เบื้องหลังเกม “กบเดินทาง: Tabi-kaeru” และบทเรียนทางการตลาด
เกม tabikaeru ... เกมกบน้อยนักเดินทาง บางท่าน ถึงกับเรียกเกมนี้ว่า เกมกบอินดี้ เพราะผู้เล่นเกมจะไม่สามารถควบคุมการเดินทางอะไรของกบได้เลย
คอนเซปท์ของเกมนี้สั้นมาก “การรอกบที่ชื่นชอบการเดินทาง กลับมา”
เกมนี้ไม่ต้องการประสบการณ์หรือสกิลการเล่นเกมใด ๆ ทั้งสิ้น
ผู้เล่นมีหน้าที่แค่ 2 อย่าง หนึ่ง เก็บสะสมใบคลอเวอร์ เพื่อมาแลกอาหารและสิ่งของที่ใช้ในการเดินทาง สอง ทำหน้าที่จัดข้าวของใส่กระเป๋าหรือวางบนโต๊ะให้น้องกบ แล้วน้องกบก็จะเดินทางไปเอง เมื่อไรก็ไม่ทราบ กลับมาเมื่อไรก็ไม่มีใครรู้ได้ ผู้เล่นก็ได้แต่เปิดสมาร์ทโฟนมาเก็บใบคลอเวอร์ต่อไป ถ้าโชคดี ก็จะได้ภาพน่ารัก ๆ หรือของฝากจากน้องกบ หากกบกลับมา
ทั้ง ๆ ที่คอนเซปท์ง่าย วิธีเล่นไม่ซับซ้อน เกมนี้กลับเป็นที่นิยมมาก ภายในวันเดียว เคยมีผู้ดาวน์โหลดแอพฯ นี้สูงถึง 4 แสนคน แอพฯ Tabikaeru ติดอันดับ 1 ในประเทศจีนติดต่อกัน 2 สัปดาห์ และมียอดดาวน์โหลดกว่า 45 ล้านครั้งแล้ว
เคล็ดลับของความสำเร็จนี้ คืออะไร?
จุดกำเนิดเกมกบเดินทาง
มายุโกะ อุเอะมุระ ผู้ออกไอเดียเล่าว่า ไอเดียนี้เริ่มมาจากตัวเธอเอง เธอชอบ
เดินทางไปเที่ยวที่ต่าง ๆ จึงคิดว่า คงจะดีหากมีเกมที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ท่องเที่ยวจริง ๆ
ส่วนสาเหตุที่เลือก “กบ” เป็นตัวละครหลักนั้น เนื่องจากในภาษาญี่ปุ่น คำว่า “กลับมา” คือ คำว่า “คาเอรุ” ซึ่งพ้องกับคำว่า “กบ” ชื่อเกม จึงใช้คำว่า “ทาบิ คาเอรุ” ซึ่งแปลได้ทั้งสองความหมาย คือ “การกลับมาจากการท่องเที่ยว” และ “กบที่ท่องเที่ยว” นั่นเอง
ตัวแบบหลักของเจ้ากบนี้ มาจากโทระซัง ... พระเอกจากหนังชื่อดังเรื่อง “Otoko wa Tsurai yo (It's tough being a man)” ซึ่งทำอาชีพเซลส์แมน และเดินทางทั่วญี่ปุ่นด้วยกระเป๋าหิ้วเพียงหนึ่งใบ
คุณผู้อ่านหลาย ๆ คนที่เผลอติดเกมนี้ไปแล้ว อาจรู้สึกว่า กบน้อยน่ารักเหมือนเป็นสัตว์เลี้ยง หรือเหมือนลูกแสนรัก แต่ตอนอุเอมุระออกแบบเกมนี้ เธอนึกถึงภาพสามีเธอที่ชอบเดินทางไปทำงานที่อื่น บางทีก็กลับมา บางทีก็มีของฝากติดไม้ติดมือมาให้
กว่าจะมาเป็นเกมกบ
ทีมพัฒนาเกม Tabikaeru นั้น เริ่มแรกมีสมาชิกเพียงแค่ 4 คนเท่านั้น คือ โปรดิวเซอร์ แพลนเนอร์ โปรแกรมเมอร์ และดีไซเนอร์ ปัจจุบัน แม้เกมกบ จะได้รับความนิยมอย่างถล่มทลาย แต่ก็มีสมาชิกในทีมเพียงแค่ 6 คน
ทางทีมใช้เวลาพัฒนาถึง 10 เดือน ซึ่งใช้ระยะเวลานานกว่าที่วางแผนไว้ตอนแรก คือ 6 เดือน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแบบแผน และรูปภาพต่าง ๆ
นอกจากนี้ ทีมพัฒนา ยังต้องศึกษาเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว ตลอดจนของท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อของแต่ละแห่งโดยละเอียด มีการผูกสูตร ทำแผนที่ต่าง ๆ หลังบ้าน (เบื้องหลังระบบ) เพื่อความสมจริง หากกบต้องเดินทางไปที่ไกล ๆ ก็ต้องให้ใช้ระยะเวลานานจริง ๆ และต้องนำของฝากจากเมืองนั้น ๆ กลับมา
