เพราะใจสู้...จึงสำเร็จ
นี่คือเรื่องราวชีวิตคนญี่ปุ่นทั้งสามคนที่เป็นนักสู้
คนที่หนึ่ง ทำอาชีพที่คนในสังคมไม่ค่อยให้ความสำคัญ ต้องสู้กับการถูกดูหมิ่นดูแคลน
คนที่สอง เกือบต้องปิดกิจการลง ด้วยเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ต้องสู้กับสภาพล้มละลาย
คนที่สาม ผู้ขาดความมั่นใจในตัวเอง ชีวิตไม่เป็นไปตามฝัน ต้องต่อสู้กับจุดอ่อนของตัวเองจนเกือบฆ่าตัวตาย
... และสมการชีวิตของพวกเขา ที่เริ่มจากชีวิตติดลบ
สมการชีวิตที่ 1:
ลบ: นิทสึ ฮารุโกะ เป็นลูกครึ่งจีน-ญี่ปุ่น ด้วยความที่ไปอยู่เมืองจีนตั้งแต่ยังเล็ก เธอจึงพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ค่อยได้ การศึกษาก็ไม่สูงนัก เธอเหลือทางเลือกเพียงอาชีพพนักงานทำความสะอาดสนามบิน งานหนัก งานสกปรก ที่ไม่มีใครอยากทำ
ศูนย์: ฮารุโกะตั้งใจเรียนรู้วิธีการทำความสะอาดพื้นต่าง ๆ การใช้น้ำยาขจัดคราบจากเจ้านาย เธอเพียรสังเกต ใส่ใจ และมุ่งมั่นทำความสะอาด ทำให้ดีที่สุด สะอาดที่สุด แม้ไม่มีลูกค้าคนใดหันมาชื่นชม แต่เธอตั้งใจทำงานเอง เพราะทุกครั้งที่เธอลงมือทำความสะอาด เธอจะจินตนาการถึงผู้ใช้
“หากเด็กเล็กลงไปคลานกับพื้นสกปรก แล้วเด็กไม่สบายล่ะ? หรือถ้านักธุรกิจคนนั้นกำลังจะขึ้นเครื่องไปเจรจาธุรกิจสำคัญ แต่ถ้าพื้นยังสกปรก เขาคงรู้สึกขุ่นข้องหมองใจอย่างบอกไม่ถูกเป็นแน่แท้ ฉันคงรู้สึกแย่นะ” เมื่อคิดได้เช่นนั้น ฮารุโกะก็ตั้งใจทำงานตรงหน้าให้ดีที่สุด ดีจนถึงขั้นประดิษฐ์อุปกรณ์ทำความสะอาดและแปรงต่าง ๆ ขึ้นมาเอง เพื่อให้ทำความสะอาดได้ดีที่สุด
บวก: ฮารุโกะได้รับการโปรโมทขึ้นเป็นหัวหน้าพนักงานทำความสะอาด โดยมีลูกน้องกว่า 5 พันคน เธอยังได้รับเชิญไปบรรยายตามที่ต่าง ๆ ทั้งด้านทัศนคติการทำงาน และในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการทำความสะอาด เรื่องราวของเธอถูกนำมาสร้างเป็นสารคดีของ NHK
“แม้ทำความสะอาดเสร็จ แต่หากใครทำสกปรกก็ไม่เป็นไร เพราะหากยังคงสภาพสะอาดตลอด ฉันก็คงไม่มีงานทำ พอฉันเริ่มคิดได้แบบนี้ ฉันก็สบายใจนะ จริง ๆ แล้ว งานทำความสะอาดเป็นงานที่ตัดสินง่ายนะคะ แค่มองด้วยตาก็รู้แล้วว่างานเราดีพอหรือยัง เวลาใครอุทานว่า “สะอาดจัง” ฉันก็ดีใจ ดิฉันคิดว่า หากเราพยายามมองในแง่ดี เราก็จะมีแรงบันดาลใจในการทำงานค่ะ ”
ข้อมูลจาก:
SUUMO
สมการชีวิตที่ 2:
ลบ: ฮากิ ฮารุโทโมะ เปิดร้านอาหารฝรั่งเศสในจังหวัดฟุกุชิม่า และมีลูกค้าแน่นตลอดทุกวัน ทว่า วันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2011 สถานการณ์ทุกอย่างพลิกผัน เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในเขตโทโฮกุ ร้านอาหารฝรั่งเศสชื่อดังที่เคยมีลูกค้าแน่นเต็มเกือบทุกโต๊ะกลับว่างเปล่า
ศูนย์: เมื่อผ่านไปสามเดือน เชฟฮากิต้องเผชิญกับสภาพวันที่ไม่มีใครมาทานที่ร้านเลย หรืออย่างมาก ก็มีแขกเพียงแค่วันละโต๊ะเท่านั้น ตัวเขาเองอยู่ในสภาพหมดหวัง และเตรียมใจปิดร้านในไม่ช้า
วันหนึ่ง ขณะที่ไปหาวัตถุดิบในฟาร์มท้องถิ่น เกษตรกรคนหนึ่งได้เล่าให้เขาฟังว่า “ขายผักไม่ได้เลย แย่จัง” (ลูกค้ากลัวเรื่องกัมมันตภาพรังสี ทั้ง ๆ ที่ผักคุณภาพดี ปลอดภัย) ฮากิจึงคิดว่า ถ้าอย่างนั้น เขาจะช่วยซื้อผักของเกษตรกรมาทำอาหาร ไหน ๆ ก็ใกล้จะปิดร้านอาหารอยู่แล้ว ลองช่วยคนดีกว่า เขาจึงจำกัดลูกค้าเหลือเพียงวันละโต๊ะเท่านั้น และทุ่มเทใช้ฝีมือปรุงอาหารให้ดีที่สุด
บริการให้ประทับใจที่สุด
บวก: ไอเดีย “ลูกค้าวันละโต๊ะ” กลับทำให้ลูกค้ารู้สึกพิเศษ และทุกคนประทับใจในการให้บริการ พร้อมทั้งบอกปากต่อปาก เชฟฮากิยังมุ่งมั่นนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาปรุงและถ่ายทอดวิธีการทำ ในปี ค.ศ. 2014 เขาได้รับรางวัลจากกระทรวงเกษตรในฐานะ Master Chef และได้เป็นตัวแทนของจังหวัดฟุกุชิม่าในการเดินทางไปถ่ายทอดเสน่ห์ของวัตถุดิบจังหวัดอีกด้วย
ทุกวันนี้ เขามีความสุขกับการได้ช่วยเหลือผู้ผลิตและสังคมด้วยอาหาร
“ตอนเกิดภัยพิบัติขึ้น ผมตระหนักว่า คนเราไม่ได้ตายตามลำดับอายุ เราจะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ ผมพยายามทำอาหารในแต่ละวันให้ดีที่สุด ไม่ให้ตัวเองต้องเสียใจในภายหลัง”
ข้อมูลจาก:
Next key word
สมการชีวิตที่ 3:
ลบ: โซโทเมะ ทัตสึยะ ฝันอยากเป็นเชฟซูชิ จึงมุ่งเดินทางเข้าเรียนทำอาหารที่โตเกียว แต่พ่อเขากลับนำไปฝากที่ร้านเทมปุระ เพียงเพราะรายได้ดีกว่า ส่วนโซโทเมะเองก็เป็นเด็กขี้อายและไม่กล้าคัดค้านพ่อ
เมื่อเขาฝึกงานมาได้ 2 ปี เจ้าของให้โซโทเมะมายืนทอดเทมปุระต่อหน้าลูกค้า โซโทเมะตื่นเต้นมาก ยืนขาสั่นตลอดเวลา จนเป็นที่ขบขันของลูกค้า เขาคิดว่า คนขี้ขลาดอย่างเขาช่างไม่เหมาะกับการเป็นเชฟเทมปุระเสียเลย หนักเข้า เขาไม่อยากไปทำงาน และเกือบเป็นโรคซึมเศร้า โซโทเมะคิดจะขอลาออกอยู่หลายครั้ง
