ธุรกิจในญี่ปุ่นตัวไหนรุ่ง ตัวไหนร่วง ท่ามกลางวิกฤต COVID-19

ธุรกิจในญี่ปุ่นตัวไหนรุ่ง ตัวไหนร่วง ท่ามกลางวิกฤต COVID-19

By Japan salaryman

คงไม่ต้องสาธยายเรื่องวิกฤตไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ที่เกิดขึ้นในบ้านเรามากนัก เพราะทุกสื่อลงข่าวเรื่องนี้ให้พวกเราอ่านกันทุกวันอยู่แล้ว จริง ๆ แล้ววิกฤต COVID-19 ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ส่งผลกระทบให้กับคนทั่วโลก สำหรับสถานการณ์ในประเทศญี่ปุ่นล่าสุด (ณ วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2563) นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ของประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศแล้ว หลังยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันลดลงจากช่วงที่พีคที่สุด มากกว่า 700 รายต่อวัน เหลือประมาณ 10 รายต่อวันเท่านั้นในตอนนี้ โดยอนุญาตให้ภาคธุรกิจ และสถานศึกษากลับมาเปิดทำการได้อีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลของหลายฝ่ายว่า การยกเลิกมาตรการคุมเข้มทั้งหมดอาจส่งผลให้การแพร่ระบาดของ COVID-19 กลับมารุนแรงอีกครั้งก็ได้

วิกฤต COVID-19 ในครั้งนี้อาจเปรียบได้กับคลื่นยักษ์สึนามิ ที่โถมเข้าใส่ทุกคนไม่เลือกหน้า แม้บางคนไม่ได้รับผลกระทบทางตรง แต่ในทางอ้อมก็ได้รับผลกระทบกันไปตาม ๆ กันไม่มากก็น้อย ในภาคส่วนธุรกิจเองก็โดนคลื่นยักษ์ครั้งนี้กันหมด โดยจะมีทั้งธุรกิจที่โดนคลื่นยักษ์ลูกนี้เข้าไปเต็ม ๆ (ผมขอเรียกว่าธุรกิจร่วง), ธุรกิจที่โดนคลื่นยักษ์บ้างแต่ปรับตัวทัน เลยเอาตัวรอดได้อยู่ และธุรกิจที่เจอโอกาสในวิกฤตครั้งนี้สปอร์ตไลท์ฉายแสงทำยอดขายและกำไรได้มากขึ้น (ผมขอเรียกว่าธุรกิจรอด) จะมีธุรกิจอะไรบ้างนั้น ผมจะเล่าให้ฟังครับ
 

ธุรกิจญี่ปุ่นมาแรงแซงโค้งในช่วงวิกฤต COVID-19 (ธุรกิจรอด)


เรามาดูกันครับว่าภายใต้วิกฤต COVID-19 ที่เกิดขึ้นมีธุรกิจกลุ่มไหนบ้างในญี่ปุ่นที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่โควิดทำพิษแบบนี้
 
1. ธุรกิจผู้ผลิตเกม
อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้นำในการผลิตเกมออกมาจำหน่ายให้กับแฟนเกมทั้งโลก โดยบริษัทที่มีชื่อเสียงในกลุ่มธุรกิจผู้ผลิตเกมในญี่ปุ่น ได้แก่ NINTENDO, KONAMI, CAPCOM, BANDAI NAMCO, SQUARE ENIX, SEGA SAMMY
  • สำหรับบริษัท NINTENDO ได้ออกจำหน่ายเกมใหม่ สำหรับเครื่องเล่นเกม NINTENDO SWITCH เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา หลังจากเริ่มจำหน่ายไปได้แค่ 1 เดือนครึ่ง ก็ทำสถิติยอดขายทะลุ 13 ล้านตลับทั่วโลก ส่วนเครื่องเกม NINTENDO SWITCH ก็ขายดีเช่นกัน Animal Crossing New Horizon
เกม Animal Crossing New Horizons สำหรับเครื่องเล่นเกม NINTENDO SWITCH
เกม Animal Crossing New Horizons สำหรับเครื่องเล่นเกม NINTENDO SWITCH
  • บริษัท SQUARE ENIX ผู้ผลิตเกม Final Fantasy VII Remake สำหรับเครื่องเกม PlayStation 4 ก็ทำยอดขายทะลุ 3.5 ล้านแผ่นเพียงแค่ 3 วันหลังเริ่มจำหน่ายเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2563
เกม Final Fantasy VII Remake สำหรับเครื่องเล่นเกม PlayStation4
เกม Final Fantasy VII Remake สำหรับเครื่องเล่นเกม PlayStation4
  • บริษัท CAPCOM ผู้ผลิตเกมชื่อดังแนว Survival อย่าง BIOHAZARD ได้รับอานิสงส์จาก COVID-19 ทำให้มียอดดาวน์โหลดเกมสูงขึ้น จากยอดการดาวน์โหลด 15.3 ล้านครั้งในปี 2018 และโตเป็น 20.55 ล้านครั้งในปี 2019 และในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2020 เองนั้น ทางบริษัท CAPCOM ก็ออกมาเผยว่า มีการเติบโตของการดาวน์โหลดเกมมากขึ้นถึง 85% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน

เมื่อคนมีแนวโน้มอยู่บ้านมากขึ้น ช่องทางความบันเทิงช่องทางหนึ่งคงหนีไม่พ้นการเล่นเกม จึงทำให้บริษัทผู้ผลิตเกมส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์จากวิกฤต COVID-19 ในครั้งนี้ครับ

2. ธุรกิจร้านขายยา
บริษัทที่มีชื่อเสียงในกลุ่มธุรกิจร้านขายยา ได้แก่ WELCIA HD, TSURUHA HD, COSMOS Pharmaceutical, SUNDRUG, MATSUMOTOKIYOSHI HD, SUGI HD

ในส่วนของธุรกิจร้านขายยาได้รับอานิสงส์จากการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ที่ได้สร้างความตื่นตัวให้ประชาชนทั่วประเทศ และทำให้เกิดความต้องการซื้อหน้ากากอนามัย และกระดาษทิชชู่เป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าทุกเช้าจะมีคนญี่ปุ่นไปยืนต่อแถวเข้าคิว เพื่อที่จะได้คว้าหน้ากากอนามัย หรือสิ่งของจำเป็นติดตัวไว้ใช้ในยามที่การแพร่ระบาดแพร่กระจายไปในวงกว้าง

ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้วนั้น ร้านขายยาก็ยังคงดำเนินธุรกิจต่อไป ทำให้ธุรกิจร้านขายยาได้รับอานิสงส์จากภาวะการแพร่ระบาดของ COVID-19 ไปเต็ม ๆ ครับ
  • WELCIA HD อันดับ 1 ของธุรกิจร้านขายยา รวมยอดทุกสาขามียอดขายเพิ่มขึ้น 25% ในเดือนกุมภาพันธ์
  • TSURUHA HD รวมยอดทุกสาขา มียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 15% ในเดือนกุมภาพันธ์
  • SUGI HD รอดยอดทุกสาขามียอดขายเพิ่มขึ้น 31% ในเดือนกุมภาพันธ์
  • SUNDRUG รวมยอดทุกสาขามียอดขายเพิ่มขึ้น 2.9% ในเดือนกุมภาพันธ์
ในขณะที่ร้านขายยาชื่อดังในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยอย่าง MATSUMOTOKIYOSHI นั้น กลับมียอดขายในเดือนมีนาคมลดลงจากเดิม 8.3% ซึ่งอาจจะเกิดจากที่รูปแบบธุรกิจของ MATSUMOTOKIYOSHI เน้นการตั้งสาขาในชุมชนเมืองที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวนมาก เมื่อเกิดการปิดประเทศจึงทำให้ยอดซื้อในส่วนนี้ลดลงไปครับ

อย่างไรก็ตามยอดขายสำหรับธุรกิจร้านขายยาที่มีเพิ่มขึ้นในช่วงนี้นั้นเป็นผลกระทบทางตรงที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ยอดขายน่าจะกลับมาเหมือนเดิม และโตตามกลยุทธ์ทางธุรกิจของแต่ละบริษัท ในส่วนของ MATSUMOTOKIYOSHI นั้น ผมมองว่าถ้าการท่องเที่ยวกลับมาเหมือนเดิมยอดขายน่าจะก้าวกระโดด เพราะอย่างตัวผมเองก็รู้สึกว่าอยากไปญี่ปุ่นมาก ๆ เมื่อไปถึงที่นั่นก็คงแวะเข้าร้านขายยาเหมือนทุกครั้งครับ

