กระแสของการออมเพื่อให้เงินงอกเงยขึ้นมา ดีกว่าเก็บแช่เป็นเงินเย็นที่ไม่ได้ผลิดอกออกผล จนทำให้เหล่ามนุษย์เงินเดือนและผู้ประกอบธุรกิจทั้งหลายหาหนทางให้เงินที่หามาได้นั้นเพิ่มพูนขึ้น และเป็นที่มาของการนำเงินไปลงทุนในหลาย ๆ รูปแบบที่สถาบันการเงินต่างนำเสนอ ทั้งการฝากประจำปลอดภาษีที่ได้ดอกเบี้ยมากกว่าฝากประจำทั่วไปแถมยังปลอดภาษีอีกด้วย หรือจะเป็นการลงทุนในหุ้นที่แม้ตอนนี้จะมีความผันผวนสักหน่อยแต่ก็ยังเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่นักลงทุนนิยมกัน ในขณะที่อีกหลายคนก็ขอเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีนำเสนอให้เลือกลงทุนตั้งแต่ระดับความเสี่ยงต่ำ ไปจนถึงความเสี่ยงสูง แต่ยังมีอีกรูปแบบการลงทุนหนึ่งที่อยากจะแนะนำครับ นั่นคือ การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล
ที่มา: MGR Online
ทำความเข้าใจก่อนลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล
สำหรับใครที่กำลังเล็ง ๆ อยู่ว่าจะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลดีไหม มาทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ก่อนครับ ว่าพันธบัตรรัฐบาลคืออะไร พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) หรือตราสารหนี้รัฐบาล ออกโดยหน่วยงานของรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจ ผู้ซื้อหรือนักลงทุนมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ที่ได้รับการชำระหนี้และผลประโยชน์อื่น ๆ เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล จากลูกหนี้คือรัฐบาลหรือหน่วยงานที่ออกพันธบัตรนั้น ๆ
จะเห็นว่าการลงทุนในพันธบัตรนั้นจะเข้าใจได้ง่ายตรง ๆ ไม่ซับซ้อนเข้าใจยากเหมือนการลงทุนแบบอื่น ๆ แล้วทำไมพันธบัตรรัฐบาลถึงน่าลงทุน เพราะว่าความเสี่ยงต่ำ เงินต้นไม่หาย ได้รับผลตอบแทนดีกว่าฝากออมทรัพย์หรือฝากประจำ ได้รับผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากำหนด ระยะเวลาลงทุนไม่นานมาก เช่น 3 ปี 5 ปี 7 ปี เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น คือคุณซื้อพันธบัตรมาเก็บไว้จนถึงเวลาที่ต้องไถ่ถอนตามกำหนดสัญญาก็จะได้รับเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยรายปี ปีละประมาณ 3% แต่อย่างที่บอกว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการลงทุน ดังนั้นก็ยังคงมีความเสี่ยงและเงื่อนไขการลงทุนที่ต้องศึกษาอยู่ดีครับ เรามาค่อย ๆ ดูกันว่ามีอะไรบ้าง
สิ่งที่ต้องแบกรับ ความเสี่ยง VS ภาษี
อย่างที่ได้เกริ่นไว้ว่าการลงทุนมีความเสี่ยงถึงแม้ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยรัฐบาลก็ตาม ความเสี่ยงที่จะมีเกิดขึ้นหลัก ๆ คือ
- ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยมีการปรับตัวสูงขึ้น คุณก็จะไม่ได้รับการปรับดอกเบี้ยขึ้นตาม เพราะพันธบัตรรัฐบาลเป็นดอกเบี้ยตายตัว ก็จะเสียผลประโยชน์ในจุดนี้ไป
- ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) เพราะพันธบัตรมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน ต้องถือให้ครบตามสัญญาจึงจะได้เงินคืน
- ความเสี่ยงด้านสภาวะเงินเฟ้อ (Inflation Risk) ในกรณีที่ค่าเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก ๆ แต่ดอกเบี้ยจากพันธบัตรยังเท่าเดิม ก็จะไม่เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน
ภาษีมีเกิดขึ้นแทบจะทุกการลงทุน คุณต้องรับทราบตรงนี้ไว้นะครับ ไม่ว่าจะเป็นภาษีหัก ณ ที่จ่าย หรือภาษีเงินได้ โดนหักหมดไม่ว่าจะเป็นฝากออมทรัพย์ ฝากประจำ ลงทุนในกองทุน ซื้อหุ้น หรือแม้แต่ลงทุนในพันธบัตร โดยผลตอบแทนจากดอกเบี้ยของพันธบัตรต้องถูกนำมาคิดภาษีด้วย ซึ่งจะแบ่งออกเป็น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย กับภาษีเงินได้ โดยภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นภาษีที่ผู้จ่ายเงินปันผลหรือผู้ออกพันธบัตรต้องหักเอาไว้ 10% ในทุกกรณี ภาษีในส่วนนี้จะนำไปรวมกับภาษีเงินได้หรือไม่ก็ได้ ถ้ารวมแล้วเสียภาษีน้อยกว่า ก็สามารถนำไปขอคืนภาษีได้ ขณะที่ภาษีเงินได้ ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาจะเสียภาษี 15% จากดอกเบี้ยที่ได้รับ ถ้าเป็นบริษัทเสียภาษี 1% จากดอกเบี้ยที่ได้รับ
อยากลงทุนในพันธบัตรต้องทำอย่างไร
เอาละเมื่อคุณทำความเข้าใจการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล คราวนี้ก็มาเตรียมเงินและเตรียมตัวเองให้พร้อม เมื่อกระทรวงการคลังออกพันธบัตรออมทรัพย์ในรอบต่อไป ที่คาดว่าจะเป็น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และจะออกจำหน่ายในช่วงปลายปีนี้ กระซิบนิดหนึ่งว่า คุณต้องไวจริง ๆ นะครับ เพราะเพียงเปิดขายวันแรกพันธบัตรก็หายวับไปหมดแล้ว โดยพันธบัตรรัฐบาลจะมีราคาจำหน่ายอยู่ที่หน่วยละ 1,000 บาท และกำหนดวงเงินซื้อขั้นต่ำไว้ที่ 1,000 บาท เท่ากับ 1 หน่วย ไม่จำกัดวงเงินซื้อสูงสุดและจำนวนครั้งที่ซื้อ โดยต้องซื้อเป็นหน่วยทวีคูณของ 1,000 บาท เช่น 2,000 บาท, 10,000 บาท, 150,000 บาท แบบนี้นะครับ
การ
ออมเงินไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดถือเป็นเรื่องดีด้วยกันทั้งนั้นครับ แต่จะต้องไม่เดือดร้อนกับค่าใช้จ่ายประจำที่เรามี สำหรับการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลก็ถือเป็นตัวเลือกหนึ่งในการออมเงิน ซึ่งถ้าคุณมีโอกาสได้ซื้อไว้ก็ย่อมให้ผลกำไรกับคุณในท้ายที่สุดอย่างแน่นอน Save Today Survive Tomorrow!