เดิมที ทางทีมได้วางแผนให้ผู้เล่นต้องรอคอยหลายวัน แต่เมื่อลองปรึกษา Google ซึ่งเป็นผู้ถือแพลทฟอร์ม ทาง Google เองก็ให้ความเห็นว่า หากเจ้ากบหายไปนาน ๆ หลายวันโดยไม่มีการติดต่อใด ๆ ผู้เล่นอาจเข้าใจผิดว่า แอพฯ เสีย หรือรู้สึกกังวล ทางทีมดีไซน์ จึงต้องพยายามหากิจกรรมให้ผู้เล่นทำ ระหว่างรอกบ เช่น การให้เพื่อน ๆ ของกบมาเยี่ยม หรือการให้ผู้เล่นเก็บใบคลอเวอร์ไปพลาง ๆ
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
อันที่จริงแล้ว ก่อนที่เกม Tabikaeru จะประสบความสำเร็จขนาดนี้ ทีมของคุณอุเอมุระเองก็ได้ออกแอพที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน นั่นคือ เกม Neko Atsume หรือเกมเลี้ยงแมวสุดน่ารัก ซึ่งมียอดดาวน์โหลดหลักล้านเช่นกัน
ทั้งเกมกบ และเกมแมว มีจุดเริ่มต้นเหมือนกัน คือ เริ่มมาจาก Passion ของเจ้าของโปรเจ็กต์
กรณีเกม Neko Atsume นั้น ผู้ออกไอเดียเป็นคนที่ชื่นชอบแมวเป็นอย่างมาก และต้องการถ่ายทอดเสน่ห์ของแมวลงไปในเกม ส่วนตัวคุณอุเอมุระเอง ก็รักการเดินทาง เธอจึงใส่เสน่ห์ของการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามของสถานที่ หรือของฝากที่น่าประทับใจ ลงไปในเกมอย่างเต็มเปี่ยม
นอกจากนี้ ทางทีมออกแบบเกมมีคติพจน์ประจำใจที่ทุกคนต้องยึดมั่นเสมอ นั่นคือ “
ลูกค้ามาเป็นอันดับหนึ่ง”
ในขณะที่บริษัทเกมเจ้าอื่นพยายามคิดออกแบบว่า ทำอย่างไรให้คนติดเกมของตน หรือหาทางสร้างรายได้จากเกม เช่น หาทางให้ลูกค้าเสียเงินซื้อ Item ต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด ทางทีมของคุณอุเอมุระกลับคิดต่าง
พวกเธอคิดว่า ทำอย่างไรที่จะให้เกมของตนเอง รบกวนลูกค้าน้อยที่สุด
โฆษณาในเกมกบนั้น จะไม่ได้ขึ้นมาบนจอให้ดูรกตา แต่จะฝากเพื่อนของกบน้อย ไม่ว่าจะเป็นหอยทาก ผึ้ง หรือเต่า นำมาฝาก ผู้เล่นสามารถกดเลือกได้ว่า จะดูโฆษณาหรือไม่ หากไม่กดรับ ก็ไม่ต้องเห็นโฆษณา
อันที่จริงแล้ว โมเดลเรื่องการหารายได้ เช่น ค่าโฆษณา หรือการขาย item นั้น ถูกคิดค้นขึ้นมาหลังจากพัฒนาคอนเซปท์ไปได้ระยะใหญ่ ในช่วงแรก ทุกคนในทีมมุ่งคิดแค่ว่า ทำอย่างไรให้เกมนี้สร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า
แม้แต่เรื่องระบบการเตือน (Notification) ทางทีมก็พยายามลดให้เหลือน้อยที่สุด เกมอื่น ๆ มักจะมีการแจ้งเตือนต่าง ๆ หรือพยายามกระตุ้นให้ผู้เล่นไปชวนเพื่อนมาเล่นด้วย หรือให้ผู้เล่นรีบเข้าไปสะสมแต้มพิเศษ จุดประสงค์คือ ให้ผู้เล่นเข้ามาเล่นเกมของตนบ่อย ๆ เท่านั้นเอง
แต่กรณีของเกมกบนั้น เนื่องจากประสบการณ์ของผู้เล่นสำคัญที่สุด เกมจึงแทบไม่มี Notification เลยระบบจะแจ้งเตือนแค่เมื่อกบกลับมาแล้วเท่านั้น เพื่อไม่ให้รบกวนลูกค้า (ทางทีมเคยคุยกันว่า ไม่ต้องเตือนเลยดีกว่าหรือไม่ ให้ผู้เล่นเข้ามาเปิดแอพเรื่อย ๆ เอง แต่ก็มีความเห็นว่า ผู้เล่นอาจกังวลแทน หากแอพเงียบเกินไป ...)
ดิฉันลองถามเพื่อนรอบตัวว่า เหตุใดถึงชื่นชอบเกมนี้ หลายคนก็หลงรักความอิสระและไม่บีบบังคับของเกมนี้ เช่น
“ชอบตรงที่มันไม่มี Daily reward บังคับว่าเราต้องเข้ามาทำอะไรเพื่อเอาของดี ๆ ไม่ต้องเข้าติดต่อกันทั้งเดือนเพื่อรางวัลใหญ่”
“เบื่อเกมที่ถ้าไม่ส่งรีเควสหาเพื่อนจะทำอะไรไม่ได้ จะไม่อัพ จะไม่สามารถไปต่อได้มาก ๆ เลย”
สำหรับตัวดิฉันเอง สารภาพว่า นี่เป็น
เกมโทรศัพท์มือถือเกมแรกที่ดิฉันตัดสินใจดาวน์โหลดและเล่นอย่างจริงจัง
การคำนึงถึงผู้เล่นก่อนผลตอบแทนของเกมนั้น กลายมาเป็นเสน่ห์ของเกมนี้จริง ๆ
อีกสิ่งที่แตกต่าง คือ บริษัทญี่ปุ่นทั่วไปจะให้ความสำคัญกับตารางเวลาเป็นอย่างยิ่ง การออกแบบสินค้าใหม่ต้องเป็นไปตามกำหนดการที่วางไว้ แต่สำหรับทีมออกแบบของบริษัท Hit-Point เจ้าของเกมกบนี้ ทางบริษัทยินดีให้พนักงานเลื่อนกำหนดการเปิดตัวเกม หากพนักงานเห็นว่า เนื้อหายังไม่ดีพอ
กรณีเกมกบนั้น ทางทีมขอดีเลย์การเปิดตัวไป 4 เดือนเพื่อปรับปรุงเนื้อหาให้ผู้เล่นรู้สึกดีที่สุด สนุกที่สุด
คุณอุเอมุระกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า
“ผู้ที่เผยแพร่เกมของเรานั้น คือ ลูกค้าทุกท่าน เกมจะประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่ได้อาศัยแค่ความสามารถของพวกเราเพียงอย่างเดียว แต่มาจากการที่ลูกค้าตกหลุมรักเกมของเรา เล่นเกมอย่างต่อเนื่อง และบอกต่อ เพราะฉะนั้น พวกเราจึงให้ความสำคัญกับคุณภาพของเกมมากที่สุดค่ะ”
การทำ “
การตลาด” เช่นนี้อาจจะถูกทางก็ได้ ทำสินค้าให้ดีที่สุด ส่วนการโฆษณานั้น ให้ลูกค้าช่วยรับหน้าทำ (โปรโมทด้วยความเต็มใจ)
เกม tabikaeru นั้น แทบไม่ต้องโฆษณาใด ๆ เพียงแค่ทุ่มเทสร้างคอนเทนท์ที่ดีเท่านั้น สุดท้าย ลูกค้าก็จะตกหลุมรักและช่วยกันบอกต่อจนสามารถเป็นแอพยอดนิยมอันดับ 1 ได้เช่นนี้
การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า อาจเป็นหัวใจการตลาดของเกม tabikaeru นี้ก็เป็นได้
ขณะปิดต้นฉบับเรื่องนี้ ดิฉันก็เพิ่งได้รับภาพจากนปโปะซัง กบน้อยของดิฉัน
น่าชุ่มชื่นใจจริง ๆ ค่ะ