เมื่อวันที่ 16 พ.ค ที่ผ่านมา ทางสภาพัฒน์ได้รายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/59 ซึ่งขยายตัว 3.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว หรือโต 0.9% จากไตรมาส 4/58 ในขณะที่นักวิเคราะห์ในตลาดคาดว่าจะขยายตัวราว 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการที่ตัวเลขจีดีพีออกมาโตกว่าที่นักวิเคราะห์คาดมาก ส่งผลให้นักวิเคราะห์มีความสนใจว่า ปัจจัยใดที่ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสแรกขยายตัวได้มาก ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจดูเหมือนยังคงซบเซา การส่งออกยังไม่ฟื้นตัว ภาคการผลิตยังคงขยายตัวในระดับต่ำ และปัญหาภัยแล้งยังคงส่งผลให้การบริโภคของภาคการเกษตรอ่อนแอ
เมื่อดูรายละเอียดในรายงานของสภาพัฒน์แล้วจะพบว่า การใช้จ่ายของภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 8.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ผลประโยชน์สวัสดิการสังคม การใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และค่าตอบแทนแรงงานที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การเติบโตของภาคการท่องเที่ยวได้ช่วยหนุนทั้งภาคค้าปลีก โรงแรม และภาคขนส่งทางอากาศ สำหรับการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 2.3% ตามการขยายตัวในหมวดสินค้าไม่คงทน เช่น อาหาร (จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น) การใช้กระแสไฟฟ้า (จากสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปกติ) และการใช้น้ำมัน (ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ และการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น)
ในส่วนของภาคการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลดลง แต่การอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลให้การส่งออกในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การส่งออกมีทิศทางที่จะกลับมาเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการส่งออกในช่วงก่อนหน้านี้ หากไม่รวมหมวดทองคำและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน เริ่มขยายตัวต่อเนื่อง (ตลาดมักจะมองว่า ที่ผ่านมาการส่งออกเมื่อไม่รวมทองคำปรับตัวลดลง การส่งออกจึงยังคงอ่อนแอ แต่ผมมองว่าคงเป็นการไม่ยุติธรรมที่จะมองเพียงปัจจัยที่ทำให้การส่งออกขยายตัวมากกว่าปกติ แต่ควรมองเรื่องของราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่งผลให้การส่งออกลดลงมากกว่าปกติด้วย ดังนั้น เพื่อให้เห็นทิศทางของการส่งออก จึงควรดูมูลค่าการส่งออกที่ไม่รวมทองคำและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน) โดยราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกโดยรวมเริ่มกลับมาเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง
เมื่อดูในฝั่งของภาคการผลิต พบว่าขยายตัวได้ดีในเกือบทุกหมวด โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวได้อย่างโดดเด่น ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว สาขาก่อสร้างขยายตัวได้ดีทั้งการก่อสร้างภาครัฐและการก่อสร้างภาคเอกชน แต่การผลิตภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัว ซึ่งทั้งภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมนี้ มีแรงงานอยู่เป็นจำนวนมาก จึงน่าจะเป็นสาเหตุหลักที่คนส่วนใหญ่ยังคงมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังไม่ดี
ทั้งนี้ สภาพัฒน์มองว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว และจะมีแรงส่งอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลยังมีงบประมาณเพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก ในขณะที่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ น่าจะเริ่มมีแรงส่งจากโครงการลงทุนภาครัฐมากขึ้น โดยสภาพัฒน์คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ราว 3.0 – 3.5% แต่ยังคงคาดว่าการส่งออกจะยังคงหดตัว
การที่ตัวเลขจีดีพีในไตรมาสแรกออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดมากนี้ น่าจะส่งผลให้บรรดานักวิเคราะห์ต่างปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แต่ก็ยังคงไม่น่าปรับขึ้นมาก เนื่องจากยังคงมีความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้ง เศรษฐกิจโลกอาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ความกังวลว่าสหราชอาณาจักรจะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่อาจล่าช้ากว่าที่คาด และการส่งออกอ่อนแอ เป็นต้น
การที่นักวิเคราะห์ยังคงมีมุมมองต่อเศรษฐกิจอย่างระมัดระวังนี้ น่าจะยังส่งผลให้ทิศทางตลาดเป็นไปอย่างระมัดระวังด้วย ซึ่งหากเป็นดังนี้ ราคาสินทรัพย์เสี่ยงก็น่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากต้องมีส่วนลด (discount) สำหรับความเสี่ยงที่ยังคงมีอยู่
ทั้งนี้ ผลประกอบการไตรมาสแรกของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ประกาศออกมา ส่วนใหญ่ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คาด ในขณะที่ปัญหาต่าง ๆ เริ่มมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น เช่น ฤดูฝนที่อาจมาเร็วกว่าปกติซึ่งจะช่วยให้ความเชื่อมั่นในภาคเกษตรกรรมดีขึ้น และจะส่งผลต่อเนื่องถึงการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ทางด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยตลาดแรงงานของสหรัฐฯยังคงแข็งแกร่ง ตลาดที่อยู่อาศัยขยายตัวได้ดี ค่าจ้างแรงงานของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และอัตราการออมของผู้บริโภคของสหรัฐฯอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นสัญญาณว่าแนวโน้มการบริโภคของสหรัฐฯจะยังคงขยายตัวได้ดี ส่วนเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาส 1/59 ฟื้นตัวดีกว่าที่คาด นำโดยเยอรมนี ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยูโรโซน โดยเศรษฐกิจของยูโรโซนส่วนใหญ่ได้แรงหนุนจากการบริโภคและการใช้จ่ายภาครัฐ (เพื่อรองรับการอพยพเข้าของผู้ลี้ภัย) ในขณะที่เศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย เริ่มมีเสถียรภาพ ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ จะช่วยหนุนภาคการส่งออกของไทยให้กลับมาขยายตัวได้ดี
ดังนั้น หากนักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ในขณะที่ราคาหุ้นยังไม่ได้สะท้อนถึงแนวโน้มดังกล่าว ก็อาจจะเริ่มทยอยลงทุนโดยพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐาน โดยคัดเลือกหุ้นที่จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่หากนักลงทุนยังไม่มั่นใจถึงแนวโน้มดังกล่าว ก็อาจรอดูเพื่อให้แน่ใจมากขึ้น นอกจากนี้ นักลงทุนอาจทยอยลงทุนใน
กองทุนรวม ให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม โดยขอคำปรึกษาจากที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ท่านยอมรับได้