แปลงพื้นที่เล็ก ๆ ให้เป็นรายได้ก้อนโต ร้านที่ประสบความสำเร็จในสถานีญี่ปุ่น

แปลงพื้นที่เล็ก ๆ ให้เป็นรายได้ก้อนโต ร้านที่ประสบความสำเร็จในสถานีญี่ปุ่น

By เกตุวดี Marumura

รถไฟ เป็นวิธีการเดินทางหลักของคนญี่ปุ่น ทั้งเดินทางไปทำงาน ไปเที่ยว หรือไปช้อปปิ้ง
 
สถานีใหญ่ ๆ เช่น สถานี JR ชินจูกุนั้น มีผู้ใช้บริการถึงวันละ 1.5 ล้านคน คิดเป็นเกือบ 10 เท่าของผู้ใช้บริการสถานีสยาม
 
การที่มีผู้คนใช้บริการเป็นจำนวนมาก นำไปสู่โอกาสทางธุรกิจมหาศาลสำหรับหลายธุรกิจเช่นกัน บทความนี้ ขอแนะนำธุรกิจ 2 ประเภท ที่ประสบความสำเร็จในการแปลงพื้นที่เล็ก ๆ ให้กลายเป็นธุรกิจร้อยล้านได้

Soup Stock Tokyo

1. Soup Stock Tokyo ...​ร้านที่ขายซุปเพียงอย่างเดียว

เมนูร้านนี้ มีเพียงสัปดาห์ละ 8 อย่าง และทุกอย่าง คือ .... “ซุป”
 
Soup Stock Tokyo ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1999 โดยจำหน่ายซุปชนิดต่าง ๆ เช่น ครีมซุปผัก ซุปมะเขือเทศกุ้ง หรือซุปข้าวต้มปลากะพง ลูกค้าอาจสั่งข้าวหรือขนมปัง ทานคู่กับซุปได้ ในช่วงเวลากว่า 20 ปีนี้ Soup Stock Tokyo พัฒนาซุปกว่า 200 ชนิด เพื่อไม่ให้ลูกค้าเบื่อ ทุกสัปดาห์ จะมีซุปชนิดใหม่ ๆ รอลูกค้าให้มาลิ้มลองเสมอ
 
แล้วใคร คือ ลูกค้า?
 
คำตอบ คือ สุภาพสตรีทั้งหลายค่ะ
 
ปกติ ร้านอาหารตามสถานีรถไฟ จะเป็นร้านบะหมี่โซบะยืนทาน ร้านข้าวหน้าเนื้อ หรือร้านเทมปุระ ซึ่งเป็นร้านที่ผู้ชายมักไปยืนทานอย่างรวดเร็ว สาวญี่ปุ่นจึงไม่ค่อยกล้าเข้าร้านอาหารประเภทนี้
 
ร้าน Soup Stock Tokyo จึงกลายเป็นโอเอซิสของสาว ๆ ที่ต้องการหาอะไรทานไว ๆ ขณะเดียวกัน ดีต่อสุขภาพ
 
Soup Stock Tokyo

ทางร้านเองก็เล็งเห็นโอกาสนี้ โดยทำร้านให้ดูโปร่ง สว่าง ใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้ ทำให้ผู้หญิงเดินเข้าร้านง่ายขึ้น และทำที่นั่งเป็นเคาน์เตอร์ เพื่อให้ผู้หญิงที่มาคนเดียวสามารถนั่งได้สะดวก
 
ปัจจุบัน Soup Stock Tokyo มีสาขาทั้งหมด 58 สาขา และสร้างรายได้เกือบ 3,000 ล้านบาท ... เพียงแค่จากการขายซุป

2. ร้านเครป โคโรตโตะ (Korot)

โคโรตโตะ เป็นแบรนด์ร้านเครปในโตเกียว จุดเด่น คือ การห่อเครปเป็นชิ้นเล็ก ๆ ทำให้ลูกค้าสามารถหยิบทานได้ง่าย และไม่ต้องเสียเวลารอคนขายนั่งทำเครปทีละแผ่นเหมือนร้านเครปเจ้าอื่น ราคาก็เป็นมิตรภาพกับผู้บริโภค เพราะขายเพียงชิ้นละ 216 เยน (ประมาณ 70 บาท) เท่านั้น
 
เครป โคโรตโตะ (Korot)
เครปไซส์กะทัดรัด ทานง่าย

ปัจจุบัน โคโรตโตะ มีสาขาทั้งหมด 20 แห่ง โดยกว่าครึ่งหนึ่ง อยู่ตามสถานีรถไฟใต้ดินในโตเกียว

คุณผู้อ่านคิดว่า ใครเป็นลูกค้าของร้านเครปแห่งนี้คะ ?