... เพียงแต่เขาไม่มีแม้แต่ความกล้าที่จะลาออก
ศูนย์: โซโทเมะอดทนทอดเทมปุระมาเรื่อย ๆ จนวันหนึ่ง เขาตระหนักว่า นิสัยขี้ขลาดขี้กลัวของเขานั้น ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่กลับทำให้เขาเป็นคนช่างสังเกต ใส่ใจในรายละเอียด เพราะกลัวผิดพลาด กลัวทำให้ลูกค้าผิดหวัง ความรู้สึกนั้น ทำให้เขาหมั่นสังเกตตั้งแต่วัตถุดิบ วิธีคลุกแป้ง วิธีทอด ตลอดจนท่าทางลูกค้า เขาเริ่มค่อย ๆ ยอมรับตัวเอง
โซโทเมะกลายเป็นผู้ที่คิดค้นวิธีทอดเทมปุระแบบใหม่ ๆ เช่น ทอดกุ้งให้ไม่สุกจนเกินไป ข้างในเทมปุระ เนื้อกุ้งยังดิบอยู่เล็กน้อย พอเคี้ยวแล้ว จึงสัมผัสได้ถึงความกรอบหวาน หรือเวลาทอดปลาทราย เขาจะโรยแป้งแค่ตรงเนื้อปลา ไม่โรยตรงหนังปลา เพื่อให้น้ำในส่วนเนื้อปลาและหนังปลาระเหยออกมาเท่า ๆ กันเวลาทอด
บวก: ร้านของโซโทเมะได้รับดาวมิชลินหนึ่งดวง และเป็นร้านเทมปุระที่ปู่จิโร่ เทพเจ้าแห่งซูชิ ออกปากว่า “เป็นที่หนึ่ง”
“ตอนอายุ 17 ปี ผมฝันว่า อยากจะให้ศิลปินที่ผมชอบ มาออกแบบและประดับร้านให้ ตัวผมเอง ก็จะลงมือทอดเทมปุระในฐานะศิลปิน ผมใช้เวลา 47 ปี กว่าฝันนี้จะเป็นจริง”
ข้อมูลจาก:
itot
คุณค่าในใจและตัวตน
เรื่องราวของคนญี่ปุ่นทั้ง 3 คนนี้ ทำให้เราเรียนรู้วิธีการเอาชนะอุปสรรคหรือความเหนื่อยยากต่าง ๆ ได้โดย
1. เห็นคุณค่าของงานตนเอง
ดังเช่น คุณฮารุโกะ ที่เห็นว่า งานทำความสะอาดสนามบินของตนเอง เป็นประโยชน์ต่อผู้มาใช้บริการ และเธอก็ภูมิใจที่สร้างความประทับใจให้กับคนอื่นได้ แม้จะเป็นเพียงแค่คำอุทานว่า “สะอาดจัง”
หรือเชฟฮากิ ที่ไม่ได้มองงานตนเองว่าเป็นเพียงงานทำอาหาร แต่กลับเห็นว่า สิ่งที่ตนทำจะช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างไร ทำให้เขามุ่งมั่นทำเต็มที่ เพื่อช่วยเกษตรกร และสร้างความสุขให้ลูกค้าที่มารับประทานอาหาร
จงเห็นคุณค่า...เห็นประโยชน์ หรือความงดงามของงานตนเอง
ลองถามตัวเองง่าย ๆ ว่า เราได้สร้างประโยชน์ให้ใครแล้วหรือยัง?
2. เห็นคุณค่าของตัวเอง
ดังเช่นเชฟเทมปุระ ... โซโทเมะ เดิมเขามองเห็นแต่จุดอ่อนของตนเองว่า เป็นคนขี้ขลาด ขี้กลัว แต่เมื่อเขาเปลี่ยนมุมมองใหม่ เห็นคุณค่าของ “ความขี้กลัว” ซึ่งสร้างความใส่ใจในรายละเอียดในตัวเขา เขาก็มั่นใจ และลงมือปรุงเทมปุระสุดฝีมือเพื่อลูกค้า
จงโอบกอดตัวเอง สิ่งที่คิดว่าเป็นจุดอ่อน
จริง ๆ แล้ว อาจทำให้เกิดจุดแข็งอีกอย่างก็เป็นได้