ธุรกิจญี่ปุ่นยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับคำว่า “เวลาเป็นเงินเป็นทอง”

ธุรกิจญี่ปุ่นยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับคำว่า “เวลาเป็นเงินเป็นทอง”

By Japan salaryman
เคยได้ยินคำว่า “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” ไหมครับ ผมมักจะได้ยินผู้ใหญ่พูดคำนี้เป็นประจำ เพราะเค้าคงอยากให้เรารู้สึกว่า เวลาเป็นสิ่งมีค่าเหมือนเงินทอง เราจะได้ใช้เวลาอย่างมีความหมาย และใช้เวลาให้เป็นประโยชน์สูงสุด

เพื่อน ๆ รู้สึกไหมครับว่า ยิ่งเวลาผ่านไปยิ่งรู้สึกว่า เวลามีมูลค่ามากขึ้น ธุรกิจทั้งหลายออกแบบขึ้นมาเพราะอยากได้เวลาของลูกค้า ยกตัวอย่างให้พวกเราเห็นภาพง่ายสุด เห็นจะเป็นธุรกิจของ NETFLIX บริการสตรีมมิงหนังระบบสมาชิก คีย์หลักของความสำเร็จคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้คนเข้ามาสมัครสมาชิกให้มากที่สุด และใช้เวลาอยู่กับ NETFLIX ให้นานที่สุด ซึ่งหลายปีก่อน NETFLIX เองยังเคยมองว่า คู่แข่งที่สำคัญที่สุดของเขาคือ “ความง่วง” ของมนุษย์ คือกลัวว่าเมื่อลูกค้านอนหลับจะให้เวลากับ NETFLIX น้อยลงนั่นเอง

ยุคนี้เวลาเป็นเงินเป็นทองจริง ๆ ลองสังเกตตัวเองดูครับว่า เมื่อเราเห็นคลิปใน YOUTUBE หรือ FACEBOOK 3-5 วินาทีแรกที่เราเห็นมันแล้วรู้สึกว่า ไม่น่าจะสนุก เราจะผ่านมันไปทันที เราจะเดินเข้าร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ มากขึ้น เพราะเราคิดว่ามันช่วยประหยัดเวลาได้เยอะ

ใช่ครับ.. เวลา คือสิ่งสำคัญ และนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่รู้ว่า “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” สำหรับลูกค้า และสิ่งที่จะสร้างมูลค่าสูงสุดให้ธุรกิจของเขา คือการที่ลูกค้าใช้เวลาอยู่กับสินค้าหรือบริการของเขานั่นเอง

ในฐานะที่ผมคลุกคลีและทำงานอยู่ในบริษัทญี่ปุ่นมามากกว่า 10 ปี ได้เห็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่เติบโตเป็นจำนวนมาก รวมทั้งธุรกิจหน้าใหม่ที่โด่งดังภายในระยะเวลาไม่นาน ในกลุ่มธุรกิจเหล่านั้น มีโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจโมเดลหนึ่ง ซึ่งให้ความสำคัญกับคำว่า “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” มาก ๆ ธุรกิจที่ว่าจะมีอะไรบ้าง เราเรียนรู้อะไรบ้างจากเรื่องนี้ ไปอ่านพร้อม ๆ กันเลยครับ

1. STATION WORK “ธุรกิจที่รู้ว่าเวลาทุกนาทีมีคุณค่า จึงจัดพื้นที่ทำงานแบบส่วนตัวเอาไว้ด้านในสถานีรถไฟ”

ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจของบริษัท East Japan Railway Company หรือที่เรารู้จักในชื่อว่า JR EAST ในช่วงระหว่างวันซาลารี่แมนญี่ปุ่นมีความเร่งรีบมาก บางครั้งต้องการพื้นที่ทำงานเร่งด่วน เช่น ต้องแก้งานด่วนก่อนเข้าไปนำเสนองานที่บริษัทลูกค้า ต้องประชุมออนไลน์ และส่วนใหญ่ก็ใช้วิธีการเดินทางด้วยรถไฟอยู่แล้ว

