“Gamification” คำ ๆ นี้หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาแล้ว เพราะไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่คือการเอา ‘หลักของเกม’ เข้ามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจหรือกลยุทธ์การตลาด และสาเหตุที่หลายคนนำหลักการนี้มาใช้ก็เพราะมัน “สนุก” นั่นเอง!
จำสมัยเด็ก ๆ ได้ไหมคะ หลายคนคงเคยเจอครูที่มีการสะสมแต้มหรือ ‘ดาว’ ให้นักเรียน เช่น ทุกครั้งที่นักเรียนยกมือตอบคำถาม ก็จะได้ดาว แล้วพอจบเทอมหรือจบเดือน ครูจะให้รางวัลกับนักเรียนคนที่ได้ดาวเยอะที่สุด แบบนี้ก็คือ Gamification อย่างหนึ่ง คือ การเอาแนวคิดการสะสมแต้มเข้ามาใช้ในการสอนหนังสือ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนสนใจและอยากเอาชนะการบ้านยาก ๆ มากขึ้น เป็นผลให้เกิดการถาม-ตอบมากขึ้นกว่าปกติที่ห้องเรียนจะมีแต่เสียงครูพูดประสานกับเสียงนักเรียนที่คุยเล่นกันเอง
ธุรกิจก็สามารถเอาเรื่องพวกนี้มาใช้ได้เช่นกัน การให้แต้ม (Point) รางวัล (Rewards) ตราประทับ (Badge) หรือการอัปเกรดระดับ (Level) ให้ลูกค้าเมื่อลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายทำอะไรสักอย่างถึงเกณฑ์ที่กำหนด รวมถึงการประยุกต์ใช้การแข่งขันเข้าไป
แต่นอกจากการสอนและการทำการตลาดในธุรกิจแล้ว เราสามารถเอา Gamification มาใช้กับชีวิตของเราได้ด้วย ให้การใช้ชีวิตเหมือนเป็น ‘เกม’ ก็สามารถช่วยกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้เราได้อีกทาง วิธีทำก็คือ แทนที่เราจะตั้งเป้าหมายในชีวิตเป็นเป้าหมายใหญ่ ๆ เช่น ต้องรวยร้อยล้านเอาไว้เป้าหมายเดียว เราก็เปลี่ยนมาวางแผนชีวิตให้เหมือนเกมมากขึ้น เพราะการมีเป้าหมายใหญ่อย่างเดียวอาจทำให้ท้อและเบื่อระหว่างทางได้ เนื่องจากกว่าจะถึง อาจจะนาน ดังนั้น นอกจากจะตั้งเป้าหมายใหญ่แล้ว เราจะยังต้องซอยมันออกมาด้วย เช่น เรียนจบต้องมีเงินเกิน 3 แสน อายุ 25 ต้องมี 5 ล้านแล้วนะ 30 ต้องมี 10 ล้าน แล้ว 40 ต้องอย่างน้อย 30 ล้าน แบบนี้ จากนั้น ก็ตั้งเป้าหมายที่เล็กและถี่ขึ้นมาอีก เช่น ปีนี้ต้องเก็บเงินเพิ่มได้เท่านี้ ไตรมาสนี้ต้องอ่านหนังสือพัฒนาตัวเองกี่เล่ม เดือนนี้ต้องทำอะไรให้ได้
จากนั้นทุกครั้งที่เราบรรลุเป้าย่อย ๆ ทั้งหลายได้ ก็ต้องมีรางวัลให้ตัวเอง เช่น ทำได้เท่านี้ก็อนุญาตให้ซื้อไอโฟนได้ ทำได้เท่านี้ก็ไปเที่ยวญี่ปุ่นได้ ฯลฯ แบบนี้เส้นทางชีวิตเรามันก็จะไม่น่าเบื่อ ไม่ท้อจนเกินไป เพราะเราจะรู้สึก ‘สำเร็จ’ บวกกับมีความสุขที่ได้ให้รางวัลตัวเองอยู่บ่อย ๆ ความรู้สึก ‘สำเร็จ’ เนี่ยแหละ ถึงมันจะเป็นความสำเร็จเล็ก ๆ แต่ก็เป็นพลังบวกช่วยเสริมความมั่นใจและเติมไฟให้เราเดินต่อไปได้อย่างไม่รู้จบ
(
อ่านตัวอย่างการพัฒนาทางความคิดสู่ธุรกิจระดับโลก)
แต่นานิมีเรื่องเสริมสำหรับคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีฝันใหญ่อลังการทั้งหลายด้วย เรื่อง “เขาชื่นชมคุณ เพียงเพราะว่าคุณประสบความสำเร็จ” ทั่วไปตามปกติคนเราก็ต้องชื่นชมคนที่ประสบความสำเร็จ จุดที่อยากให้คิดตาม คือ เรื่องของ ‘คุณสมบัติ’ ของคนสำเร็จต่างหากค่ะ
เศรษฐียุคใหม่ที่ขึ้นมาเป็นไอดอลของคน Gen Y, Gen Z อย่างเรา ๆ เดี๋ยวนี้มีคุณสมบัติอะไรกันบ้าง ขอยกตัวอย่าง 3 ข้อ
1. ต้องกล้าคิดใหญ่ ต้องกล้าเสี่ยง
2. ต้องอดทน ไม่ยอมแพ้
3. ต้องนอกกรอบอย่างสร้างสรรค์
ทั้งหมดนี้น่าจะเป็น 3 คุณสมบัติที่เราคงจะเคยได้ยินบ่อย ๆ มาดูกัน
ในข้อแรกนี้ ถ้าจะยกตัวอย่างแบบอินเตอร์ คงหนีไม่พ้นพี่ Mark แห่ง Facebook ที่ออกจากมหาลัยเพื่อมาสร้างเฟซบุ๊กอย่างเต็มตัว หรือตัวอย่างในไทยก็คงต้องเป็นเถ้าแก่น้อยที่กล้าบ้าบิ่นไม่แพ้กัน เขาทั้งสองกล้าฝัน กล้าคิดใหญ่และลงมือทำในสิ่งที่คนวัยเดียวกันส่วนใหญ่ไม่กล้านึกถึงด้วยซ้ำ แบบนี้เขาจึงประสบความสำเร็จมากกว่าคนรุ่นเดียวกันเป็นร้อยเป็นพันเท่า ลองตัดภาพไปที่เด็กวัย 20 ข้างบ้านคุณที่ไปชนะการแข่งประกวดไอเดียธุรกิจและได้เงินทุนสนับสนุนมา ทุกอย่างกำลังไปได้สวย เขาจึงตัดสินใจดร็อปเรียนแล้วออกมาเขียนแอปฯ เต็มตัว แต่เมื่อผ่านไป 2 ปี รายได้ไม่ได้เติบโตเยอะอย่างที่คาด อะไร ๆ ไม่ได้เวิร์คอย่างที่คิด นักลงทุนที่ให้เงินสนับสนุนมาก็เริ่มถอดใจ ถ้าเป็นแบบนี้ คุณว่าแม่ของเด็กคนนี้จะยังสนับสนุนและชมลูกเขาว่า ‘เป็นคนกล้าคิด กล้าเสี่ยง’ อยู่ไหม
หรือข้ามมาข้อ 3 ถ้าคุณนอกกรอบอย่างสร้างสรรค์เป็น Eminem (นักร้องแร๊พระดับโลก) หรือในไทยตัวอย่างคงเป็นพี่ตูน Body Slam ลองตัดภาพไปที่น้องชายคุณ ถ้าเขาได้งานที่มีรายได้ดี ๆ แล้วไม่เอา ขอลาออกมาทำวงดนตรีกับเพื่อน ไปร้องตามผับตามบาร์หวังว่าจะมีแมวมองมาสอดส่อง แต่ก็ไม่มีเสียที ถึงแม้ว่าเพลงเขาจะเพราะและคุณจะชอบฟังแค่ไหน แต่คุณจะยังชื่นชมในความ ‘นอกกรอบอย่างสร้างสรรค์’ ของน้องคุณหรือเปล่า
นานิไม่ได้ต้องการเสียดสีสังคมหรือใครหรืออะไรนะคะ แต่อยากจะฝากข้อคิดไว้ให้คนรุ่นใหม่ไฟแรง 2 ข้อ (ซึ่งเป็น 2 ข้อที่ขัดแย้งกัน ลองพิจารณาว่า ใครจะเลือกใช้ข้อไหน)
1.
ถ้าคุณกำลังทำตามฝันอยู่ และรู้สึกว่าต้องบ้าฝัน ต้องกล้า ต้องอดทน ต้องสู้ไม่ยอมแพ้ และต้องนอกกรอบอย่างสร้างสรรค์ ก็ดีค่ะ แต่ขอให้สู้อยู่บนพื้นฐานของความไม่ดันทุรัง ขอให้กล้าและนอกกรอบอยู่บนบรรทัดฐานของความเป็นจริง
2.
ถ้าคุณกำลังออกตามล่าฝันอยู่ แล้วมีคนมาว่าคุณ ก็อย่าไปคิดมากค่ะ เพราะวันนึงถ้าสิ่งที่คุณทำมันเวิร์ค แล้วคุณประสบความสำเร็จแบบอลังการขึ้นมา การกระทำที่คนอื่นบอกว่าโง่ที่คุณเคยทำแล้วโดนว่าไว้ อาจจะแปรเป็นความชื่นชมว่าเป็นการตัดสินใจและการกระทำที่ฉลาดและน่ายกย่องก็เป็นได้
(
อ่านแนวคิดการสร้างตลาดและอุปทานแบบใหม่ ...บทเรียนจากธุรกิจขนมญี่ปุ่น)