การเสียภาษีถือเป็นหน้าที่สำคัญที่ต้องปฏิบัติในฐานะที่เป็นพลเมืองของประเทศชาติ แต่ไฉนพอพูดถึงคำว่า “ภาษี” หลายคนอาจส่ายหน้า ไม่พูดถึง แถมยังคิดเลี่ยงเพื่อปลดเปลื้องภาระ อ๊ะ อ๊ะ... ที่พูดแบบนี้มิใช่จะมาสนับสนุนให้ใครต่อใคร “ซิกแซ็ก” เพราะนอกจากจะมีตัวบทกฎหมายกำหนดบทลงโทษการหลบเลี่ยงภาษีไว้อยู่ เสียภาษีไม่ถูกต้องอาจถูกยึดทรัพย์และฟ้องล้มละลายได้! ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การเตรียมการเสียภาษีให้ถูกต้อง ครบถ้วน ยังช่วยคุณประหยัดได้ด้วย
“คุณสิงห์ - กิตติชัย ราชมหา” อาจารย์ประจำวิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดลผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินสำหรับผู้ประกอบการ / การเงินสำหรับผู้บริหารที่มิใช่สายการเงิน / การอ่านและวิเคราะห์รายงานการเงิน / การจัดการต้นทุน พร้อมแชร์หลักการแนวคิดหาคำตอบร่วมคิดวางแผน “ภาษี” รับรองว่าจะช่วยให้พวกเราชาวผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs ได้เข้าใจอย่างถูกต้อง เพราะเมื่อทุกอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ หรือพูดง่ายๆ หากทำเป็นเห็นทางรวย start up เสี่ยยุคใหม่
หลักคิดง่ายๆ คำนึงไว้คือ AEC
ในการวางแผนทางการเงินที่ถูกต้องสำหรับ SMEs หลักคิดง่ายๆ ที่ต้องคำนึงถึงก็คือ AEC
A ย่อมาจาก Assumption หรือข้อสมมติในการจัดทำการวางแผนการเงินสิ่งนี้คือโจทย์สำคัญที่จะกำหนดให้ข้อมูลการวางแผนการเงินมีความสมเหตุผลมากน้อยเพียงใด
E ย่อมาจาก Experience หรือประสบการณ์ในอดีตทั้งในส่วนของผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของธุรกิจในอดีตที่ผ่านมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญต่อการวางแผนทางการเงิน
C ย่อมาจาก Correlation หรือความสัมพันธ์กัน ในประเด็นนี้คือสิ่งที่นักวางแผนการเงินจำเป็นต้องตระหนักความสัมพันธ์ระหว่างกันท่ามกลางปัจจัยต่างๆ ในแผนการเงิน อาทิ การกำหนดความสัมพันธ์ของแผนรายได้ รายจ่าย สินทรัพย์ หนี้สิน และทุน ได้อย่างสมเหตุผล
ส่วนเทคนิคการบริหารความเสี่ยงทางการเงินให้เกิดประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการควรคำนึงถึง โอกาสทางการตลาดในการสร้างความสามารถในการทำกำไรเป็นอันดับแรกก่อน หากคิดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะทำกำไรได้ตามเป้าหมายจึงตัดสินใจเสี่ยงที่จะจัดหาเงินทุนโดยการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้ลงทุนสำหรับรองรับการขยายกำลังการผลิตให้เพียงต่อคำสั่งซื้อใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้น จึงจะถือว่าเป็นการตัดสินใจด้วยความระมัดระวัง ในการบริหารความเสี่ยงทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ
บัญชีการเงิน/บัญชีการจัดการ: เปรียบเหมือนการติดปีกธุรกิจ
นอกจากการบริหารความเสี่ยงทางการเงินที่ต้องมีเทคนิคเข้ามาช่วยแล้วในด้านบัญชีการเงินและบัญชีจัดการนั้นก็มีความจำเป็นต่อผู้ประกอบการธุรกิจ SMEsไม่น้อย ซึ่งถ้าให้พูดแบบเข้าใจง่าย ผลผลิตของบัญชีการเงินคือ “งบการเงิน” ขณะที่บัญชีจัดการจะนำงบการเงินมาเป็นฐานข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์ผลดำเนินงานและฐานะการเงิน เพื่อนำไปใช้ในการวางแผน ควบคุม และตัดสินใจทางธุรกิจ โดยพิจารณาข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพประกอบกัน
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของผม พบว่า ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่ยังคงมีความเข้าใจความสำคัญและความแตกต่างในระบบบัญชีการเงินและบัญชีจัดการค่อนข้างน้อย ทั้งๆ ที่งบการเงินเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมากในการใช้วางแผน ควบคุม และตัดสินใจทางธุรกิจ เปรียบเสมือนการติดปีกให้กับธุรกิจของตนให้บินได้อย่างถูกทิศทางและรวดเร็ว ผมขอยกตัวอย่างที่สำคัญหนึ่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ SMEs ที่จำเป็นต้องวางแผน ควบคุม และตัดสินใจคือ เรื่องสภาพคล่อง และการวางแผนการรับและจ่ายเงินสด ซึ่งเป็นสิ่งที่ SMEs มีความจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ด้วยเหตุนี้บัญชีการเงินและบัญชีจัดการจึงมีความจำเป็นและสำคัญยิ่งกับ SMEs
“ผู้บริหารที่เก่ง จำเป็นต้องมีทักษะในการวางแผนด้านบัญชีและภาษี ภายใต้วิธีการที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตกับธุรกิจ ในขณะที่การวางแผนทางบัญชีและภาษีที่ดีจะช่วยเพิ่มข้อมูลที่จำเป็นสำหรับผู้บริหารในการตัดสินใจทางธุรกิจเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยรวมกับองค์กร”
แต่หากคุณผู้อ่านต้องการที่จะศึกษาหาข้อมูลได้เพิ่มเติมที่
www.rd.go.th เว็บไซต์ของกรมสรรพากรท่านคลิกเข้าไปแล้วท่านจะได้รับทราบข้อมูลข่าวสารรายละเอียดต่างๆรวมทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับธุรกิจ SMEs และรายละเอียดได้ส่งเสริมและสนับสนุนการให้ประโยชน์ทางธุรกิจ SMEs ด้วยวิธีการต่างๆ