4 ประเด็นสำคัญที่ Angel Investor มักจะใช้ในการพิจารณาธุรกิจ

4 ประเด็นสำคัญที่ Angel Investor มักจะใช้ในการพิจารณาธุรกิจ

By รวิศ หาญอุตสาหะ
Angel Investor กำลังมองหาอะไร
สำหรับคนที่กำลังทำสตาร์ทอัพ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องของเงินทุนนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเมื่อไม่มีเงิน ธุรกิจก็ไปต่อไม่ได้ (นอกเสียจากว่าธุรกิจสามารถที่จะสร้างเงินสดหมุนเวียนได้ตั้งแต่ต้น) ดังนั้นเรื่องของการหาแหล่งเงินทุนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เหล่า Founder/Co-Founder ต้องเข้าใจเป็นอย่างดี
ในฐานะของคนที่ได้มีโอกาสร่วมเป็นกรรมการ ได้ฟัง Pitch ฟังการพรีเซ้นต์มามากมาย เลยอยากที่จะมาเล่าประเด็นนี้ให้ได้ฟังกันว่าจริง ๆ แล้ว Angel Investor กำลังมองหาอะไรกันแน่ และนี่คือ 4 ประเด็นหลักที่ผมคิดว่า Angel Investor ส่วนใหญ่มองหาครับ

1. Founder/ผู้ก่อตั้ง


ข้อนี้เรียกได้ว่ามีความสำคัญเกือบจะที่สุดเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะธุรกิจที่อยู่ในช่วงของการตั้งไข่หรือ early stage หลายคนอาจจะคิดว่านักลงทุนส่วนใหญ่น่าจะมองแผนธุรกิจ มอง business model ก่อนสิถึงจะขยับมาดูเรื่องของ founder
แต่ความจริงที่ผมพบก็คือ ผู้นำ, ผู้ก่อตั้ง, founder (ไม่ว่าเราจะเรียกว่าอะไรก็ตาม) คน ๆ นี้คือคีย์แมนของธุรกิจ เพราะการมี founder ที่ถูกต้องจะช่วยทำให้ธุรกิจมีโอกาสที่จะไปจนตลอดรอดฝั่งมากกว่า ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะมี business model ที่ดีขนาดไหน แต่ถ้า founder เป็นคนที่ผิด ที่ไม่ใช่ หรือไม่เหมาะ ท้ายที่สุดแล้วสิ่งนี้เองที่อาจจะเป็นตัวทำลายธุรกิจ
founder ในช่วงของ early-stage จึงเปรียบเสมือนกับลมหายใจของธุรกิจเลยก็ว่าได้
และด้วยความที่ทุกวันนี้ข้อมูลทั้งหมดนั้นอยู่บนโลกออนไลน์แทบจะทุกอย่าง นักลงทุนเองก็จะใช้วิธีที่เรียบง่าย นั้นก็คือ เข้าไปค้นข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้ก่อตั้งบนโลกออนไลน์ (แต่แน่นอนว่ามีส่วนที่เป็นออฟไลน์ด้วยเช่นอาจจะลองไปพูดคุยกับคนที่เคยทำงานกับเขา) โดยจะพิจารณาเรื่องหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวของ founder ดังนี้ครับ
  • Founder ให้ความสำคัญกับการสร้างทีมที่ยอดเยี่ยมขนาดไหน: อันนี้เป็นเรื่องปกติที่เรารู้กันดีว่าธุรกิจนั้นไม่ใช่เกมที่เล่นคนเดียว แต่มันเป็นเกมแบบทีม
  • Founder ให้ความสำคัญกับการ execute มากเพียงพอหรือไม่: คำพูดที่คนในแวดวงธุรกิจมักจะพูดกันอย่าง idea is cheap execution is everything หรือแปลเป็นไทยก็ ไอเดียน่ะมันราคาถูก แต่การลงมือทำต่างหากล่ะที่เป็นทุกสิ่ง ยังคงเป็นความจริงเสมอไม่ว่าจะผ่านมานานแค่ไหน ก็ 0 เพราะเชื่อเถอะว่าไอเดียที่เรามักจะคิดว่ามันเจ๋งที่สุดในโลก มันดีที่สุดแล้ว แบบดีโคตร ๆ เอาจริง ๆ นะ มันไม่ได้มีเพียงแค่เราหรอกที่คิดไอเดียเหล่านั้นได้ แต่การลงมือทำให้มันเกิดขึ้นต่างหากล่ะที่ยาก และที่สำคัญคือ founder ที่มุ่งเน้นไปที่การ execute จะสามารถทำให้ไอเดียธรรมดา ๆ กลายเป็นธุรกิจที่ยอดเยี่ยมได้ในที่สุด
  • Founder ได้มีการพูดคุยกับลูกค้า และกลุ่มเป้าหมายของเขาอย่างสม่ำเสมอหรือไม่: วันนี้มีคนมากมายเหลือเกินที่พยายามสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการที่อยู่ในหัวของตัวเอง ไม่ใช่ในหัวลูกค้า และเมื่อธุรกิจนั้นไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ก็จะทำให้ไม่มีลูกค้าและเมื่อไม่มีลูกค้า ก็คือ “เจ๊ง” ครับ ฉะนั้นเรื่องพื้นฐานที่สุดของคนทำธุรกิจอย่างการเข้าใจลูกค้าจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
  • ทำงานหนัก: ในยุคนี้การทำงานหนักดูเหมือนจะกลายเป็นคำที่เชยไปซะแล้ว แต่ความจริงก็ยังคงเป็นความจริงนั่นคือ คนที่ทำงานหนัก ใช้ชั่วโมงการทำงานที่มากกว่า (ต้องมีประสิทธิภาพด้วยนะ) ก็จะมุ่งหน้าสู่เป้าหมายได้เร็วกว่า คนที่ใช้ชั่วโมงการทำงานน้อยกว่า และทุกวันนี้ผมก็ยังคงเชื่อในสิ่งนี้เสมอ เพราะคนที่ยอมทุ่มเท และอินกับสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ เต็มใจที่จะทำงานหนักอย่างเต็มที่ เพื่อให้สิ่งที่เขาตั้งใจนั้นบรรลุผลสำเร็จ คนกลุ่มนี้มักสร้างความได้เปรียบเชิงพื้นฐานให้กับธุรกิจเสมอ
  • ประวัติส่วนตัวและข้อมูลต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ของ founder: ข้อมูลต่าง ๆ ที่เขาแชร์ หรือเขียนขึ้นบนออนไลน์จะเป็นตัวที่บ่งบอกสิ่งที่เขาสนใจได้ง่ายที่สุด และแน่นอนว่าต้องไม่มีข้อมูลในด้านที่ไม่ดีด้วย

2. มีทีมที่ยอดเยี่ยมแค่ไหน


ทีมมีความเชี่ยวชาญในด้านไหน และความเชี่ยวชาญนั้นสามารถทำให้เขาแข่งขันในตลาดได้หรือไม่ มีทักษะที่สำคัญอย่างการขาย การตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และดำเนินงานให้ได้ตามแผนหรือเปล่า เพราะแม้จะมีไอเดียที่ดีขนาดไหน แต่หากขาดทีมที่ดีก็ยากที่จะสานต่อไอเดียที่ว่านั้นจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งต่อไปยังลูกค้าได้
William A. Sahlman นักเขียน และศาสตราจารย์ที่ Harvard Business Schoolเคยพูดไว้ว่า ทุกครั้งเมื่อเขาได้รับแผนธุรกิจ เขาจะดูไปที่หัวข้อของทีมก่อนเสมอ
“ไม่ใช่เพราะคนเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ แต่เพราะหากปราศจากทีมที่ถูกต้อง
ก็จะไม่มีส่วนใดที่สำคัญจริง ๆ”

3. ธุรกิจที่ทำอยู่ในตลาดที่มีโอกาสเติบโตหรือแข่งขันได้หรือไม่


Market Size หรือขนาดของตลาดที่ธุรกิจนั้น ๆ ต้องการให้บริการนั้นใหญ่แค่ไหน หรือถ้าวันนี้ยังเล็กอยู่วันข้างหน้ามีแนวโน้มหรือโอกาสที่จะเติบโตได้หรือไม่ และถ้าหากว่ามีสินค้า, บริการ หรือ Solution เดิมที่ครองตลาดอยู่แล้ว คุณในฐานะของผู้เล่นหน้าใหม่นั้นมีความแตกต่าง (ต้องดีกว่าด้วยนะ) อย่างไร และจะสามารถดึงให้คนมาใช้บริการได้ไหม
ในกรณีที่เป็นตลาดเกิดใหม่เลย นักลงทุนมักจะโฟกัสไปที่การวิเคราะห์และคาดการณ์ตลาด ว่าพอที่จะเป็นไปได้แค่ไหน และมีปัจจัยอื่นใดที่ช่วยสนับสนุนในการผลักดันให้ตลาดกลุ่มนี้เติบโตหรือไม่

4. คุณเริ่มมันหรือยัง


หนึ่งในวิธีที่เหล่า investor มักจะให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ และเป็นวิธีที่ใช้ในการลดความเสี่ยงในการเลือกลงทุนในธุรกิจใด ๆ คือ ธุรกิจที่กำลังมานำเสนอนั้นได้เริ่มทำอะไรไปบ้างหรือยัง ไม่ใช่มีเพียงแค่ไอเดียเท่านั้น จริงอยู่ว่ามีบางคนที่ได้เงินทุนไป แม้ว่าจะมีเพียงไอเดียก็ตาม แต่นั่นคือส่วนน้อยมาก (และต้องเป็นคนที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นสูงมาก ๆ)
เพราะธุรกิจที่มีเพียงไอเดีย เมื่อเทียบกับธุรกิจที่ได้เริ่มต้นมาแล้ว มีลูกค้าแล้ว นั้นมีความแตกต่างกันลิบลับสำหรับนักลงทุน
เพราะนอกจากข้อมูลที่ได้จากการลงมือทำจริง ๆ จะทำให้ธุรกิจมีแต้มต่อแล้ว การที่คุณได้เริ่มทำธุรกิจมาก่อน ตามกำลังและทรัพยากรที่มีนั้นเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ความคิดริเริ่มของทีมที่พยายามทำสิ่งที่ตั้งใจให้เกิดขึ้น (execute)
แน่นอนว่านอกจากนี้ก็จะมีประเด็นเรื่องของ Timing (จังหวะเวลา), ไอเดียธุรกิจ, Business Model (แผนธุรกิจ) และเรื่องอื่น ๆ ที่มาเกี่ยวข้องด้วยในการตัดสินใจลงทุน แต่สำหรับผมแล้วถ้าหากธุรกิจนั้นกำลังอยู่ในช่วงของ early-stage 4 เรื่องข้างต้นนี้จะเป็นสิ่งแรก ๆ ที่ผมดูเสมอครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow