสามารถนำไปวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก หรือวางกลยุทธ์ต่อได้
และเมื่อพนักงานขาดทักษะ Digital Literacy ก็อาจส่งผลให้การทำงานติดขัด การประสานงานยากขึ้น จนสุดท้ายผลงานที่ออกมาหรือตัวองค์กรนั้นยังมีความ “ช้า” อยู่ แม้จะนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้แล้วก็ตาม และถ้าองค์กรไม่เตรียมความพร้อมให้พนักงานตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็อาจทำให้พวกเขาประสบกับความยากลำบากที่ต้องมาทำความเข้าใจเทคโนโลยีภายหลัง จนนำไปสู่
ภาวะหมดไฟในการทำงาน ที่สุดท้ายอาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นที่พนักงานตัดสินใจลาออกได้
จึงเป็นคำตอบว่าทำไม Digital Literacy ถึงเป็นหนึ่งใน
ทักษะที่ทุกคนในยุคนี้ควรมี โดยเฉพาะคนทำงาน ที่เป็นกำลังสำคัญของการขับเคลื่อน และปรับองค์กรให้เข้ากับดิจิทัลได้ แล้วองค์กรจะช่วยพัฒนาทักษะนี้ให้พนักงานได้อย่างไร? ผมได้สรุป 4 คำแนะนำที่น่าสนใจจาก Builtin มาฝากกันครับ
1. มีเป้าหมายที่ชัดเจน
ก่อนที่องค์กรจะผลักดันให้พนักงานพัฒนาทักษะ Digital Literacy ทั้งจากการสอนงาน การฝึกอบรม หรือไม่ว่าจะเป็นวิธีใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่ควรทำเป็นอันดับแรก คือ “การมีเป้าหมายที่ชัดเจน” เพื่อให้พนักงานรู้ว่ากำลังทำอะไรหรือทำไปเพื่ออะไร เช่น ทักษะนี้มีความสำคัญต่อองค์กรอย่างไร? องค์กรคาดหวังให้พนักงานพัฒนาในทิศทางไหน? รวมถึงอาจเพิ่มแรงจูงใจให้พนักงานในรูปแบบรางวัลหรือโบนัสก็ได้
2. วางกลยุทธ์อย่างเหมาะสม
หลายองค์กรมักจะส่งเสริมให้พนักงานพัฒนาทักษะก็ต่อเมื่อมีโปรเจกต์ใหญ่ ๆ เข้ามา มีเทคโนโลยีเกิดใหม่ หรือต้องร่วมงานกับพันธมิตรทางธุรกิจ ทำให้ทุกกระบวนการเรียนรู้ต้องเร่งรีบไปหมด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการพัฒนาที่ดีไม่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาสั้น ๆ เพราะการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพต้องค่อยเป็นค่อยไป ผสานกับการลงมือทำจริงเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น องค์กรจำเป็นต้องวางแผนการพัฒนาทักษะอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่มาเร่งเมื่อจำเป็นทีเดียว
3. ปรับการเรียนรู้ให้หลากหลาย
การพัฒนาของเทคโนโลยีทำให้ในปัจจุบันมีช่องทางการเรียนรู้ที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การอ่านหนังสือ การเรียนออนไลน์ การเรียนแบบตัวต่อตัว หรือการเรียนผ่าน
เทคโนโลยี VR ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า โดยองค์กรสามารถนำประโยชน์ของเทคโนโลยีเหล่านี้มาออกแบบและพัฒนาการเรียน เพื่อให้พนักงานมีทางเลือกในการพัฒนาตัวเองที่หลากหลาย เพราะบางคนชอบเรียนด้วยตัวเอง ส่วนบางคนชอบเรียนกับผู้สอนโดยตรง หากมีทางเลือกที่หลากหลายก็จะทำให้พนักงานสนุกกับการเรียนมากขึ้น
4. ประเมินผลการเรียนรู้
เมื่อพูดถึงการประเมินทีไร เชื่อว่าหลายคนคงเหนื่อยหน่ายไปตาม ๆ กัน แต่ก็ต้องบอกว่าการวัดผลนั้นสำคัญมากทีเดียวครับ เพราะทำให้รู้ว่าการพัฒนาทักษะดิจิทัลเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ สามารถนำมาใช้ได้จริงตามวัตถุประสงค์มากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ไม่ควรประเมินทันทีหลังการเรียนหรือฝึกอบรมจบ เพราะพนักงานอาจยังไม่ได้นำทักษะดิจิทัลมาปรับใช้กับการทำงานได้อย่างเต็มที่ อาจประเมินโดยอิงจากรอบไตรมาสหรือตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ในอนาคตของการทำงานต่อไปนี้จะก้าวสู่โลกดิจิทัลอย่างรวดเร็ว “Digital Literacy” จึงเป็นอีกหนึ่งทักษะที่ไม่ควรมองข้ามเลย แม้หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เมื่อใดก็ตามที่นำ
เทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ แล้วพบว่าพนักงานส่วนใหญ่ยังคงขาดทักษะพื้นฐานทางดิจิทัลอยู่ ก็จะทำให้ยากที่จะปรับตัวให้ทัน รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานในภาพรวมขององค์กรอีกด้วย
เห็นไหมครับว่าการที่องค์กรจะปรับตัวและไปต่อได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่างด้วยกัน ทั้งผู้นำ คนในองค์กร รวมถึงเครื่องมือต่าง ๆ เพราะหากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปก็ยากที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทาย ยากที่จะไปต่อหรือปรับตัวภายใต้การเปลี่ยนแปลง
Reference:
- 4 Key Elements of Successful Digital Literacy in the Workplace
https://bit.ly/39aYiZY