ไขความลับของประเทศญี่ปุ่นที่ไม่ได้มีดีแค่นวัตกรรมทันสมัย แต่ยังเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่จะช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดและสร้างแบรนด์ให้เติบโต
บทความฉบับนี้อยากชวนคุณมาดูไอเดียเก๋ ๆ ที่นักการตลาดญี่ปุ่นใช้เล่นแร่แปรธาตุ สร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ พร้อมสื่อสารไปอย่างดีเยี่ยมกันนะคะ
1. แปลงทรัพยากรที่ไม่มีใครเหลียวแล ให้เกิดประโยชน์
ในอดีต คนญี่ปุ่นปลูกไม้ไผ่เป็นจำนวนมากเพื่อเก็บหน่อไม้ และทำธุรกิจจักสาน แต่ปัจจุบัน สินค้าเหล่านี้ถูกทดแทนด้วยสินค้าจากจีนซึ่งต้นทุนถูกกว่า ป่าไผ่จำนวนมากถูกทิ้งไว้ ทำให้ทางรัฐบาลต้องจัดคนมาคอยตัด เพื่อไม่ให้ป่าไผ่รุกล้ำกินพื้นที่ต้นไม้พันธุ์อื่น ไม้ไผ่ที่ถูกตัดก็จะถูกเผาทิ้ง เนื่องจากหากนำไปแปรรูป ต้นทุนค่าแรงจะสูงมาก
บริษัท Chuetsu Pulp Industry ผู้ผลิตกระดาษอุตสาหกรรม เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ ต้องการเข้ามาช่วยแปลงไม้ไผ่เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น โดยนำมาทำเป็นกระดาษ แต่หากทำกระดาษธรรมดา ต้นทุนจะสูงมากเนื่องจากตรงกลางปล้องไผ่เป็นอากาศ มีเนื้อไม้น้อย ไม่คุ้มค่าตัดและค่าขนส่ง ทาง Chuetsu จึงตัดสินใจทำกระดาษจำหน่ายผู้บริโภคแทน เนื่องจากสามารถตั้งราคาสินค้าสูงขึ้นได้ ไม่ขาดทุน
ปัญหาคือ จะทำอย่างไรให้กระดาษจากไม้ไผ่ดูมีเสน่ห์ขึ้นมาได้ ตลอดจนสามารถสื่อเรื่องราวการช่วยเหลือไม้ไผ่ของทางบริษัท
ทาง Chuetsu จึงร่วมกับบริษัทดีไซน์ Minna ออกแบบและสร้างแบรนด์ “Meets TAKEGAMI” ขึ้น ชื่อแบรนด์ก็สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา แปลว่า พบกระดาษไม้ไผ่กัน สินค้าภายใต้แบรนด์นี้ มีทั้งกระดาษโน้ต สมุด กระดาษโพสท์อิท กระดาษเขียนคำอวยพร แต่ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์แบบใด ล้วนสื่อถึงไม้ไผ่ทั้งสิ้น เช่น ...
สมุดโน้ตกระดาษไม้ไผ่ธรรมดา
แต่หากวางไว้บนชั้นหนังสือ ก็ชวนนึกถึงซี่ไม้ไผ่ หากม้วน ก็เหมือนต้นไผ่จริง ๆ
กระดาษโน้ตที่เป็นลายต่าง ๆ เกี่ยวกับต้นไผ่ เช่น วงไม้ ลายเนื้อไม้ไผ่
หากวางซ้อนกัน ก็ดูเหมือนลำไผ่สวยงาม จัด Display ที่ร้านก็ดูสวยโดดเด่น
Credit: haconiwa
การนำทรัพยากรที่เหมือนไร้ค่า ถูกโยนทิ้ง มาเขย่าใหม่ ใส่คุณค่าด้วยเรื่องราวและบรรจุภัณฑ์ที่สะท้อนเอกลักษณ์ของสินค้านั้น ก็สามารถสร้างความแปลกใหม่ และสร้างรายได้ให้กับบริษัทเช่นกันค่ะ
2. แปลงบริการ “ราคาถูก” ให้เป็นบริการที่ “น่าเข้าหา”
ปกติ การฟอกฟันขาวในเมืองไทยราคาหลักพันบาทขึ้นไป ส่วนที่ญี่ปุ่น หากไปให้คลินิกฟอกฟันขาวนั้น ราคาสูงถึง 1-2 หมื่นเยนขึ้นไป (5 พันบาทขึ้น)
ร้าน SiroQ (อ่านว่า “ชิโรขุ” แปลว่า ขาวขึ้น) ได้คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ที่ลูกค้าสามารถฟอกฟันได้ในเวลาแค่ 10 นาที ส่วนราคานั้น ถูกอย่างไม่น่าเชื่อ แค่ ...หนึ่งพันเยนหรือสามร้อยกว่าบาทเท่านั้น
กลยุทธ์การลดต้นทุนของทางแบรนด์ง่ายมากค่ะ ทางร้านจะจัดเตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดและฟอกฟันให้ ลูกค้าเป็นผู้ฟอกฟันเองหมด บนโต๊ะจะมีแท็บเล็ตวาง คอยจับเวลาและแนะนำลูกค้าทีละขั้นตอน การปรับโมเดลธุรกิจใหม่นี้ ทำให้ร้าน SiroQ สามารถให้บริการลูกค้าได้ต่ำกว่าคลินิกทำฟันเจ้าอื่น ขณะเดียวกัน ให้บริการที่ดีกว่าชุดฟอกฟันขาวที่ใช้ฟอกเองที่บ้าน เพราะมีไฟ LED ฉายให้ฟันขาวขึ้นจริง เหมือนบริการที่คลินิก
ทุกอย่างฟังดูเหมือนดี ... แต่หากนักการตลาดมาฟังไอเดียนี้เข้า คงส่ายหัว เพราะหากมองในมุมของลูกค้า การฟอกฟันขาวเป็นเรื่องใกล้ตัว การตั้งราคาถูกเกินไป อาจทำให้ลูกค้ากลัว ไม่มั่นใจว่า สะอาด ปลอดภัยดีหรือเปล่า แต่หากตั้งแพงไป ลูกค้าก็จะรู้สึกไม่คุ้ม เพราะตัวเองต้องขัดฟันฉายแสงทุกอย่างเองหมด
และนี่ ... เป็นหน้าที่ของการตลาดค่ะ
โจทย์ของ SiroQ คือ ทำอย่างไรที่จะให้ลูกค้าไม่รู้สึกว่า “ร้านฟอกฟันขาวได้ภายใน 10 นาที ราคา 1,000 เยน” เป็นร้านราคาถูก ไม่น่าไว้ใจ
คอนเซ็ปต์ที่ทางร้านพยายามสื่อ จึงเป็นร้านที่เป็นมิตร น่าเข้า และมีความสดชื่น
ดูเผิน ๆ เหมือนเป็นร้านกาแฟ
เซ็ทอุปกรณ์ พร้อมแท็บเล็ตอธิบาย
ในร้าน กั้นเป็นส่วน ๆ เรียบร้อย เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกเป็นส่วนตัว
Credit: @Press
นอกจากนวัตกรรมฟอกฟันแบบใหม่ ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้แล้ว ทางแบรนด์ยังใส่ใจความรู้สึกของลูกค้า ทั้งความรู้สึกกลัวของถูก และความรู้สึกอยากเป็นส่วนตัว ไม่อยากให้ใครเห็น ทางร้านจึงจัดบรรยากาศเป็นอย่างดี ผ่านทางป้ายหน้าร้าน สี การตกแต่ง การบริการทั้งหมดค่ะ
3. แปลงวัฒนธรรม 3 พันปีให้เป็นวัฒนธรรมใกล้ชิด น่าใช้
คนญี่ปุ่นมีธรรมเนียมการแช่น้ำร้อนเพื่อผ่อนคลายเป็นเวลานาน ทั้งแช่น้ำแร่ออนเซ็น และแช่น้ำร้อนธรรมดาที่บ้านเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น ว่ากันว่า วิถีชีวิตเช่นนี้ส่งต่อกันมาตั้งแต่กว่าสามพันปีก่อนทีเดียว
ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำร้อนแบบใด อุปกรณ์ส่วนใหญ่ที่คนญี่ปุ่นใช้ คงหนีไม่พ้นเก้าอี้นั่ง ผ้าขนหนู กะละมังเล็ก (ไว้ซักผ้าขนหนูที่ใช้ขัดตัว) กระบวยตักน้ำ
Credit: LDK30.9 cocolog nifty
แบรนด์ Yuiro เป็นแบรนด์ที่บริษัทผ้าขนหนูชื่อดังสร้างขึ้นมา จุดประสงค์ คือ เพื่อให้คนยังสนุกและรู้สึกดีในการแช่น้ำร้อนอยู่ ขณะเดียวกัน ปรับให้สินค้าเข้ากับยุคสมัย เช่น ...
Credit: YUIRO
กะละมังไม้ ใช้เทคนิคการเพ้นท์สีที่ก้นกะละมัง ทำให้รู้สึกเหมือนมีวัตถุลอยอยู่จริง ๆ
เก้าอี้นั่งทรงภูเขาไฟฟูจิสีหวาน
Credit: Yutty
ตะกร้าใส่อุปกรณ์อาบน้ำ
Credit: YUIRO
เก้าอี้ที่ใช้นั่งในห้องน้ำ
Credit: Rakuten
แม้รูปแบบของสิ่งของนั้น ๆ ยังคงอยู่ แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ความชอบ แฟชั่น รสนิยมของผู้คนย่อมแปรผันไป Yuiro จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของการหยิบเอาวัฒนธรรมเก่าแก่มาปัดฝุ่นใหม่ ให้ดูทันสมัย น่าใช้ยิ่งขึ้น