JR EAST เห็นโอกาสทางธุรกิจ จึงใช้พื้นที่ด้านในสถานีรถไฟในการติดตั้ง STATION BOOTH ขึ้นมา ซาลารี่แมนที่ต้องการทำงานในระยะเวลาสั้น ๆ สามารถเข้าไปใช้บริการได้ ภายในบูธมีความเป็นส่วนตัวสูง มีอุปกรณ์จำเป็นสำหรับการทำงาน ได้แก่ โต๊ะทำงาน ปลั๊ก และ Wi-Fi ข้างในติดแอร์พร้อม คิดค่าบริการทุก ๆ 15 นาที ด้วยเหตุผลว่า 10 นาทีนั้นสั้นเกินไป ส่วน 1 ชั่วโมงก็น่าจะนานเกินไป จึงกลายมาเป็น 15 นาที โดยค่าบริการอยู่ที่ 150 เยน / 15 นาที (ประมาณ 45 บาท)
ธุรกิจญี่ปุ่นยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับคำว่า “เวลาเป็นเงินเป็นทอง”

STATION BOOTH ที่สถานีชินจูกุ ฝั่งประตู Koshu-ka Ido เข้าสถานีมาแล้วเจอทันที เปิดให้ใช้บริการทุกวันตั้งแต่ 07:00 - 21:30
photo credit : https://www.stationwork.jp

2. TIME TICKET “ขอซื้อขายตั๋วเวลาเป็นการส่วนตัว”

TIME TICKET เป็นแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันของบริษัท TimeTicket, Inc ที่เป็นตัวกลางให้คนได้เอาทักษะ ความสามารถ และประสบการณ์มาซื้อขายกัน โดยจะซื้อขายเวลากันในหน่วย 30 นาที ใครมีทักษะ ประสบการณ์ หรือให้คำปรึกษาได้ก็มาลงข้อมูลและออกตั๋วได้ คนซื้อตั๋วคือคนใช้บริการ ตอนนี้ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นมากมีสมาชิกทั่วประเทศถึง 400,000 คน มีการออกตั๋วไปแล้วถึง 50,000 ใบ สร้างรายได้เฉลี่ยต่อปีให้กับคนที่กระตือรือร้นในการใช้แพลตฟอร์มนี้มากถึง 1.8 ล้านเยน/ปี หรือประมาณ 500,000 กว่าบาท
ประเภททักษะ ความสามารถ ประสบการณ์ที่นำมาขายก็มีหลากหลายมาก เช่น หมอดู ให้คำปรึกษาด้านความรัก/กิจกรรมหาคู่ ความสวยงาม/แฟชั่น/สุขภาพ ถ่ายภาพ/กล้องถ่ายรูป ล่าม/แปล/ภาษา คุยสัพเพเหระ ธุรกิจ/ให้คำปรึกษา เป็นต้น ถ้ามีแพลตฟอร์มลักษณะนี้ในบ้านเราผมว่าน่าสนใจเหมือนกันนะครับ เราเลือกซื้อตั๋วเวลาเพื่อเคลียร์ปัญหาคาใจ พัฒนาตัวเอง เพื่ออะไรก็ได้ตามความต้องการของตัวเราเอง คนขายตั๋วเวลาก็มีรายได้เพิ่มด้วย
ธุรกิจญี่ปุ่นยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับคำว่า “เวลาเป็นเงินเป็นทอง”

คุณ Watanabe Yuika เป็นโค้ชผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาด้านการหาคู่ ตั๋วเวลาของเธอราคา 162,000 เยน (ประมาณเกือบ 50,000 บาท) โดยจะให้คำปรึกษาแบบครบเครื่องตลอด 45 วัน รับประกันว่าได้แฟน 100% มีคนซื้อไปแล้ว 192 ใบ (ณ วันที่ 6 กรกฎาคม 2021) photo credit : https://www.timeticket.jp
เพราะเวลาเป็นเงินเป็นทองจริง ๆ ถ้าธุรกิจไหนมีความเข้าใจในเรื่องนี้ สร้างสินค้าและบริการขึ้นมาตอบโจทย์ลูกค้า ช่วยให้ลูกค้ารู้สึกสะดวกสบาย ช่วยให้ลูกค้าประหยัดเวลา แล้วใช้มูลค่าของเวลานั้น ๆ เป็นเกณฑ์กำหนดราคาสินค้าและบริการได้ ก็อาจจะช่วยให้ธุรกิจนั้น ๆ ประสบความสำเร็จได้ หวังว่าคุณผู้อ่านจะได้ไอเดียเอาไปปรับใช้ในธุรกิจนะครับ แล้วตอนหน้าผมจะเอาไอเดียธุรกิจญี่ปุ่นอะไรมาแนะนำอีก อย่าลืมติดตามใน Plearn เพลิน by Krungsri GURU นะครับ
Reference :
1. ธุรกิจ STATION WORK ของบริษัท JR EAST :
https://www.stationwork.jp
2. ธุรกิจ TimeTicket ของบริษัท TimeTicket, Inc. :
https://www.timeticket.jp
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา