ขึ้นชื่อว่า “หนี้” อาจฟังดูน่ากลัวสำหรับใครหลาย ๆ คน แต่ใช่ว่าการเป็นหนี้จะเป็นเรื่องไม่ดีไปซะทั้งหมด หากเรารู้จักวางแผนและพิจารณาความเหมาะสม หนี้ก้อนนี้อาจจะกลายเป็นหนี้ดีก็เป็นได้ หลายคนอาจเริ่มสงสัยแล้วใช่ไหมครับว่าหนี้ดีคืออะไร? เราไปรู้จักกับความหมายของหนี้ดีกันแบบชัด ๆ เลยดีกว่าครับ
ทำความรู้จักหนี้ดี หนี้ดีคืออะไร?
หนี้ดี ก็คือ หนี้ที่สามารถทำให้เกิดรายได้ หรือสามารถสร้างผลประโยชน์ได้มากขึ้นในอนาคต ได้มากกว่ารายจ่ายนั่นเอง เช่น การซื้อบ้านที่เป็นปัจจัย 4, การซื้อรถที่สามารถพาเราออกไปหารายได้เพิ่ม หรือการลงทุนที่สามารถต่อยอดธุรกิจและทำกำไรได้ เห็นมั้ยว่า การเป็นหนี้ ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เพราะในชีวิตจริงเราคงไม่สามารถซื้อของพวกนี้เป็นเงินสดได้หรอกจริงมั้ยครับ
แต่ก็อย่าชะล่าใจเพราะ “หนี้ดี” สามารถกลายร่างเป็น “หนี้ไม่ดี” ได้ ถ้าเราไม่คิดวางแผนให้รอบคอบก่อน
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราคิดจะลงทุนซื้อ
คอนโดที่หนึ่งที่คำนวณราคาแล้วผ่อนได้แบบไม่กระทบเงินสำรองมากนัก เป็นทำเลดีติดรถไฟฟ้า เดินทางสะดวก เพิ่มโอกาสในการทำงาน จะปล่อยเช่าก็ได้ราคาดีสามารถครอบคลุมค่าผ่อนชำระพร้อมดอกเบี้ยแบบเหลือเฟือ หรือปล่อยขายง่าย ได้ราคาดี อันนี้ถือว่าเป็น “หนี้ดี”
แต่ในทางกลับ ถ้าเราซื้อคอนโดที่แพงเกินฐานะ ไม่สามารถผ่อนจ่ายได้ ทำเลไม่ดี ความต้องการเช่าน้อยรายได้ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่าย และไม่เหลือเงินสดสำรองพอสำหรับเวลาที่ไม่มีผู้เช่า ไม่ทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นและเสื่อมมูลค่าลงทุกวัน แบบนี้ถือว่าเป็น “หนี้ไม่ดี”
ทั้งนี้ก่อนที่เราจะมีหนี้ดี เราก็ควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเสียก่อนว่าเราพร้อมที่จะมีหนี้แล้วหรือยัง?
หลักในการคิดก่อนเป็นหนี้
เราจำเป็นต้องแยกแยะให้ได้ก่อนว่าหนี้ที่กำลังจะสร้างเป็น “หนี้ดี” จริงหรือไม่ หรือเราคิดไปเองว่านี่แหละเป็นหนี้ที่ดี ถ้าไม่แน่ใจเช็กจาก 3 หัวข้อต่อไปนี้ที่เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างหนี้ดี
1. แยกแยะหนี้ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
1) ความพอประมาณ – พิจารณาว่าของที่เรากำลังจะซื้อ เป็นของจำเป็น หรือแค่ความต้องการ และแพงเกินตัวไปไหม เหมาะสมกับเราหรือไม่? ไม่ลำบากจนเกินไปที่จะซื้อหรือเปล่า?
2) ความสมเหตุสมผล – คำนวณดูว่าเราลงทุนกับของชิ้นนี้แล้วคุ้มค่าแค่ไหน ได้ผลตอบแทนที่มากกว่าค่าใช้จ่าย หรือดอกเบี้ยที่เสียไปหรือไม่
3) ภูมิคุ้มกัน – ในที่นี้หมายถึงภาระในการชำระหนี้ต้องไม่สูงเกิน ไม่กระทบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และมีเหลือเก็บ
2. รู้ศักยภาพในการชำระหนี้ของตัวเอง
ก่อนที่จะสร้างหนี้ก้อนใหญ่ อย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินใจจนกว่าจะรู้ศักยภาพในการชำระหนี้ของตัวเอง โดยคำนวณได้ง่าย ๆ จากภาระผ่อนต่อเดือนของเรา เช่น หากมี
ค่างวดบ้าน และรถยนต์รวมกัน ต้องไม่เกิน 40% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ต่อเดือน และไม่ควรเยอะเกินกว่านี้ เพราะในชีวิตจริงอาจมีค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นมาได้ ฉะนั้นควรวางแผนให้รอบคอบเสียก่อน
3. ศึกษาเรื่องสินเชื่อให้พร้อม อีกสิ่งสำคัญที่จะทำให้หนี้ของคุณเป็นหนี้ที่ดีได้ คือ การเลือกสินเชื่อ ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการซื้อ ควรศึกษาข้อมูล และอัตราดอกเบี้ยของแต่ละสินเชื่อแต่ละประเภทให้ดี อย่าง
สินเชื่อบ้าน, สินเชื่อรถ หรือสินเชื่อเพื่อการทำธุรกิจ รวมถึงระยะเวลาในการใช้หนี้เป็นอย่างไร ทำให้เสียเงินมากขึ้นโดยไม่จำเป็นหรือไม่
แน่นอนว่า การไม่มีหนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่หากคุณรู้จักวางแผนการเงิน รู้ศักยภาพของตัวเอง รู้จักสร้างหนี้ดีที่ก่อให้เกิดรายได้ ก็จะทำให้ไม่มีหนี้เกินจำเป็น และยังมีโอกาสในการสร้างรายได้จากหนี้ดีก้อนนี้ได้อีกด้วยล่ะครับ