ฟรีแลนซ์บริหารรายได้อย่างไรให้ชีวิตดี๊ดี

ฟรีแลนซ์บริหารรายได้อย่างไรให้ชีวิตดี๊ดี

By Krungsri Plearn Plearn
รักจะเป็นฟรีแลนซ์ อย่าปล่อยชีวิตให้ชิวไปวัน ๆ แต่เราต้องบริหารจัดการรายได้ของเราให้ดี อย่าปล่อยให้บัญชียุ่งเหยิงซับซ้อนจนแยกรายรับและรายจ่ายไม่ออก ตรงกันข้าม หากดูแลการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการกู้ยืมและขอสินเชื่อ รับรองว่าชาวฟรีแลนซ์จะได้อิสระทั้งด้านการเงินและการใช้ชีวิตอย่างที่ใจต้องการ
เดี๋ยวนี้จะเห็นได้ว่าหลาย ๆ คนมักเริ่มต้นจากการทำงานประจำก่อน หลังจากนั้นพอมีประสบการณ์ และคอนเน็กชั่นต่าง ๆ ระดับหนึ่ง ก็จะเริ่มออกมาทำอาชีพอิสระ หรือฟรีแลนซ์ ไม่สังกัดองค์กร มีอะไรเป็นของตัวเอง แม้ช่วงแรกอาจจะยังไม่ได้เป็นบริษัทอะไรใหญ่โต แต่ก็กลายเป็นฟรีแลนซ์ที่สามารถรับงานเองทำงานได้อย่างลงตัว
เหตุผลที่ฟรีแลนซ์มีแนวโน้มสูงขึ้น เป็นเพราะงานประจำนั้นมีข้อจำกัดหลายด้าน ต้องยอมรับว่าหลาย ๆ ตำแหน่ง เราทำมากก็ได้เท่าเดิม ทำน้อยก็ได้เท่าเดิม พอเป็นแบบนี้ หลายคนก็เลยรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม และมองหาความก้าวหน้าและอิสระมากขึ้น เลยเลือกที่จะเป็นนายตัวเองแทน รวมทั้งด้านรายได้ที่ฟรีแลนซ์มีโอกาสที่จะได้รับรายได้ที่สูงมากกว่างานประจำ
แต่ข้อจำกัดของคนที่เป็นฟรีแลนซ์ที่เสียเปรียบพนักงานประจำอย่างหนึ่งก็คือ "การขอสินเชื่อ" เราน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่า คนที่เป็นฟรีแลนซ์กู้ธนาคารกันไม่ค่อยผ่านสักเท่าไหร่ ไม่เหมือนพนักงานประจำที่เป็นอาชีพยอดฮิตอันดับหนึ่งที่ฝ่ายสินเชื่อของธนาคารมักจะปล่อยกู้ให้มากที่สุด
คำถามที่น่าสนใจก็คือ คนที่เป็นฟรีแลนซ์ต้องบริหารจัดการอย่างไรให้สามารถกู้ผ่านแบบสบาย ๆ บ้างล่ะ ? วันนี้เลยมีทริคดี ๆ มาแนะนำว่า ต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อให้กู้ผ่านแบบสบายใจหายห่วง
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าธนาคารจะดูที่ "ความสามารถในการชำระคืน" ง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเรากู้เงินมา เราจะสามารถจ่ายคืนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยได้หรือเปล่า? ดังนั้นปัจจัยที่ธนาคารจะดูก่อนคือ "ความสม่ำเสมอของรายได้"
เวลาที่ธนาคารจะดูว่าคนที่มาขอกู้เงินสามารถจ่ายหนี้คืนได้หรือไม่ อย่างแรกเลย ธนาคารจะดูว่ารายได้ที่เราได้รับนั้นสม่ำเสมอไหม ? จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมทำงานประจำถึงกู้ง่าย เพราะประเด็นเรื่องความสม่ำเสมอ มนุษย์เงินเดือนสอบผ่านแบบสบาย ๆ ส่วนใหญ่เงินเดือนจะเข้าวันเดียวกันเป็นประจำ ทำให้ธนาคารมั่นใจได้ว่า ผู้ขอกู้คนนี้มีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ถ้าไม่มีภาระหนี้อื่น ๆ ก็น่าจะมีความสามารถในการชำระคืนอยู่แล้ว
แต่พอเป็นฟรีแลนซ์ทำงานเสร็จค่อยรับเงิน แถมงานแต่ละงานก็มีมูลค่าไม่เท่ากัน บางเดือนก็เยอะ บางเดือนก็น้อย หรือลูกค้าบางคนก็จ่ายเป็นเงินสด ไม่ได้มีบันทึกอีกว่าเรามีรายได้ก้อนนี้ ทำให้ความสม่ำเสมอของรายได้ตรงนี้ลดน้อยลงไป สิ่งที่จะสามารถทำได้ก็คือ "การเดิน Statement" การที่นำรายได้ของเราไปใส่เข้าบัญชีธนาคารทุกเดือนในกรณีที่เรารับเป็นเงินสด ธนาคารจะสามารถตรวจดูได้ว่า เรามีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้าเราเอาเงินก้อนไปใส่บัญชีทีเดียว ธนาคารจะไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ เพราะเราอาจจะไปหยิบยืมคนอื่นมาก็เป็นไปได้ เราจึงขอแนะนำว่าควรทำอย่างน้อยติดต่อกัน 6 เดือนขึ้นไปสำหรับ "การเดิน Statement"
นอกจากคำแนะนำข้างต้น ถ้าเรามีเอกสารประกอบอะไรก็ตามที่ช่วยพิสูจน์ได้ว่าเรามีรายได้เพียงพอกับการชำระหนี้คืนก็จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเอกสาร 50 ทวิ ของหลาย ๆ ปีย้อนหลัง ใบเสร็จรับเงินหรือสัญญาจ้างว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรบ้าง หรือจะเป็นสัญญาจ้างงาน 6 เดือนก็ได้ เพื่อให้รู้ว่าในอนาคตเราจะมีรายรับอีกประมาณเท่าไหร่ เวลาที่เราเป็นฟรีแลนซ์ สิ่งที่สำคัญก็คือเอกสารที่ยืนยันว่าเราได้ทำงานและมีรายได้ เพื่อเอาไปประกอบยื่นกับธนาคารก็จะช่วยให้ธนาคารพิจารณาปล่อยกู้ง่ายขึ้น
ดังนั้น ถ้าเราต้องการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่น่าจะเป็นการกู้ที่ยาวนานที่สุดแล้ว สิ่งที่พอจะช่วยได้ก็คือการวางเงินดาวน์ซื้อบ้าน ถึงแม้ว่าจะสูงสักหน่อยแต่เพื่อให้วงเงินกู้ที่เราต้องไปขอกู้ธนาคารน้อยลง และภาระที่ต้องผ่อนชำระในแต่ละงวดลดลง ก็จะช่วยทำให้การอนุมัติง่ายขึ้น
แต่ถ้าใครยังไม่แน่ใจว่าจริง ๆ แล้ว ตัวเองพร้อมที่จะเป็นฟรีแลนซ์หรือเปล่า จะจัดการตัวเองไหวมั้ย ลองสำรวจตัวเองง่าย ๆ ได้ในบทความ ชีวิตจริงมนุษย์ฟรีแลนซ์ อาชีพนี้เหมาะกับคุณหรือไม่ เพื่อให้การใช้ชีวิตของคุณดี๊ดี และจัดการได้อย่างที่ตั้งใจไว้
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow