บริษัท Startup ในญี่ปุ่นเค้าโฟกัสเรื่องอะไรกัน

บริษัท Startup ในญี่ปุ่นเค้าโฟกัสเรื่องอะไรกัน

By Japan salaryman
ก่อนจะเริ่มต้นบทความนี้ ขอนิยามความหมายของคำว่าสตาร์ทอัพ เพื่อปูพื้นฐานให้ผู้อ่านที่อาจจะยังไม่รู้จักคำนี้ได้ทำความเข้าใจกันเสียก่อน เพราะในญี่ปุ่นเองส่วนหนึ่งยังรู้สึกสับสนและยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่าสตาร์ทอัพ (Startup) คุณ Steeve Bank บิดาแห่งผู้ประกอบการยุคใหม่ ผู้มีประสบการณ์ทำธุรกิจ และลงทุนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และยังได้เป็นผู้ที่ได้รับฉายาว่าเป็นบิดาแห่งสตาร์ทอัพได้ให้คำนิยามคำว่า “สตาร์ทอัพ” ไว้ว่า “สตาร์ทอัพเป็นกิจการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อค้นหาโมเดลธุรกิจที่ทำซ้ำได้ (repeatable) และขยายตัวได้ (scaleble)”
 
อีกหนึ่งความสับสนที่อาจเกิดขึ้นบ่อย ๆ นั้นคือ ความไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่าง บริษัทสตาร์ทอัพ และบริษัท SMEs (ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง หากเพื่อน ๆ ต้องการทราบรายละเอียดเรื่องนี้ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความนี้เลยครับ "Startup และ SME สองอย่างนี้ต่างกันอย่างไร" ซึ่งได้อธิบายไว้ชัดเจนมาก โดยผมขอสรุปใจความสำคัญไว้ว่า บริษัทสตาร์ทอัพเริ่มต้น และสินทรัพย์ของบริษัทส่วนใหญ่คือสินทรัพย์ทางปัญญา ในขณะที่บริษัท SMEs สินทรัพย์ส่วนใหญ่จะจับต้องได้ และบริษัทสตาร์ทอัพมักจะใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ เมื่อเป็นสินค้าด้านดิจิทัลจึงง่ายต่อการทำซ้ำ และขยายตัวได้ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทสตาร์ทอัพสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่บริษัท SMEs จะใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองกับกระบวนการผลิตเดิม ปรับปรุงเล็กน้อย ให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการขับเคลื่อนนั้นไม่รวดเร็วเท่ากับบริษัทสตาร์ทอัพ
 
จากการที่ผมได้มีโอกาสคลุกคลีในแวดวงธุรกิจในประเทศญี่ปุ่น เพราะได้ทำงานในบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศญี่ปุ่น จึงทำให้ผมมีความสนใจเกี่ยวกับธุรกิจสตาร์ทอัพในญี่ปุ่นเหมือนกัน จึงอยากเอาเรื่องราววงการสตาร์ทอัพในประเทศญี่ปุ่นมาอัปเดตให้เพื่อน ๆ ทราบกันครับ

รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามสนับสนุนให้เกิดธุรกิจสตาร์ทอัพที่กลายเป็นธุรกิจ Unicorn (ยูนิคอร์น) ในประเทศญี่ปุ่นจำนวน 20 บริษัท ภายในปี 2023


*ธุรกิจ Unicorn (ยูนิคอร์น) หมายถึง ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

ในปี 2018 รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดตั้งโครงการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีชื่อว่า J-Startup โดยอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ในภาครัฐเองนั้นเจ้าภาพหลัก ๆ คือ METI (กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม), JETRO (องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น) และ NEDO (องค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น) ในส่วนของภาคเอกชนก็จะมีทั้งองค์กรขนาดใหญ่ที่เป็นธุรกิจฐานหลักของประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับ Startup Accelerator ผู้ช่วยเร่งสปีดการเติบโตของบริษัทสตาร์ทอัพ

จุดประสงค์คือช่วยกันดันบริษัทสตาร์ทอัพทุกวิถีทาง สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับการประกอบกิจการสตาร์ทอัพเพื่อให้บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติญี่ปุ่นออกไปทะยานในสนามการแข่งขันระดับโลก โดยในโครงการนี้ได้พูดถึงจำนวนบริษัทสตาร์ทอัพในญี่ปุ่น ณ ขณะนั้นว่า มีอยู่ประมาณ 10,000 บริษัท แต่บริษัทสตาร์ทอัพญี่ปุ่นที่สามารถสร้างมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐจนทะยานสู่ธุรกิจ Unicorn โดยไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น มีเพียงแค่ 5 บริษัทเท่านั้น (สถิติจาก CB Insights ในเดือนมิถุนายน 2021) ซึ่งถือว่ายังห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้อยู่มาก และน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ที่เป็นผู้นำในการผลิตบริษัทสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีบริษัทยูนิคอร์นถึง 369 บริษัท (คิดเป็นจำนวนประมาณ 52% ของบริษัทยูนิคอร์นทั้งหมด) และประเทศจีนที่มีบริษัทยูนิคอร์นมากถึง 138 บริษัท (คิดเป็นจำนวนประมาณ 20% ของบริษัทยูนิคอร์นทั้งหมด)