3. ธุรกิจผู้ผลิตหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรม
 
หุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมของบริษัท FANUC
หุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมของบริษัท FANUC
 
โดยปกติยอดขายหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมจะขึ้นลงตามการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ช่วงไหนเศรษฐกิจดียอดการสั่งซื้อก็จะมีมากขึ้น ในทางกลับกันช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาจะมีแนวโน้มการสั่งซื้อน้อยลง และธุรกิจการผลิตหุ่นยนต์เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนด้วย ทำให้ช่วงปีสองปีให้หลัง มีแนวโน้มไม่ค่อยดีนัก

แม้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์จะเป็นธุรกิจที่คาดเดายาก แต่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มักจะใช้ยอดการสั่งซื้อเป็นเกณฑ์ในการวัดการเติบโตของอุตสาหกรรม
  • FANUC ที่มียอดการเติบโตของการสั่งซื้อติดลบติดต่อกัน 8 ไตรมาส (ในปี 2018, 2019) ล่าสุดพบว่ามียอดการสั่งซื้อเติบโตจากที่ติดลบ 30% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2019 มาเป็น ติดลบ 10% ในไตรมาสแรกของปี 2020 เหมือนธุรกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาได้บ้างแล้ว
  • YASKAWA ที่มียอดการเติบโตของการสั่งซื้อลงไปติดลบ 26% ในปี 2019 ล่าสุดพบว่ามียอดการสั่งซื้อเติบโตขึ้นมาเป็น +3% แล้วในไตรมาสแรกของปี 2020
แม้ไม่ได้เป็นการเติบโตที่มากมายนัก แต่ภาวะการแพร่ระบาด COVID-19 อาจจะทำให้ผู้ประกอบการหลายแห่งเริ่มเล็งเห็นความสำคัญของการใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่ก็อย่างว่าอุตสาหกรรมนี้ต้องดูกันไปยาว ๆ ครับ คาดเดายากแต่เริ่มน่าสนใจมากขึ้นแล้ว
 

ธุรกิจญี่ปุ่นที่ร่วงแรงในช่วงวิกฤติ COVID-19 (ธุรกิจร่วง)


1. ธุรกิจกลุ่มห้างสรรพสินค้า
บริษัทที่มีชื่อเสียงในกลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่น ได้แก่
  • ISETAN MITSUKOSHI HOLDINGS เจ้าของห้างชื่อดังอย่าง MITSUKOSHI และ ISETAN
  • TAKASHIMAYA เจ้าของห้างชื่อดังอย่าง TAKASHIMAYA ที่เข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ด้วย
ห้างสรรพสินค้า Mitsukoshi สาขา Ginza
ห้างสรรพสินค้า Mitsukoshi สาขา Ginza
  • J Front Retailing เจ้าของห้างชื่อดังอย่าง DAIMARU และ PARCO
ห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ไม่ต่างจากในประเทศไทย หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในเขตชุมชนเมือง ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเรียกร้องขอให้ประชาชนเลี่ยงการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น หลังจากนั้นมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ห้างสรรพสินค้าได้รับผลกระทบอย่างมาก

เดือนมีนาคมน่าจะเป็นเดือนที่ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่นตกใจเป็นที่สุด สถิติยอดขายอ้างอิงจากผลประกอบการเดือนมีนาคม เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2019 พบว่า
  • ห้างขนาดใหญ่เกือบทั้งหมดประสบปัญหายอดขายตก 35-60%
  • ห้างสรรพสินค้า Daimaru สาขา Shinsaibashi - ยอดขายตก 55.2%
  • ห้างสรรพสินค้า Mitsukoshi สาขา Ginza - ยอดขายตก 55.1%
  • ห้างสรรพสินค้า Daimaru สาขา Umeda - ยอดขายตก 51.8%
  • ห้างสรรพสินค้า Daimaru สาขา Tokyo - ยอดขายตก 49.9%
  • ห้างสรรพสินค้า Daimaru สาขา Sapporo - ยอดขายตก 47.7%
  • ห้างสรรพสินค้า Takashimaya สาขา Osaka - ยอดขายตก 47.4%
นอกจากนี้ห้างสรรพสินค้าเหล่านี้ยังมีกลุ่มลูกค้าอีกส่วนหนึ่งเป็นลูกค้าต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในญี่ปุ่นด้วย พอเกิดภาวะปิดประเทศจึงทำให้ยอดขายกลุ่มลูกค้าต่างชาติหดหายไปหมด ยกตัวอย่างเช่น ยอดขายสินค้าปลอดภาษีของห้างสรรพสินค้า Daimaru-Matsuzakaya มียอดขายสินค้าปลอดภาษีลดลงถึง 97% ธุรกิจกลุ่มนี้ก็ได้แต่เฝ้าลุ้นให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง คนจะได้กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมถึงเฝ้ารอวันที่จะได้เปิดประเทศอีกครั้ง ถึงตอนนั้นกำลังซื้อคงจะกลับมาบ้างครับ

2. กลุ่มร้านอาหารฟาสฟู้ดสไตล์ญี่ปุ่น ร้านอาหารประเภท Family restaurant ที่เน้นบริการอาหารที่หลากหลายสำหรับครอบครัว
โดยร้านอาหารที่มีชื่อเสียงในกลุ่มนี้ได้แก่ Yoshinoya HD, SUKIYA, ICHIBANYA, OTOYA, HIDAY HIDAKA, Ringer Hut, SKYLARK HD, Saizeriya, Royal Host, Joyfull, Denny’s
  • YOSHINOYA ร้านข้าวหน้าเนื้อเบอร์ต้น ๆ ในญี่ปุ่น มียอดขายเดือนมีนาคมลดลง 2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า
ร้านข้าวหน้าเนื้อ YOSHINOYA จาก official
ร้านข้าวหน้าเนื้อ YOSHINOYA จาก official website https://www.yoshinoya.com/
  • SUKIYA ร้านข้าวหน้าเนื้อคู่แข่งกับร้าน YOSHINOYA มียอดขายเดือนมีนาคมลดลง 8% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า
  • COCO ICHIBANYA ร้านข้าวแกงกะหรี่ชื่อดัง มียอดขายเดือนมีนาคมลดลง 10% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า
  • OOTOYA ร้านอาหารญี่ปุ่นสไตล์โฮมเมด มียอดขายเดือนมีนาคมลดลง 21% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า
  • SKYLARK HD ร้านอาหารครอบครัวที่เน้นบริการอาหารตะวันตก มียอดขายเดือนมีนาคม ลดลงกว่า 24% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า
  • Saizeriya ร้านอาหารอิตาเลียนสไตล์ครอบครัวญี่ปุ่น มียอดขายเดือนมีนาคม ลดลงกว่า 22% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า
  • Denny’s ซึ่งเป็นร้านอาหารครอบครัวแบบแฟรนไชส์ที่ถือกำเนิดในอเมริกา ก็ประสบปัญหายอดขายเดือนเดือนมีนาคม ลดลงกว่า 26% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า
จะเห็นได้ว่าร้านอาหารที่มีโมเดลธุรกิจ ให้บริการลูกค้าที่นิยมทานอาหารนอกบ้านจะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ค่อนข้างเยอะ เพราะผู้คนมีความจำเป็นต้องอยู่บ้านมากขึ้น และใช้บริการสั่งอาหารทาง Delivery แทน ถ้าร้านไหนไม่สามารถปรับตัวส่งอาหารโดยช่องทาง Delivery ได้ ก็จะประสบปัญหาในช่วงวิกฤติ COVID-19 ค่อนข้างมาก ในขณะที่ร้านอาหารที่มีบริการ Delivery ส่งถึงบ้าน ก็จะได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้ค่อนข้างน้อย

3. ธุรกิจกลุ่มโรงแรม โดยเฉพาะโรงแรมที่มุ่งเน้นนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
โรงแรมที่มีชื่อเสียงในธุรกิจกลุ่มโรงแรม ได้แก่ Prince Hotels, Imperial Hotel หรือโรงแรม Business Hotel เช่น Dormy Inn, Washington Hotel
 
Sapporo Prince Hotel จาก Official
Sapporo Prince Hotel จาก Official website https://www.princehotels.com/sapporo/
 
ก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 โรงแรมเหล่านี้อยู่ในช่วงขาขึ้น เพราะช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงขาขึ้นของการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น โดยเฉพาะปี 2020 ที่แต่เดิมมีแพลนการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2020 ทำให้มีความต้องการและยอดจองเข้าพักในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น แต่ด้วยวิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมา ทำให้บริษัทที่บริหารโรงแรมที่มุ่งเน้นนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ต่างประสบปัญหากันถ้วนหน้า โดยใน 3-4 เดือนแรกของปี 2020 โรงแรมเหล่านี้ประสบปัญหาขาดทุนกันไปตาม ๆ กัน

โดยผมจะขออนุญาตโชว์ตัวเลขการเติบโตของ Occupancy Rate หรืออัตราการเติบโตการเข้าพักของโรงแรมต่าง ๆ โดยคำนวณจากห้องพักที่ขายได้ เปรียบเทียบกับจำนวนห้องพักทั้งหมดของโรงแรม ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562
  • Prince Hotel อัตราการเติบโตของ Occupancy Rate ลดลง 70%
  • Tokyu Hotels อัตราการเติบโตของ Occupancy Rate ลดลง 57%
  • Nishitetsu Hotels อัตราการเติบโตของ Occupancy Rate ลดลง 51% ในเดือนมีนาคม และลดลง 70% ในเดือนเมษายน
โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดในธุรกิจโรงแรมคือ โรงแรมขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่มีการปิดตัวลงเนื่องจากประสบภาวะล้มละลายหลังได้รับผลกระทบจาก COVID-19

โดยสถิติ ณ วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 มียอดการปิดตัวลงของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและเรียวกังมากถึง 35 เคส จาก 176 เคส ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในบรรดาทุกธุรกิจครับ ฉะนั้น ธุรกิจโรงแรมถือเป็นธุรกิจที่น่าหนักใจในครั้งนี้เลย

นี่เป็นเพียงตัวอย่างธุรกิจรอด และธุรกิจร่วงอย่างละ 3 ธุรกิจที่ผมยกขึ้นมาเขียนนะครับ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในครั้งนี้เป็นปัญหาที่เจอกันทั้งโลก ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับธุรกิจประเทศญี่ปุ่น และสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็ไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก เพียงแต่ว่าในประเทศญี่ปุ่นจะมีบางกลุ่มธุรกิจที่แตกต่างจากประเทศไทย เช่น ธุรกิจผู้ผลิตเกม ธุรกิจผู้ผลิตหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรม ซึ่งผมคิดว่าอาจจะทำให้คุณผู้อ่านได้เห็นมุมมองบางอย่างจากบทความเรื่องนี้ไม่มากก็น้อยนะครับ นอกจากนั้นยังได้รู้จักผู้นำในกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ที่ผมได้ยกตัวอย่างขึ้นมาด้วย

ในตอนหน้าผมจะมาเล่าว่าหลังจากเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 คนญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตอย่างไร มี New Normal อะไรเกิดขึ้นบ้างไหม แล้วพบกันตอนหน้าครับ

Credit :
1. NINTENDO, Photo of Animal Crossing New Horizons
https://www.nintendo.co.jp
2. NINTENDO, IR Report
https://www.nintendo.co.jp
3. SQUARE ENIX, Photo of Final Fantasy VII Remake
https://www.playstation.com
4. SQUARE ENIX, IR Report
https://www.hd.square-enix.com
5. CAPCOM, IR Report
http://www.capcom.co.jp
6. WELCIA HD, IR Report
http://www.welcia.co.jp
7. TSURUHA HD, IR Report
https://www.tsuruha-hd.co.jp
8. SUGI HD, IR Report
https://www.sugi-hd.co.jp
9. SUNDRUG, IR Report
https://www.sundrug.co.jp
10. J-Front Retailing, IR Report
https://www.j-front-retailing.com
11. ISETAN MITSUKOSHI HD, IR Report
https://www.imhds.co.jp
12. MITSUKOSHI สาขา GINZA
https://cp.mistore.jp
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow