เริ่มต้นทำธุรกิจกับ “เพื่อนรัก” ยังไงไม่ให้หักเหลี่ยมโหด

เริ่มต้นทำธุรกิจกับ “เพื่อนรัก” ยังไงไม่ให้หักเหลี่ยมโหด

By Krungsri Plearn Plearn
ในช่วงชีวิตของคนเรา การมีเพื่อนดี ๆ นับว่าหาได้ยาก และถ้าได้เพื่อนรักคนนั้นมาทำธุรกิจด้วยกันมันคงจะดีนะ เพราะรู้จักกับอีกฝ่ายอย่างดี มีความชอบเหมือน ๆ กัน แต่รู้กันไหมว่าการทำธุรกิจกับเพื่อนรักมีความเสี่ยงที่ทำให้ความเป็นเพื่อนต้องจบลง และอาจเลวร้ายจนถึงทะเลาะ เลิกคบกันไปได้เลย หากไม่ทำข้อตกลง และผลประโยชน์ทางธุรกิจให้ดี คงไม่มีใครอยากมีเรื่องทะเลาะ หรือขึ้นศาลฟ้องเพื่อนที่รักกันหรอกนะ แล้วคู่เพื่อนที่กำลังคิดเริ่มทำธุรกิจต้องทำอย่างไร? ไม่ให้ต้องเจอจุดจบถึงขั้นต้องหักเหลี่ยมโหดกันในชั้นศาล ฟ้องร้องกันไปมา แต่เปลี่ยนเป็นช่วยกันประคับประคอง จับมือสร้างธุรกิจให้เติบโตไปได้ด้วยกัน
ข้อตกลงที่ควรคุยกับเพื่อนก่อนเริ่มทำธุรกิจ
เอาอย่างนี้ดีกว่า วันนี้เราขอพาคู่เพื่อนที่มีความฝัน อยากทำธุรกิจ มาเรียนรู้หลักสูตรการทำธุรกิจให้รุ่งมาฝากกัน ตามมาดูกันเลย..

ข้อตกลงที่ควรคุยกับเพื่อนรัก ก่อนทำธุรกิจ!

การมีเป้าหมายเดียวกันในการทำธุรกิจกับเพื่อน

1. มีฝันการทำธุรกิจเดียวกัน

ก่อนอื่นที่จะเริ่มทำธุรกิจกับเพื่อนรักของเรา ลองถามเพื่อน ๆ ของเราดูก่อนว่าแต่ละคนมีเป้าหมายในการทำธุรกิจอย่างไรกันบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ความถนัดของแต่ละคนชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เราต้องคุยกันให้ครบถึงแม้จะเป็นเพื่อนรักกันมานาน แต่ละคนก็มีความชอบไม่เหมือนกัน เป้าหมายในการทำธุรกิจก็ไม่เหมือนกัน บางคนอยากสร้างฐานะ บางคนก็อยากได้เงิน หรือบางคนก็แค่อยากมีส่วนร่วมกับเพื่อนเฉย ๆ ไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจน
เมื่อคุยกันเรียบร้อย ก็ถึงขั้นตอนเริ่มวางแผนการทำธุรกิจ ส่วนนี้ต้องเรียกเพื่อนให้มาคุยพร้อมกัน อย่าทำอะไรเพียงคนเดียว เพราะถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาบางเรื่องอาจสายเกินแก้ เช่น เกิดปัญหาเฉพาะหน้าของธุรกิจหลังจากที่ทำไปแล้ว หรือบริหารธุรกิจผิดพลาด เนื่องจากมีแผนธุรกิจที่ไม่ชัดเจน และข้อดีอีกอย่างของการทำแผนธุรกิจนั่นคือ การขอสินเชื่อในการนำมาใช้จ่ายหมุนเวียนในธุรกิจจากธนาคาร หากเรามีแผนธุรกิจที่ดี มีข้อมูลชัดเจนจะช่วยให้การได้รับสินเชื่อง่ายขึ้น ใครที่กำลังจะเริ่มธุรกิจกับเพื่อน ๆ บอกได้เลยเรื่องแบบนี้สำคัญสุด ๆ
การแยกความเป็นเพื่อนกับเรื่องการทำงานออกจากกันในการธุรกิจร่วมกัน

2. แยกความเป็นเพื่อน ออกจากการทำงาน

คู่เพื่อนรักหลายคนที่ตกม้าตายในการทำธุรกิจส่วนใหญ่มักมีจุดเริ่มต้นของปัญหามาจากเรื่องแบบนี้ ที่เราแยกความเป็นเพื่อนกับเรื่องงานออกจากกันไม่ได้ ทำไมเราถึงบอกให้ควรแยกเรื่องนี้ออกจากกัน เพราะว่าการทำธุรกิจ มีความซับซ้อน และมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารงาน บริหารเงิน รวมถึงเรื่องของคนในธุรกิจ
หากไม่แยกเรื่องเพื่อนออกให้ชัดเจน เมื่อเกิดปัญหาต่างคนจะรู้สึกเกรงใจ ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแย้งอะไรหากความคิดเห็นไม่เหมือนกัน เพราะหากพูดอะไรจะทำให้ต้องทะเลาะกับเพื่อน ปัญหาเหล่านี้ดูเหมือนเล็กน้อยแต่ถ้ามันเกิดขึ้นบ่อย ๆ สะสมไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงวันหนึ่งฝ่ายใดหมดความอดทน จุดจบคงมีทางเดียวคือ ทะเลาะกันอย่างหนัก เลวร้ายสุดคือต้องเลิกทำธุรกิจร่วมกัน และความเป็นเพื่อนก็จบลงไปในที่สุด
เรื่องเงินต้องคุยให้ชัดเจนตั้งแต่ก่อนเริ่มทำธุรกิจกับเพื่อน

3. เรื่องเงินต้องคุยให้เคลียร์ ตั้งแต่ก่อนเริ่มทำธุรกิจ

เชื่อไหมว่าคำว่า “เงิน” เป็นอาวุธที่สะบั้นความสัมพันธ์มาเยอะแล้ว ไม่ว่าจะเป็น พี่น้อง คนรัก หรือแม้กระทั่งเพื่อนสนิท แต่เฮ้ยพวกเรารักกัน ไม่มาแตกคอกันเพราะเรื่องแค่นี้หรอก ถึงวันนี้เราจะบอกว่าเงินไม่สามารถทำลายพวกเราได้ แต่อนาคตใครจะรู้ หากธุรกิจเกิดไปได้สวย หรือขาดทุนหนัก ๆ เรื่องเงินจะกลายมาเป็นประเด็นในการทะเลาะกันทันที ฝ่ายใดอาจได้เยอะกว่า อีกฝ่ายน้อยกว่า เรื่องเงินถึงไม่เข้าใครออกใครอยู่เสมอ
ถ้าคิดจะเริ่มทำธุรกิจแล้วไม่อยากเจอปัญหาแบบนี้ ให้ตกลงกันเลย ธุรกิจอันนี้จะแบ่งหุ้นกันอย่างไร เงินในส่วนของกำไร ใครจะได้ส่วนแบ่งมาก หรือน้อย กำหนดกันให้ชัดไปเลย เรื่องเงินอย่าไปคิดว่า เป็นเรื่องน่าอาย ไม่ควรพูดกัน แต่การทำธุรกิจเรื่องเงินเป็นเรื่องควรที่จะพูดกัน ถ้าไม่อยากมาทะเลาะในวันที่สายเกินไป
แบ่งหน้าที่กันให้ชัดเจน และเคารพความคิดของอีกฝ่ายในการทำธุรกิจกับเพื่อน

4. แบ่งหน้าที่กันให้ชัดเจน และเคารพความคิดของอีกฝ่าย

เมื่อตกลงจะทำธุรกิจกับเพื่อนแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่ควรแบ่งกันให้ชัดเจนคือ Role ของแต่ละคน หุ้นส่วนแต่ละคนมีหน้าที่อะไร ใครบริหารงานส่วนไหน และเขียนข้อตกลงทั้งหมดลงเป็นลายลักษณ์อักษรให้ครบ เพื่อที่จะได้ไม่มีปัญหากันภายหลัง และถ้าแบ่งงานกันแล้วก็พยายามอย่าเข้าไปก้าวก่ายงานของอีกฝ่าย
โดยเฉพาะในเรื่องของงานบริหารคน ถ้าอีกฝ่ายต้องคุมทั้งงานและคน หากมีคนเข้าไปก้าวก่ายโดยที่ไม่เกี่ยวข้อง จะทำให้เพื่อนรู้สึกไม่พอใจเอาได้ เราต้องเชื่อใจ และไว้ใจหากแบ่งงานกันแล้ว ยกเว้นมีเรื่องที่ร้ายแรง อันนี้เราควรปรึกษากับเพื่อนแบบตรง ๆ จะดีกว่า แล้วการทำงานร่วมกันจะได้ราบรื่น ไม่ต้องมาทะเลาะกันให้เสียเพื่อนเปล่า ๆ
ข้อตกลงในการทำธุรกิจร่วมกันกับเพื่อน

5. มีข้อตกลงในการทำธุรกิจร่วมกัน

เรื่องนี้อาจดูเหมือนเล็กน้อย แต่การมาทำธุรกิจร่วมกัน เรื่องเล็กของเรา อาจเป็นเรื่องใหญ่ของใครอีกคน โดยเรื่องที่เราควรทำข้อตกลงกับเพื่อน ๆ อย่างเช่น เวลาเข้า-ออก การทำงานใครสะดวกเวลาไหนเพราะแต่ละคนอาจมีงานหลักไม่เหมือนกัน แต่อยากมาทำธุรกิจร่วมกันเป็นงานเสริม หรือเรื่องของการทำบัญชีในธุรกิจ ใครจะเป็นคนรับผิดชอบเงินทั้งหมดของธุรกิจ หรือจะเอางานส่วนนี้ไปให้บริษัทด้านนอกมารับช่วงต่อทำให้ อันนี้ต้องตกลงกันให้ดี ถ้าไม่อยากต้องมาทะเลาะกันบ่อย ๆ เพราะไม่ตกลงร่วมกันตั้งแต่เริ่มต้น
หากคุยตกลงเรียบร้อย ให้ลองมาจำลองสถานการณ์กันสักรอบหนึ่ง ว่าถ้าเกิดปัญหาในการทำธุรกิจเราจะทำอย่างไร ใครจะเป็นคนตัดสินใจหากเกิดข้อผิดพลาด หรือถ้าเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ที่ต้องตัดสินใจแบบด่วน ๆ จะมอบหมายหน้าที่นี้ให้กับใคร ถ้าเรามีข้อตกลงกันเป็นอย่างดี เมื่อเจอปัญหาใหญ่ ๆ จริง เราจะสามารถผ่านมันไปได้แบบชิลล์ ๆ
ถึงตรงนี้เพื่อน ๆ คงทราบกันแล้วว่าหากอยากทำธุรกิจกับเพื่อน ๆ ไม่ให้มีปัญหากันในอนาคตจะต้องทำอย่างไร เพราะเรื่องผลประโยชน์ในธุรกิจมักไม่เข้าใครออกใคร การเปิดใจพูดคุยกันจะช่วยให้ปัญหาที่ค้างคาในใจสลายออกไป แล้วเหลือแต่ความเข้าใจกันแล้วเราจะทำธุรกิจกับเพื่อน ๆ ได้อย่างมีความสุข จนธุรกิจประสบความสำเร็จโดยไร้ปัญหาจากภายใน
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow