การตั้งราคาสินค้าไม่ได้เป็นเพียงการคำนวณจากตัวเลข แต่ยังเป็นศิลปะในการใช้ดุลยพินิจร่วมด้วย การตั้งราคาที่เหมาะสม นอกจากจะช่วยสร้างกำไรให้ธุรกิจแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้บ่งบอกถึงการวาง position ของสินค้าในตลาดได้อีกด้วย ราคาขายที่ต่ำไปอาจทำให้ลูกค้าเข้าใจว่าสินค้าไม่ค่อยให้ประโยชน์อะไรกับผู้ใช้ หรือแม้แต่อาจทำให้เข้าใจว่าเป็นสินค้าคุณภาพต่ำ ส่วนราคาขายที่สูงไปก็เสี่ยงต่อการขายไม่ออกเช่นกัน แล้วอย่างนี้ เราจะมีวิธีไหนที่จะตั้งราคาได้เหมาะสมล่ะ
การตั้งราคา มีได้หลายวิธีครับ
- คำนวณจากต้นทุนจริง เป็นวิธีพื้นฐาน และค่อนข้างตรงไปตรงมา โดยพิจารณาจากต้นทุนรวมต่อหน่วยที่ใช้เพื่อก่อให้เกิดสินค้าและบริการ ไม่ว่าจะเป็นค่าวัสดุ ค่าแรง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าที่ ค่าโฆษณา ค่าขนส่ง ต้นทุนการเงิน แล้วบวกเพิ่มด้วยกำไรที่ต้องการ เพื่อคิดออกมาเป็นราคาขาย
- ตั้งตามมูลค่าที่สินค้า/บริการนำเสนอ ลองคิดกลับในฐานะของผู้ใช้สินค้าและบริการดูครับ ในฐานะของลูกค้า เรายินดีจะจ่ายเงินให้กับสินค้า/บริการชิ้นนี้เป็นเงินเท่าไหร่เพื่อแลกกับประโยชน์ที่จะได้รับ หรือการซื้อสินค้า/บริการตัวนี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายเราไปได้กี่บาท หากราคาที่เราตั้งไว้มีมูลค่าน้อยกว่าประโยชน์ที่สินค้า/บริการของเรานำเสนอ นั่นหมายความว่า สินค้า/บริการของเรานั้นสร้างความคุ้มค่าให้กับผู้บริโภคครับ
- ตั้งราคาโดยเปรียบเทียบจากราคาขายของสินค้าคู่แข่งในตลาด หากสินค้าของเราไม่ได้โดดเด่น ก็ไม่ควรเสี่ยงที่จะตั้งราคาสูงกว่าคู่แข่ง และในขณะเดียวกัน หากเราไม่ได้คิดจะจับตลาดสินค้าราคาถูก ก็ไม่ควรตั้งราคาให้ต่ำมาก เพราะนอกจากจะมีผลเสียต่อภาพพจน์ของแบรนด์แล้ว ยังเป็นการเพิ่มระยะเวลาในการไปถึงจุดคุ้มทุนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อย่าพยายามย้อมแมวโดยเอาของราคาถูกไปตั้งราคาสูงนะครับ นอกจากสินค้าของคุณจะถูกลูกค้าจับได้ว่าหลอกลวงแล้ว ด้วยการสื่อสารผ่าน social ในปัจจุบันนี้ รับรองว่าแบรนด์ที่ไม่ซื่อสัตย์จะไม่มีที่ให้ยืนได้ในชั่วข้ามคืนเลยล่ะครับ
- ตั้งราคาโดยดูจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยอาจทำแบบสอบถาม หรือทดลองตลาดเพื่อค้นหาว่า ราคาที่ลูกค้าเต็มใจจะจ่ายให้กับสินค้าและบริการของเราเป็นเท่าไหร่ ซึ่งเทคนิคนี้เป็นการใช้ราคาเพื่อจะวาง position ให้กับสินค้า เช่น สินค้าระดับ premium ตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังจ่ายสูง และยินดีจ่ายเงินเพื่อให้ได้รับสินค้า/บริการที่ดีที่สุด
- ตั้งราคาให้สอดคล้องกับการวาง position ของแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งราคาตลาด แล้วเสนอบริการที่แตกต่าง เพื่อนำเสนอทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค, การตั้งราคาถูก เพื่อหวังส่วนแบ่งตลาดอย่างรวดเร็ว หรือการตั้งราคาให้แพงกว่าราคาตลาด เพื่อที่จะบอกว่าเป็นสินค้า premium สำหรับลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง
สำหรับธุรกิจ startup ที่นำเสนอสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ ทางด้าน IT / software ซึ่งยังไม่มีในตลาด จึงมักจะไม่มีคู่แข่งที่จะสามารถนำมาเปรียบเทียบได้ การตั้งราคาอาจจะต้องอาศัยการตั้งสมมติฐาน การลองผิดลองถูก หรือแม้แต่การใช้สัญชาตญาณร่วมด้วย ดังนั้น แทนที่จะเป็นการตั้งราคาเพียงครั้งเดียวแล้วจบ ธุรกิจ startup ควรมองว่าการตั้งราคาเป็นกระบวนการต่อเนื่อง โดยใช้วิธีการสร้างระบบที่เราจะสามารถปรับราคาได้ในอนาคต เช่น ให้ลูกค้าเป็นคนตั้งราคาเอง โดยใช้วิธีเพิ่มราคาตามฟีเจอร์เพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจให้บริการเช่าพื้นที่ทำเว็บไซต์คิดค่าบริการสำหรับขนาดพื้นที่ 1 GB แรก ในราคา 250 บาทต่อเดือน หากลูกค้าต้องการพื้นที่เพิ่มขึ้น สามารถซื้อพื้นที่เพิ่มเติมได้ในราคา 50 บาท ต่อ 1 GB หรือซื้อ subdomain เพิ่มเติมได้ในราคา 50 บาท ต่อ 1 subdomain เป็นต้น ซึ่งเรายังสามารถนำข้อมูลพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าเหล่านี้ไปทำการวิเคราะห์เพื่อจัด package ส่งเสริมการขายต่อไป เช่น จัดเป็น basic, intermediate และ advance package
อย่างไรก็ตาม พึงระวังว่า ตัวเลือกที่เยอะเกินไปหรือราคาหลายระดับเกินไปอาจสร้างความสับสนให้ลูกค้า ซึ่งหลาย ๆ ครั้ง ลูกค้าอาจตัดสินใจไม่ซื้ออะไรเลย เพราะเลือกไม่ถูก ดังนั้น อย่าเอาแต่ใส่ตัวเลือกให้เยอะเข้าไว้ แต่ควรนำเสนอสิ่งที่คิดว่าจะตรงใจกับลูกค้าครับ
เห็นไหมครับว่า การตั้งราคาไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวเลข นอกจากจะมีผลต่อกำไรของธุรกิจแล้ว ราคาสินค้ายังเป็นตัวบ่งบอกถึง position ของแบรนด์ในตลาดอีกด้วย (Startup คนไหนอยากอ่านบทความดี ๆ ในการทำธุรกิจให้สำเร็จ ตามมาดู
เคล็ดลับความสำเร็จของคุณหมู แห่ง Ookbee ได้เลยครับ)