5 บริษัทสตาร์ทอัพของญี่ปุ่นที่กลายเป็นธุรกิจ Unicorn เป็นที่สำเร็จ


แต่ถึงอย่างไรนั้น ในเดือนมิถุนายน 2021 ญี่ปุ่นก็มีบริษัทสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นเป็นจำนวนทั้งหมด 5 บริษัท จะเป็นบริษัทอะไรบ้างนั้น ไปดูกันครับ

1. บริษัท Preffered Networks


บริษัทสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยี Deep Learning และเทคโนโลยีเกิดใหม่หลากหลายประเภทเพื่อแก้ไขปัญหาบนโลกแห่งความเป็นจริง https://www.preferred.jp/en
บริษัท Preffered Networks

2. บริษัท SmartNews


บริษัทสตาร์ทอัพวงการข่าวของญี่ปุ่น เจ้าของแอปพลิเคชัน SmartNews ที่มียอดดาวน์โหลดทั่วโลกมากกว่า 50 ล้านดาวน์โหลดแล้ว https://www.smartnews.com/en
บริษัท SmartNews

3. บริษัท Quoiine


บริษัทสตาร์ทอัพผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Liquid by Quoine เป็นที่แลกเปลี่ยนซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล คริปโทเคอร์เรนซี https://www.liquid.com/ja/
บริษัท Quoiine

4. บริษัท Playco


บริษัทสตาร์ทอัพผู้พัฒนาเกมที่ไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน (Instant Game) https://www.play.co/
ตัวอย่าง Instant Game ของ Playco https://www.play.co/
บริษัท Playco

5. บริษัท Paidy


บริษัทสตาร์ทอัพผู้พัฒนาระบบชำระเงินภายหลังการซื้อสินค้า เพื่อลดความยุ่งยากในการซื้อสินค้า ซื้อก่อนจ่ายที่หลัง https://paidy.com/
บริษัท Paidy

นักลงทุนสนใจลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจเรื่องไหน


จากสถิติตัวเลขเงินลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพประเทศญี่ปุ่นปี 2019 ทำให้พอจะเห็นเค้าโครงว่านักลงทุนให้ความสำคัญกับธุรกิจประเภทไหน
นักลงทุนสนใจลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจเรื่องไหน

จำนวนเงินลงทุนแบ่งตามประเภทธุรกิจ และจำนวนบริษัทที่ได้รับเงินลงทุนในญี่ปุ่น ประจำปี 2019
แกนนอน คือจำนวนบริษัท และแนวตั้งคือยอดเงินลงทุน (หน่วย : ร้อยล้านเยน)
Credit : INITIAL วันที่ 27 มีนาคม 2020

จากภาพข้างต้นจะเห็นได้ว่า กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพที่ได้รับยอดเงินลงทุนรวมสูงสุด คือ กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพที่ทำเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (Arfitifcial Intellegence) ตามมาด้วยกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพแบบ SaaS (Software as a service) หรือการให้บริการซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันผ่านทางอินเทอร์เน็ต การให้บริการผ่านระบบ Cloud หรือการให้บริการระบบ Subscription และตามมาด้วยกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพที่ทำเกี่ยวกับ Healthcare คือให้บริการทางด้านสุขภาพเป็นหลักนั่นเอง

ปีนี้คนไทยได้ยินข่าวดีว่ามีสตาร์ทอัพสัญชาติไทยก้าวสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น คือมีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐเป็นที่สำเร็จบริษัทแรกของประเทศไทย นั่นคือกลุ่มธุรกิจแฟลช (Flash Group) ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซแบบครบวงจร ซึ่งเป็นเรื่องน่าภูมิใจสำหรับคนไทยมาก ครั้งแรกที่ผมได้ยินข่าวนี้ก็รู้สึกตื่นเต้นมากครับ จากบทความข้างต้นจะเห็นว่าภาครัฐและภาคเอกชนของญี่ปุ่นเองก็สนับสนุนเต็มที่เพื่อให้มีธุรกิจสตาร์ทอัพญี่ปุ่นระดับยูนิคอร์นอย่างน้อย 20 บริษัท ผมเชื่อว่ายังมีบริษัทสตาร์ทอัพไทยอีกจำนวนมากที่กำลังเดินตามความฝัน และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตข้างหน้าจะได้เห็นธุรกิจสตาร์ทอัพสัญชาติไทยทะยานสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพชั้นนำระดับโลกมากขึ้น ขอร่วมเป็นกำลังใจให้ผู้ผลักดันธุรกิจสตาร์ทอัพสัญชาติไทยทุกคนครับ ตอนหน้าผมจะเอาเรื่องอะไรมาเล่าอีก อย่าลืมติดตามใน Plearn เพลิน by Krungsri GURU นะครับ

Reference :
1.คำนิยามของธุรกิจ Unicorn ในวงการสตาร์ทอัพ
https://techsauce.co
2.จำนวนบริษัทสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นในแต่ละประเทศ
https://beikokukabu.com
3.จำนวนเงินลงทุนแบ่งตามประเภทธุรกิจ และจำนวนบริษัทที่ได้รับเงินลงทุนในญี่ปุ่น ประจำปี 2019
https://initial.inc
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow