บทความผมเขียนขึ้นในขณะอยู่ในไฟลต์ที่กำลังเดินทางไปมหานครนิวยอร์ก เพื่อกลับไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล (Cornell University) ซึ่งผมกำลังจะไปเรียนเรื่อง “นวัตกรรมความสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมการเกษตร” ซึ่งประจวบเหมาะตรงกับหัวข้อสำหรับเดือนนี้พอดี เมื่อเงยหน้าดูมอนิเตอร์ตัวเองแล้วยังเหลือเวลาอีก 10 ชั่วโมงกว่าล้อจะแตะพื้น สงสัยท่านผู้อ่านต้องอ่านบทความฉบับนี้ยาวเป็นพิเศษ เพราะผมก็พร้อมจะถ่ายทอดเรื่องราวที่ได้ไปร่ำเรียนมาให้แฟน ๆ Plearn เพลิน ได้เพิ่มพูนความรู้ไปด้วยกัน
ผมขอเริ่มต้นที่คำว่า “นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ในองค์กรในการทำงาน” ซึ่งเป็นสิ่งที่พูดถึงกันเยอะ มีความจำเป็นในการเริ่มทำธุรกิจ แต่จับต้องไม่ได้ แล้วมันสำคัญก็เพราะ Start Up หรือ SME อย่างเรา ๆ ไม่มีแรง ไม่มีทรัพยากรอย่างเจ้าใหญ่เขามีกัน เราต้องเปลี่ยนตัว “s” นำหน้าจาก Small เป็น Smart (หรือจะเป็น Stylish ก็ได้นะครับ) พูดง่าย ๆ เราต้อง “Hi-tech” หรือ “High-touch” เพราะถ้า “Low-tech” และ “Low-touch” แถมยัง Small ก็คงต้อง Say good bye กับธุรกิจลูกเดียว
อะไรคือความคิดสร้างสรรค์ อะไรคือนวัตกรรม? จับต้องไม่ได้เพราะอะไร? แล้วทำอย่างไร? ทำกับใคร? ใช้งบประมาณเท่าไร? นวัตกรรมมีกี่แบบ? ถ้าทดลองไม่สำเร็จแล้วใครรับผิดชอบ? สำเร็จมาแล้ววางไว้บนหิ้งหรือกินได้ไหม? เป็นคอนเซ็ปต์ที่ยังไกลกับการทำงานแบบไทย ๆ อย่างเรา ๆ มาก ให้ลองผิดลองถูก เสี่ยงแบบได้ไม่คุ้มเสีย คงไม่มีใครทำกัน
คำว่า Innovation = นวัตกรรม โดยคำว่า nova มาจาก “neo” (ภาษากรีก) = “นว”(ภาษาสันสกฤต) แปลว่าใหม่ทั้งคู่ เพราะฉะนั้นความคิดสร้างสรรค์ ก็คือ การมีความคิดใหม่ ๆ (New ideas) ซึ่งไอเดียเหล่านี้อาจจะเป็นไอเดียทางภาพ (เช่น Picasso) ไอเดียทางเสียง (เช่น เพลงของ Miles Davis) ไอเดียทางวิทยาศาสตร์ (เช่น ทฤษฎีของ Albert Einstein) ไอเดียธุรกิจและบริหาร (เช่น แนวคิดการสร้างสรรค์ Apple ของ Steve Jobs) เป็นต้น
ในความเป็นจริงแล้ว นวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์ มี 2 แบบ คือ แบบค่อยเป็นค่อยไป และแบบ Break through แต่มันก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ที่ทุกบริษัทจะสามารถคิดได้เหมือน Apple การเริ่มต้นต่อยอดแบบค่อยเป็นค่อยไปนั้น อาจเป็นสิ่งที่สร้างนวัตกรรมได้เช่นกัน
ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น ด้วยโมเดลบริษัทของผมเอง ในหลาย ๆ โปรเจค เราได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศไทย และมหาวิทยาลัยต่างชาติ เช่น มหาวิทยาลัยคอร์แนลที่เคยส่งทีมงานอาจารย์และนักศึกษามาประจำอยู่ที่โรงงานเรา รวมทั้งยังเคยแลกเปลี่ยนความรู้กับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและมหาวิทยาลัยนางาซากิ ไหนจะยังได้รับความร่วมมือจากองค์กรรัฐและเอกชน พูดได้เลยครับว่า แทบจะ 90% ของโปรเจคนวัตกรรมที่เราคิดมักจะล้มเหลว ไหนจะโปรเจคเล็ก ๆ เช่น หาอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อลดพลังงานไปจนถึงสกัดสารออริซานอล แผงโซล่าเซลจากแกลบ ไปจนถึงหาคุณค่าของรำข้าวที่มีต่อหัวใจจากข้าวไทย 10 สายพันธุ์หลัก อีกมากมายก็พบอุปสรรคเช่นกัน
คำถามในใจท่านผู้อ่านก็คงเป็นว่ามีคนคอยช่วยเยอะขนาดนี้ ทำไมถึงล้มเหลวเยอะขนาดนี้ จริงๆ แล้วถ้าท่านมาดูสถิติในบริษัทระดับโลก เช่น บริษัท Booz Allen Hamiton เคยทำวิจัยกับบริษัททั่วโลก ซึ่งครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม เพื่อค้นหาอัตราความล้มเหลวของโปรเจคนวัตกรรมต่าง ๆ คำตอบก็คือ 80-95% เช่นกันที่ล้มเหลว นัยก็คือ “ถ้ามันง่ายก็คงไม่เป็นนวัตกรรม”
สำหรับผู้ประกอบการหลายท่าน ได้เห็นอัตราความล้มเหลวเช่นนี้ ก็คงคิดว่าไม่ทำดีกว่า ทำมาค้าขายต่อไปก็พออยู่ได้ หรือบางคนอาจจะคำนึงถึงความยั่งยืนและความสามารถในการแข่งขัน จึงอยากลองเสี่ยงดู คำถามก็คือ ทั้ง ๆ ที่ใครก็รู้ว่านวัตกรรมเป็นเรื่องที่ดีแต่ทำไมมันล้มเหลวเยอะขนาดนี้ ผมขอตอบแบบบ้าน ๆ เลยนะครับ คำตอบก็คือ ความไม่แน่นอนนั่นเอง ขอยกตัวอย่างคำถามที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในการทำธุรกิจให้ดูนะครับ
1. ลูกค้าจะซื้อหรือไม่? เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เราควรทำตามความต้องการของลูกค้า หรือตามวิสัยทัศน์ของตัวเอง บางครั้งบางทีลูกค้าก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรจนกว่าเราจะผลิตขึ้นมา ซึ่งเป็นความไม่แน่นอนอย่างหนึ่ง
2. ตลาดจะใหญ่พอหรือไม่? ทำออกมาแล้วมีความต่าง (Differentiation) ถ้าไม่มีคนสนใจ (Appreciation) ในทันที เราจะสามารถสื่อสารความใหม่ ความสดของสินค้า แล้วเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหน?
3. คู่แข่งจะทำอย่างไร? ใช้เวลานานและเสี่ยงกับอัตราความล้มเหลวถึง 80-95% กว่าจะสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจ
4. บริษัทเราทำได้หรือไม่? มีจำนวนคนพอไหม? มีความสามารถในทาง Research and development หรือเปล่า? มีงบประมาณเป็นกี่เปอร์เซ็นต์สำหรับยอดขาย? ทำได้แต่ในห้องแล็ปแต่ไม่สามารถมาพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ (อันนี้เจอบ่อยครับ)
ดังที่กล่าวมาใน 4 ข้อเบื้องต้น คงจะพอทำให้ท่านผู้อ่าน พอเห็นความเสี่ยงของนวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์ในองค์กร แต่ทำไมบริษัทเราควรดำเนินการต่อไป และวิธีการใดที่ท่านให้เกิดความสำเร็จขึ้นได้ ผมจึงได้ศึกษาว่า ผู้นำที่นำพานวัตกรรมไปสู่ความสำเร็จนั้น ควรมีคุณสมบัติอย่างไร และได้คำตอบออกมาเป็น 3 คุณสมบัติสำคัญ
ทั้งหมดนี้ คือ นิยาม ความเสี่ยง ประโยชน์และคุณสมบัติที่ดีของการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจ ข้อมูลคราวนี้อาจจะเยอะไปสักหน่อย ผมอยากให้ผู้อ่านได้ติดตามกันต่อไป เพราะหลังจากที่ผมได้เพิ่มพูนความรู้ด้านนวัตกรรมเพื่อทำธุรกิจ โดยเฉพาะนวัตกรรมการเกษตรจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลแล้ว หวังว่า ความรู้นี้จะเป็นประโยชน์แก่ SMEs และ Start-up ไทย ที่ต้องพึ่งพาอาศัยวัตถุดิบทางการเกษตรแบบไทย ๆ ให้ท่านได้นำแนวคิดนี้ไปสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ และเพื่อตอบแทนเกษตรกรไทยครับ