ไม่ใช่ผู้หญิง  .... ไม่ใช่เด็กนักเรียนสาวม.ปลาย

แต่เป็น .... มนุษย์เงินเดือนผู้ชายค่ะ

ทางร้านมีเทคนิคในการดึงดูดลูกค้าดังต่อไปนี้

หนึ่ง นำภาพเครปอร่อย ๆ มาทำเป็นป้ายร้านขนาดใหญ่ เพื่อให้ลูกค้าสามารถมองเห็นได้แต่ไกลว่า นี่คือ ร้านเครป  
 
เครป โคโรตโตะ (Korot)
ด้านขวาของภาพ คือ ภาพเครปขนาดใหญ่ เดินมาแต่ไกลก็ต้องเห็น

สอง จุดเด่นของเครป คือ เป็นขนมชิ้นเล็ก ๆ ดูดี แต่ราคาไม่แพง ทำให้มนุษย์เงินเดือนสามารถแวะซื้อไปฝากลูกน้องที่แผนก หลังจากไปพบลูกค้า หรือซื้อกลับไปฝากครอบครัวได้
 
นอกจากนี้ เครปโคโรตโตะยังมีหลายรส และมีบริการใส่กล่องสวยงาม เหมาะกับการซื้อเป็นของฝากติดไม้ติดมือเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้
 
เครป โคโรตโตะ (Korot)

สาม จุดเด่นที่สำคัญอีกประการ คือ บริการรวดเร็ว สำหรับคุณพ่อที่จะรีบกลับบ้าน หรือมนุษย์เงินเดือนที่จะรีบกลับบริษัทนั้น พวกเขาไม่มีเวลาแวะเข้าห้างสรรพสินค้าเพื่อซื้อของ ร้านโคโรตโตะจึงตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากพวกเขาสามารถแวะไปเลือกที่ตู้ ระหว่างเดินไปสถานีรถไฟ รีบเลือก รีบซื้อ รีบถือกลับได้
 
สาขาที่ขายดี เช่น สาขาสถานี Yurakucho นั้น สามารถขายได้ถึงวันละ 1,000 ชิ้นเลยทีเดียว
 
ข้อดีสำหรับร้านโคโรตโตะเอง คือ ทางแบรนด์ไม่ต้องใช้พื้นที่ขายเยอะ เพียงแค่มีพื้นที่เล็ก ๆ เพียง 6 ตารางเมตร ให้พอวางตู้แช่ กับที่ให้พนักงานยืน ก็พอทำรายได้ได้แล้ว
 
เดือนหนึ่งนั้น สาขาที่ขายดีของร้านโคโรตโตะมียอดขายถึงเดือนละ 4 ล้านเยน (ประมาณ 1.2 ล้านบาท) หรือสร้างรายได้ได้ตารางเมตรละ 2 แสนบาทเลยทีเดียว

Lesson Learned

1. การออกแบบสินค้าหรือบริการให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

กรณีร้านซุป Soup Stock Tokyo นั้น ลูกค้า คือ สุภาพสตรี อาหารจึงออกมาแนวดีต่อสุขภาพ ส่วนร้านเครปโคโรตโตะนั้น ลูกค้า คือ ผู้ชาย จึงเน้นการให้บริการอย่างรวดเร็ว

2. การค้นพบความต้องการของลูกค้า

ทั้ง 2 ร้าน สามารถหาความต้องการของลูกค้าที่ยังไม่มีร้านใดมองเห็นได้ เช่น ร้านซุป พบว่า ผู้หญิงอยากทานอาหารเร็ว ๆ ดีต่อสุขภาพ แต่ก็ไม่กล้าเข้าไปทานที่ร้านอาหารตามสถานี เพราะมีแต่ผู้ชาย ส่วนร้านเครป ก็พบว่า ผู้ชายต้องการของฝากติดไม้ติดมือเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่อยากเสียเวลาเดินหา

3. รูปแบบธุรกิจที่เหมาะกับสถานีรถไฟ

หัวใจของร้านค้าตามสถานีรถไฟของญี่ปุ่นนั้น คือ อัตราการหมุนเวียนของลูกค้า ยิ่งลูกค้าอยู่ในร้านใช้ระยะเวลาน้อยเท่าไร ทางร้านยิ่งได้เปรียบ เนื่องจากค่าเช่าที่สถานีรถไฟนั้นสูงมาก ดังเช่นร้าน Soup Stock Tokyo เจาะกลุ่มผู้หญิงที่มาทานคนเดียว รีบทาน รีบไป  อัตราการหมุนเวียนลูกค้าจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่วนร้านเครปโคโรตโตะ ก็ไม่ยอมเสียเวลาทำเครปสด ๆ เพื่อให้ลูกค้าทาน แต่กลับพยายามหาวิธีพัฒนาเครปห่อสำเร็จรูป เพื่อให้ลูกค้าผู้ชายซื้อไปเป็นของฝากได้โดยไม่เสียเวลา
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow