ในการประกอบธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ องค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่ง คือ การบริหารจัดการเงินทุน เพื่อให้ธุรกิจนั้น ๆ สามารถดำเนินการต่อไปได้ด้วยดีอย่างมีสภาพคล่อง โดยปราศจากความเสี่ยงใด ๆ ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องรู้ข้อมูลพื้นฐานของธุรกิจตัวเองอย่างถ่องแท้เสียก่อน ทั้งในส่วนของงบประมาณในการลงทุน ขนาดของธุรกิจ สภาพคล่องของธุรกิจ กำไรและความเสี่ยง หรือที่เรียกกันว่าแผนธุรกิจนั่นเอง เพื่อจะได้บริหารจัดการเงินทุนได้ตามสภาพความเป็นจริง รวมถึงการมองภาพการเติบโตของธุรกิจในอนาคตด้วย
ทั้งนี้การประกอบธุรกิจโดยทั่วไปสามารถแบ่งเงินทุนได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ
เงินทุนคงที่ (Fixed Capital) หมายถึง เงินทุนในการใช้จ่ายเกี่ยวกับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน
อาคาร หรือโรงงาน และ
เงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) ที่ไว้ใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การจัดซื้อวัตถุดิบ ค่าการผลิต ค่าจ้างแรงงาน รวมถึงการส่งสินค้าไปยังผู้บริโภค
โดยในส่วนเงินทุนสองประเภทนี้หากไม่ได้กู้ยืมมาจากสถาบันการเงินที่ใด เป็นเงินทุนของผู้ประกอบการหรือหุ้นส่วนก็จะหมดกังวลในเรื่องดอกเบี้ย แต่ถ้ากู้ยืมเงินดังกล่าวมาจากธนาคารจะต้องมีการวางแผนการใช้จ่ายเงินอย่างรอบคอบและลดความเสี่ยงให้มากที่สุด
นั่นหมายถึงว่าจะต้องมีการคำนวณรายรับ-รายจ่ายให้ดีอย่างถี่ถ้วน
ต้องมีเงินสำรองไว้จำนวนหนึ่งเสมอ เผื่อไว้ในกรณีที่ธุรกิจมีปัญหา
สำหรับการวางแผนเงินทุน โดยเฉพาะในส่วนของเงินทุนหมุนเวียนนั้น กูรูทางด้านธุรกิจให้คำแนะนำตรงกันว่า จะต้องมีเงินสำรองไว้จำนวนหนึ่งเสมอ เผื่อไว้ในกรณีที่ธุรกิจมีปัญหา เพราะบางเรื่องบางกรณีไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ซึ่งอาจจะมีเหตุมาจากปัจจัยภายในประเทศและภายนอกประเทศ หากไม่มีเงินสำรองไว้อาจจะเกิดปัญหาทำให้ธุรกิจสะดุดหรือสุดท้ายต้องปิดกิจการ ส่วนเงินก้อนนี้ควรจะมีมากน้อยเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจนั้น ๆ ด้วย
กรณีเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ๆ ที่ลูกค้ายังไม่รู้จักสินค้าหรือบริการ ยิ่งจำเป็นต้องมี พูดง่าย ๆ คือ สายป่านต้องยาวในระดับหนึ่งเพื่อให้สินค้านั้นเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลามากน้อยแตกต่างกันไป
ตัวอย่างหนึ่งของความจำเป็นที่ต้องมีเงินสำรองไว้ อย่างเช่น ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในบ้านเราช่วงนี้ ประกอบกับการส่งออกก็มีปัญหาเนื่องจากประเทศคู่ค้าไม่ว่าจะเป็นจีน สหรัฐหรือยุโรป สั่งซื้อสินค้าน้อยลง ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยจำเป็นต้องพยุงกิจการตัวเองไว้ด้วยการนำเงินเก่าที่สะสมมาไว้ใช้เป็นค่าจ้างแรงงาน เพราะในแต่ละวันขายสินค้าได้ไม่ดีเหมือนแต่ก่อน ผู้คนระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย อีกทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติลดจำนวนลง ทางออกของผู้ประกอบการในภาวะวิกฤตินี้คือ ต้องหาทางลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในทุกวิถีทางเท่าที่จะทำได้
อันที่จริงแล้วการบริหารจัดการเงินทุนไม่ใช่เรื่องยากหรือสลับซับซ้อนอะไร จุดเริ่มต้นอยู่ที่การวางแผนและมีเป้าหมายชัดเจน มีวินัยทางการเงินที่ดี พร้อมทำตามแผนอย่างเคร่งครัด ซึ่งถ้าบริหารจัดการเงินทุนดี ย่อมหมายถึงการมีเงินสะสมจากผลกำไรที่ได้ในธุรกิจนั้น ๆ และนั่นจะส่งผลให้ธุรกิจมีโอกาสขยายเติบโตได้อย่างแน่นอน